• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สูบบหรี่

“รัฐบาลย้ำนโยบายไม่ส่งเสริมขี้ยา แต่อนุมัติเกือบพันล้านทำโรงงานบุหรี่”
“ค.ร.ม.ถกเครียดเรื่องบุหรี่ แล้วอนุมัติตั้งโรงงานยาสูบอีก”
“ค.ร.ม.แตกเป็น 2 ก๊ก ซัดกันเรื่องบุหรี่ ‘ชาติชาย’ ฉุน ถ้าห้ามก็ยุบโรงยาไปเลย”

นี่คือพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันที่ 27 มกราคม 2531 หลายฉบับ สรุปได้ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนเครื่องจักรของโรงงายยาสูบเป็นเงิน 896.13 ล้านบาท เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่ล้าสมัยแต่จะไม่มีการเพิ่มปริมาณการผลิต นอกจากนี้ยังอนุมัติหลักการให้กระทรวงการคลังร่วมกับโรงงานยาสูบก่อสร้างโรงงานใหม่ขึ้นอีก 1 โรง โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างในรูปแบบผู้ผลิตและจำหน่ายผลผลิตให้โรงงานยาสูบ

ในตอนท้ายของข่าวได้ย้ำว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายในการส่งเสริมการสูบบุหรี่ จึงมีมติให้กระทรวงสาธารณสุขไปหามาตรการในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการสูบบุหรี่เสนอคณะรัฐมนตรีด้วย
“เพราะบุหรี่สูบแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร และเห็นด้วยที่สถานที่ราชการจะห้ามหรืองดการสูบบุหรี่ หากหน่วยงานไหนสามารถทำได้ขอให้เสนอเข้ามา” นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมค.ร.ม.

อ่านข่าวนี้แล้วคล้ายกับว่า รัฐบาลได้ทำสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน ซึ่งคงสะท้อนให้เห็นปัญหาการเมือง (การเศรษฐกิจ) เรื่องบุหรี่ในคณะรัฐมนตรี ซึ่งแบ่งความเห็นเป็นสองฝ่าย

ถ้ามองในแง่ดี(มักน้อย)ก็ต้องว่ายังดีที่ยังมีความเห็นแย้งกัน ยังมิได้เฮโลไปทางที่ส่งเสริมการสูบบุหรี่เพียงด้านเดียว

เราคงมองข้ามความจริงในเรื่องนี้ไม่ได้ว่า
แม้ข้อมูลทางการแพทย์ได้ประจักษ์ชัดแจ้งว่าบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดให้โทษร้ายแรงต่อสุขภาพของมหาชนแล้วก็ตาม แต่บุหรี่ก็ได้กลายเป็นสินค้าซึ่งให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลแก่การคลังของประเทศและการค้าระหว่างประเทศ(บรรษัทข้ามชาติของประเทศยักษ์ใหญ่) ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะให้คนไทยบริโภคสิ่งเสพติดนี้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จึงมิใช่เรื่องที่จะหวังผลสำเร็จในระยะสั้นๆ หากแต่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องยาวนาน ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากฝ่ายต่างๆ

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเราได้แสดงทรรศนะหลายครั้งหลายหนแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับการสูบบุหรี่ ซึ่งเท่ากับช่วยเสริมพลังแห่งความถูกต้อง และให้กำลังใจแก่ผู้ที่เห็นด้วยกับการรณรงค์ในเรื่องนี้ จึงหวังว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้หามาตรการที่เหมาะสมเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไป

การรณรงค์ในเรื่องนี้ยังต้องการความร่วมมือจากมหาชนทั้งในด้านกำลังใจ กำลังความคิด และกำลังวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการรณรงค์เพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจัง จึงขอฝากผู้อ่านถ้าหากมีข้อคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ก็ช่วยๆกันเขียนมาถึงเราได้เลยครับ

สุดท้ายนี้มีเรื่องที่จะแจ้งให้ทราบ หมอชาวบ้านมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาจาก 15 บาท เป็น 18 บาท นับตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป เพราะทนสู้ค่ากระดาษที่ถีบตัวแพงขึ้นเรื่อยมาไม่ได้

ในช่วงนี้จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เราเปิดโอกาสให้แฟนๆสมัครสมาชิกด้วยอัตราค่าสมาชิกเดิม (ปีละ 150 บาท) หลังจากนั้นคงต้องใช้อัตราค่าสมาชิกใหม่ (ปีละ 180 บาท)

ขอขอบคุณที่แฟนๆได้อุ้มชูหมอชาวบ้านด้วยดีตลอดมา และคงจะเข้าใจและเห็นใจในการปรับราคาในครั้งนี้ของเรา

ข้อมูลสื่อ

106-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ