• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การรักษาโรคด้วยวิธีฝังเข็ม

การรักษาโรคด้วยวิธีฝังเข็ม

อโรคยาปรมาลาภา เป็นคำกล่าวของพระพุทธองค์ที่แท้จริงแน่นอน เมื่อบุคคลใดเจ็บป่วยจะหาความสุขไม่ได้เลย ในเมื่อบุคคลใดเจ็บป่วยก็ต้องไปหาหมอ หมอก็พยายามที่จะรักษาให้หายจากโรคร้ายด้วยวิธีต่างๆ กัน ล้วนแล้วแต่ต้องการให้หายจากความเจ็บป่วย หายทรมาน ให้กลับมาเป็นคนที่มีพลานามัยสมบูรณ์และมีความสุขในชีวิต วิธีการรักษาที่หมอค้นคิด ศึกษาแนะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยนั้น มีหลายแบบหลายวิธี เพื่อหวังผลอย่างเดียวคือ ให้ผู้ป่วยหายจากโรคภัย

ในปัจจุบันนี้การรักษาโรค จะแยกออกไปได้หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยการผ่าตัดการใช้รังสีรักษาและอีกวิธีหนึ่งที่หมอเองกำลังค้นคว้าหาผลดีของการรักษาแบบนี้ คือ วิธีรักษาด้วยการฝังเข็ม

การรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม เป็นวิธีรักษาโรคแบบหนึ่งในหลายๆ แบบที่หมอใช้กัน การฝังเข็ม มิใช่ไสยศาสตร์ มิใช่สิ่งมหัศจรรย์ วิธีการรักษาก็เช่นเดียวกับการใช้วิธีให้ยา หรือวิธีผ่าตัดรักษา โดยที่หมอต้องวินิจฉัยโรคให้ได้ถ่องแท้ หาสาเหตุแห่งการเกิดโรคให้ได้แน่นอน แล้วตัดสินว่าวิธีใด เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะใช้รักษา หรืออาจต้องใช้วิธีรักษารวมกันในหลายๆ วิธี ยกตัวอย่างเช่น

ผู้ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา 10 ปีได้ตรวจระบบสายตา หู คอ จมูก เส้นเลือด และสมองแล้ว ไม่พบสิ่งใดผิดปกติ แต่มีอาการปวดศีรษะอยู่เสมอ ได้รับการรักษาด้วยวิธีการใช้ยามาเป็นเวลานานแล้ว ไม่หายขาด ก็เปลี่ยนวิธีการรักษามาใช้การฝังเข็ม เป็นต้น

วิธีการฝังเข็มนี้ เป็นวิธีรักษาโรค ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศตามประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ในประเทศจีนใช้การฝังเข็มรักษาผู้ป่วยมาประมาณ 4,000 ปีแล้ว โดยการกระตุ้นจุดบางจุดในร่างกายด้วยของแหลม ส่วนใหญ่ใช้รักษาในการบรรเทาความเจ็บปวด การฝังเข็มก็มีวิวัฒนาการกันขึ้นมาเรื่อยๆ โดยใช้ในการรักษาโรคและป้องกันทำให้โรคหาย หรือบรรเทาไปได้ของแหลมที่ใช้กระตุ้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา จากกระดูกสัตว์ หินมาเป็นเข็ม วัตถุที่ใช้ทำเข็มไม่มีความสำคัญในการรักษาแต่อย่างใด อาจเป็นทองคำ เงิน เหล็กไม่เป็นสนิมก็ได้ทั้งสิ้น ความสำคัญในการรักษาอยู่ที่การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง การเลือกจุดการแทงถูกจุดที่ได้เลือกแล้วความรู้ในทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับกายวิภาค การติดเชื้อ มีความสำคัญในการใช้วิธีฝังเข็มรักษาโรคมาก ในเวลานี้เข็มที่ใช้ในการรักษาโรค ใช้เข็มทำด้วยเหล็กไม่เป็นสนิม รูปร่างและขนาดของเข็มก็มีแตกต่างกันไป 9 ชนิด แล้วแต่วิธีที่จะใช้ในการรักษา

การฝังเข็มในเวลานี้ แยกออกได้เป็น 2 ชนิด

1. การฝังเข็มเพื่อให้เกิดการชา

2. การฝังเข็มเพื่อการรักษา
 

1. การฝังเข็มเพื่อให้เกิดการชา

เป็นการฝังเข็มบนจุดบางจุดที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดการชาทำให้หายเจ็บปวดและทำให้ทำการผ่าตัดได้ ในการผ่าตัดบางชนิด ที่ไม่ต้องการการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ อาจใช้วิธีฝังเข็มทำให้เกิดการชา ทำผ่าตัดได้โดยไม่ต้องใช้ยาใดๆ เลย การฝังเข็มที่ทำให้เกิดการชา มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ยังต้องค้นคว้าทดลองต่อไปอีก จนกว่าจะได้ผลที่แน่นอนกว่านี้

ข้อดี คือ

1. เป็นการชาที่ไม่ต้องใช้ยาเลยหมดปัญหาเรื่องแพ้ยา พิษของยาและอาการแทรกซ้อนของยา

2. ค่าใช้จ่ายถูกมาก ไม่หมดเปลือง เข็มใช้แล้วนำมาใช้ใหม่ได้

3. นำไปใช้ในที่ทุรกันดารได้สะดวก นำติดตัวไปไหนๆ ได้ง่าย

ข้อเสีย คือ

1. เป็นวิธีการรักษาที่ต้องการความชำนาญ ต้องใช้เวลาฝึกหัดนานพอสมควร ต้องมีความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์เป็นอย่างดี

2. ใช้เวลานานก่อนที่จะเกิดการชา ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีจึงจะเกิดการชา

3. การชาไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จะมีการชาเกิดข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์แล้วแต่บุคคล

4. ผลที่ได้ไม่แน่นอน มีสิ่งแวดล้อมข้ามาเกี่ยวข้องมาก เช่น อารมณ์ผู้ป่วย ความอดทนของผู้ป่วย อารมณ์ของหมอผ่าตัด และหมอวิสัญญี (หมอวางยาชา หรือยาสลบ)

5. เป็นการชาที่ไม่มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้การผ่าตัดบางชนิดทำได้ด้วยความลำบากมาก

6. ปฏิกิริยาสะท้อน (รีเฟลกซ์) ของอวัยวะภายในยังคงอยู่ เวลาดึงกระเพาะลำไส้ผู้ป่วยยังรู้สึกแน่นและจุก ทำให้เกิดความไม่สบายแก่ผู้ป่วยได้มาก

การฝังเข็มเพื่อทำให้เกิดการชา เป็นวิธีการที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะทำการผ่าตัดไม่ได้ทุกชนิด แต่ก็ทำผ่าตัดได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายถูกมากและนำติดตัวไปในที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้สะดวก สิ่งที่ต้องการอย่างยิ่ง คือ ความชำนาญและความสนใจ

2. การฝังเข็มเพื่อการรักษา

การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งยังอธิบายไม่ได้ชัดว่า ทำไมจึงหายจากโรคนั้นๆ ได้ เป็นวิธีรักษาโรคที่ใช้กันมาหลายพันปี มีผลออกมาให้เห็น คือ หายหรือทุเลา

โรคที่ใช้รักษาด้วยวิธีฝังเข็มมีหลายร้อยวิธี เกือบจะว่ารักษาได้ทุกโรค ยกเว้นโรคที่เกี่ยวกับเนื้องอก ที่ควรผ่าตัดเอาออกมากกว่า โรคที่ใช้ในการรักษามีทั้งโรคติดเชื้อ การแพ้ (เช่น แพ้อากาศ ลมพิษ) โรคของอวัยวะภายใน (เช่น หืด ไอ ปวดท้อง โรคกระเพาะ ถุงน้ำดีอักเสบเป็นนิ่ว) โรคของไต (เช่น นิ่วก้อนเล็กๆ ไตอักเสบ) โรคระบบประสาท (เช่น ชา อัมพาต ปวดแขนขาโปลิโอ) โรคตา (ตาแดง ฝ้ามัว) โรคหู (หูอื้อ หูมีเสียง หูไม่ได้ยิน) ใบ้ โรคทางระบบสืบพันธุ์ (เช่น หมดความรู้สึกทางเพศ ประจำเดือนผิดปกติ) โรคที่เกี่ยวข้องกับการปวดทั้งหลาย (เช่น ปวดศีรษะ ปวดประสาท ปวดหลัง ปวดคอ แขน ข้อ ปวดกล้ามเนื้อ) โรคจิต กลัว ใจสั่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย คิดมาก เหล่านี้ เป็นต้น ยังมีโรคอีกมากมายที่รักษาได้ หรืออาจทำให้ทุเลา

วิธีการรักษา ก็คือ เมื่อหมอวินิจฉัยโรคได้แล้ว ก็เลือกจุดที่จะใช้ในการรักษาตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ แล้วใช้เข็มที่ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคแล้ว แทงบนจุดที่เลือกด้วย ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและความชำนาญ จะทำให้เกือบไม่เจ็บเลย กระตุ้นเข็มเป็นเวลา 15-20 นาที ถอดเข็มออกได้ ทำวันละครั้งหรือ 2 วันครั้งแล้วแต่โรคที่เป็น และความรุนแรงของโรค เมื่อหายจากโรคร้ายเมื่อใดก็หยุดได้ หรือในโรคเรื้อรังให้ทำ 15 ครั้ง แล้วสรุปผลการรักษาที่หนึ่งอาจต้องใช้การรักษาระยะที่ 2 ต่ออีก 15 ครั้ง แล้วแต่ผลของการรักษาที่ได้รับ

ผลของการรักษาโรคด้วยวิธีฝังเข็ม ก็เช่นเดียวกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อาจได้ผลดี หายหรือทำทุเลา หรือในบางราย อาจไม่หาย ต้องเปลี่ยนวิธีรักษาเป็นวิธีอื่น เช่น โรคหืด อาจหายขาดไปเลยหรือทุเลา หรือต้องกลับไปใช้ยาอีก เป็นต้น

ทำไมถึงหาย ได้มีคนค้นคว้าทำการวิจัย ในหลายประเทศในโลกนี้ว่าทำไมการรักษาด้วยการฝังเข็ม จึงหายจากโรคร้าย ในเวลานี้เท่าที่จะอธิบายกันก็ว่า การฝังเข็มทำให้เกิดผลได้หลายๆ อย่าง เช่น

1. ทำให้ง่วงในบางจุด

2. ทำให้ชาหายปวดในบางจุด

3. ทำให้วัยวะภายในทำงานได้ดีขึ้น จุดแต่ละจุดมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ทำให้น้ำดีไหลดีขึ้น ไตทำงานดีขึ้น เป็นต้น

4. ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น การทำงานของเนื้อเยื่อดีขึ้น

การรักษาด้วยการฝังเข็มยังเป็นวิธีรักษาโรคที่ต้องค้นคว้า วิจัย และเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญ และความสนใจอีกมาก ในเวลานี้เราเชื่อได้ว่าการฝังเข็มทำให้โรคบางโรคหาย หรือทุเลาได้ บางโรคใช้เวลารักษาระยะสั้น บางโรคใช้เวลารักษาระยะยาว แต่ก็เป็นวิธีรักษาโรคที่ให้ประโยชน์แก่มวลชนได้

ข้อมูลสื่อ

3-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 3
กรกฎาคม 2522
อื่น ๆ
ศ.พญ.คุณหญิงสลาด ทัพวงศ์