• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพดีราคาถูก

สุขภาพดีราคาถูก


ผมเพิ่งได้รับหนังสือจากมูลนิธิรอคคีเฟลเลอร์เล่มหนึ่งชื่อ Good Health At Low Cost  หรือสุขภาพดีราคาถูก หนังสือเล่มนี้เกิดจากการศึกษากรณีตัวอย่างของประเทศที่ยากจน แต่มีดรรชนีทางสุขภาพดี 4 ประเทศ ได้แก่ (1) จีน (2) ศรีลังกา (3) รัฐเคอราลา ของอินเดีย และ (4) คอสตา ริก้า}

ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่ยากจนกว่าไทย แต่ตัวเลขต่างๆแสดงว่าประชาชนเหล่านี้มีระดับสุขภาพดีกว่าเรา และใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นอัตราตายในทารกต่ำ มูลนิธิรอคคีเฟลเลอร์มีความสนใจว่าประเทศเหล่านี้ทำไมจึงทำได้ จึงรวบรวมข้อมูลขึ้นเพื่อเผยแพร่

เขาศึกษาว่าประเทศเหล่านี้มีปัจจัยอะไรร่วมกันที่เป็นตัวกำหนดให้สุขภาพดี เขาพบว่าปัจจัยเหล่านี้คือ
1. เจตนารมณ์ทางการเมือง (political will)
2. อาหาร
3. ระดับการศึกษา โดยเฉพาะของแม่
4. บริการทางสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

ทั้งสี่แห่งล้วนมีเจตนารมณ์ทางการเมืองสูงที่จะทำให้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า ของเรามีหรือไม่มีก็ดูกันเอาเองเถิดครับ ถ้าอาหารไม่มีกินอิ่มทุกมื้อ เรื่องสุขภาพก็ไม่ต้องพูดถึง เมืองเรานี่ส่งอาหารเป็นสินค้าออก แต่มีคนมีภาวะทุพโภชนาการกันแยะ ส่วนระดับการศึกษานั้นมีผลกระทบต่อพัฒนาการหลายอย่าง คงจะต้องเอาไว้พูดกันให้ละเอียดในโอกาสหลัง ส่วนบริการทางสาธารณสุขนั้นเน้นที่ความทั่วถึง และความมีน้ำใจ ต่อให้สร้างโรงพยาบาลราคา 1,000 ล้านอีกหลายๆแห่ง ก็ไม่มีทางทำให้สุขภาพของประชาชนทั้งมวลดีขึ้นได้ เพราะมันไม่ทั่วถึง และเป็นเหตุให้ไม่ทั่วถึง

ในประเทศเรามีคนที่เข้าใจเรื่องสุขภาพและการพัฒนาสุขภาพน้อย รวมทั้งแพทย์ นักการเมือง และผู้บริหาร ต่อเมื่อเข้าใจว่าสุขภาพคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงจะส่งเสริมให้เกิดสุขภาพดีขึ้นได้
 

ข้อมูลสื่อ

85-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
ศ.นพ.ประเวศ วะสี