• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้ใหญ่วิบูลย์

ผู้ใหญ่วิบูลย์

ชื่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม แห่งบ้านห้วยหิน ฉะเชิงเทรา เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่องค์กรพัฒนาเอกชน หลายท่านได้มีโอกาสไปเยี่ยมและศึกษาถึงบ้านของผู้ใหญ่วิบูลย์ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะที่แล้วมา เมื่อนึกถึงวิชาการเรามักหันไปทางเดียว คือหันไปหามหาวิทยาลัยหรือหันไปหาฝรั่ง ขณะนี้มีการหันไปหาชาวบ้านเพื่อแสวงหาปรีชาญาณชาวบ้าน” “ มากขึ้น

ผู้ใหญ่วิบูลย์เล่าว่า ที่บ้านห้วยหินมีทั้งหมด 210 ครอบครัว มีอาชีพทางทำไร่ ผู้ใหญ่วิบูลย์เองมีที่อยู่ 100 กว่าไร่ ปลูกมันสำปะหลังขาย ทำอยู่ 20 กว่าปี ปรากฏว่าเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเป็นหนี้ธนาคารอยู่กว่า 200,000 บาท
ทุกครอบครัวนอกจากทำไร่แล้วก็มีอาชีพรับจ้าง ล้วนประสบปัญหาอย่างเดียวกัน คือเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านมีความเครียดมาก มีการฆ่ากันตายประมาณคืนละหนึ่งศพ

ผู้ใหญ่วิบูลย์ลองทำบัญชีดูว่าปีหนึ่งมีรายได้เท่าไร และมีรายจ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าอาหาร ค่ายา ฯลฯ เมื่อเทียบรายรับรายจ่ายดูแล้วปรากฏว่าขาดทุน ไม่แปลกที่จะต้องเป็นหนี้มากขึ้นๆ ผู้ใหญ่วิบูลย์จึงเปลี่ยนเข็ม แทนที่จะมุ่งทำให้ได้กำไรมากๆ (ซึ่งทำให้ขาดทุน) กลับมุ่งที่จะตัดรายจ่าย อะไรที่ทำแล้วจะทำให้ลดรายจ่ายก็ทำ ปรากฏว่าต้องเปลี่ยนวิถีการเกษตร คือแทนที่จะปลูกอย่างเดียวเพื่อขาย เปลี่ยนเป็นทำหลายอย่างเพื่อกินเองใช้เอง เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกสมุนไพร ฯลฯ

ผลปรากฏว่า มีกินอิ่ม อยู่สบาย ไม่เป็นหนี้ ชาวบ้านมีเวลาคุยกันมากขึ้น และมีเวลาไปวัดไปวามากขึ้น หมู่บ้านคลายความเครียดลง การฆ่ากันตายลดน้อยลงไปมาก โรคเครียด เช่น ความดันสูง แผลในกระเพาะ ฯลฯ ก็คงจะลดลงไปด้วย

นี่แหละระบบเศรษฐกิจหมู่บ้านซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจ พฤติกรรม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ระบบเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาชีวิตแก่ชีวิตและสังคมไทยอย่างอเนกอนันต์ ในฐานะเป็นเมืองพุทธน่าจะมีการแสวงหาเศรษฐกิจชาวพุทธ ซึ่งอาจเรียกว่า พุทธเศรษฐกิจ ชุบชีวิตชาวบ้าน

ข้อมูลสื่อ

86-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
กรกฎาคม 2529
ศ.นพ.ประเวศ วะสี