• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้และไอ ในฤดูฝน

ไข้และไอ ในฤดูฝน

โรคภัยไข้เจ็บในฤดูฝนในบ้านเราดูจะชุกชุมกว่าฤดูอื่นๆ โดยเฉพาะทางภาคใต้ ซึ่งมีระยะฝนตกตามฤดูกาลยาวนานกว่าภาคอื่นๆ ปีหนึ่ง อาจยาวนานถึง 4-8 เดือน และฤดูฝนก็ตกหนักจริงๆ จังๆ ติดต่อกัน 3 วัน 3 คืน ก็พบได้บ่อยบางคราวก็ตกติดต่อกัน 7 วัน 7 คืน ก็เคยมี และมันไม่ใช่ตกเปาะๆ แปะๆ แต่มันตกลงมาเหมือนฟ้ารั่วน้ำนั้นแหละ แถวระนอง ปัตตานี นราธิวาส ดูจะชุกกว่าที่อื่น ในฐานะที่บ้านเราประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ที่มีรายได้น้อย ความลำบากยากเข็ญในการครองชีวิต ท่ามกลางความไม่สมประกอบของระบบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การคมนาคม การสื่อสาร ยิ่งทำให้ความยากความลำบากทวีเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น โรคภัยไข้เจ็บที่พอจะหลีกเลี่ยงได้ก็หลีกไม่พ้นเพราะความจำเป็นที่เกษตรกรที่ยากจนจะต้องดิ้นรนขวนขวายหาเลี้ยงตนและครอบครัวโดยไม่สามารถจะหยุดพักได้ ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บให้ติดตัวไว้บ้างเพื่อการปฏิบัติตนเอง สำหรับการป้องกันโรคหรือบรรเทาความรุนแรงของโรคจากมากให้น้อยลงหรือจากน้อยไม่ให้มันเป็นเลย ก็อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไปทั้งไกลหมอไกลยา

เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บในระหว่างฤดูฝน โดยเฉพาะต้นฤดูและปลายฤดูมีมากมายและหากจะกล่าวกันโดยละเอียดก็จะยืดยาวมาก ดังนั้นในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยๆ โรคที่ค่อนข้างจะสำคัญ โรคที่เป็นปัญหาสำหรับประชาชน ส่วนใหญ่ในขณะนี้และเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นกับทุกคน เว้นโรคของเด็กโดยตรง เช่น คอตีบ ไอกรน และไข้เลือดออก ซึ่งพบมากในฤดูฝนเช่นกัน

ไข้หวัด

ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ติดต่อกันง่ายที่สุด แม้ว่าในตัวมันเอง เป็นโรคที่ไม่มีความสำคัญอะไร ไม่เป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาของประชาชนแต่อย่างใด แต่ในด้านนอกตัวของมันเอง โดยเฉพาะในเด็กและคนอายุมากๆ หรือผู้ที่มีโรคเรื้อนรังประจำตัว หรือคนที่ปล่อยปละตัวเองจนเกินไป ก็อาจจะทำให้โรคที่ไม่ร้ายแรงเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องล้มหมอนนอนเสื่อ อยู่หลายๆ วัน ก่อให้เกิดภาระและการสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยเหมือนกัน

ไข้หวัดตามปกติ จะหายเองภายใน 2-3 วัน โดยไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ในบางครั้งและบางคน เชื้อไวรัสชนิดนี้ อาจลุกลามเข้าไปในช่องหูภายใน ทำให้เกิดการอักเสบของประสาทหู ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียน บ้านหมุน ตาลาย บางคนอาจยกหัวไม่ขึ้น จากที่นอนก็เป็นได้มันจะหมุนไปหมด อาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการเหล่านี้ เป็นอาการของเส้นประสาทหูอักเสบ ซึ่งอาจจะเกิดจากเชื้อโรคอื่นๆ หรือมีสาเหตุที่เกี่ยวกับหลอดเลือดแดงก็ได้ แต่ส่วนมากจะเกิดหลังการเป็นไข้หวัด 2-3 วัน (ดังที่เราเรียกกันว่า “หวัดลงหู”) ซึ่งมักจะหายเองใน 3-4 วัน แต่มันสร้างความรำคาญ ทำให้ทำงานอะไรไม่ได้และบางคนกว่าจะหายอาจจะกินเวลาเป็นอาทิตย์เหมือนกัน

โรคแทรกซ้อนที่อาจจะร้ายแรงเป็นอันตรายได้มาก คือ โรคต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ช่องหูอักเสบเป็นหนอง โรคปอดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ไข้หวัดใหญ่

โรคนี้เป็นคนละเรื่องกับไข้หวัด เพราะ ไข้หวัดใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีน้ำมูก หรือมีการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้นร่วมด้วยไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ทำให้มีอาการทั่วไปทั้งร่างกาย เกิดจากเชื้อไวรัสและจัดว่าเป็น โรคระบาดที่ร้ายแรงพอควร ติดต่อกันง่าย จากน้ำมูก น้ำลาย การใช้ภาชนะร่วมกันการอยู่ร่วมกัน มีอาการตัวร้อนจัดกะทันหันทันทีทันใด อาจมีอาการหนาวสั่นนำหน้า อยู่ประมาณ 15-20 นาที หน้าตาจะแดง หูแดง ตีนมือเย็น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวและที่สำคัญ คือ จะบอกว่าเมื่อยตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่บั้นเอวด้านหลังและด้านน่อง อาจมีอาการน้ำมูกไหล หรือไม่มีก็ได้ บางครั้งอาจไอมีเสมหะเหนียว และมีอาการจามร่วมไปด้วย ปกติถ้าร่างกายแข็งแรงและผู้ป่วยปฏิบัติตนเองดี โรคนี้ก็จะหายเองภายใน 3-5 วัน แต่ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เป็นในเด็กหรือในคนแก่ หรือผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น เบาหวาน วัณโรค หอบหืด เป็นต้น กว่าไข้หวัดใหญ่จะหายก็ใช้เวลาประมาณ 7-10 วันและอาจมีโรคแทรกซ้อนโดยเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิด โรคหลอดลมอักเสบรุนแรง และปอดบวมได้ง่ายมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ และคนสูงอายุจึงทำให้มีอัตราการตายได้สูง

ความจริงไข้หวัดใหญ่มันเป็นโรคระบาดอ่อนๆ ในวงแคบๆ อยู่ตลอดเวลา แต่บางครั้งก็จะระบาดหนักและใหญ่ทั่วประเทศ หรือแม้แต่ทั่วโลกก็พบได้เสมอๆ มันเป็นโรคที่เกิดได้ทุกฤดูกาล แต่มักจะพบบ่อย หรือ ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงในฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้มาก

การปฏิบัติดูแลรักษาตนเอง

ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่หายได้เอง ถ้าหากทนอาการตัวร้อนปวดหัวนี้ได้ก็ไม่ต้องกินยาอะไรเลย และถ้าปฏิบัติดูแลรักษาตนเองให้ดี จะทำให้โรคหายได้เร็วไม่ทรมานมากและป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ด้วย อนามัยส่วนบุคคลสำคัญมากที่สุดในการป้องกัน และรักษาโรคไข้หวัดทั้ง 2 ชนิด

1.การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรค

ในระหว่างฤดูฝนโดยเฉพาะต้นฤดูและปลายฤดู ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอากาศและสิ่งแวดล้อมหรือในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้น ควรจะปฏิบัติตนเองดังต่อไปนี้:

1.1 เสริมสร้างสุขภาพของตนเอง ให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ โดยการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5-6 วัน แต่อย่าหักโหมจนเกินควร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผัก ละเว้นหรือลดสิ่งมึนเมาทุกชนิด ดื่มน้ำบริสุทธิ์ให้มากเป็นพิเศษ และพยายามนอนให้หลับให้พอ

1.2 รักษาร่างกายให้แห้ง และอบอุ่นอยู่เสมอ ต้องระวังในการเคลื่อนย้าย ตนเองไปสู่บรรยากาศที่แปรเปลี่ยนกะทันหัน เช่น สถานที่ร้อนจัด หรือที่เย็นจัด อย่าอาบน้ำทันทีเมื่อร้อน และมีเหงื่อออกมาก หรือออกกำลังกายหรือทำงานหนักต้องสวมเสื้อนอนเสมอไปไม่ว่าอากาศจะร้อนขนาดไหน พยายามอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัดยัดเยียดจนเกินไป

2.การปฏิบัติตนเพื่อรักษาโรค

2.1 เมื่อมีอาการไข้ ทันทีทันใด ตัวร้อนจัด คอแห้ง ปวดหัว และเมื่อยตัวโดยเฉพาะบั้นเอว และน่องให้นอนพักให้มาก ไม่ว่าจะนอนหลับหรือไม่ก็ได้ ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว บ่อยๆ ดื่มน้ำบริสุทธิ์ให้มาก และรับประทานเฉพาะ อาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นม โดยให้ทานแต่น้อย แต่ให้ทานบ่อยๆ หยุดของมึนเมาทุกชนิดเด็ดขาด หยุดการออกกำลังกายทุกชนิด รักษาร่างกายให้อบอุ่นตลอดเวลา โดยสวมเสื้อหรือห่มผ้า พอให้ร่างกายอุ่น สบาย อย่าอาบน้ำเย็น อย่ารดน้ำมนต์พ่นยาเด็ดขาด

2.2 ถ้ามีอาการเจ็บคอมากหรือมีอาการไข้อยู่เกิน 5 วัน หรือมีอาการไอมีเสมหะเป็นก้อนสีเหลืองเขียวหรือมีกลิ่นหรืออาการเจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใดหรือร่วมกันในอาการดังกล่าว ซึ่งเป็นลักษณะส่อถึง โรคแทรกของหลอดคอ หลอดเสียง หลอดลม และเนื้อปอด หรือเยื่อหุ้มปอด จะต้องปรึกษาหมอถ้าไม่มีหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่พอจะปรึกษาได้ และไม่สามารถจะเดินทางไปพบแพทย์ที่ใดได้ภายใน 48 ชั่วโมงก็ต้องซื้อ ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อ กินเองโดยกินตามขนาดและวิธีใช้ที่ระบุไว้ที่ในขวดยาแต่ควรระมัดระวังในการซื้อยากินเอง ผลเสียของยาจะได้กล่าวต่อไป

2.3 พยายามป้องกันไม่ให้แพร่กระจายถึงผู้อื่น เช่น การใช้ผ้าปิดหน้าระหว่างไอหรือจาม บ้วนเสมหะ น้ำลายในภาชนะที่ปิดมิดชิดและทำลายได้โดย ตากแดดร้อนหรือเผาทีหลัง อย่าพยายามร่วมกันและใช้ภาชนะและสิ่งของร่วมกับผู้อื่น

โรคหลอดคอ กล่องเสียงอักเสบ ทอนซิลอักเสบและไซนัสอักเสบ

มักเป็นในเด็ก หรือวัยหนุ่มสาว โรคดังกล่าวมักจะเป็นโรคแทรก ของไข้หวัดธรรมดาที่ พบได้บ่อยไม่น้อย แล้วไม่ได้ระมัดระวังตนเอง ไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ สูบบุหรี่จัด และพวกที่มีสุขภาพทั่วไปไม่สมบูรณ์พอ โดยปกติเยื่อบุช่องจมูกติดต่อเป็นผื่นเดียวกันกับเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนอื่นๆ ที่อยู่ลึกเข้าไป เมื่อเยื่อบุช่องจมูกเกิดอักเสบเช่น เป็นไข้หวัด การอักเสบก็จะลุกลามถึงช่องหลอดคอ กล่องเสียง หลอดลม ตามลำดับได้โดยง่าย หากผู้ป่วยไม่รู้จักระมัดระวังการใช้เสียงมาก ตะโกนเสียงดัง การไออย่างรุนแรง

การอยู่ในสถานที่ทำหรือสถานที่ที่แออัด ยัดเยียดที่อากาศบริสุทธิ์ถ่ายเทไม่ได้สะดวก การนอนหลับไม่พอเพียง งานหนักทั้งกายทั้งใจเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุผสมที่จะทำให้เชื้อโรค โดยมากก็เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงหรือที่เรียกว่า เชื้อหนอง มีฤทธิ์เดชแทรกซ้อนขึ้นมา และเมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดเป็น หนองเกิด ณ ที่ใด ก็จะมีอาการของอวัยวะเฉพาะที่ตรงนั้นขึ้น เช่น ถ้าการอักเสบที่ช่องคอ ก็ทำให้คอเจ็บ กลืนน้ำลายไม่สะดวก เป็นที่กล่องเสียงจะเสียงแหบแห้ง หรือถ้าเป็นที่หลอดลมใหญ่ก็ทำให้มีอาการ ไอมีเสมหะ เป็นคราบหนองเหนียวหนืด ถ้าลงไปที่ปอดก็ทำให้หายใจลำบาก เหนื่อยหอบหรือลุกลามเข้าไปใน ไซนัส ก็มีอาการปวดหัวกดเจ็บบริเวณไซนัส ตรงระหว่างตาเหนือดั้งจมูกและข้างจมูก 2 ด้าน เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะเฉพาะที่แล้ว การอักเสบชนิดหนองยังเป็นการอักเสบรุนแรงฉับพลัน พิษของเชื้อแบคทีเรียเองอาจหลุดหรือลุกลามเข้าไปใน กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการทั่วไป หรืออาการของอวัยวะหลายๆ ระบบพร้อมกันไป เช่น ผู้ป่วยมีไข้สูง ไข้ขึ้นทันทีพร้อมกับอาการหนาวสั่นชั่วครู่ ปวดหัวมาก หูแดงตาแดง หน้าแดง ปวดเมื่อยตัว และปัสสาวะออกน้อย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเฉพาะที่ร่วมกับอาการทั่วไป ดังกล่าวมาแล้ว แสดงถึงความร้ายแรงของโรคแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย จำเป็นที่ต้องรักษาโดยใช้ ยาปฏิชีวนะ ส่วนรายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป

โรคหลอดลมอักเสบ

หลอดลมนับตั้งแต่ หลอดลมใหญ่ อันกลาง แยกต่อไปเข้าสู่ปอดซ้ายขวา จะมีเยื้อบุตลอดทั้งหมดติดต่อกันตั้งแต่ช่องจมูกจนก่อนถึงถุงลมปอด การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมทำให้เกิดการสร้างน้ำมูกเหนียวๆ ออกมามาก เรียกว่า เสมหะ ซึ่งลักษณะของความข้นเหนียว สี และจำนวนของเสมหะ จะแสดงความร้ายแรงของโรคได้เหมือนกัน หลอดลมอักเสบชนิดฉับพลัน มักจะเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ และในเด็กก็มักตามหลังไอกรน คอตีบ หัด อีสุกสีไส หรือเกิดขึ้นเองเลยก็ได้โดยเฉพาะในคนที่มีสุขภาพทั่วไปไม่สมบูรณ์ เช่น ในเด็ก ในสตรีตั้งท้อง ในคนชรา ในคนที่ออกกำลังกายทำงานจนเหนื่อยเกินกำลัง หรือถูกความหนาวเย็น ความชื้นอยู่นานๆ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน วัณโรค คนที่แพ้อากาศง่าย เป็นหอบหืดบ่อยๆ เหล่านี้เป็นต้น

หลอดลมอักเสบ ทำให้มีอาการเฉพาะที่ คือ ไอรุนแรง มีเสมหะ ในทีแรกๆจะใสต่อไปจะข้น มีสีเหลืองหรือสีเขียวเป็นก้อน บางทีมีสีแดง หรือสีสนิม เหล็กผสมแสดงถึงการอักเสบลุกลามถึง หลอดเลือดในปอด

โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ หรือปอดชื้น

โรคนี้เป็นได้ตลอดเวลา แต่เป็นมากในฤดูฝน ในคนที่ทำงานตากฝนนานตลอดเวลา หรือในช่วงที่มีอากาศแปรปรวน เช่น ในฤดูร้อนต่อฤดูฝน ในภาคใต้ มักจะเกิดในผู้ป่วยที่ทำงานหนัก สุขภาพไม่สมบูรณ์ สูบบุหรี่และกินเหล้าจัด มักเกิดตามหลังไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัด ตามมาด้วยหลอดลมอักเสบก่อนแล้วกลายมาเป็นโรคปอดบวมที่หลัง พบในเด็กและคนชรามากกว่าวัยหนุ่มสาวมากต่อมาก

โรคปอดอักเสบ โดยมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาศัยอยู่ในช่องทางเดินหายใจ และมีฤทธิ์เดชขึ้นมา เมื่อมีการอักเสบจากเชื้อหวัด หรือเมื่อร่างกายผู้ป่วยทรุดโทรมขาดความต้านทานโรคจากกรณีหลายๆ ประการดังได้กล่าวมาแล้ว การติดต่อของเชื้อจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปสู่ผู้ป่วยอีกคนหนึ่งก็ติดต่อได้ง่ายเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ คือ จากการหายใจรดกัน จาม ไอ เอาละอองเสมหะน้ำมูกถึงกันและกัน

อาการสำคัญเฉพาะที่ คือ อาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะปอดอักเสบนี้มักเป็นที่กรีบปอดช่วงล่าง ทำให้ลุกลามมาถึงเยื้อหุ้มปอดทำให้มีอาการปวดเจ็บเวลาหายใจ โดยเฉพาะเวลาจามหรือไอแรงๆ บางคนทำให้นอนตะแคงข้างที่เจ็บไม่ได้ อาการเฉพาะที่อีกอัน คือ อาการหอบหายใจถี่ เร็ว และตื้นกว่าปกติ ผู้ป่วยมักจะไอชนิดมีเสมหะ ทีแรกเสมหะจะน้อยใสค่อยๆ ทวีความข้นและเหนียว และจะเริ่มมีสีของหนองหรือสีสนิมเหล็กผสม

อาการทั่วไปที่สำคัญ คือ ไข้สูงลอย ไข้ติดต่อตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยกระวนกระวาย อาการปรากฏอื่นๆก็มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ปอดอักเสบหรือปอดบวม เป็นโรคหนัก รุนแรง และอาจอันตราย ถึงชีวิตได้ ซึ่งต้องทำการรักษาอย่างดีและทันท่วงที

โรคหืด หรือ หอบหืด หรือหอบเฉยๆ

หืด เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายแพ้สารบางชนิดหรือหลายชนิด โดยเฉพาะสารโปรตีนซึ่งมีเป็นหมื่นเป็นแสนชนิด ดังนั้นทำให้หาต้นเหตุ ตัวเภทภัยที่แท้จริงได้ยาก

หืดหรือหอบหืด ไม่มีเชื้อโรคจึงไม่ติดต่อกัน แต่เป็นในครอบครัวเดียวกัน สืบทอดกันทางสายเลือดหรือกรรมพันธุ์ได้ ลักษณะดูได้ง่ายคือ เวลาเป็นจะเป็นพักๆ และเป็นอย่างกะทันหัน เริ่มตั้งแต่เหนื่อยจนกระทั่งหอบ หอบจนกระทั้งตัวโยน และมีเสียงดังหืดๆ ได้ยินชัด เสียงจึงเรียกว่าหืด เวลาเป็นจะนอนราบไม่ได้ ต้องนั่งนก (นั่งสัปหงก) จนกระทั้งมันสงบลงไป แล้วก็จะเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะในฤดูฝน จะพบได้บ่อยมาก เพราะมีสาเหตุผสมจากละอองฝน ความเย็นจากไข้หวัดและอื่นๆ ที่อาจมาตามสายฝน

โดยทั่วไป สาเหตุของโรคหืดมี 2 อย่าง คือ

1. แพ้สารที่มาจากภายนอก

1.1 โดยกินเข้าไป เช่น อาหาร โดยมากพวกอาหารทะเล เช่น ปู กุ้ง ปลา แต่ที่แพ้น้อย คือ หอย พวกพืชก็มีพวกตระกูลถั่ว พวกเห็ดก็มีแพ้กันมาก

1.2 โดยสูดดมเข้าไป เช่น ฝุ่นละออง ตามบ้าน ตามถนน เป็นต้น พืช เกสรดอกไม้ ดอกหญ้า พวกไรบ้าน แมลงสาบที่ตายแล้ว เป็นต้น

1.3 โดยการสัมผัสไปถูกของบางอย่างเช่น สารเคมี ยาซัลฟา น้ำมันเครื่อง

2.แพ้สารที่เกิดจากภายใน

2.1 มีโรคอักเสบเรื้อรังภายนอก เช่น พวกเชื้อราตามตัว ตามหนังหัวก็มีสารแพ้บางชนิดสร้างขึ้น

2.2 มีโรคอักเสบเรื้อรังภายใน เช่น ฟันเป็นหนอง ถุงน้ำอักเสบเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ทำให้ร่างกายได้รับของเสียอยู่ตลอดเวลา

2.3 มีเชื้อในลำไส้ ในร่างกาย เช่น พวกพยาธิต่างๆ

โรคหืด เป็นโรคของการแพ้และจะเกิดขึ้นส่วนมากภายใน 12 โมง หลังจากถูกสารนั้นๆ จำนวนมากๆ ไม่ว่าจะกิน จะสูดดม หรือสัมผัส หรือเกิดจากสารแพ้อยู่ในร่างกายสร้างขึ้นมากในบางระยาเวลา เช่น พยาธิในท้องเกิดขับของเสียตายในลำไส้ก็ จะทำให้มีอาการหอบหืด จากสารที่พยาธินั้นผลิตออกมา

การใช้ยา

การใช้ยาต้องระมัดระวังมาก เพราะยานั้นมีทั้งประโยชน์ และก็มีโทษมาก แต่หากจำเป็นจริง ๆสำหรับผู้ป่วยไกลหมอ ไกลสุข ศาลา และในสภาพที่เลี่ยงกับความเป็นความตาย ก็ธรรมดาที่จะต้องหาหนทางช่วยตัวเองไว้ก่อน และถ้าเราจะพอรู้อะไรไว้บ้างสักเล็กน้อย ก็ยังดีกว่าปล่อยไปตามบุญตามกรรม

สำหรับไข้หวัด ไม่ต้องกินยาอะไรเลยก็ได้ ถ้าร่างกายแข็งแรงพอสมควรหรือยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ แต่อย่างน้อยก็ต้องรู้จักดูแลรักษาตนเองดังที่พูดไว้แล้ว

สำหรับไข้หวัดใหญ่นั้น มันไม่เกี่ยวกับโรคหวัด เป็นโรคคนละตัวกันโรคนี้มีอาการมาก ดูเผินๆ น่ากลัวและรุนแรงพอสมควร เพราะไข้ขึ้นเร็ว ขึ้นสูง ปวดหัว และเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ทำให้ทำงานไม่ได้ กระวนกระวายมาก แต่ถ้าทนได้จริงๆ ไม่ต้องกินยาอะไร เพียงแต่ระมัดระวังปฎิบัติตนเองให้ดี ก็จะหายได้เองเสียเป็นส่วนมาก หลังจากมีไข้ประมาณ 48-72 ชั่วโมง ไข้มันก็จะลดลงเป็นปกติ มีบางรายพอไข้หายแล้ว มีอาการเลื่อนลอยอ่อนเพลีย ต่อไปอีกสัก 1-2 อาทิตย์ พวกยาที่อาจจะต้องใช้ได้แก่ ยาแก้ปวดแก้เมื่อยและแก้ไขก็พอ แต่ถ้าหากไข้ยังไม่ลด หลัง 48-60 ชั่วโมงแล้ว และยังมีอาการต่างๆมากขึ้นมีไอชนิดมีเสมหะ ลักษณะเป็นก้อนเหลืองหรือเขียว มีอาการเหนื่อยหายใจเร็วหรือหอบ มีอาการเจ็บคอ กลืนไม่ลงก็แสดงว่า มีโรคแทรกซ้อนโดยมากมาจากเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีเช่นนี้ ก็ต้องเพิ่มยาปฏิชีวนะ หรือพวกยาซัลฟา

ดังนั้น ไม่ว่าในโรคใด มียาสำคัญที่อาจต้องใช้ไม่เกิน 2 ชนิด คือ

1. ยาลดอาการ

1.1 ยาลดไข้ ลดตัวร้อน ลดปวดหัว บรรเทา อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มียาอยู่ 2 ชนิด ที่หาง่ายและไม่เป็นอันตรายอะไร คือ แอสไพริน กับพาราเซตาม่อล กินทีละ 2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน โดยเฉพาะก่อนนอนควรทานนม หรือน้ำข้าวล่วงหน้าซักเล็กน้อย

แอสไพริน ในคนบางคน(ประมาณ 1 ใน 1,000) จะทำให้มีอาการแพ้รุนแรงได้ แต่พบบ่อยเหมือนกันที่กินยาเข้าไปแล้วมีอาการปวดที่ท้อง เพราะยานี้เป็นกรด รบกวนกระเพาะได้ จนกระทั้งเลือดออก แต่ส่วนมากไม่เป็นอันตรายอะไรนัก ถ้าหยุดยาเสียทันที ดังนั้นให้ดีควรกินยาหลังกินข้าวทันที และกินน้ำตามไปมากๆอย่างไรก็ดี ถ้าปวดท้องก็หยุดยาทันทีก็แล้วกัน

ยาพาราเซตาม่อล ยานี้เมื่อกินเข้าไปไม่มีอาการ แพ้รุนแรงอาจมีเพียง อาการวิงเวียน อาเจียน ใจสั่น หรือ ท้องเดิน แต่น้อยแสนจะน้อย ดังนั้นอย่าวิตก

1.2 ยาแก้ไอ พวกยาแก้ไอมักจะเป็นชนิดน้ำเชื่อม เขาผสมยาแก้แพ้และขับเสมหะไว้แล้ว อ่านฉลากให้ดี เขาจะบอกไว้เสร็จ ว่ามีตัวยาอะไร แก้อะไรบ้าง ไม่มีอันตรายนอกจากกินเกินขนาดที่เขาระบุไว้ ดังนั้นถ้าไอก็ซื้อกินเองได้

2. ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ

ปกติหมอ จะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ นอกจากจำเป็นที่จะต้องใช้ ยาปฏิชีวนะ ส่วนมากใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะพวกเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนสำคัญก็คือเชื้อที่ก่อให้เกิดการอักเสบชนิดเฉียบพลัน อันตรายสูงมากๆ ซึ่งถ้าผู้ป่วยหรือญาติรู้จัก สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงและความรุนแรงของอาการผู้ป่วย ก็พอจะพิจารณาถึงได้ว่า มีโรคแทรกซ้อนหรือไม่ ตามอาการที่ได้เขียนเล่าไว้แล้ว

อย่างไรก็ขอเตือนไว้ว่าโรคต่างๆ นั้น ควรอย่างยิ่งที่ให้ผู้เป็นหมอรักษาหากไม่มีหมอหรือผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถไปถึงหมอได้ จึงจะค่อยคิดหาทางช่วยตนเองก่อน ดีกว่าให้พิการ หรือตายไปโดยไม่ได้ช่วยตัวเองเลย

ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในที่นี้จะรวม ยาพวกซัลฟา ไว้ด้วยนั้น มีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะทางเคมี และคุณภาพแตกต่างกันไปมาก บางชนิดก็เหมาะที่รักษาโรคชนิดหนึ่ง แต่อีกชนิดก็เหมาะกับโรคอีกประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตามยาปฏิชีวนะที่มีขายในปัจจุบัน มักจะให้ผลในการรักษาครอบคลุมเชื้อโรคได้หลายอย่าง หลายชนิดพร้อมๆ กัน และเท่าที่มีขายในท้องตลาด หาได้ทั่วไป และพอจะนำมาใช้ได้ง่าย ก็มีอยู่ 5-6 ชนิดเท่านั้น

2.1 ยาจำพวกเพนนิซิลลินชนิดกิน ได้แก่ เพนนิซิลลินวี ใช้ขนาดประมาณ 400,000 ยูนิต วันละ 4 เวลาติดต่อกัน เหมาะที่จะใช้สำหรับพวกที่มี อาการอักเสบเป็นหนอง ข้อที่เสียคือ มีอาการแพ้ได้ และอาการแพ้ถึงตายได้ ดังนั้นควรจะสอบถามให้แน่ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคแพ้อะไรได้ง่ายหรือเปล่า เคยมีประวัติเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังหรือไม่ เคยมีประวัติของตนเองและญาติสนิทพี่น้องที่ป่วยเป็นโรค หอบ หืด เรื้อรัง หรือริดสีดวงจมูกเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพ้ ผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่ควรที่จะซื้อ ยาเพ็นนิซิลลิน กินเองนอกจากจะมีหมอคอยแนะนำอยู่ (ราคาตกเม็ดละ 0.75 สตางค์)

2.2 ยาจำพวกเตตร้าซัยคลีน มีหลายพวก เช่น ออริโอมัยซิน เทอรามัยซิน เตตราซัยคลีน เป็นยาที่มีคุณค่าการรักษาเชื้อโรคกว้างขวางมาก ส่วนมากจะมาเป็นแค็ปซูลสอดสีต่างๆ เม็ดละ 250 มิลลิกรัม ใช้ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 เวลา หลังอาหารและก่อนนอน ตกวันละ 2 กรัม ยาพวกนี้ไม่ทำให้แพ้มากมายหรือถึงตายได้ ควรระวังอยู่บ้าง ในผู้หญิงตั้งท้องโดยเฉพาะในระยะหลังๆ และในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี เพราะอาจทำให้เด็กฟันเหลืองดำและฟันเสียได้ (ราคาตกเม็ดละ 0.75-1 บาท)

2.3 ยาคลอแรม คือ คลอแรมเฟนิคอล ยาพวกนี้ได้ผลดีมาก สำหรับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคของทางเดินอาหาร แต่ก็ได้ประโยชน์สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบของระบบอื่นเหมือนกัน เสียที่อันตรายมันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็กอ่อน และคนชราเพราะอาจทำให้กดการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูกได้ ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรใช้เลย แต่สำหรับในกรณีที่ไม่มีโอกาสเลือกอีกแล้ว ก็รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล (แคปซูลขนาด 250 มิลลิกรัม) 4 เวลาหลังอาหาร และก่อนนอน คนกินยานี้ต้องคอยสังเกตร่างกายว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้ารู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่ายให้รีบหยุดยาแล้วเปลี่ยน เป็นยาอื่นๆเสียโดยเร็ว (ราคาตกเม็ดละ 50 สตางค์)

2.4 ยาแอมพิซิลลิน เป็นพวกเดียวกับ เพนนิซิลลิน แต่สามารถใช้กว้าง ขวางครอบจักรวาลได้มากกว่า และอยากจะแนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้แทนยาปฏิชีวนะอื่นๆ ทุกตัว ยาแอมพิซิลลิน อาจทำแพ้ได้เช่นเดียวกับ ยาพวกเพนนิซิลลิน แต่อัตราแพ้น้อยกว่ากันและความรุนแรงก็น้อยกว่า มักจะทำเป็นรูปแค็ปซูลสองสีต่างๆ กัน ขนาดแคปซูลละ 250 มิลลิกรัม กินครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ควรจะกินยาก่อนอาหารสักครึ่งชั่วโมง ยานี้ใช้แทนยาอื่นๆ แทบทุกอย่าง ดังนั้น ควรมีติดไว้ที่บ้านไว้ล่วงหน้าสำหรับคน อยู่ไกลหมอ ไกลยาไม่ควรใช้ในคนที่แพ้อะไรง่ายๆ หรือเคยแพ้ยาพวกเพนนิซิลนั้นมาก่อน (ราคาเม็ดละ 2.00-2.50 บาท)

2.5 ยาพวกโคไตรม็อก ซาโซล เป็นยาพวกซัลฟาที่ออกฤทธิ์นาน มีคุณภาพและความกว้างขวางของการรักษา เช่นเอมพิซิลลิน แต่ดีกว่าสำหรับโรคทางเดินปัสสาวะและลำไส้ ยาพวกนี้เป็นเม็ดส่วนมากจะมีสีขาว(มียี่ห้อต่างๆเช่นแบคตริม เซปตริม ไบโอตริมฯลฯ) วิธีกินยา คือ กินยา 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น โดยให้ห่างกันไม่น้อย 8 ชั่วโมง

ขอย้ำอีกครั้งว่า การใช้ยานั้นอันตรายอาจเกิดได้เสมอ ฉะนั้นที่แนะนำมาสำหรับโรคต่างๆ ของผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ เฉพาะจำเป็นถึงจะต้องใช้เท่านั้น ถ้าพอไปหาหมอได้หรือรอเวลาได้ปรึกษาหมอจะดีกว่ามาก

ข้อมูลสื่อ

4-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522
อื่น ๆ
นพ.ประสาน ต่างใจ