• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เดินสง่างามทุกย่างก้าว

 

ถ้าท่านไปที่สวนสัตว์ดุสิตเขาดิน ลองแวะไปชมที่กรงเสือและสังเกตท่าการเดินของเสือ ช่างมั่นคงและสง่างามจนโบราณกล่าวกันว่า ท่าการเดินของกษัตริย์ที่แท้จริงนั้น อุปมาเหมือน “มังกรเหิน เสือย่างก้าว” กล่าวคือ ถ้าวิ่งจะประเปรียวเหมือนมังกร ถ้าก้าวเดินจะเหมือนเสือ

การที่เสือเดินได้สง่างามกว่าสัตว์ชนิดอื่นนั้น เนื่องจากว่าฝ่าเท้าของเสือใหญ่และหนาเมื่อเทียบกับขาส่วนล่าง ทำให้น้ำหนักของร่างกายถูกกระจายไปได้ทั่วเท้า การทรงตัวจึงมั่นคงกว่าเท้าของสัตว์อื่นซึ่งมีขนาดเล็กพอๆกับขาส่วนล่าง

เท้ามนุษย์มีลักษณะคล้ายคลึงกับเท้าของเสือในแง่ที่ว่า เท้ามีขนาดใหญ่กว่าขาส่วนล่างมาก ทั้งนี้เพราะว่ามนุษย์ต้องเดินบนเท้าทั้ง 2 เท้าแต่ละข้างจึงต้องรับน้ำหนักของร่างกายทั้งหมด เมื่ออีกขาหนึ่งยกขึ้นเพื่อจะก้าวออก การเดินของมนุษย์จึงต้องอาศัยปัจจัยหลายๆอย่าง ถ้าต้องการเดินให้สง่าสมชายชาติเสือ (มนุษย์)

มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ยืนและเดินบน 2 ขาได้นาน ลิงหรือชะนีซึ่งคล้ายคลึงกับมนุษย์มากยังยืนหรือเดินบน 2 ขาได้ไม่นาน ต้องอาศัยการห้อยโหนหรือคลานเป็นส่วนใหญ่ การเดินบน 2 ขาจึงเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ทีเดียว

แต่ปัญหามีอยู่ว่า การยืนหรือเดินอยู่บน 2 ขานั้นทำให้การทรงตัวของร่างการเสียไปมาก กล่าวคือฐานของร่างกายแคบลงมากเมื่อเทียบกับการคลานบน 4 ขา กล้ามเนื้อต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้คอเหยียดตรง อกผายไหล่ผึ่ง หลังตรง ข้อสะโพกเหยียด หัวเข่าไม่งอ ข้อเท้าเกือบจะตั้งฉากกับขาส่วนล่าง

เท้าของเรามีลักษณะเป็นส่วนโค้งคล้ายสะพานลอยฟ้าต้องมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นดึงและยึดเพื่อไม่ให้ส่วนโค้งเสียไป ส่วนโค้งของเท้าทำให้รับน้ำหนักของร่างกายได้มาก มีทั้งส่วนโค้งตามยาวคือ จากส้นเท้าทอดมาที่นิ้วเท้าทั้ง 5 และส่วนโค้งขวางทอดจากเท้าข้างหนึ่งมายังเท้าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า แต่ละเท้าจะมีส่วนโค้งขวางเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

ผู้ที่ส่วนโค้งทั้ง 2 เสียไป จะมีลักษณะเป็นเท้าแบน ซึ่งสมัยก่อนเข้าใจว่าเป็นผู้มีบุญ แต่แท้จริงเป็นเท้าที่ทรมานเจ้าของเท้ามากกว่า เพราะยืนหรือเดินนานจะเจ็บปวดได้

การเดินนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ ช่วงยืน ช่วงเขย่งเท้า แกว่งเท้าไปข้างหน้า และช่วงเอาส้นเท้าแตะพื้น

ช่วงยืนเป็นช่วงที่เท้าทั้ง 2 รับน้ำหนักของร่างกายร่วมกันเป็นที่ท่าที่ค่อนข้างมั่นคง เมื่อขาข้างที่จะก้าวเขย่งและแกว่งไปข้างหน้าเป็นช่วงที่เท้าที่ยังยืนอยู่บนพื้นต้องรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย กล่าวคือ ถ้าร่างกายหนัก 65 กิโลกรัม ขาข้างนั้นต้องรับน้ำหนักทั้ง 65 กิโลกรัม ลองนึกดูว่า กระดูกข้อต่อต่างๆต้องรับน้ำหนักขนาดนั้นได้อย่างไร ถ้ากล้ามเนื้อหรือพังผืดที่อยู่รอบข้อต่อของเท้าไม่แข็งแรงพอ

ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะข้อเท้าแพลง ท่าเดินจะมีลักษณะผิดจากปกติคือเดินแบบขาเป๋ คือข้อเท้าที่ยืนอยู่รับน้ำหนักทั้งหมดไม่ได้หรือรับได้ชั่วประเดี๋ยวเดียว จึงทำให้ต้องรีบวางเท้าข้างที่ก้าวออกลงพื้นทันที เกิดภาวะขาเป๋ขึ้น ในกรณีเช่นนั้นควรจะใช้ไม้เท้าช่วย โดยถือไว้ในมือที่ตรงข้ามกับขาที่เป๋ ทุกครั้งที่ก้าวขาที่เจ็บออกไป ไม้เท้าจะกางในระดับเดียวกับข้างที่เจ็บเสมอ เพื่อเป็นการแบ่งน้ำหนักที่ลงบนเท้าข้างที่เจ็บให้ลดน้อยลงกว่าเดิม

เมื่อผ่านช่วงที่ขาแกว่งไปข้างหน้า กล้ามเนื้อจะลดความเร็วของขาที่ก้าวให้แกว่งช้าลงเพื่อให้ส้นเท้าสัมผัสกับพื้น จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงการยืนลงน้ำหนักอีกครั้งหนึ่ง เป็นเช่นนี้ทุกย่างก้าว

ระยะเวลาที่เท้ายืนอยู่บนพื้นขณะเดินและระยะเวลาที่ขาแกว่งไปข้างหน้าจะแตกต่างกันแล้วแต่บุคคลดังนั้นคนบางคนจึงเดินเร็วเพราะช่วงก้าวและช่วงยืนใช้เวลาสั้น บางคนเดินช้าเพราะใช้ช่วงเวลายาว

ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่ช่วงก้าวยาว ย่อมเดินเร็วกว่า ผู้ที่ช่วงก้าวสั้น ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความยาวของขาทั้ง 2 ข้าง ไม่เพียงแต่ข้อเท้าแพลงทำให้เดินขาเป๋ การที่เจ็บปวดข้อเท้าหรือข้อสะโพกล้วนทำให้ท่าการเดินผิดปกติไป เนื่องจากการลงน้ำหนักหรือการงอข้อเข่าและข้อสะโพกน้อยเกินไป

คนบางคนเดินคล้ายหุ่นยนต์เพราะงอข้อเข่าไม่เพียงพอหรือไม่นิ่มนวล ผู้ที่มีอาการติดขัดของข้อสะโพกหรืออัมพาตครึ่งซีก ทำให้ต้องใช้ลำตัวเหวี่ยงเพื่อแกว่งขาออกไป ทำให้เดินคล้ายมีการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ที่เรียกกันว่าไข่ดันบวมหรือ “จาโบ้วฮวน”

จะเห็นได้ว่าการเดินด้วยท่าทางที่สง่านั้น ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆเลย อย่างน้อยๆต้องมีข้อต่อ พังผืด กล้ามเนื้อและระบบประสาทที่ดี แต่ทว่ามีคนหลายๆคนที่มีเงื่อนไขเหล่านี้ดีอยู่แล้ว แต่กลับเดินอย่างซังกะตาย ผู้ชายบางคนพยายามเดินสะบัดสะโพกให้คล้ายผู้หญิงซึ่งมีสะโพกที่ผายออกมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากต้องเตรียมไว้เพื่อคลอดลูก ผู้ชายมีสะโพกที่แคบ การเดินจึงไม่จำเป็นต้องส่ายไปมา

การเดินย่อมต้องสวมใส่รองเท้าหุ้มส้นที่มีขนาดเหมาะกับเท้า การเดินด้วยรองเท้าแตะทำให้ไม่สามารถใช้ส้นเท้าสัมผัสพื้นเมื่อแกว่งขาไปข้างหน้า จึงทำให้เดินคล้ายเป็ด

การเดินให้สง่างามทุกย่างก้าวไม่เพียงแต่แสดงว่าตนเองภูมิใจที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ยังป้องกันอุบัติเหตุการบาดเจ็บต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ถ้าก้าวผิดไปแม้แต่เพียงก้าวเดียว

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

105-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
บุคลิกภาพ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข