• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ย่ำแดนมังกร ดูงานสาธารณสุขมูลฐาน

หมอเท้าเปล่าลือลั่น-2 ( 11)

ในสถานบริการระดับหมู่บ้านซึ่งจะมีครบเกือบทุกหมู่บ้าน ยกเว้นในหมู่บ้านเล็กๆซึ่งน่าจะเกิดขึ้นใหม่จะมีผู้ให้บริการทางด้านสาธารณสุขมากที่สุด 3 คน คือหมอชนบท (หมอเท้าเปล่า) ผู้ช่วยพยาบาล และผดุงครรภ์ บางหมู่บ้านอาจจะมีเพียงหมอชนบท บางหมู่บ้านจะมีบุคลากรครบทั้ง 3 ประเภท

โดยทั่วไปแล้วจะมีบุคลากรเหล่านี้ในระดับหมู่บ้านเฉลี่ยแล้ว 1.92 คนต่อหมู่บ้าน ซึ่งจัดเป็นอัตราที่สูงพอสมควร

การปฏิบัติงานของบุคลากรเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากระดับอำเภอและระดับตำบล ผู้สนับสนุนจะมีการมาเยี่ยมเยียนและให้คำปรึกษาทุกเดือน แต่การทำงานของบุคลากรเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน หากหมอชนบทผู้ใดปฏิบัติงานได้ดีก็จะได้รับรางวัลเพิ่มเติมจากชุมชน โดยกรรมการหมู่บ้านเป็นผู้พิจารณา

โดยเฉลี่ยแล้วหมอชนบทคนหนึ่งจะได้รับเงินเดือนโดยเฉลี่ยประมาณ 200 หยวน ( ประมาณ 1,400 บาท ต่อปี ) นอกจากนั้นยังจะได้รับค่าบริการจากประชาชนอีก

ประชาชนที่มารับบริการจะเสียค่าบริการประมาณ 20 เซ็นต์ต่อครั้ง ( ประมาณ 1.25 บาท ) คนไข้ที่มารับบริการโดยเฉลี่ยประมาณ 6-10 คนต่อวัน ดังนั้นรายได้ของหมอชนบทที่จะได้เพิ่มเติมจากคนไข้ประมาณ 1-1.5 หยวน ( ประมาณ 7-12 บาท ) ต่อวัน ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่น้อยนัก

การที่จะเป็นหมอชนบทจึงเป็นที่พิสมัย มีคนอยากจะเป็นมากมายจนถึงกับต้องมีระบบการคัดเลือกซึ่งโดยปกติจะได้รับประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่แสดงความจำนงต้องการมารักษา

การเป็นหมอชนบทหากไม่ได้ถือเป็นการสิ้นสุด มีความเอาใจใส่ดีและขวนขวายหาความรู้มากๆสามารถมีโอกาสได้รับวุฒิเพิ่มเติมเป็นผู้ช่วยแพทย์ (ซึ่งเทียบเท่ากับผู้ที่ได้รับการศึกษาจนจบมัธยมตอนปลายแล้วมาศึกษาต่อในระดับโรงเรียนแพทย์ 3 ปีจนจบเป็นผู้ช่วยแพทย์ได้)

การได้รับวุฒิจะต้องผ่านการสอบ มีหมอชนบทจำนวนน้อยมากที่จะผ่านการสอบได้ และการสอบแบบนี้ก็จัดขึ้นน้อยมาก ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมามีการสอบเพียง 2 ครั้งเท่านั้น

โรงเรียนที่ผลิตหมอเท้าเปล่าหรือหมอชนบทจะอยู่ในระดับอำเภอและไม่ได้ทำการผลิตหมอชนบทเพียงอย่างเดียว ยังการผลิตผู้ช่วยเภสัชกรและผู้ช่วยด้านอื่นๆด้วย อาจารย์ที่มาสอนในโรงเรียนมักจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยแพทย์ซึ่งปกติให้การบริการในระดับอำเภออยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากที่ระดับอำเภอมีการจัดให้มีการผลิตบุคลากรต่างๆได้เอง จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมเขาจึงผลิตได้จำนวนมากมายถึงขนาดมีได้ในทุกหมู่บ้าน

ขณะนี้ประเทศจีนมีหมอเท้าเปล่าจำนวนมากมาย จึงหยุดการผลิตหมอเท้าเปล่าทางด้านปริมาณ และเลิกล้มคำว่าหมอเท้าเปล่าดังได้กล่าวมาแล้ว หันมาเพิ่มพูนทางด้านคุณภาพและเรียกเป็นหมอชนบทแทน เป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้คนจีนในปัจจุบันมีอายุยืนยาวขึ้นและอัตราตายของทารกต่ำลง เพราะมีผู้ให้บริการกระจายอย่างทั่วถึงนั่นเอง

ผมได้มีโอกาสไปชมการศึกษาของหมอชนบทในสถานบริการระดับหมู่บ้านพบว่า เขาให้การบริการได้ดีพอใช้ แม้บางอย่างผมอาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เช่น การอนุญาตให้หมอชนบทสามารถให้น้ำเกลือได้ ทั้งนี้ ถ้าจะให้แน่ใจผมคงต้องดูรายละเอียดมากกว่านี้ก่อนว่า การเรียนการสอนที่ให้กับหมอชนบทนั้นมากพอถึงขนาดจะประกันความปลอดภัยจากการให้ยา ให้น้ำเกลือโดยหมอชนบทหรือไม่

แต่ที่ประทับใจคือ สถานบริการของเขาที่เห็นนั้น การก่อสร้างโดยใช้เงินกองทุนของหมู่บ้าน และเงินกองทุนส่วนที่เหลือจากการก่อสร้างยังถูกนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยา

การคลอดในหมู่บ้านที่ผมไปชมนั้น ทำคลอดโดยผดุงครรภ์ ซึ่งได้รับการฝึกฝนมา 6 เดือน ค่าทำคลอดที่มารดาจะต้องเสียประมาณ 3 หยวน ( ประมาณ 21 บาท ) ต่อครั้ง ถ้าหากเป็นรายที่ทำคลอดยากก็จะเสียประมาณ 5 หยวน ( ประมาณ 35 บาท ) ต่อครั้ง ปกติจะมีคนตลอดเฉลี่ยอย่างมาก 1 คน ต่อเดือน

การควบคุมดูแลหมอชนบทนั้นมีการให้แนวทางกับคณะกรรมการหมู่บ้านในการควบคุมดูและหมอชนบทโดย
1. หมอชนบทจะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันเป็นอันดับแรก
2. จะต้องให้การบริการอย่างทั่วถึงทุกคน
3. จะต้องให้การบริการตามวิธีที่ได้ศึกษามา
4. จะต้องเก็บค่ารักษาพยาบาลตามที่รัฐบาลกำหนด
5. จะต้องจดรายละเอียดการให้การรักษาพยาบาล พร้อมทั้งเก็บรักษารายการ ใบสั่งยา ใบเสร็จรับเงิน บัญชีรายรับ รายจ่าย พร้อมที่จะให้ทำการตรวจสอบ
6. จะต้องจดรายงานการประชุมกับชาวบ้าน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
7. จะต้องพบกับเจ้าหน้าที่จากอำเภอและตำบลเดือนละ 1 ครั้ง และจะต้องไปรับการแนะนำเพิ่มเติมที่ตำบลหรืออำเภอ เดือนละ 1 ครั้ง

มีข้อที่น่าสนใจที่จะเปรียบเทียบกับบ้านเราก็คือ ในหมู่บ้านของบ้านเรานั้น มีผู้สื่อข่าวสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือเรียกสั้นๆว่า ผสส. และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เรียกสั้นๆว่า อสม.

เราเริ่มมีการผลิต ผสส. และ อสม. มาจนปีนี้นับเป็นปีที่ 10 และมี ผสส.,อสม. ครบทุกหมู่บ้านในปีหน้า ผสส.ของเราจะมี 1 คนต่อ 8-15 หลังคาเรือน โดยคาดว่าจะให้ข่าวสารที่ถูกต้องด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน เพื่อป้องกันตนเองจากโรคภัยต่างๆ

อสม.จะมี 1 คนต่อ1 หมู่บ้านโดยคาดหวังจะทำหน้าที่ในการรักษาพยาบาลอย่างง่ายๆแก่ประขาชนและให้คำแนะนำ การป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง หลังจากที่เรามี ผสส., อสม. สุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในชนบทดีขึ้นเป็นอันมาก รวมทั้งการเกิดมีกองทุนทางด้านสาธารณสุขต่างๆในหมู่บ้านที่จะแก้ไขปัญหาสาธารณสุขทางด้านของประชาชน เช่น

การมีกองทุนยาในหมู่บ้านสำหรับขายยาที่ไม่เป็นอันตราย กองทุนสุขาภิบาลสำหรับการทำให้มีโอ่งน้ำสำหรับใส่น้ำสะอาดไว้ดื่ม และมีส้วมไว้ใช้ในบ้านเพื่อป้องกันโรคติดต่อจากอุจจาระ การมีกองทุนโภชนาการ เพื่อชั่งน้ำหนักเด็กในหมู่บ้าน และให้อาหารเสริมแก่เด็กที่ขาดสารอาหาร เป็นต้น

ขณะนี้สิ่งต่างๆเรามีมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนให้มีคงอยู่ตลอดไป แม้ปริมาณจะมีมากอยู่พอสมควรสำหรับ ผสส., อสม. และกองทุนต่างๆ แต่ทางด้านคุณภาพยังเป็นที่น่าสงสัย เช่น กองทุนยา ควรจะมีการจำหน่ายยาที่ไม่เป็นอันตรายแก่ประชาชน หรือผสส.ควรจะสามารถกระจายข่าวสารสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เป็นต้น

ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 10 ปีของการดำเนินการ เมื่อมีปริมาณจนครบถ้วนแล้วหวังอย่างยิ่งว่าทางด้านคุณภาพคงจะได้รับการสนับสนุนพัฒนาให้ดีขึ้น

การดำเนินการปรับปรุงคุณภาพจากปริมาณที่มีอยู่น่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไปประชาชน คณะกรรมการหมู่บ้านที่อยู่หมู่บ้านก็น่าจะมีบทบาทไม่น้อย

ก็หวังว่า ผสส., อสม.ที่อยู่ทั่วประเทศขณะนี้ คณะกรรมการหมู่บ้านที่มีอยู่คงจะช่วยกันกับรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพการบริการที่มีอยู่ เพราะนั่นหมายถึง สุขภาพที่ดีของพ่อแม่พี่น้องทุกๆคนในหมู่บ้านของเราเอง สมดังเจตนารมณ์ที่ทำให้ผสส.-อสม.ขึ้นมา

ข้อมูลสื่อ

105-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 105
มกราคม 2531
นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์