ยาสมุนไพร
คนเราแต่เดิมมานั้น เมื่อยามเจ็บไขได้ป่วย ก็ไปเอาใบไม้ ใบหญ้ามาบดกินเข้าไป เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งเรามักเรียกพืชเหล่านั้นเสมอๆ ว่า “ยาสมุนไพร” ด้วยความเคยชิน และสัญชาตญาณในการอยู่รอดของมวลมนุษย์เรา ต่อมาแพทย์ยุคใหม่เจริญก้าวหน้า ก็ได้ใช้พวกสารสังเคราะห์เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น แต่ก็มีมากทำการสังเคราะห์ไม่ได้หรือทำได้ แต่ค่าใช้จ่ายสูงมากก็อาจจะเป็นได้ ประเทศไทยเรานั้น มีส่วนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรม แต่ดั้งเดิม มากจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ นับแต่เรื่องศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ตลอดจนการ บำบัดรักษาโรค ซึ่งมีหลักฐานปรากฏเด่นชัดว่า ได้อาศัยคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียเป็นบรรทัดฐาน การวินิจฉัยชื่อโรคก็ดี ชื่อสมุนไพรที่ใช้ประกอบยารักษาโรค ได้นำเข้ามาจากต่างประเทศเสียเป็นส่วนมาก เช่นอินเดียและจีน เป็นต้น
ตาม พ.ร.บ. พ.ศ. 2510 ระบุไว้ว่า ยาแผนโบราณกับยาสมุนไพร ดังนี้
ยาแผนโบราณ หมายถึงยาที่มุ่งหมาย สำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณ ที่รัฐมนตรีประกาศหรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นตำรับยาโบราณ
ยาสมุนไพร หมายถึง ยาที่ได้จาก พฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ซึ่งยังมิได้ผสม ปรุงหรือแปรสภาพ
นับแต่องค์การอนามัยโลก ได้มีบทบาทเห็นความสำคัญของยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรนี้แล้ว ปรากฏว่า ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วงการแพทย์ทั้งแผนใหม่และแผนเก่า ก็ได้หันมาค้นคว้ากันอย่างจริงจัง แม้แต่ประชาชนทั่วๆไป ก็ตื่นตัวและตื่นเต้นไปกับจังหวะเพลงของแผนใหม่และแผนเก่าที่เขาผสมผสานกัน
เรามารู้จัก “สมุนไพร” กันหน่อยว่า เขารู้จักอะไรกันบ้าง
1. ต้องรู้จัก “ลักษณะ” ของพืช สัตว์ แร่ ว่า ลักษณะมันเป็นอย่างไรกัน เช่น “ต้นขี้เหล็ก” ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ ดอกใบเป็นอย่างไร “หนังปลากะเบน” ลักษณะเป็นแผ่นสาก มีเม็ดตุ่มๆ ไม่เหมือนหนังวัวและหนังควาย “พิมเสน” ลักษณะเป็นเหมือนและก้อนเล็กๆ คล้ายกับเกลือ เป็นต้น
2. ต้องรู้จัก “สี” ของพืช สัตว์ และแร่ ว่าสีสันมันเป็นอย่างไร เช่น “แก่นขี้เหล็ก” สีดำ “นกกา” สีดำ “กำมะถัน” สีเหลือง
3. ต้องรู้จัก “กลิ่น” ของพืช สัตว์ และแร่ ว่าแต่ละชนิด กลิ่นมันเป็นอย่างไร เช่น “ใบตูดหมูตูดหมา” กลิ่นเหม็นเขียว ขื่น “ชะมดเช็ด” กลิ่นคาว และ “พิมเสน” กลิ่นหอมเย็น
4. ต้องรู้จัก “รส” ของพืช สัตว์ และแร่ ว่ารสมันหวาน เค็ม อย่างไร เช่น “เถาบอระเพ็ด” รสขม “ดีงูเหลือม” รสขมควร และ “สารส้ม” รสเปรี้ยวฝาด
5. ต้องรู้จัก “ชื่อ” ของพืช สัตว์ และแร่ ว่า มันมีชื่อเสียงรัยกนามอย่างไร เช่น ต้นคูน ขิง ข่า กระทิง ไพล เถาบอระเพ็ด ผักบุ้ง ยาไซ เห็ดโคน (จำพวกพืช) งู นอกจอก หมี เม่น ปลากะเบน (จำพวกสัตว์) สารส้ม พิมเสน กำมะถัน ทองเหลือง ทองแดง สนิมเหล็ก (จำพวกแร่)
เมื่อเรารู้ลักษณะ สี กลิ่น รส และชื่อ ของมันแล้ว ที่นี้เราก็ต้องรู้จักว่าจะเอาส่วนไหนของมันมาทำยาหรือเอามาประกอบเป็นยา เช่น
1. พฤกษชาติ คือ พันธุ์ไม้ทุกชนิด มี 6 จำพวก คือ ต้นเถาเครือ ผัก หญ้าหัว และเห็ด ใช้ส่วนต่างๆ ของพืช มาประกอบเป็นยา เช่น แก่น ใบ ราก ปุ่ม เปลือก เมล็ด ลูก ฝัก กระพี้ เนื้อ ดอก เกสร กิ่งก้าน หรือ เอาทั้ง 5 ประกอบกัน เป็นยา
2. สัตว์ แบ่งออกเป็น 3-4 พวก คือ สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์อากาศ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เอาอวัยวะของสัตว์ต่างๆ มาประกอบเป็นยา เช่นกระดูก เขา หนัง กราม ดี เลือด ขน เขี้ยว มูล เกล็ด น้ำมัน ฯลฯ
3. แร่ แบ่งออกเป็น 2 จำพวก คือ แร่ที่สลายตัวยาก และแร่ที่สลายตัวง่าย หรือสลายตัวอยู่แล้ว
เมื่อเรารู้ตัวยา จะเอาส่วนไหน อย่างไร มาประกอบเป็นยาแล้ว สิ่งที่เราจำต้องรู้ต่อไปอีก คือ รสของยา 9 รส 10 รส ดังนี้
1. รสฝาด ประโยชน์ของยารสฝาด ก็คือ เป็นยาสมาน คุมธาตุใช้ชะล้าง และรักษาบาดแผลเน่าต่างๆ ห้ามเลือดจากบาดแผลตื้นๆ แก้โรคบิด โรคท้องร่วง
สมุนไพร รสฝาด มีดังนี้
-เปลือกแค เปลือกหว้า เปลือกมะเดื่อ เปลือกมังคุด เปลือกมะขาม ทับทิม ลูกเบญกานี สีเสียดเทศ สีเสียดดำทบและครั่ง เปลือกขี้อ้าย เปลือกคน โกศพุงปลา เนระภูสี ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ชันผง ว่านร่อนทอง เปลือกโกงกาง ฯลฯ
2. รสหวาน ประโยชน์ ซึมซาบไปตามเนื้อ ใช้แก้ฟกช้ำในคอและปาก แก้ไอ แก้หอบ แก้กระหาย ใช้เจือปนกับยาที่มีรสขมขื่น
สมุนไพรรสหวาน ได้แก่
- ชะเอมเทศ ชะเอมไทย น้ำตาล น้ำผึ้ง รากหญ้าคา ฯลฯ
3. รสเบื่อเมา ประโยชน์ใช้ในการแก้พิษ ปวด เจ็บ เช่น พิษบาดแผลถูกฟัน แทง ยิง และแผลที่ถูกอสรพิษกัด เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง สุนัข บาดทะยัก ท้องร่วง อหิวาต์ และอาการเจ็บปวดเกี่ยวกับกามโรคด้วย
สมุนไพรเบื่อเมา มีดังนี้
-ลำโพง กัญชา ฝิ่น ยาฉุน สุรา ลูกสะบ้าต่างๆ ขันทองพยาบาท กระเช้าทั้ง 2 กระเบา กระเบียน ฯลฯ
4. รสขม ประโยชน์ ใช้แก้เป็นไข้ตัวร้อน ไข้จับสั่น ไข้เหลือง แก้พยาธิในเด็ก บำรุงน้ำดี
สมุนไพรรสขม ได้แก่
-บอระเพ็ด ลูกกระดอมเปลือกและลูกสะเดา รากและผลขี้กา ใบมะกา แก่นขี้เหล็ก พญามือเหล็กแสลงใจ กอมขม (ดีงูต้น)ดีสัตว์ต่างๆ หญ้าลูกใต้ใบ ฯลฯ
5. รสเผ็ดร้อน ประโยชน์แก้โรคกระเพาะอาหารพิการ ที่ทำให้ลมในกระเพาะอาหาร และลำไส้ขับออกให้เรอ และผายลม ช่วยในการย่อยอาหาร ถ้าบุคคลที่คุ้นเคยกับรสเผ็ดร้อนอยู่แล้ว ก็ทำให้อาหารมีรสโอชามากขึ้น ภายนอกใช้ทาแก้เหน็บชา ตะคริว
สมุนไพรเผ็ดร้อน คือ
- พริกไทย ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง ชิง สะค้าน ชะพลู กานพลู พริก หอม พริกหาง พริกเทศ พริกชี้ฟ้า หัศคุณไทย หัศคุณเทศ พิษพญาไฟ (ดีปลีป่า) โลดทนง แห้วหมู ว่านน้ำเมล็ดข่อย หน่อไม้ ลูกผักชีลา ลูกจันทน์เทศ ดอกจันทน์เทศ ลูกกระวาน ฯลฯ
6. รสมัน ประโยชน์ใช้ทาแก้ปวดเมื่อยทั่วร่างกาย ใช้สวนอุจจาระ และผสมกับยาบางอย่างทาแก้โรคคันตามผิวหนัง และเจือกับสรรพคุณยาที่มีรสฝาด รักษาบาดแผลด้วย และรับประทานแก้ปวดเมื่อยตามข้อ
สมุนไพรรสมัน ได้แก่
- น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงูเหลือม น้ำมันหมู น้ำมันเขียว น้ำมันกระทุงลาย น้ำมันสำโรง ข้าวเย็นเหนือข้าวเย็นใต้ กระดูกสัตว์ ฯลฯ
7. รสหอมเย็น ประโยชน์ทำให้ชุ่มชื่นใจ แก้กระหายน้ำ อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง แก้เซื่องซึมในโรคบางอย่าง
สมุนไพรรสหอมเย็น ได้แก่
-จันทน์ ชะมด ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ เกสรบัวหลวง ดอกจำปี น้ำดอกไม้เทศ ดอกกระดังงา ดอกกุหลาบ ฯลฯ
8. รสเค็ม ประโยชน์ ใช้แก้ท้องเฟ้อ ขับปัสสาวะและอุจจาระช่วยย่อยอาหาร ใช้ภายนอกแก้โรคผิวหนัง เช่น อาบน้ำทะเล เป็นต้น
สมุนไพรรสเค็ม ได้แก่
-รากลำพู น้ำมูตร น้ำทะเล เกลือ ดีเกลือ เกลือสินเธาว์ เกลือกะตัง มูตร น้ำด่างจากเถ้าต่างๆ
9. รสเปรี้ยว ประโยชน์ ทำให้ชื่นใจ แก้กระหายน้ำ กัดเสมหะในลำคอ ขับอุจจาระปัสสาวะ แก้ไอ แก้หอบ ทาแก้ฝ้าที่ลิ้น
สมุนไพรรสเปรี้ยว ได้แก่
-ลูกมะขามป้อม ลูกมะดัน ฝักมะขามไทย ใบมะขามไทย น้ำมะนาว น้ำมะกรูด ใบส้มป่อย น้ำส้มซ่า น้ำส้มสายชู ใบส้มเสี้ยว ใบมะขามแขก ส้มกุ้งน้อย ส้มกุ้งใหญ่ ส้มสันดาน ใบชะมวง ใบส้มเช้า ส้มมะงั่ว ฯลฯ
10. รสจืด ประโยชน์ใช้ในการบำบัดโรค เช่นเดียวกับยารสเปรี้ยวเหมือนกันทั้งสิ้น
สมุนไพรรสจืด ได้แก่
-แส้ม้าทะลาย หัวหญ้าชันกาด น้ำฝน น้ำค้าง น้ำกลั่น และพวกแป้งต่างๆ เป็นต้น
การปรุงยาให้ได้สรรพคุณต้องยึดหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ยึดตำราเป็นหลัก ต้องรู้จักตัวยาที่แท้จริงซึ่งจะนำมาปรุงเป็นยา
2. รู้จักสรรพคุณของยา คือ รู้จักตัวยา แต่ละสิ่งมีรสเป็นอย่างไร แก้โรคทางใด
3. รู้จักพิกัดยา คือ รู้ตัวยาหลายสิ่งหลายอย่าง รวมกันมีน้ำหนักเท่าๆ กัน เรียกชื่อเดียว
4. รู้จักปริมาณ คือ รู้จักเครื่องชั่งตวงและเทียบมาตราสากลได้
5. รู้จักการปรุงยาตามตำราเวชศึกษา ซึ่งกำหนดวิธีไว้ 23-24 วิธี
เมื่อเรารู้จักสมุนไพร หรือตัวยาแล้ว คราวนี้สมมติว่า เราท่านเจ็บไข้ได้ป่วย ป่วยเป็นอะไร ใช้ยาอะไร เชิญท่านตรวจอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และหาหยูกยาเอาดังนี้
1. ระงับประสาท ท้องขึ้น ท้องผูก เอายาดำ มหาหิงค์ อย่างละ 1.3 กรัม น้ำผึ้งผสมกันพอปั้นเป็นเม็ดได้ แบ่งเป็น 12 เม็ด กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 เวลา เช้า เย็น และหลังอาหาร
2. ตาเจ็บ ตาแดง เยื่อตาเป็นแผล เอาสารส้ม 0.2 กรัม น้ำ 30 ซี.ซี. ใช้หยอดตา
3. ท้องเดิน เอาสารส้ม สีเสียด อบเชย อย่างละ3.2 กรัม ทำผง แบ่งเป็นห่อเท่าๆ กันกินครั้งละ 1 ห่อ
4. ท้องเดิน เอาลูกหมากแห้ง 6.5 กรัม บด น้ำตาลขาว 6.5 กรัม ทำผง ทำเม็ด 10 เม็ด กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง
5. พิษแมลงป่องต่อย เอาสารส้มทำเป็นผง ใส่แผลถูกกัด
บรรดายาทั้งหลายที่กระผมเขียนไว้นี้ หากเราเห็นว่า ยาอะไรที่ไม่เข้าท่าเข้าทาง หรือน่าเกลียด ไม่พอใจ ก็ควรเพียงรับรู้ไว้เท่านั้น เราจะใช้หรือไม่ใช้ ไม่มีใครบังคับ การใช้ยาอยู่ที่เราพิจารณาเอาเอง และควรทราบไว้ด้วยว่าคนโบราณที่เอา อะไรต่ออะไรมาทำยานั้นไม่ใช่คนบ้า หากแต่มีความรู้ว่า ในการเอาอะไรๆ มาทำยา ซึ่งพวกเราเดี๋ยวนี้ไม่รู้และไม่เข้าใจนั้น สรรพสิ่งทั้งหลายในโลก สิ่งใดจะเป็นยา จะเป็นประโยชน์ จึงสำคัญอยู่ทั้งความรอบรู้ ความคิด และความฉลาดในการที่จะเอามาใช้ ถ้าฉลาดใช้ เป็นประโยชน์ ถ้าใช้ไม่เป็น ก็ไม่เป็นประโยชน์และไม่เป็นยา
- อ่าน 39,838 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้