• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแอสไพริน

“การรู้จักดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองในเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง จะสามารถลดความทุกข์ทรมานและระงับยับยั้งมิให้ลุกลามใหญ่โตต่อไปได้ คอลัมน์นี้เราจึงขอแนะนำให้ท่านได้รู้จักกับโรค และยาที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันอย่างย่อๆ ง่ายๆ เพื่อที่ท่านจะนำไปปฏิบัติดูแลรักษาตัวเองในเบื้องต้นได้”

ยาแอสไพริน

แอสไพริน นอกจากจะใช้กินแก้อาการไข้ตัวร้อนจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้ทุกชนิดแล้ว ยังเป็นยาระงับปวด ที่ดีและถูกที่สุดอีกด้วย ใช้กินบรรเทาอาการปวดได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะปวดหัว ปวดหู ปวดตา ปวดจมูก ปวดฟัน เจ็บหน้าอก ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดแผล ปวดฝีอักเสบ ปวดประจำเดือน ฯลฯ

ยกเว้นอย่างเดียว คือ ปวดจากโรคกระเพาะอาหาร

เพราะยานี้เป็นกรดกัดกระเพาะ ทำให้กระเพาะเป็นแผล เกิดอาการปวดแสบบริเวณใต้ลิ้นปี่เวลาปวดจัด หรืออิ่มจัดได้ บางครั้งอาจทำให้อาเจียนออกเป็นเลือด แต่ก็พบได้น้อย

แอสไพรินจึงใช้รักษาอาการไข้และอาการปวดได้อย่างกว้างขวาง

ขนาดที่จะใช้กิน

โดยทั่วไปผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 เม็ด เวลามีอาการปวด ถ้าไม่หายก็กินซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ส่วนเด็กให้กินยาแอสไพรินสำหรับเด็ก หรือเบบี้แอสไพริน (1 เม็ด มีตัวยาเท่ากับ ¼ หรือเสี้ยวหนึ่งของยาแอสไพรินสำหรับผู้ใหญ่) ให้กินตามขนาดอายุ คือ ให้กิน 1 เม็ดต่ออายุ 1 ขวบ เช่น ถ้าอายุ 6 เดือน ก็กิน ½ เม็ด อายุ 2 ขวบ ก็กิน 2 เม็ด เป็นต้น

ให้กินหลังอาหารหรือท้องอิ่มใหม่ๆ ไม่ควรกินเวลาท้องว่าง และให้กินน้ำตามไปด้วย 1-2 แก้ว

ถ้ากินแล้วมีอาการแสบท้อง หรือเป็นโรคกระเพาะอยู่ หรือกินแล้วมีอาการแพ้ เป็นลมพิษผื่นคัน ตาบวมคัน ก็ให้เปลี่ยนไปใช้ ยาแก้ปวดลดไข้ อีกตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า พาราเซตามอล แทน

นอกจากนี้ ยาแอสไพริน ถ้ากินทีเดียวมากๆ เช่น กินครั้งละ 30-40 เม็ด ก็อาจเป็นพิษเป็นอันตรายถึงตายได้ จึงควรเก็บยานี้อย่าให้เด็กหยิบกินเล่นเองได้

ราคา

แอสไพริน ราคาเม็ดละ 5 สตางค์

พาราเซตามอล ราคาเม็ดละ 20-25 สตางค์

ยาแก้ปวดลดไข้ที่ขายตามท้องตลาด มีมากมายหลายยี่ห้อ เช่น ยาเม็ดสีชมพู (หรือเอพีซี) ยาทัมใจ ประสะนอแรด ปวดหาย เอเอ็นที ยาแก้เด็กตัวร้อนตราหัวสิงห์ เป็นต้น ล้วนแต่มียาแอสไพริน ผสมร่วมกับยาอื่นๆ ด้วย ดังนั้น ถ้าจะกินยาเหล่านี้ ก็ควรระมัดระวังพิษของยาดังกล่าวแล้ว

อาการสารพัดปวด

  • ปวดหัว

ถ้าปวดพอทนได้หรือนอนหลับสักตื่นแล้วดีขึ้น ก็ไม่ต้องกินยาอะไร แต่ถ้าได้นอนหลับพักผ่อนแล้วไม่ดีขึ้นก็ให้กินยา แอสไพรินหรือพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด หากมีเรื่องเครียด คิดมาก กังวลใจ นอนไม่หลับ ก็ให้กิน ยากล่อมประสาท เช่น ไดอาซีแพม (ขนาด 2 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 25 สตางค์) ควบด้วยอีก 1 เม็ด (ยาแก้ปวด ที่มีขายในท้องตลาด เช่น เดพารอน ไดอารอน ไดอาซีนาก ก็คือ ยาแก้ปวดบวกยากล่อมประสาทนั่นเอง แต่มีข้อควรระวังคือ ยาพวกนี้อาจเข้ายาแก้ปวดพวกไดไพโรน ซึ่งอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้)

แต่ถ้าสงสัยว่าจะปวดจากโรคไซนัสอักเสบ (โพรงจมูกอักเสบ) ความดันเลือดสูง หรือเนื้องอกในสมอง ก็ควรจะให้หมอตรวจดู

ถ้าปวดหัวแบบตุบๆ ที่ขมับข้างเดียว มีอาการคลื่นไส้ ตาพร่า เป็นๆ หายๆ อยู่ประจำ พึงสงสัยว่าเป็น ลมตะกัง หรือไมเกรน ให้ลองกินยาแก้ปวดธรรมดาดูก่อน ถ้าหายก็ให้กินยา คาเฟอร์กอด (ราคาเม็ดละ 2.50 บาท) 1 เม็ดเวลาปวด และกินซ้ำได้ไม่เกินวันละ 2 เม็ด และควรหาว่าอะไรเป็นสาเหตุกระตุ้นทำให้เกิดอาการ เช่น นอนไม่พอ เหนื่อยไป หิวไป ใช้สายตามากไป กินยาคุมกำเนิด ฯลฯ และพยายามหลีกเลี่ยงเสีย ก็อาจดีขึ้นได้

  • ปวดท้อง

ปวดแน่นมีลมในท้อง เกิดจากท้องอืด ท้องเฟ้อ ก็ให้กินยาขับลมคาร์มิเนตีฟ (ยาน้ำสีแดงใสขนาด 180 ซี.ซี. ราคาขวดละ 4 บาท) หรือ ยาธาตุน้ำแดง (ขนาด 300 ซี.ซี. ราคาขวดละ 6.50 บาท) เวลามีอาการหรือจะกินประจำหลังอาหารและก่อนนอนก็ได้ หรืออยากจะต้มน้ำขิงใส่น้ำตาลให้กินอร่อยๆ และช่วยขับลมด้วยก็ได้

ปวดโรคกระเพาะอาหาร ปวดขณะที่หิวจัด ปวดขณะที่อิ่มจัด ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ก็ให้กินยาลดกรด แก้โรคกระเพาะ ซึ่งมีขายหลายร้อยยี่ห้อ มีทั้งยาน้ำและยาเม็ด ยาน้ำเป็นทั้งน้ำสีขาวตกตะกอน เช่น อะลั่มมิลค์ อะลูดรอกซ์ มาล็อกซ์ อัลมาเจล (ราคาขวดละตั้งแต่ 10-15 บาท) ให้กินหลังอาหาร 1 ช.ม. ไม่ใช่กินก่อนอาหาร หรือหลังอาหารทันที ควรกินติดต่อกันเป็นเดือนจึงจะหายขาด ถ้าใช้ยาเม็ด เช่น ไตรซิลิเกต เจลูซิล คอนเจล ฯลฯ ก็ควรเคี้ยวบดให้ละเอียดก่อนกลืน

ข้อสำคัญ ควรพักผ่อนให้เต็มที่ อย่ากังวลหรือเคร่งเครียดมากเกิน กินข้าวให้ตรงเวลา ขณะที่มีอาการมาก ควรกินอาหารที่อ่อนที่ย่อยง่าย เช่น นม ข้าวต้ม ควรงดของเผ็ดจัด และงดชา กาแฟ บุหรี่ ได้เป็นดี สำหรับคนที่มีความเครียดในหน้าที่การงานหรือชอบกังวล ให้กินยากล่อมประสาท ไดอาซีแพม (ขนาด 2 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละ 25 สตางค์) กินเช้าเม็ด เย็นเม็ด ควบกับยาลดกรดด้วยก็ดี

ปวดประจำเดือน

ให้กินยาแก้ปวดแอสไพริน หรือพาราเซตามอล ครั้งละ 2 เม็ด ให้กินซ้ำทุก 6 ชั่วโมง ถ้าปวดรุนแรงไม่หาย ให้กินยาแก้ปวดเกร็งในท้อง เช่น บาราลแกน (ราคาเม็ดละ 1.25 บาท) กินครั้งละ 1-2 เม็ด บางคนอาจปวดรุนแรงถึงหน้าซีด เป็นลม หมออาจจะต้องฉีดยาอะโทรปีน หรือมอร์ฟีน แก้ปวด หญิงที่แต่งงานหลายปีไม่มีบุตร และมีอาการปวดท้องน้อยเหมือนปวดประจำเดือนอยู่เรื่อยๆ อาจเป็นเนื้องอกในโพรงมดลูกก็ได้ ควรจะให้หมอตรวจดูมดลูกให้แน่ใจ

โดยทั่วไปให้ถือหลักว่า ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง เป็นติดต่อนานมากกว่า 6 ชั่วโมง เมื่อแตะหน้าท้องรู้สึกเจ็บมาก หน้าท้องแข็งเป็นกระดาน มีอาการซีดเหลืองอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ควรจะรับไปหาหมอ เพราะอาจเป็นโรคที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าปวดและแตะเจ็บที่บริเวณท้องน้อยข้างขวา ก็พึงนึกไว้เสมอว่า โรคไส้ติ่งอักเสบ กำลังถามหาก็ได้ ก็ควรรีบไปหาหมอและถ้าเป็นจริงก็ต้องให้หมอผ่าตัดทุกราย

ข้อมูลสื่อ

6-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522
แนะยา-แจงโรค
ประชารักษ์