• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผิวหนัง ผม ขน และเล็บ

ผิวหนัง ผม ขน และเล็บ

รูปที่ 1 ส่วนประกอบของเซลล์

 

รูปที่ 2 หนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก)

ผิวชั้นบนสุด 1 ประกอบด้วยเซลล์ที่ตาแล้ว มีลักษณะคล้ายแผ่นกระเบื้องมุงหลังคา มีสารโปรตีนแข็งๆ ที่เรียกว่า เคอราติน (Keratin) ซึ่งช่วยให้ผิวหนังเหนียวและกันน้ำ เซลล์ที่ตายแล้ว จำนวนล้านๆ ตัว จะหลุดออกจากผิวเป็นขี้ไคลอยู่ตลอดเวลา โดยถูกแทนที่ด้วยเซลล์ใหม่ที่เคลื่อนตัวจากชั้นล่าง 2 สู่ชั้นบนเป็นลำดับ ผิวหนังจะถูกเชื้อโรครุกรานก็แต่เฉพาะทางรูขน 3 และรูเหงื่อ 4 หนังกำพร้าและหนังแท้ 5 ติดกันอย่างเหนียวแน่นในลักษณะที่หยักขึ้นหยักลงเหมือนฟันปลา

 

รูปที่ 3

เล็บ (3) ประกอบด้วยสารเคอราตินที่แข็งวางอยู่บนพื้นเล็บ (2) ซึ่งประกอบด้วยหนังกำพน้าชั้นในสุด 2 ชั้น หนังกำพร้าชั้นนอก (1) จะอยู่เหนือตีนเล็บ และส่วนที่รู้สึกเจ็บมากที่สุดจะอยู่ใต้ขอบเล็บ(4)ส่วนที่ซีด และดูเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกนั้นเรียกว่า “ลูนูลา” (Lunula)จะอยู่ใต้ตีนเล็บ เป็นส่วนที่เจริญเติบโตของเล็บ

 

 

 

         

 รูปที่ 4

ก. การเจริญของมนุษย์

ผมหรือขน เริ่มงอกตั้งแต่เป็นทารกในท้องอายุได้ 3 เดือน โดยที่หนังกำพร้า(1) จะโตยื่นลงไปในชั้นหนังแท้ (2) และชั้นเหนือเนื้อเยื่อหรือขน (4) เป็นผลจากการแบ่งตัวเซลล์ ซึ่งจะเกาะกลุ่มกันเกิดเป็นกระเปาะ (5) ตรงบริเวณก้นของรูขน มันจะแบ่งตัวเรื่อยๆ เซลล์เหล่านี้จะโผล่ทะลุผิวหนังออกมา ขณะเดียวกันก็จะมีสารโปรตีนแข็งที่เรียกว่า เคอราตินมาจุอยู่ในเซลล์เหล่านี้ กลายเป็นก้านผม (6)

ข. รูปตัดของก้านผม

แสดงให้เห็นว่าขนแต่ละเส้นจะมีกล้ามเนื้อกระดก (7) มาควบคุมทำให้ขนลุกชันได้ ต่อมน้ำมัน (8) ที่อยู่รอบๆ รูขน จะสร้างไขมันมาหล่อลื่นขน (หรือผม) และผิวหนังโดยรอบ

 

 

รูปที่ 5 เม็ดสีเมลานิน (Melanin)

ถูกสร้างในชั้นหนังกำพร้า โดยเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เมลาโนทัยท์ (melano cytes) (1) ซึ่งจะปล่อยเมลานินเข้าไปในเซลล์ของหนุงกำพร้าที่อยู่ใกล้เคียง (2) พอผิวหนังถูกแสงแดดมากขึ้น เมลานินจะถูกสร้างมากขึ้น ทำให้ผิวเป็นสีน้ำตาลแดง จะพบได้ในพวกฝรั่ง (รูป ก) พวกนิโกรผิวดำ (รูป ข) จะมีผิวที่แผ่รังสีความร้อนได้ดีกว่าพวกผิวขาว (รูป ค) บางพวกมีผิวหน้าสีเหลือง ก็เนื่องจากเม็ดสีเหลืองหรือ “คาโรตีน” ที่อยู่ในชั้นนอกของหนังกำพร้า (3) พวกที่ผิวตกกระ (รูป ง.) ก็เนื่องจากมีเซลล์ เมลาโนซัยท์ที่เสื่อมคุณภาพสร้างเม็ดสีเมลานินไม่ได้ (4) มาอยู่รอบๆ กระจุกของเม็ดสี

ผิวหนัง ผม ขน และเล็บ

เมื่อพูดถึงความงาม ใครๆ ก็อยากจะมีผิวงามและผมสลวย สวยเก๋ เพราะเป็นสิ่งที่ชวนดูน่าลูบไล้ นี่เป็นความรู้สึกอันดับแรกสุด เมื่อคนเรามองดูผิวหนังและผม

แต่ความจริงแล้ว ประโยชน์ของมันมีมาก

ผิวหนังจัดว่าเป็นอวัยวะ ส่วนใหญ่ที่สุดของร่างกายชนิดหนึ่ง ในผู้ใหญ่ผิวหนังจะมีเนื้อที่ประมาณ 1.75 ตารางเมตร ( 2,750 ตารางนิ้ว) รวมๆ กันจะมีน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 7 ของน้ำหนักทั่วร่างกาย และรับเลือดดีมาหล่อเลี้ยงจากหัวใจประมาณ 1 ใน 3

ผิวหนังนับว่ามีความเก่งกาจหลายอย่างทีเดียว มันเป็นฉนวนกันน้ำ มิให้น้ำระเหยออกจากร้างกาย คนที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก จนแทบไม่มีผิวหนังอยู่ จะตายได้เพราะร่างกายเสียน้ำที่ระเหยออกไปทางผิว (ที่เป็นฉนวนกั้นน้ำ) จนมีอาการช็อค

มันเป็นเพราะการป้องกันมิให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

มันช่วยรับความรู้สึกร้อนหนาว เจ็บปวด และการสัมผัส

มันช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกาย ให้ร่างกายมีชีวิติยู่ได้ เช่น ถ้าอยู่ในที่อากาศร้อนอบอ้าว หรือเป็นไข้ตัวร้อน ผิวหนังจะขับเหงื่อพาความร้อนระเหยออกไปให้มากกว่าปกติ แต่ถ้าอยู่อากาศเย็นจัด ผิวหนังก็จะซีด เนื่องจากหลอดเลือดในบริเวณนี้หดตัวช่วยให้ความร้อนระเหยออกไปได้น้อยลง เป็นต้น

นอกจากนี้มันยังทำหน้าที่สร้างสารประเทืองผิว และขับของเสียออกจากร่างกายอีกด้วย

ชั้นของผิวหนัง

ถ้าเราเอากล้องจุลทรรศน์มาส่องดู จะพบว่าผิวหนังชั้นนอกสุดหรือที่เรียกว่า หนังกำพร้า นั้นจะประกอบด้วยชั้นของผิว 5 ชั้นด้วยกัน ซึ่งจะมีเซลล์เคลื่อนผ่านแต่ละชั้นขึ้นมาแทนที่เซลล์ที่ตายบนชั้นนอกสุด ซึ่งหลุดกลายเป็นขี้ไคลไป (ดูรูปที่ 1,2 ประกอบ) ในชั้นล่างสุดของหนังกำพร้าจะมีเซลล์ที่แบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วเคลื่อนขึ้นมาอยู่ชั้นบนๆ ต่อไป เมื่อเซลล์เหล่านี้เคลื่อนตัวไกลจากบริเวณหนังแท้ที่มีเลือดและอาหารหล่อเลี้ยง มันก็จะค่อยๆ เสื่อมคลายลงไปและตายในที่สุด

ว่ากันว่า ชั้นของหนังกำพร้านี้จะถูกแทนที่ด้วยเซลล์ใหม่ตลอดทั้งชั้นทุกๆ 3 สัปดาห์ โดยในระหว่าง 3 สัปดาห์นี้ มันจะหลุดออกเป็นขี้ไคลได้ถึง 18-22 กิโลกรัม มิน่า...จึงมีผู้พูดว่า เอาขี้ไคลไปปั้นวัวปั้นความได้

ผิวหนังชั้นในที่เราเรียกว่า หนังแท้ (dermis) ประกอบด้วยตาข่ายของเส้นใยโปรตีน ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นและแข็งแรง ในคนแก่ความยืดหยุ่นตึงตัวของผิวหนังจะหายไป ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นไม่เต่งตึง หนังแท้มีความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร ในชั้นนี้จะมีหลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง และประกอบด้วยปลายประสาท ต่อมต่างๆ รวมทั้งรูขนจำนวนมากมาย

ชั้นที่ลึกลงไปอีก เรียกว่า ชั้นใต้หนังแท้ (Subdermal layer) ประกอบด้วย เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เนื้อเยื่อที่ยึดเซลล์ต่างๆ ให้เกาะติดกันได้) หลวมๆ น้ำและเซลล์ไขมันทำหน้าที่เป็นเหมือนฉนวนกันความร้อน เป็นเบาะหนุนส่วนกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ตลอดจนเป็นแหล่งสะสมพลังงานของร่างกาย ชั้นนี้แหละที่ผู้หญิงเราเกลียดกลัวกันนัก โดยเฉพาะผู้หญิงที่กินเก่ง และไม่รู้จักออกกำลังกาย เพราะจะมีไขมันไปพอกเก็บอยู่ในชั้นนี้จนทำให้ทรวดทรงและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป...แล้วจะว่าไม่เตือนนะ

ผม ขน เล็บ และสีผิว

ผม ขน และเล็บ (ดูรูปที่ 3,4) ถือเป็นส่วนหนึ่งของผิวหนังเหมือนกัน ประกอบด้วยเซลล์ของหนังกำพร้าที่กลายรูปและจุเต็มไปด้วยสารโปรตีนแข็งๆ ที่เรียกว่า เคอราติน (Keraotin) ผม ขน และเล็บ นี้เป็นผิวหนังที่ตายแล้วและไม่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง จึงสามารถตัดได้ไม่เจ็บ

ผมและขนเกิดจากเซลล์ของหนังกำพร้าที่งอกลึกลงไปในชั้นของหนังแท้กลายเป็นรูขน (รูปที่ 4) เรียกว่า ก้านผม (หรือขน) ผมขนแต่ละเส้นจะมีกล้ามเนื้อเล็กๆ เรียกว่า “กล้ามเนื้อกระดก” (Erector muscle) มาควบคุม ทำให้เกิดอาการขนลุกชันเมื่อรู้สึกหนาวหรือตื่นตกใจ ส่วนที่ไม่มีผมขนคือที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบางส่วนของอวัยวะเพศภายนอก ส่วนผมนั้น มีประมาณ 2 ล้านเส้น และงอกยาวขึ้นวันละ 0.3 มิลลิเมตร

มีผมขนและสีผิวของคนเรานั้นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากผลทางกรรมพันธุ์ ขึ้นกับปริมาณของเม็ดสีหรือ พิกเม้นต์ (Pigment) ที่เราเรียกว่า เมลานิน (melanin) ซึ่งมีอยู่ในแต่ละคน (ดูรูปที่ 5) การสร้างเม็ดสีเมลานินในต่อมขนจะลดน้อยลงตามอายุและตามจำนวนฟองอากาศที่เข้าไปแทรกอยู่ในก้านผม (หรือขน) ทำให้ผมขนกลายเป็นสีเทาหรือขาวที่เราเรียกว่า ผมหงอก

ในพวกคนเผือก (หรืออัลบิโน albino) เม็ดสีเมลานินไม่สามารถจะถูกสร้างได้ เนื่องจากขาดน้ำย่อยหรือเอ็นซัยม์ชนิดหนึ่ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางกรรมพันธุ์หรือกลายพันธุ์ ดังนั้น พวกนี้จึงมีผิวสีขาว ผมขาว ม่านตาเป็นสีชมพู และตาไม่สู้แสง (ถูกแสง ตาจะหยีมากกว่าคนปกติ)

ต่อมในผิวหนัง (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)

ต่อมในบริเวณผิวหนังมีหลายมีหลายชนิด ที่สำคัญก็มี ต่อมน้ำมัน (Sebaceous gland) ซึ่งจะสร้างน้ำมันเรียกว่า ซีบัม (Sebum) มาหล่อเลี้ยงรูขน ช่วยหล่อลื่นผมขนและผิวหนังโดยรอบ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันมิให้มีการระเหยของน้ำออกจากต่อมเหงื่อจำนวน 3 ล้านต่อม ซึ่งอยู่ในชั้นของหนังแท้อีกด้วย

นอกจากต่อมน้ำมันแล้ว ยังมีต่อมเหงื่อซึ่งแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ

ก.ต่อมเหงื่อเค็ม (Eccrine gland) ซึ่งผลิตเหงื่อเค็มๆ ที่ออกมากับตัวเราเวลาอากาศร้อนหรือออกกำลังเหนื่อยๆ นั่นแหละ มันมีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายเย็นลง เมื่ออยู่ในที่อากาศร้อน และยังช่วยขนเอาบรรดาของเสียจากการเผาผลาญของร่างกาย เช่น สารยูเรีย (จากการสลายตัวของโปรตีน) กรดนม (กรดแล็คเกิดจากสลายตัวของสารน้ำตาล) ทิ้งไปด้วย

ข. ต่อมเหงื่อเหนียว (Apocrine gland) ต่อมนี้ใหญ่กว่า และผลิตสารน้ำที่เหนียวกว่าต่อมเหงื่อเค็ม พบมากในบริเวณ ก้น รักแร้ และอวัยวะเพศ

สารน้ำที่สร้างจากต่อมต่างๆ ในชั้นหนังแท้นี้ จะช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังช่วยดูดซึมรังสีความร้อน ทำให้ผิวหนังไม่เกิดการแพ้แดดหรือไหม้แดด และยังเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียชนิดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย

ผิวหนังหาได้สิ้นสุดที่ริมฝีปากและรูก้นเท่านั้นไม่ แต่มันติดต่อเข้าไปในทุกช่องทวารของร่างกาย รูปของเยื่อบุผิวหนังชนิดต่างๆ เช่น เคลือบอยู่ในรูจมูก ช่องปาก ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ เยื่อบุผิวพวกนี้จะไม่มีชั้นของสารเคอราติน แต่จะมีต่อมเมือกอยู่มากมายไว้คอยให้ความชุ่มชื้นและป้องกันผิวที่แบบบาง มันมีเส้นประสาทฝังอยู่เป็นจำนวนทำให้ไวต่อความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกสัมผัสกับอุณหภูมิ

ข้อมูลสื่อ

4-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522