• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษ


อาหารเป็นพิษ จะมีอาการถ่ายเหลว เนื่องมาจากการกินอาหารที่ไม่สะอาด แต่แท้ที่จริงแล้วคำว่า “อาหารเป็นพิษ” นั้น แต่ดั้งเดิมหมายถึงอาการท้องเสียที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรียตัวหนึ่งชื่อสแตฟฟิโลคอคคัส เท่านั้น
เชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส เป็นเชื้อแบคทีเรียรูปร่างกลมย้อมติดสีกรัมบวก เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่เป็นปกติที่ผิวหนังของเรา มักเป็นสาเหตุของหนองฝี แผลอักเสบติดเชื้อของผิวหนัง

อาการท้องเสียที่เกิดจากแบคทีเรียตัวนี้นั้น มีสาเหตุมาจากการที่เราได้รับสารพิษของมัน สารพิษดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อทางเดินอาหาร และระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่เกิดขึ้นหาใช่เพราะตัวของแบคทีเรียเองไม่ เนื่องจากแบคทีเรียตัวนี้ไม่สามารถทำอันตรายต่อผนังลำไส้ของเราได้
อาหารเป็นพิษมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ร่างกายของเราได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าไป ระยะเวลาจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรียตัวนี้ จนกระทั่งเกิดอาการนั้น อยู่ระหว่าง 1-6 ชั่วโมง และระยะที่มีอาการก็เป็นระยะเวลาไม่นาน คือประมาณ 10 ชั่วโมง ถึงแม้ไม่รักษาอาการดังกล่าวก็จะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง

เรื่องของเรื่องมักจะมีอยู่ว่าแม่ครัวหรือคนปรุงอาหารที่มีบาดแผลที่มือซึ่งเกิดอาการอักเสบจากเชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส อาหารที่แม่ครัวคนนั้นปรุงจึงมีเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุปะปนอยู่ (เชื้อนี้จะปล่อยพิษลงในอาหาร) เมื่อใครกินเข้าไปก็จะเกิดอาการอาเจียนภายใน 1-2 ชั่วโมง บางครั้งอาการอาเจียนรุนแรงมาก ทั้งนี้เนื่องจากพิษของแบคทีเรียตัวนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอาเจียน และอีกไม่นานอาการท้องเสียก็จะตามมา

เรื่องแบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับโรงครัวที่มีคนกินอาหารเป็นจำนวนมาก และมักจะเป็นพร้อมๆกันหลายๆคน บางรายที่เป็นหนักต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ เพื่อทดแทนน้ำส่วนที่ร่างกายเสียไปทางอาเจียนและการถ่าย แต่ส่วนใหญ่แล้วอาศัยการดื่มน้ำเกลือเท่านั้นก็เป็นการเพียงพอ
เนื่องจากอาหารเป็นพิษไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียโดยตรง ดังนั้นอุจจาระที่ออกมาจึงเป็นน้ำ ไม่มีมูกหรือเลือดซึ่งเป็นสัญญาณของอาการอักเสบรุนแรงภายในลำไส้ เมื่อนำอุจจาระไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดูก็จะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวน้อย และเมื่อนำอุจจาระของคนที่มีอาการอาหารเป็นพิษไปเพาะเชื้อ ก็จะไม่พบเชื้อ

ดังนั้นการรักษาจึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด รักษาตามอาการที่เกิดขึ้น หากอาเจียนก็ให้ยาแก้อาเจียน อาจจะให้ยาหยุดถ่ายจำพวกเคโอเปคตัล และที่สำคัญคือให้ดื่มน้ำเกลือทดแทนน้ำในร่างกายส่วนที่เสียไปให้ทันและเพียงพอ

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า “อาหารเป็นพิษ” ตามความหมายดั้งเดิม หมายถึงโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอคคัสเพียงตัวเดียวเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราหมายรวมไปถึงอาการที่เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนอีโคไลอีกด้วย อาการท้องเสียที่เกิดจากอี.โคไลเป็นอาการท้องเสียที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว เช่น จากการกินอาหารทะเล ส้มตำ ขนมจีน ฯลฯ คนที่ได้รับเชื้ออี.โคไลพร้อมๆกันอาจจะไม่เกิดอาการท้องเสียหมดทุกคนก็เป็นได้

อี.โคไลเป็นแบคทีเรียรูปแท่งย้อมติดสีกรัมลบ มันมีสารพิษทำให้เกิดอาการท้องเสีย
อี.โคไลมีสารพิษ 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่และถูกทำลายให้หมดไปด้วยการทำให้อาหารสุก แต่อีกชนิดหนึ่งที่มันผลิตออกมาพร้อมๆกันนั้น มีโมเลกุลที่เล็กกว่า และเป็นสารทนไฟที่ไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน สารพิษทั้งสองชนิดมีผลทำให้ท้องเสียเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากอาหารปนเปื้อนสารพิษนี้แล้วไม่ว่าจะทำให้สุกก่อนหรือไม่ ก็จะไม่มีทางทำลายสารพิษของมันให้หมดไปได้ มีทางเดียวที่จะป้องกันได้ก็คือทิ้งอาหารนั้นไปเสีย

อาการของอาหารเป็นพิษที่เกิดจากพิษของอี.โคไลก็คือท้องเสีย แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า ลักษณะอุจจาระเป็นน้ำ อาจจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย และมีไข้ต่ำๆ อาการอาเจียนเป็นน้อยกว่าอาการที่เกิดจากสแตฟฟิโลคอคคัส แต่หากได้รับเชื้อมากๆ อาการท้องเสียอาจจะรุนแรงและเป็นอยู่นานถึง 2 วันได้
การรักษา นอกจากจะให้น้ำเกลือดื่มเพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไปแล้ว อาจจะให้บีสมัทเพื่อลดอาการและทำให้หยุดถ่าย นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าหากต้องเดินทางไปในที่ๆคาดว่าจะได้รับเชื้อ เช่น แถบชายทะเล อาจจะป้องกันได้โดยการกินเตตร้าซัยคลิน จำพวกดอกซีไซคลิน วันละ 100 มิลลิกรัมก็เป็นการเพียงพอ

อาหารเป็นพิษมักจะพบได้บ่อยในหน้าร้อน ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเสียควรจะปฏิบัติตัวดังนี้
1. เมื่อต้องการรับประทานอาหารนอกบ้านให้เลือกร้านที่สะอาด คนปรุงอาหารท่าทางสะอาด อย่ารับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม

2. รับประทานอาหารที่ใหม่และสดเสมอ เนื้อสัตว์และอาหารที่ค้างคืนควรทิ้งเสีย อย่านำมาประกอบอาหารหรือนำมารับประทานเพราะความเสียดาย

3. อาหารเหลือค้างที่ไม่ได้อุ่นหรือเก็บไว้ในตู้เย็นไม่ควรจะนำมารับประทาน

4. หากมีแผลอักเสบที่มือไม่ควรจะเป็นคนปรุงอาหารเอง
 

ข้อมูลสื่อ

85-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
พญ.ลลิตา ธีระศิริ