• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรงงานยาสูบ

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2531 เกี่ยวกับการอนุมัติให้เอกชนเปิดโรงงานบุหรี่เพิ่มอีกแห่ง พร้อมๆกับขอให้กระทรวงสาธารณสุขหามาตรการลดละการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวมันเอง ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้นักศึกษาแพทย์แห่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดอภิปรายในหัวข้อ “โรงงานยาสูบใหม่ ความจำเป็นหรือผลประโยชน์” โดยเชิญตัวแทนนักวิชาการ นักการเมือง และสหภาพแรงงานโรงงานยาสูบมาร่วมแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงงานยาสูบเพิ่มขึ้นอีกแห่ง” ทั้งนี้เพราะโรงงานยาสูบที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถผลิตบุหรี่ให้พอเพียงกับความต้องการของตลาดอยู่แล้ว (แม้ว่านักรณรงค์ในเรื่องนี้มีความต้องการให้คนไทยลดละการสูบบุหรี่ให้มากที่สุด แต่ก็ยอมรับว่าภายในระยะ 10-20 ปีนี้ ความต้องการในการเสพบุหรี่ของไทย ก็ยังคงมีอยู่ จึงไม่ได้เห็นแย้งกับการดำรงอยู่ของโรงงานยาสูบที่มีอยู่เดิมแต่อย่างใด ในจุดนี้ ย่อมทำให้สหภาพแรงงานโรงงานยาสูบคลายกังวลได้ว่าจะไม่ตกงานเนื่องจากการรณรงค์อย่างแน่นอน)

การขยายการผลิตยาสูบให้มีปริมาณมากกว่าที่ตลาดต้องการผู้ผลิตย่อมต้องหาทางยั่วยุให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดให้โทษชนิดนี้กันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยการโฆษณาทุกรูปแบบ (ซึ่งในขณะนี้แม้ยังไม่อนุญาตให้บุหรี่นอกเข้ามาขายในบ้านเรา ก็มีการโฆษณากันอย่างโทนโท่ ทางโทรทัศน์ แผ่นป้ายแถวดอนเมือง และสติกเกอร์ติดหลังรถอยู่แล้ว)

แล้วทำไมจึงยอมให้เอกชนเปิดโรงงานยาสูบเพิ่มอีกเล่า

ตัวแทนสหภาพแรงงานและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ร่วมอภิปรายได้ เปิดเผยให้ทราบถึงเบื้องหลังของเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะแรงกดดันของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้บริษัทยาสูบของเขาเข้ามาแสวงผลประโยชน์โดยนำสินค้าที่ชาวอเมริกันรังเกียจแล้วนี้มาขายให้คนไทย ผู้บริหารประเทศของเราก็ยอมให้เพื่อแลกเปลี่ยนในเรื่องการค้าด้านอื่นๆกับประเทศของเขา

ผู้อภิปรายท่านหนึ่งได้ถามว่า มโนธรรมของคนเหล่านี้ได้หายไปไหนเสียแล้ว เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า ถึงกับไม่แยแสต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของคนไทย (ที่ยอมตกเป็นทาสของบุหรี่) ในขณะที่ “มหามิตร” เก่าแก่ของเรากลับพิทักษ์สุขภาพของคนของเขาให้แคล้วคลาดจากภัยบุหรี่ทุกวิถีทางจนคนของเขาเลิกเสพบุหรี่กันแล้ว

หมอชาวบ้าน ขอถ่ายทอดเนื้อหาสำคัญๆ ของการอภิปรายของแต่ละท่านไว้ในฉบับนี้
เพื่อจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์สำหรับท่านที่ต้องการศึกษาเศรษฐกิจการเมืองเรื่องบุหรี่ในยุคแห่งความไร้เกียรตินี้
 

ข้อมูลสื่อ

107-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ