• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อข้าพเจ้าใช้ห้องพักในโรงพยาบาลเป็นห้องนั่งกรรมฐาน

ดิฉันขอถือโอกาสเล่าประสบการณ์ ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านทั้งหลาย นั่นคือประสบการณ์ของการนำผลการปฏิบัติธรรมไปใช้ในขณะเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลา 54 วัน ระหว่างวันที่ 23 กันยายนถึง 15 พฤศจิกายน 2530

ก่อนเข้าโรงพยาบาล ดิฉันรู้สึกตนเองแข็งแรงมาก เนื่องจากในระยะ 3-4 ปีมานี้ดิฉันออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิก และวิ่งเป็นประจำทุกวัน

ประมาณ 2 เดือนก่อนเข้าโรงพยาบาล ดิฉันได้ฝึกซ้อมวิ่งทุกวัน เพื่อเตรียมตัววิ่งแข่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ ระยะทาง 10 กิโลเมตร ในที่สุดความหวังทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ ก็ได้เห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขารเกิดขึ้นว่ามันไม่เที่ยงจริงๆ

ดิฉันเป็นผู้หนึ่งที่หมั่นตรวจร่างกายอยู่ตลอดเวลา เพราะสามีเป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังจากประจำเดือนหมดแล้วหนึ่งปี เริ่มมีตกขาวออกได้ไปตรวจถึง 2 ครั้งก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ต่อมามีเลือดออกจึงได้ไปตรวจอีก และหมอได้นัดให้ไปขูดมดลูก

หลังจากนั้น 2-3 วัน สามีได้บอกว่าให้เตรียมตัวเข้าโรงพยาบาล เพื่อผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกให้หมด ไม่มีประโยชน์แล้ว ดิฉันก็กำหนด “รู้หนอ” จิตก็เป็นปกติ ก็ไม่รู้สึกอะไร และคิดว่าคงจะไม่มีอะไร เพราะเคยผ่าท้องเอาลูกออกถึง 2 คน

ก่อนเข้าโรงพยาบาล ก็เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมคือวิทยุ เพื่อเปิดฟังธรรมะจากสถานียานเกราะและสถานีอื่นๆ เทปธรรมะที่ดีๆ ที่ชอบ ของคุณแม่สิริ กรินชัย บ้าง คุณหมอเชวงบ้าง ท่านเจ้าคุณโสภณฯ บ้างเต็มกล่อง และหนังสือธรรมะอีกหลายเล่ม สำหรับเครื่องใช้อื่นๆ เตรียมไปพอสมควร นึกในใจว่า เข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ นอกจากกิน นอน ขับถ่ายแล้ว จะต้องทำกิจพิเศษอย่างหนึ่งให้ได้ นั่นคือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 ที่ได้เคยฝึกอบรมมาจากคุณแม่สิริ กรินชัย

ในวันเข้าผ่าตัด ดิฉันทำใจสบายมาก ด้วยการมีสติกำหนดรู้อยู่ตลอดเลา เริ่มตั้งแต่พยาบาลมาตามตัวไปทำความสะอาดร่างกาย สวนอุจจาระ เปลี่ยนเสื้อผ้าและให้นอนบนเตียงเข็นคนไข้ ระหว่างทางที่เจ้าหน้าที่เข็นเตียงเข้าลิฟต์ และออกไปยังห้องผ่าตัด ก็กำหนดรู้ “สะเทือนหนอ-เห็นหนอ-เฉยหนอ” ไปตลอดทางมีความรู้สึกว่าการกำหนดรู้ของตนเองดีมาก

ในห้องผ่าตัด ผู้คนมากหลาย เดินขวักไขว่ การเจรจากัน ก็กำหนด “เห็นหนอ-ยินหนอ-ตื่นเต้นหนอ” เขาจับแขนดิฉันเหยียดตรึงกางออกทั้ง 2 ข้างและฉีดยา ก็กำหนดรู้ในขณะที่เข็มแทงเนื้อ “เห็นหนอ-กลัวหนอ-เจ็บหนอ” หลังจากนั้นไม่นานก็กำหนด “เคลิ้มหนอ หลับหนอ” และก็หลับไปอย่างไม่รู้สึกตัวเลยจนกระทั่งเขาเข็นเตียงกลับมาที่ห้องพักในตอนบ่าย ก็ยังไม่รู้สึกตัว จนถึงตอนค่ำของวันนั้น ก็ลืมตา เห็นผู้คนรอบเตียง ได้ยินเสียงเรียกชื่อ ก็กำหนด “ลืมตาหนอ-เห็นหนอ-ยินหนอ” และได้ยิ้มออกไปก็กำหนด “ยิ้มหนอ” จึงได้รู้ว่ามีการให้น้ำเกลือถึง 5 ขวด ในระยะเวลา 3 วัน มีพยาบาลพิเศษดูแลอย่างใกล้ชิด

ระหว่างให้น้ำเกลือต้องนอนอยู่บนเตียง ยังลุกเดินไม่ได้ก็มีสติกำหนดรู้ความเจ็บปวด นอกจากนี้จิตยังตามรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย และสภาวธรรมต่างๆ ที่เข้ามากระทบกับทวารทั้งหก คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้กระทั่งนิ้วมือซึ่งอยู่ในผ้าห่มกระดิกขึ้นลง จิตก็ตามรู้ เท้างอเข้ามาและเหยียดออกไป จิตก็ตามรู้ ตะแคงตัว หงายตัว ยกมือขึ้น-ลง-กำ-คลาย

จิตก็ตามรู้ไปทุกระยะๆ จึงรู้สึกอัศจรรย์ใจมาก ที่จิตตามรู้สภาวะที่เกิดขึ้นของกายและจิตอย่างชัดเจน คิดไม่ถึงว่าตนเองจะมีสติกำหนดได้ละเอียดลออถึงเพียงนี้


ต่อมาเมื่อสามารถลุกจากที่นอน เพื่อไปทำภารกิจต่างๆได้ ก็จะกำหนด “ลุกหนอ ถึงหนอ ขวา-ซ้าย ขวา-ซ้าย” เข้าห้องน้ำ ชำระล้างร่างกายก็กำหนดหมด จะแต่งตัวก็กำหนดกินยาก็กำหนด กินอาหาร ดื่มน้ำก็กำหนดหมด

จนกระทั่งถึงเวลานอนก็กำหนด “อยากนอนหนอ-เอนหนอ-ลงหนอ-ถึง(หมอน)หนอ” เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วก็เอามือวางทับกันไว้ที่หน้าท้อง กำหนด “พองหนอ-ยุบหนอ” เรื่อยไปจนหลับ นับเป็นการหลับอย่างมีสติ หรือหลับด้วยสติจริงๆ

การหลับอย่างมีสติ ก็คือการที่เรามีสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้ตัวทั่วพร้อมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกายและจิตติดต่อเนื่องกันตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน จนเป็นเหมือนเส้นด้าย


ในตอนกลางคืน ดิฉันมักหลับและตื่นทุกๆ 2 ชั่วโมง ที่รู้ก็เพราะว่าเมื่อรู้สึกตัวตื่น ก็กำหนดยกมือไปจับนาฬิกาแล้วยกมาดูว่าเวลาเท่าใด แล้วยกไปวาง ปรากฏว่า การตื่นในทุก ๆ 2 ชั่วโมงนั้น มีความรู้สึกเหมือนกับหลับไปตลอดคืน ในคืนแรกยังไม่แน่ใจตนเองนัก ด้วยเกรงไปว่าการตื่นๆทุกๆ 2 ชั่วโมง ในขณะที่กำลังไม่สบายเช่นนี้ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ดังนั้นในคืนที่สองและวันต่อๆมา จึงเริ่มตระหนักชัดจากการสังเกตตนเอง ว่าการที่หลับทุก 2 ชั่วโมงแล้วตื่นนั้น เหมือนเป็นการหลับตลอดคืนจริงๆ เป็นการหลับที่อิ่ม เต็มที่ ไม่เป็นอุปสรรคก่อให้เกิดปัญหาใดๆต่อสุขภาพเลย

จากการที่ดิฉันมีสติกำหนดรู้อย่างละเอียด และมีการทำความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น จึงเป็นผลให้ดิฉันคลายความทุกข์ คลายความเจ็บปวดได้อย่างน่าอัศจรรย์ เหลือเชื่อจริงๆ และมีความกล้าที่จะอยู่คนเดียวในเวลากลางคืนได้ โดยไม่กลัว ไม่เหงา และไม่เศร้าหมอง นี่กระมังที่เรียกว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน สามีเกรงว่าดิฉันจะเหงา คิดถึงบ้าน ดิฉันกล้าสารภาพในใจว่าดิฉันไม่คิดถึงสามี ถึงลูก ถึงใครๆเลย เพราะแม้แต่ตนเองก็ไม่คิด

รู้สึกแต่ว่ามันกอดอยู่กับกายและจิต รู้ว่ามันเป็นรูปกับนามเท่านั้น ไม่มีตัวเราอยู่เลย หากแต่ไม่กล้าบอกสามีหรือใครๆ ให้ทราบถึงความในใจ ด้วยเกรงเขาจะว่า “เราไม่ปกติ”

 

ข้อมูลสื่อ

106-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน