• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งูกัด

งูกัด (ต่อจากครั้งที่แล้ว)

การดูลักษณะงู

การจำแนกว่างูชนิดใดมีพิษ ชนิดใดไม่มีพิษ บางทีทำได้ยาก ถ้าเราพบงูเห่าที่กำลังแผ่แม่เบี้ย เราบอกได้แน่ว่าเป็นงูพิษ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ในระหว่างงูมีพิษด้วยกันเราก็อาจต้องรู้ว่าเป็นงูอะไร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ถูกงูกัด เพราะยาแก้พิษงู (ซีรั่ม) นั้น ทำมาเฉพาะแต่ละชนิด การให้ยาแก้พิษงูชนิดหนึ่งอาจไม่มีผลเลยเมื่อถูกงูอีกชนิดหนึ่งกัด ถ้าจะให้ยาแก้พิษงูรวมทุกชนิดปริมาณก็จะมากเกินไปกว่าที่ผู้ป่วยจะรับได้ และจะเป็นเสมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียงชนิดของงูพิษที่มีชุกชุมและพบได้ ในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะกล่าวถึงลักษณะและอุปนิสัย

ลักษณะที่ควรรู้เกี่ยวกับงู

1. งูมีพิษโดยมากจะไม่สู้คนถ้าไม่จำเป็น งูจะพยายามหนีก่อนเสมอ จะกัดคนต่อเมื่อทำให้ตกใจหรือโกรธ งูไม่มีพิษนั้นค่อนข้างจะสู้คนมากกว่างูมีพิษ งูมักจะดุร้ายเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์หรือออกไข่

2. งูไม่มีหู ดังนั้นจึงไม่ได้ยินเสียงอะไร แต่งูมีอวัยวะรับการสั่นสะเทือนของอากาศและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ดีมาก งูที่หากินตอนกลางคืนจะตามัวเมื่อเวลามีแสงแดด งูที่กำลังลอกคราบจะมองไม่เห็นอะไรเลย

3. งูทุกชนิดจะล่าเหยื่อและกินเหยื่อทั้งตัว

4. เนื้องูทุกชนิดกินได้ทั้งนั้น และในบางแห่งถือว่าเป็นอาหารอันโอชะและบำรุงกำลังด้วย

5. การเหยียบงูในน้ำ ก็ทำให้งูกัดได้เท่ากับเหยียบบนบก แต่งูกัดในน้ำไม่ถนัดเท่าอยู่บนบก งูทุกชนิดว่ายน้ำเก่งและดำน้ำเก่ง

ดูลักษณะงู เพื่อบอกชนิด

1.เขี้ยว และการเรียงตัวของฟัน (โปรดดูภาพประกอบ)

 

2. รูรับความรู้สึก (Sensory Pit) งูบางพวกจะมีช่องหรือรูนี้สามารถรับความรู้สึกร้อนเย็นได้ละเอียดมาก งูที่มีรูรับความรู้สึกทุกชนิด เป็นงูพิษทั้งนั้น แต่งูที่ไม่มีรูรับความรู้สึกก็เป็นงูชนิดที่มีพิษได้ ดังนั้น งูตัวใดก็ตามถ้ามีรูนี้ก็เชื่อได้เลยว่าเป็นงูพิษ งูที่มีรูรับความรู้สึกเราเรียกว่า Pit viper และพิษส่วนใหญ่จะเป็นพิษเลือด เช่น งูแมวเซา งูกะปะ ฯลฯ

3. ลายและสีของงู ลายและสีใช้เป็นเครื่องบอกชนิดของงูได้ยาก นอกจากผู้ชำนาญจริงๆ เพราะงูชนิดเดียวกันอายุแก่อ่อนต่างกันก็ทำให้สีไม่เหมือนกัน ฤดูกาลและสภาพแวดล้อมก็ทำให้สีของงูเปลี่ยนไป แม้กระนั้นเราก็สามารถใช้สีเป็นตัวประกอบการบอกชนิดได้ในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ลายของงูคงตัวมากกว่าสี เช่น งูลายปล้อง จะมีลายเป็นปล้องเสมอไป แต่สีอาจเปลี่ยนแปลงไปตามพันธุ์ งูพิษทั่วไปมักจะไม่มีลายเป็นทางยาวไปตลอดทั้งตัว

4. ลักษณะของหัว แม้ลักษณะของหัวจะใช้จำแนกว่างูชนิดใดมีพิษและไม่มีพิษไม่ค่อยได้ แต่ก็บอกชนิดของงู งูที่มีรูปสามเหลี่ยมก็ไม่ใช่ว่าจะมีพิษเสมอไป ในทำนองเดียวกันงูที่หัวต่อกันเป็นท่อนเดียวมีพิษก็มีมาก (ดูภาพประกอบ)

5. ลักษณะเกล็ดงู ลักษณะเกล็ดหัวงู บอกชนิดของงูได้ค่อนข้างจะแม่นยำ การดูชนิดของงูจริงๆ ต้องศึกษาจากการเรียงตัว จำนวนและรูปร่างของเกล็ดเหล่านี้ ตามปกติเราแบ่งเกล็ดออกเป็นเกล็ดหัว เกล็ดปาก เกล็ดคาง เกล็ดหลัง และเกล็ดใต้ท้อง เป็นต้น (ดูภาพประกอบ)

 

 

งูพิษที่พบบ่อยในประเทศไทย

งูพิษที่พบบ่อยในประเทศไทยเท่าที่ปรากฏมี 7 ชนิดด้วยกัน จะกล่าวถึงลักษณะของงูแต่ละชนิด เพียงเพื่อให้ชาวบานอย่างเราๆ พอบอกได้ว่าเป็นงูอะไรเท่านั้น

1.งูเห่า (Naja naja) อยู่ในสกุล Elapidae มีเขี้ยวอยู่ทางด้านหน้าของปาก มีเกล็ดตามลำตัวกว้าง 19-25 เกล็ด เกล็ดท้องตลอดลำตัว 164-213 เกล็ด เกล็ดท้องของส่วนหาง 43-75 เกล็ด เกล็ดก้นเป็นชนิดชิ้นเดียว

เกล็ดริมฝีปากบนมี 2 อัน อันที่ 3 กว้างที่สุด อันที่ 7 ใหญ่ที่สุด คอขยายออกแผ่แม่เบี้ยได้ ตัวยาวมักไม่เกิน 180 ซ.ม. ระหว่างเกล็ดริมฝีปากล่างที่ 3 และ 4 จะมีเกล็ดรูปสามเหลี่ยมซึ่งไม่พบในงูบกชนิดอื่น

สีและลาย เปลี่ยนไปตามท้องถิ่นอาจมีสีดำ ท้องสีเทา อาจมีเกล็ดขาวแซมบ้างตรงบริเวณคอเวลาแผ่แม่เบี้ยจึงเห็นเป็นจุดสีดำบนพื้นสีขาวปรากฏทางด้านหลังคล้ายแว่นตา

พบมากที่ แขวงหนองงูเห่า เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ อยุธยา อ่างทอง ลพบุรี เพชรบูรณ์

2. งูจงอาง (King Cobra,Hamadryad, Ophiophagus hannah) อยู่ในสกุล Elapidae มีเขี้ยวอยู่ทางด้านหน้า

ลักษณะทั่วไปของหัว (รูปที่ 5) มีเกล็ดริมฝีปากบน 7 อัน อันที่ 3 สูงที่สุด และอันที่ 7 ยาวที่สุด อันที่ 3-4 ติดกับลูกตา เกล็ดคอนับตามขวา 19-21 เกล็ด เกล็ดก้นเป็นเกล็ดเดี่ยว เกล็ดท้องส่วนหางเป็นเกล็ดคู่ เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 4-5 เมตร บางตัวยาวถึง 5 เมตรครึ่ง เฉพาะส่วนหางยาว 80 ซ.ม. ถึง 1 เมตร

สีและลาย เมื่อโตยังไม่เต็มที่มีสีดำ มีลายเหลืองจาง คล้ายรูปบั้งทางด้านหัว และค่อยๆ ทอดเป็นเส้นขวาง ทางส่วนหางตอนหัวจะมีลายทอดขวางเหมือนกัน สีขาวมักจะอยู่ตรงขอบของเกล็ด และเมื่องูมีอายุมากขึ้น สีขาวจะค่อยๆ ถูกกลืนเป็นสีดำ โดยเฉพาะส่วนหัวและลำตัว ส่วนหางหัวจะมีสีเทาหรือน้ำตาล ส่วนท่อนหางอาจยังมีลายสีเทาๆ หลงเหลืออยู่บ้าง แต่ท่อนหางมักจะป็นสีดำหรือสีเทาปนเขียวตลอด

พบมากที่ ในป่าภาคใต้ของประเทศ เช่น นครศรีธรรมราช, ตราด, พัทลุง, ภาคกลางที่สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม, ลพบุรี, นครราชสีมา, ภาคตะวันออกที่ระยอง

3. งูแมวเซา (Russeell’s Viper Daboia Tic-Palonga, Kasari Hebi, Viper Russelli อยู่สกุล Vipevdae เขี้ยวกลวง และพับได้

ลักษณะเกล็ดหลังนับตามขวาง 27-33 เกล็ด ท้อง 153-180 เกล็ด หาง 41-64 เกล็ด ก้นเป็นชนิดแผ่นเดียว

ปลายปากมน มีแก้มและคางชัดเจนเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 1 เมตร 25 ซ.ม. ส่วนหางยาวประมาณ 17 ซ.ม.

สีและลาย สี น้ำตาลอ่อน มีลายเป็นดวงกลมๆ รีๆ 3 แถว เรียงจากหัวลงไป ลักษณะของลายมีสีน้ำตาลตรงกลาง ขอบสีดำ และขลิบสีขาวตรงริม

พบมากที่ อยุธยา, อ่างทอง, สิงห์บุรี, สระบุรี, นครสวรรค์, นนทบุรี, นครปฐม

4. งูทะเล (Sea Snakes) มีหลายชนิด ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ งูชายธง งูคออ่อน งูผ้าขี้ริ้ว งูฝักมะรุม เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปของงูทะเล

1. ปลายหางแบนคล้ายใบพาย

2. ลำตัวแบน งูที่อยู่ในทะเลอย่างเดียว ท้องจะแคบคล้ายปลา ถ้าอยู่ทั้งทะเลทั้งบนบก ท้องจะมีส่วนกว้างกว่า

3. รูจมูกจะมีลิ้นปิดเปิดได้

4. เขี้ยวจะมีร่องลึกจนคล้ายเป็นหลอด

5. มีพิษมาก

มีผู้กล่าวถึงอุปนิสัยของงูทะเลไว้ไม่เหมือนกัน บางคนกล่าวว่า งูทะเลดุร้าย มักจะว่ายน้ำเข้ากัดคน บางคนเล่าว่างูทะเลมักไม่ทำอันตรายคน อย่างไรก็ตามปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า งูทะเลชอบอาศัยอยู่ตามชายฝั่ง โดยเฉพาะปากแม่น้ำ งูทะเลดำน้ำได้นาน อาจถึง 2 ชั่วโมง แม่มันต้องโผล่ขึ้นมาหายใจ

พบมากที่ จังหวัดชายทะเลทุกแห่ง เช่น สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, ชลบุรี, ระยอง, ตราด, จันทบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี ฯลฯ

5. งูกะปะ (Malayan pit viper) อยู่ในสกุล Crotalidae มีเขี้ยวพิษชนิดพับได้

ลักษณะทั่วไป เกล็ดหลังตามขวางมี 19-21 เกล็ด เกล็ดท้อง 139 -166 เกล็ด เกล็ดหาง 35-54 เกล็ด เกล็ดก้นเป็นชนิดปิดตลอด ปากแหลม ปลายจมูกงอกขึ้นเล็กน้อย เกล็ดปาก 7-9 เกล็ด เกล็ดหางเป็นชนิดแบ่งเป็นคู่ โตเต็มที่จะยาวประมาณ 87 ซ.ม.

6. งูเขียวหางไหม้ (Green Pit viper) โดยมากรู้จักกันดี ตัวมีสีเขียว ปลายหางสีแดงปนดำหรือแดงคล้ำ พบได้ทั่วไปแทบทุคภาคของประเทศไทย อยู่ในสกุล Crotalidae มีเขี้ยวชนิดพับได้อยู่ทางด้านหน้า (Solenoglypha)

เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 80-85 ซ.ม.

สีและลาย ลำตัวมีสีเขียว มีลายสีดำพาดผ่านลูกตา และส่วนบนของหัว ท้องเป็นสีเหลืองหรือสีขียว ปลายหางเป็นสีแดงคล้ำหรือสีดำ

7. งูสามเหลี่ยม (Krait) งูสามเหลี่ยมมีหลายชนิด อยู่ในสกุล Elapidae มีเขี้ยวเป็นทั้งชนิด อยู่ทางด้านหน้า (Solenoglypha) และทางหลังของปาก (Proteroglypha) ลักษณะสำคัญอันหนึ่งก็คือ ลำตัวเป็นรูปสามเหลี่ยม มีสันกระดูกสันหลังนูนเป็นยอดของสามเหลี่ยมและมีลายเป็นปล้อง สีอาจมีสีเทาสลับดำ น้ำเงินสลับดำหรือน้ำตาลเหลืองหรือเขียวสลับดำก็มี

พบมาก ทั่วทุกภาคในประเทศไทย

พิษงูและงูพิษ

คนโดยมากไม่ค่อยจะมีความรู้เรื่องงู ดังนั้นเมื่อถูกงูกัดจึงไม่สามารถบอกได้ว่า งูอะไรกัด ร้ายกว่านั้น บางคนบอกไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าถูกงูหรืออะไรกัด

เมื่องูพิษกัดคน พิษของงูจะถูกขับออกมาทางเขี้ยวพิษ ซึ่งอาจเป็นชนิดร่องหรือชนิดกลวงก็ตามเข้าใต้ผิวหนัง พิษนี้จะกระจายแพร่ออกไปหลายมิลลิเมตร ในทันทีที่ถูกงูกัด พิษส่วนใหญ่จะแพร่กระจายเข้าทางหลอดเลือด และหลอดน้ำเหลืองเล็กๆ ของร่างกาย ถ้างูกัดถูกหลอดเลือดใหญ่และสามารถขับพิษเข้าทางหลอดเลือดโดยตรง คนที่ถูกกัดจะตายไปในเวลาอันรวดเร็ว โดยมากพิษจะซึมไปตามหลอดน้ำเหลือง ดังนั้น อาการจึงค่อยๆ เกิด

โดยทั่วๆ ไป พิษงูจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เนื้อเยื่อๆ ของร่างกาย และต่อเม็ดเลือด งูต่างชนิดกันจะมีส่วนประกอบของพิษต่างกันออกไป ดังนั้น ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่าในท้องถิ่นที่เราอาศัยมีงู ซึ่งมีพิษชนิดไหนมาก เราอาจเลือกวิธีปฐมพยาบาลให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้มากขึ้น

  • งูที่มีพิษต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง
  • งูที่มีพิษต่อเลือด ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้
  • งูที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล

ส่วนงูสามเหลี่ยมมีพิษต่อระบบประสาทและเลือด

อาการของพิษที่เกี่ยวกับระบบประสาท

1. ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ เต้นเบาลงจนในที่สุดหยุดเต้นไปเลย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของช็อคหมดแรงและตายไปในที่สุด

2. มีอาการปวดศีรษะรุนแรง

3. มีอาการวิงเวียน

4. ตามัวหรืออาจมองอะไรไม่เห็นเลย หนังตาตก (ตาปรือเหมือนคนง่วงนอน)

5. หูอื้อฟังอะไรไมได้ยิน

6. มีความรู้สึกเลื่อนลอย เลอะเลือน และหมดสติไปในที่สุด

7. อาจมีกล้ามเนื้อกระตุก และแข็งเกร็ง

8. หายใจลำบาก เนื่องจากศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองถูกทำลาย

9. อาจมีความรู้สึกเป็นเหน็บ หรือชาตามผิวหนัง โดยเฉพาะที่ริมฝีปากและที่ฝ่าเท้า อาจมีน้ำลายไหล และเหงื่อออกมาก

10. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน บางคนอาจมีท้องเดิน

อาการที่กล่าวถึงไม่ได้เกิดได้ทุกกรณีที่งูกัด ในพวกที่ได้รับพิษมากถึงตาย อาจมีอาการที่กล่าวมาแล้วนี้ทั้งหมดได้ การได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี เราสามารถรู้ได้ โดยที่อาการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วปรากฏไม่หมด หรือปรากฏแต่ว่าไม่มีความรุนแรงมาก

อาการของพิษงูที่เกี่ยวกับระบบเลือด

1. บริเวณที่ถูกกัดจะบวมขึ้นทันที และจะลามไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อาการบวมมักเกิดภายใน 3-5 นาที (ในบางรายอาจกินเวลาถึงชั่วโมง) หลังจากถูกกัดผู้ถูกกัดจะรู้สึกปวดมาก (ในงูประเภทที่มีพิษต่อระบบประสาทจะไม่มีอาการเช่นนี้)

2. มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทั้งนี้เพราะผนังหลอดเลือดถูกทำลาย ทำให้เลือดรั่วออกจากหลอดเลือด

3. เม็ดเลือดถูกทำลาย

4. เลือดไม่สามารถจับเป็นลิ่ม ทำให้เลือดไหลออกมาภายนอกร่างกายได้ โดยเฉพาะเลือดออกในทางอาหาร ออกตามเหงือกและไรฟัน ริมฝีปาก หรืออกตามรอยเขี้ยวของงูที่กัด

5. มีอาการปวดศีรษะและเป็นลม เนื่องจากเม็ดเลือดถูกทำลาย และปริมาณเลือดไหลเวียนต่ำ

อาการต่างๆ เหล่านี้อาจไม่มีหรือมีครบได้ มากน้อยสุดแต่ปริมาณและส่วนประกอบของพิษงูที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกงูกัดที่มีอาการตกใจกลัวหรือความดันเลือดสูง อาการจะปรากฏมากและเร็ว การฟื้นตัวก็มักช้ากว่าผู้ที่สงบจิตใจได้

พิษของงูทะเล

งูทะเลมีพิษรุนแรงต่อระบบประสาท แต่งูทะเลโดยมากจะไม่กัดคน ถ้าไม่จนตัวจริงๆ โดยมากคนที่ถูกงูทะเลกัดจะได้รับพิษไม่มากนัก ประมาณร้อยละ 25 ที่ถูกกัดจะได้รับพิษมากจนถึงกับมีอาการ

เมื่อกัดแล้ว ตรงรอยแผลมักไม่มีอาการเจ็บปวด นอกจากการเจ็บแปลบเฉพาะตอนถูกกัดเท่านั้น ดังนั้น กว่าจะรู้ว่าถูกงูกัด ตรงรอยที่ถูกกัดก็บวมมากจนทำการปฐมพยาบาลไม่เกิดประโยชน์อะไรอีกแล้ว ผู้ถูกกัดมักมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ และแขนขาแบบเคลื่อนไหวไม่ค่อยถนัด หลังจากถูกกัด 1-2 ชั่วโมง อาการต่างๆ จะมากขึ้น มีอาการเจ็บปวดเวลาขยับแขนหรือขา อาจมีปัสสาวะเป็นสีแดงคล้ำของมัยโอโกลบิน (สารโปรตีนที่เป้ฯส่วนประกอบของกล้ามเนื้อ) ในบางรายอาจเกิดอาการภายหลังถูกกัดได้นานถึง 6 ชั่วโมง คนที่ถูกกัดแล้ว รอยแผลบวมเจ็บทันที หรือเกิดภายในชั่วโมงแรก มักจะไม่ใช่เกิดจากถูกงูทะเลกัด อาจเกิดจากปลายอก คนที่ถูกงูทะเลกัดมักจะเสียชีวิตจากการหายใจเองไมได้ การช่วยชีวิตก็คือ การช่วยหายใจ จะโดยวิธีปากต่อปาก (เป่าปาก) หรือใช้เครื่องช่วยหายใจก็ได้ ผู้ที่รอดชีวิตจากการหายใจเป็นอัมพาตอาจเสียชีวิตด้วยภาวะไตตาย (ไตไม่ทำงาน) ในเวลาต่อมาก็ได้

ข้อมูลสื่อ

7-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 7
พฤศจิกายน 2522
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์