อาการเจ็บในคอหอย
ในฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงอาการเจ็บคอ-ปวดคอ และการตรวจรักษาในรายที่มีอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนักไปแล้ว ในฉบับนี้จะได้พูดถึงอาการเจ็บในคอหอยที่ไม่ฉุกเฉิน
อาการเจ็บในคอหอย คืออาการเจ็บข้างในคอทำให้เวลากลืนอาหาร กลืนน้ำ หรือกลืนน้ำลายแล้วรู้สึกเจ็บ ถ้าเป็นมาก อาจกลืนอาหารหรือกลืนน้ำไม่ได้เลย
การตรวจรักษาอาการเจ็บในคอหอยที่ไม่มีอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนัก
แผนภูมิที่ 2 การตรวจรักษาอาการเจ็บในคอหอยที่ไม่ฉุกเฉินหรือเจ็บหนัก(ที่ฉุกเฉินหรือเจ็บหนัก ให้ทำตามแผนภูมิที่ 1 ฉบับที่ผ่านมา)
อาการเจ็บในคอหอย ที่ไม่ฉุกเฉินหรือเจ็บหนัก แต่ควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลคือ
1. คนไข้ที่มีอาการหายใจลำบากหรือกลืนอาหารไม่ได้ด้วย อาการหายในลำบากในที่นี้ หมายถึง อาการหายใจลำบากทั้งทางจมูกและทางปาก นั่นคือ แม้จะอ้าปากหายใจแล้วก็ยังหายใจลำบาก แสดงว่าอาการของโรคนั้นไม่ได้เป็นแต่เฉพาะที่คอ ควรจะเป็นที่ปอดหรือหลอดลมด้วย หรือถ้าเป็นแต่เฉพาะที่คอ ก็จะมีการอักเสบบวมภายในคอมากจนทำให้หายใจลำบาก คนไข้ที่คอเจ็บแล้วหายใจลำบากจึงควรไปโรงพยาบาล
ในกรณีที่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลทันทีได้ ให้ตรวจคอหอยและปอด (ดูวิธีตรวจคอหอยและปอดใน หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 34 หน้า 87, 35 หน้า 82, 36 หน้า 84)
ถ้าคอหอยบวมแดงหรืออักเสบไม่มากนัก (ยังพอกลืนอาหารได้และยังพอหายใจได้) และตรวจปอดแล้วไม่พบเสียงผิดปกติ อาจให้ยาเพนวี (เม็ดละ 250 มิลลิกรัม) ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้งก่อนอาหารอย่างน้อย ½ ชั่วโมง หรือในขณะท้องว่าง และให้ดื่มน้ำบ่อยๆ (ครั้งละ 1-2 อึกทุก 10-20 นาที) หรือใช้น้ำเกลือ (น้ำผสมเกลือพอให้เค็มปะแล่มๆ) บ้วนปากกลั้วคอบ่อยๆ (ทุก 1-2 ชั่วโมง) ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอลง อาจกินยาลดไข้บรรเทาปวด เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน ถ้ามีไข้หรือปวดมาก ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ควรหาทางไปโรงพยาบาล
ถ้าคอหอยบวมแดงหรืออักเสบมากจนกลืนอาหารไม่ได้ หรือหายใจไม่ได้ ให้บ้วนปากกลั้วคอบ่อยๆ ด้วยน้ำเกลือดังกล่าวข้างต้น แล้วรีบไปโรงพยาบาล เพราะต้องใช้ยาฉีด หรืออาจต้องช่วยให้คนไข้หายใจได้
2. คนไข้ที่มีคนใกล้เคียงเป็นโรคคอตีบ คนใกล้เคียงในที่นี้ หมายถึง คนในบ้าน คนนอกบ้าน เพื่อนฝูง คนอื่นที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน โรงเรียนเดียวกัน หรืออื่นๆ
คนที่เจ็บคอและมีอาการไข้ร่วมด้วย และมีคนใกล้เคียงเป็นโรคคอตีบ ควรจะไปหาหมอหรือไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็ก เพราะมีโอกาสที่จะเป็นโรคคอตีบได้
คนที่เป็นโรคคอตีบควรจะอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันรักษาอาการหายใจไม่ออก ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันที และป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปสู่คนอื่น (คนในบ้าน คนนอกบ้าน หรืออื่นๆ)
3. คนไข้ที่มีหนองหรือก้อนในคอหอย หนองในที่นี้ หมายถึงน้ำหนอง หรือสิ่งคล้ายน้ำมูกสีเขียวหรือสีเหลือง หรือสีช้ำเลือดช้ำหนองในบริเวณคอหอย อาจมีต่อมทอนซิลบวมแดงและเป็นหนอง หรือเป็นก้อนโป่งมาจากด้านหลังของคอหอย คนไข้เหล่านี้อาจต้องผ่าตัดเอาหนองออกจากก้อนที่โป่งอยู่เพราะเป็นฝี ถ้าไม่ผ่าเอาหนองออก อาการจะดีขึ้นยากหรือไม่ดีขึ้นเลย
4. คนไข้ที่เจ็บคอ ที่ลองรักษาเองหรือได้รับการรักษาจากหมอแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปรับการตรวจรักษาต่อที่โรงพยาบาล เพื่อจะสามารถตรวจให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น และให้การรักษาตรงต่อสาเหตุได้
(อ่านต่อฉบับหน้า)
- อ่าน 24,842 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้