• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก

เช้าวันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังตรวจผู้ป่วยที่ โอ.พี.ดี.* พยาบาลเข้ามาบอกว่า มีเด็กมีอาการช็อค ขอให้ข้าพเจ้าไปดูโดยด่วน เพราะอาการหนักมาก

ข้าพเจ้าจึงรีบออกไปตรวจและถามอาการ ได้ความว่าเป็นเด็กชายอายุ 6 ปี มีอาการตัวร้อนจัดมา 4 วัน กินอาหารและน้ำไม่ได้ และมีอาการอาเจียนด้วย มารดาซื้อยาลดไข้มาให้กิน อาการก็ไม่ทุเลา ตอนเช้าก่อนมาโรงพยาบาลมีอาการกระสับกระส่าย อาเจียนออกมาเป็นเลือดเด็กปัสสาวะน้อยมาก

ตรวจตรวจร่างกายพบว่า เด็กตัวร้อนจัด มือเท้าเย็น กระสับกระส่ายตลอดเวลา ชีพจรเบาเร็วนับได้ 140 ครั้งต่อนาที ตามตัวมีจุดเล็กๆ เต็มไปหมด จึงให้การวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออก ได้รีบให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด และรับไว้ในโรงพยาบาลโดยเด็กได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้เลือดด้วย อาการดีขึ้นจนสามารถกลับบ้านได้หลังจากอยู่โรงพยาบาลประมาณ 10 วัน

สาเหตุของไข้เลือดออก เมื่อข้าพเจ้าจบเป็นแพทย์ใหม่ๆ ประมาณปี 2498 มีเด็กที่มีอาการไข้สูง มีอาการช็อคและมีเลือดออกเช่นนี้เป็นจำนวนมาก ครั้งแรกคิดว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ศาสตราจารย์คุณหญิงเฉิดฉลอง เนตรศิริ บูรพาจารย์ของข้าพเจ้าได้สังเกตอาการเด็กเหล่านี้ เห็นว่ามีอาการไม่ตรงกับไข้หวัด เพราะเป็นเด็กอายุระหว่าง 2-10 ปีเป็นส่วนใหญ่ มีอาการช็อค และไข้เลือดออก จึงตั้งชื่อโรคนี้ว่า ไข้เลือดออก (Acute Hemorrhagic Fever) เวลานั้นข้าพเจ้าเป็นแพทย์ประจำบ้านอาวุโส** ยังจำได้ว่าต้องทำงานหนักคอยเฝ้าผู้ป่วยเหล่านี้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ต่อมามีผู้ตรวจพบว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด คือ

1. เชื้อเด็งกี่ (Dengue)

2. เชื้อชิกุนคุนย่า (Chigunkunya)

พาหะ ที่สำคัญของเชื้อไวรัส คือ ยุงลาย ที่มีชื่อว่า Aedes aegypti ฉะนั้นโรคนี้จึงมีมากในฤดูฝนเนื่องจากมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มขึ้น

การวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยจะมีอาการดังผู้ป่วยที่กล่าวข้างต้น คือ มีไข้สูงทันที ไข้มักจะสูงลอย (ตัวร้อนตะพึด) อยู่ประมาณ 3-4 วัน ในขณะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียนหน้าตาแดง มีผื่นตามตัวคล้ายออกหัด หรือบางทีมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือที่อื่นๆ เช่น เลือดกำเดาไหลออกมาในกระเพาะอาหารทำให้อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระสีดำตับโต เมื่อกดชายโครงด้านขวาจะเจ็บเล็กน้อย

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงกับช็อคหรือเลือดออกนั้นมีไม่มากนัก เพียงประมาณ 10% เท่านั้น ในระยะแรกที่ยังไม่มีเลือดออก การทดสอบทูร์นิเก้ (Tourniquet test) จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค ถ้ามีผลบวกจะสนับสนุนโรคไข้เลือดออกมาก อย่างไรก็ตามไข้อย่างอื่น ก็อาจให้ผลบวกได้ แต่น้อยกว่าไข้เลือดออก

 

 

วิธีทดสอบทูร์นิเก้ ใช้สายยางหรือเครื่องวัดความดันโลหิต พันรอบท่อนแขนส่วนบนให้เส้นเลือดดำที่ต่ำจากบริเวณที่รัดโป่งพอง แต่ไม่รัดแรงเกินไป จนกระทั่งคลำชีพจรไม่ได้ รัดสายยางไว้ 5 นาทีแล้วดูผิวหนังด้านท้องแขนต่ำกว่าข้อพับประมาณ 1 นิ้วอย่างละเอียด ถ้ามีจุดเลือดออกเกินกว่า 5 จุดต่อเนื้อวงกลมซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว (เท่ากับเหรียญบาทอย่างเล็ก) แสดงว่าการทดสอบนี้ควรทำโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

การรักษา เด็กที่มีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ดังกล่าวข้างต้น ควรนำส่งสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลโดยเร็ว เวลานี้ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ส่วนใหญ่จะหายได้เอง การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ควรลดไข้โดยการเช็ดตัว (ดูในหนังสือหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 1) ไม่ควรให้ยาลดไข้พวกแอสไพริน

ในระยะแรกที่เป็นไข้ เบื่ออาหาร อาเจียน ต้องให้ดื่มน้ำมากๆ ยา โอ-อาร์-เอส (ราคาซองละ 2 บาท) ขององค์การเภสัชกรรม ที่ใช้สำหรับโรคท้องร่วง จะมีประโยชน์ในการทดแทนน้ำ และเกลือแร่ และทำให้อาการอาเจียนน้อยลง ถ้าหาซื้อยา โอ-อาร์-เอส ไม่ได้ ก็ให้ผสมน้ำสุก 1 ขวด น้ำปลาอย่างกลมกับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชา กินแทนก็ได้ครับ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบส่งสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยไม่มีเลือดออกหรือช็อค เมื่อให้น้ำเกลือทางปากหรือทางเส้นเลือดอย่างเพียงพอ อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วันไข้จะลดลง กินอาหารได้

การป้องกัน ที่สำคัญมีดังนี้ คือ

1.ระวังอย่าให้ยุงกัด ให้เด็กนอนในมุ้งทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เพราะยุงลายชอบหากินกลางวัน

2. จงช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกแห่ง ยุงลายชอบเพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำใส ค่อนข้างสะอาด ซึ่งขังอยู่ตามภาชนะต่างๆ เช่น ตุ่ม ไห หม้อ กระป๋อง ขวด กะลา ยางรถยนต์ และอื่นๆ ฉะนั้นจึงควรปิดฝาโอ่งให้มิดชิด อย่าให้ยุงลายวางไข่ได้ และทำลายกระป๋อง กะลา ให้หมด อย่าทิ้งไว้ให้น้ำขังได้ ใส่น้ำมัน เกลือ หรือยาฆ่าแมลงลงในน้ำหรือขาตู้กับข้าว เพื่อกำจัดลูกน้ำ ยุงลาย

 

* หมายถึง ห้องตรวจคนไข้ทั่วไปที่ยังไม่ได้รับไว้รักษาในโรงพยาบาล แปลจากภาษาอังกฤษ “OPD” ซึ่งย่อมาจากคำว่า Out patient department (แผนกผู้ป่วยนอก)

** แพทย์จบใหม่ที่กำลังรับการฝึกอบรมเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะโรคในปัจจุบันใช้เวลาฝึก 1 ปี หลังจากจบเป็นแพทย์ฝึกหัด 1 ปีแล้ว

ข้อมูลสื่อ

6-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522
อื่น ๆ
นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์