• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บริษัทเฮิกซ์ถอนยาโนมิเฟนซีนออกจากตลาดยาทั่วโลก

บริษัทเฮิกซ์ถอนยาโนมิเฟนซีนออกจากตลาดยาทั่วโลก

 

 

                  

 

ยาโนมิเฟนซีน เป็นยารักษาอาการซึมเศร้าที่จำหน่ายในประเทศไทยมีชื่อว่า ‘เมอริวัล’

*******************************************************************************************


มีรายงานข่าวจากฟาร์มา บรีฟ เยอรมันตะวันตกว่า บริษัทเฮิกซ์ ได้สมัครใจถอนยาโนมิเฟนซีน หรือยาที่มีส่วนผสมของโนมิเฟนซีน ในชื่อการค้าต่างๆ (เช่น “อลิวัล” “เมอริทัล” ฯลฯ) ออกจากท้องตลาดทั่วโลก เนื่องจากมีอาการข้างเคียงอย่างร้ายแรง ทำให้มีอันตรายถึงตายได้

ยาโนมิเฟนซีน เป็นยารักษาอาการซึมเศร้า มีจำหน่ายในประเทศไทย ในชื่อการค้า “เมอริวัล (Merival)” ในขนาดความแรง 25 มิลลิกรัม และ 50 มิลลิกรัม เป็นยาที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ 2519 ต่อมาในปี 2526 ได้มีรายงานอันตรายจากการใช้ยาโนมิเฟนซีนอย่างกว้างขวาง
ในปี 2528 ราวเดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานอาการข้างเคียงที่มีอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตเนื่องจากยาโนมิเฟนซีนในประเทศอังกฤษ และเมื่อเดือนกรกฎาคม ได้มีรายงานอันตรายถึงแก่ชีวิตอันเนื่องจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานของร่างกายเมื่อได้รับยานี้เข้าไป นั้นคือทำให้ร่างกายทำลายเม็ดเลือดแดงของตนเอง 2 ราย

คณะกรรมการติดตามความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ยาของอังกฤษได้รายงานว่า สำรวจพบอาการข้างเคียงอื่นๆ เนื่องจากผู้ป่วยใช้ยาโนมิเฟนซีนดังต่อไปนี้ พบว่าตับถูกทำลาย 53 ราย เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย 47 ราย และมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ 50 ราย และถึงแก่ชีวิต 4 ราย
ดังนั้น ในช่วงเดือนกันยายน 2528 สื่อมวลชนต่างๆในเยอรมันตะวันตกได้ออกข่าวเตือนประชาชนเกี่ยวกับอันตรายจากยาโนมิเฟนซีนว่าพบผู้ป่วยตายเนื่องจากการใช้ยานี้แล้วอย่างน้อย 6 ราย กระทรวงสาธารณสุขเยอรมันได้สั่งให้บริษัทเฮิกซ์ เร่งออกคำเตือนไปยังแพทย์และเภสัชกรในเยอรมันให้ทราบถึงอันตรายร้ายแรงของยานี้ในทันที และดำเนินการถอนยานี้ออกจากท้องตลาด

สำหรับในประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านใกล้เคียงของประเทศไทยนี้เอง กระทรวงสาธารณสุขของเขาได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชน เมื่อ 22 มกราคม 2529 นี้ ถึงแพทย์และเภสัชกรทั้งหมด เพื่อแจ้งให้ทราบว่าบริษัทเฮิกซ์ได้ถอนยาโนมิเฟนซีนออกจากท้องตลาดแล้ว เนื่องจากก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงจากอาการโลหิตจาง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย จึงขอให้แพทย์และเภสัชกรทั้งหมดส่งคืนยาที่มีอยู่ในครอบครองไปยังบริษัทเฮิกซ์ในทันที

ในประเทศไทย คำเตือนเหล่านี้ได้มีไปถึงแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่ทว่ายังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านขายยาต่างๆ จึงอาจจะยังมีการใช้ยานี้กันอยู่ สมควรที่จะได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลออกไป เพื่อให้แพทย์และเภสัชกรที่ยังคงมียาตัวนี้อยู่ในสต๊อคส่งคืนบริษัทเฮิกซ์ได้โดยทันที


(เรียบเรียงจาก Pharma Brief No.3 January 1986 และ Press release ของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย 2 ม.ค. 2529)
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์

 

ข้อมูลสื่อ

86-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
กรกฎาคม 2529
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์