• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การทำแผล (ตอนที่ 2 อุปกรณ์และยาใส่แผล )

การทำแผล (ตอนที่ 2 อุปกรณ์และยาใส่แผล )

 

การบาดเจ็บที่ทำให้เกิด “บาดแผล” มีอยู่ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าครอบครัวใดมีเด็ก จะพบบาดแผลที่เกิดจากการกระแทก การพลัดตกหกล้ม และการบาดของของมีคมได้บ่อยที่สุด
ดังนั้นทุกครอบครัวควรมีอุปกรณ์และยาใส่แผลติดไว้ตามความจำเป็น ซึ่งอุปกรณ์และยาเหล่านี้หาซื้อได้จากร้านขายยา หรือร้านค้าที่ขายยาขององค์การเภสัชกรรม หรือยาตำราหลวงซึ่งมีอยู่ทั่วไป


อุปกรณ์สำหรับทำแผล
อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับทำแผลในบ้าน ได้แก่ สำลีสะอาดพันปลายไม้ (แบบสำเร็จรูปฆ่าเชื้อโรคแล้วราคาค่อนข้างแพง) หรือสำลีสะอาด ผ้าปิดแผล (ผ้ากอซ) ผ้าพันแผล และปลาสเตอร์ชนิดม้วนปิดแผล (บางม้วนอาจนิยมปลาสเตอร์ยาเพราะสะดวก และใช้แทนได้ทั้งผ้าปิดแผล และปลาสเตอร์ก็ใช้ได้ บางม้วนอาจใช้คีมหรือปากคีบ สำหรับคีบสำลี ต้องต้มเสียก่อน)

ยาฆ่าเชื้อและยาใส่แผล มีให้เลือกใช้ได้หลายชนิด ตามลักษณะของบาดแผล และความสะดวกที่จะหาได้ คือ
1. น้ำต้มเดือด และทำให้อุ่นลง ใช้ล้างบาดแผลเพื่อให้แผลสะอาด

2. น้ำเกลือ ใช้น้ำสะอาด 1 ลิตร ผสมเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ใช้ล้างแผลเพื่อให้แผลสะอาด

3. ด่างทับทิม ใช้ผสมน้ำสะอาดจนมีสีชมพูอ่อนๆ ใช้ล้างแผลที่สกปรกหรือมีกลิ่นเหม็น

4. ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ใช้ล้างแผลสกปรกมีหนอง และใช้ในการทำความสะอาดบาดแผล เพื่อช่วยให้เนื้อตายยุ่ย เขี่ยออกง่าย

5. น้ำยาเดกิ้น มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ใช้ในแผลที่มีหนองมาก

6. น้ำยาแอลกอฮอล์ 70% ใช้เช็ดรอบๆแผล เพื่อฆ่าเชื้อ

7. ยาแดงและทิงเจอร์เมอไธโอเลตใช้ใส่แผลสดภายหลังทำความสะอาดบาดแผลแล้ว

8. ยาเหลือง ใส่แผลเรื้อรังและแผลกดทับ

9. น้ำยาบอริก 3% ใช้ชะแผล (ใช้ล้างตาก็ได้ แต่ควรเป็นคนละขวดกับที่ไว้ใช้ชะแผล)

10. น้ำยาไอโอดีน ส่วนใหญ่ใช้ 2.5% ในเด็กใช้ 1% ใช้กับแผลสด แผลถลอก ป้องกันการติดเชื้อได้ดี แต่ต้องระวังไม่ให้เข้มข้นเกินไป จะทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อไหม้เกิดอันตรายและ ไม่ใช้กับแผลเบาหวาน หรือผู้ที่มีประวัติเป็นเบาหวาน

อุปกรณ์และยาเหล่านี้ ต้องเก็บให้สูงพ้นมือเด็ก ยาเก็บในที่แดดไม่ส่อง เพราะแสงแดดจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพเร็วกว่าปกติ

สำลี ผ้าปิดแผล ต้องสะอาด (อาจใช้เตารีดร้อนๆ รีดทับเพื่อฆ่าเชื้อ) ถ้าเห็นว่าเก็บไว้นานเกินไป หรือไม่สะอาด ควรเปลี่ยนใหม่

 

ข้อมูลสื่อ

86-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
มิถุนายน 2529
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์