มะเกลือ ทำให้ตาบอด และวิธีป้องกัน
เมื่อต้นปีมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายวันหลายฉบับว่า “มีเด็กหลายรายกินมะเกลือถ่ายพยาธิ แล้วเกิดมีอาการตาบอด”
บทความนี้จะให้ความกระจ่างแก่ท่านว่า มะเกลือทำให้ตาบอดได้อย่างไร และจะหาทางป้องกันได้อย่างไร
มะเกลือ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่ทั่วไป มะเกลือ (ภาคกลาง), เกลือ (ภาคใต้), มะเกือ (ภาคอีสาน), มะเมีย (เขมร), มักเกลือ (ตราด).
มะเกลือออกผลในปลายฤดูฝน และในปีหนึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียว คือ ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม หรืออาจข้ามไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ลักษณะของต้นและใบ มีลำต้นขนาดย่อมคล้ายต้นตะโก ดอกมีสีเหลือง ผลกลมป้อม ขนาดตั้งแต่ 1/2 นิ้ว จนถึง 3/4 นิ้ว ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงคล้ายผลมังคุดแต่เล็กกว่าเปลือกนอกของผลมีสีเขียวสด เป็นมัน เมื่อผลแก่แล้ว จะกลายเป็นสีเทาแล้วดำ
ต้นมะเกลือมีอยู่ทั่วไปทุกภาคยกเว้นภาคใต้ มีชุกชุมในภาคกลางบางจังหวัด เช่น ราชบุรี สระบุรี ลพบุรี และภาคอีสานบางจังหวัด เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี
มะเกลือมีประโยชน์อย่างไร
ในด้านการแพทย์ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิลำไส้ ซึ่งมีข้อดีหลายประการ เช่น ราคาถูก มีอยู่ทั่วไปตามชนบท ถ่ายพยาธิได้หลายชนิด เช่น พยาธิปากขอ (Hookworm), พยาธิตัวตืด (Tapeworm), พยาธิตัวกลม (Roundworm), พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) และพยาธิแส้ม้า (Whipworm)
ในด้านอุตสาหกรรมใช้ย้อมผ้า และแพรให้เป็นสีดำ ได้สีที่เข้ม ติดทนนาน ทาไม้ให้มีสีดำเป็นมันในการฝังมุกโต๊ะและเก้าอี้ ทำให้ลายสวยงามและเด่นขึ้น
ในการถ่ายพยาธิลำไส้ ใช้ผลมะเกลือสด (เก็บมาใหม่ๆ) เปลือกนอกของผลมีสีเขียวสดและเป็นมัน ในขนาด 1 ผลต่ออายุ 1 ปี และต้องไม่เกิน 20-25 ผล (ถ้าผู้ถ่ายพยาธิตัวผอมเล็ก แม้อายุจะเกิน 20 ปี การใช้เพียง 20 ผล แต่ถ้าร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่อาจใช้ 25 ผลได้ แต่ต้องไม่เกิน 25 ผล) นำผลสดมาล้างให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำซึ่งมีสีเหลืองอ่อน ผสมกับน้ำตาล เกลือและน้ำกะทิ เพื่อให้กินได้ง่ายขึ้น (เนื่องจากรสของน้ำคั้นมะเกลือเฝื่อนและกินได้ยากมาก) แล้วรีบกินให้หมดทั้งทีอย่างตั้งทิ้งไว้ เพราะน้ำคั้นผลมะเกลือจะเปลี่ยนเป็นสีเทาและดำได้รวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตา คือทำให้ตาบอด และฤทธิ์ในการถ่ายพยาธิก็จะลดน้อยลงด้วย ดังนั้นจึงต้องรีบกินทันทีเมื่อคั้นเสร็จใหม่ๆ ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียได้เพราะมะเกลือไประคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
เนื่องจากมะเกลือออกผลปีละครั้งเดียว จึงมีผู้คิดค้นหาสกัดสารสำคัญที่เป็นตัวยาถ่ายพยาธิ เก็บไว้ใช้ คนแรกที่คิดค้น คือ นายแดง สุวรรณสวัสดิ์ พนักงานวิทยาศาสตร์แผนกเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำสารสกัดผลมะเกลือดิบไปตั้งแสดงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2479 ในปี พ.ศ. 2480 นายแพทย์เวก เนตรวิเศษ ได้เสนอรายงานการค้นคว้าและวิธีสกัดมะเกลือ การใช้สารสกัดในผู้ป่วยที่มีพยาธิลำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ปรากฏว่าได้ผลดี ในปี พ.ศ. 2491 นางระเบียบ ประชันคดี และศาสตราจารย์ แถบนีละนิธิ ได้รายงานการค้นคว้าเรื่องมะเกลือและได้บรรยายเรื่องนี้ในที่ที่ประชุมวิทยาศาสตร์ ภาคแปซิฟิค ครั้งที่ 9 ใน พ.ศ. 2503 นายแพทย์มงคล โมกขะลิต ได้ทำการสกัดผลมะเกลือสดด้วยแอลกอฮอล์ และกรดน้ำส้ม ความเข้มร้อยละ 10 แล้วเก็บสาระสำคัญที่ได้ไว้ในหลอดแก้วสูญญากาศ เก็บไว้ในที่มืดที่ไม่ร้อน สารสำคัญนี้ก็ยังมีคุณภาพในการถ่ายพยาธินานถึง 1 ปี สารสำคัญที่ได้จากการสกัดผลมะเกลือคือ “ไดออสไพรรอล” (Diospyrol) ซึ่งเป็นสารพวกแนพธาลีน (Naphthalene) พวกหนึ่ง
ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องมะเกลือ ขออธิบายสารเคมีที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับมะเกลือ สารเคมีนั้นคือ แนพธาลีน เพราะมะเกลือก็เป็นสารแพนธาลีนพวกหนึ่ง และการเกิดพิษของสารทั้งสอง โดยเฉพาะทำให้เกิดอันตรายต่อตา คือ ทำให้ตาบอด มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก มีผู้รายงานเกี่ยวกับพิษของแนพธาลีนที่มีอันตรายต่อตานั้น ยังไม่มีการค้นคว้าหาสาเหตุกันอย่างจริงจัง ข้อความต่อไปนี้เป็นการรวบรวมรายงานอันตรายที่เกิดขึ้นจากสารเคมี “แนพธาลีน”
แนพธาลีน เป็นสารเคมีที่สกัดได้จาก น้ำมัน ถ่านหิน (Coal tar) ที่ชื่อพ้องหลายชื่อ เช่น แนพธาลีน (Naphthalin) แนพธีน, (Naphthene), ทาร์ แคมเฟอร์ (Tar camphor) ใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมทำสี เซลลูลอยด์ ยากันตัวสัตว์ และยาฆ่าแมลง ในด้านการแพทย์ ในสมัยก่อนใช้เป็นยาทาภายนอก ยาระงับเชื้อของระบบทางเดินอาหาร และยาถ่ายพยาธิ แต่เลิกใช้มานานแล้วเพราะมีอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ หลายชนิด ขนาดทำให้เกิดอันตรายในคน 0.5 กรัมขึ้นไป ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เหงื่อออกมาก ปัสสาวะเป็นเลือด ไข้สูง มีอันตรายต่อตับ ชักและหมดสติ และมีอันตรายต่อตา ทำให้ตาส่วนของจอภาพหรือเรตินาอักเสบ (Retinitis) และเกิดต้อกระจก (Cataract)
การเกิดเรตินาอักเสบ เกิดภายหลังการหินสารเคมีแนพธาลีนนาน 1-2 วัน การเห็นจะเลวลง แม้ลองใส่แว่นตา การเห็นก็ไม่ดีขึ้น จนกระทั่งมองไม่เห็นเลย ซึ่งเกิดจากประสาทตา (Optic nerve) มีการอักเสบ และเมื่อมีการอักเสบอยู่นาน ก็ทำให้ประสาทตาฝ่อได้ (Optic atrophy)
การเกิดต้อกระจก มักเกิดตามมาภายหลังการอักเสบของเรตินา แต่บางครั้งก็เกิดพร้อมกัน (ขึ้นอยู่กับขนาดยาที่กินว่ามากหรือน้อย) ถ้ากินมนขนาดมากก็จะเกิดเร็วขึ้น การเกิดต้อกระจกจะเริ่มมีการขุ่นจากบริเวณขอบของเลนซ์ในลูกตา แล้วค่อยๆ ลานมาตรงกลาง จนกระทั่งเลนซ์ตาขุ่นทั่วทั้งหมด
เมื่อสานเคมีแนพธาลีนถูกดูดซึมจากลำไส้เข้าสู่ร่างกายแล้ว บางส่วนจะถูกเนื้อเยื่อในร่างกายเปลี่ยนแปลงให้เป็นสารเคมีอีกหลายชนิด เช่น แอลฟ่าแนพธอล (-Naphthol) , เบตาแนพธอล (- Naphthol) กรดแอลฟ่า แนพธีน เมอร์แคปทูลิค (-Naphylmercapturic acid) สารทั้งสองตัวแรกมีอันตรายต่อตับ ไต เม็ดเลือดแดง และตา เช่นเดียวกับ แนพธาลีน ส่วนสารตัวสุดท้ายถูกขับทางปัสสาวะ ซึ่งทำให้ปัสสาวะมีเลือดปนน้ำตาลและสีจะเข้มมากขึ้นเมื่อตั้งทิ้งไว้
มะเกลือ เป็นสารพวกแนพธาลีนพวกหนึ่ง การเกิดอันตรายต่อตาคล้ายกับสารแนพธาลีน คือ ทำให้ประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis) และถ้าเป็นอยู่นาน อาจทำให้ตาบอดได้ การอักเสบของประสาทตา และการตาบอดที่ตามมานั้น ขณะนี้ได้มีผู้ทำการค้นคว้าหาสาตุ และเข้าใจว่า อาจเกิดเนื่องจาก
1. เกิดน้ำคั้นผลมะเกลือตั้งทิ้งไว้นาน จนมีการเปลี่ยนสีจากเดิมแล้ว หรือ เอาไปต้ม ตากแดด
2. อาจใช้มะเกลือในขนาดมากเกินไป
3. เพราะผู้กินมีความไวต่อสารในผลมะเกลือมากกว่าบุคคลอื่นๆ
ยาทุกชนิดไม่ว่าจะได้มาจากพืช หรือสังเคราะห์โดยวิธีเคมี ก็ตาม เป็นเสมือน “ดาบสองคม” การน้ำมาใช้ผิดวิธี ใช้เกินขนาดหรือแม้แต่ใช้อย่างถูกต้อง ก็อาจเกิดอันตรายได้ เพราะบุคคลบางคนมีความไว และการตอบสนองต่อยาไม่เหมือนกับคนทั่วไป เช่น บางคนแพ้ “ยาแก้แพ้” (Antihistamine) บางคนใช้ยากล่อมประสาทแล้วกลับได้รับผลตรงข้ามคือฝันร้าย สะดุ้งตกใจตื่นทั้งๆ ที่คนทั่วไปกินยาพวกนี้แล้วหลับสบาย คลายกังวลได้ดี ดังนั้นไม่ควรถือว่า สารใดๆ ก็ตามที่ให้ก็ตามที่ให้ประโยชน์ ก็ย่อมมีโทษแฝงด้วยเสมอ ในการใช้มะเกลือในการถ่ายพยาธิลำไส้ก็เช่นกัน อาจเกิดอาการแพ้ และเป็นอันตรายได้ในบางคน แต่ถ้าเราใช้โดยถูกวิธีและด้วยความระมัดระวัง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว อันตรายที่เกิดจากพิษของมันก็ควรน้อยลงด้วย
“วิธีสังเกตผลมะเกลือว่ามีพิษหรือไม่”
รูปที่ 1 ผลมะเกลือมีสีเขียวสดเหมาะที่จะใช้ถ่ายพยาธิ์
รูปที่ 2 น้ำคั้นจากมะเกลือสด
รูปที่ 3 ผลมะเกลือสีดำ ห้ามใช้ถ่ายพยาธิ์เป็นอันขาด
รูปที่ 4 น้ำคั้นจากผลมะเกลือที่ตั้งทิ้งไว้เปลี่ยนเป็นสีดำ ห้ามถ่ายพยาธิ์เป็นอันขาด
ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าในด้านสาธารณสุข ประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ ควรจะปลูกมะเกลือ และใช้ลูกมะเกลือในการถ่ายพยาธิ์ แต่ควรระมัดระวังมิให้เกิดตาบอดขึ้นได้ ดังกล่าวแล้วว่า
1. อย่ากินเกินขนาด (ดูข้างต้น)
2. ใช้ลูกมะเกลือสด ที่ยังเขียว กินทันที ไม่ทิ้งค้างไว้ ไม่ต้ม
3. ยังไม่สมควรใช้สารสกัดจากผลมะเกลือ ในระยะนี้ เพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยแน่นอนว่าจะแปรสภาพไปเป็นสารตัวที่ทำให้ตาบอดได้มากน้อยเพียงใด
- อ่าน 19,911 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้