• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเก็บยา

ยา เป็นหนึ่งในปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญแก่ชีวิตประจำวัน

ยามีประโยชน์อนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ครอบครัวส่วนใหญ่จะมียาบางอย่างไว้ใช้ประจำบ้าน เช่น ยาธาตุ ยาดม ยาแก้ปวด ยาแก้ไข้และยาใส่แผลสด เป็นต้น ยาเหล่านี้ควรมีที่เก็บโดยเฉพาะ อาจเป็นใน “ตู้ยา” “บนหิ้งหรือชั้นวางของ” “ในเข่งหรือตะกร้า” และ “บนหลังตู้กับข้าว” ซึ่งพบได้บ่อยทั้งในชนบทและในเมือง

ที่เก็บยา มีความสำคัญต่อคุณภาพของยาและความปลอดภัยของผู้ใช้ สถานที่เก็บยาสามารถจัดให้ได้เหมาะสมกับสภาพของครอบครัว แต่ควรยึดหลักเหล่านี้คือ
1. แยกยากินและยาใช้ภายนอก เช่น ยาใส่แผลสด ยาทากลากเกลื้อนออกจากกัน อาจเก็บคนละชั้นหรือคนละมุม

2. เขียนสลากให้ชัดเจนบนขวดยาหรือซองยา คือมีชื่อยาว่าใช้แก้อะไร มีวิธีการใช้อย่างไร ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่

3. สถานที่เก็บยา ควรอยู่บริเวณที่แดดส่องไม่ถึงและไม่อับชื้น

ดังนั้นการเก็บยาตามข้างฝาบ้านอย่างในชนบทจึงไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากแดดจะส่องทำให้ยาเสื่อมคุณภาพแล้ว บางครั้งยังเปียกหรือชื้นจากฝนอีกด้วย

4. เก็บยาทุกชนิดในสถานที่เด็กหยิบไม่ถึง

5. ควรเก็บยาเม็ดคุมกำเนิด ในที่ซึ่งผู้กินเห็นได้ชัดเจนทุกวัน เพื่อป้องกันการลืม

6. ยาบางอย่างต้องเก็บในสถานที่มีอุณหภูมิต่ำ เพื่อมิให้ละลาย เช่น ยาเหน็บทวารหนัก ควรเก็บในตู้เย็นชั้นธรรมดา หรือใส่ถุงพลาสติกผูกปากให้สนิทแช่ในกระติกน้ำแข็งหรือเก็บในที่ร่มที่สุดของบ้าน

7. ยากำจัดแมลงและยากำจัดวัชพืช ต้องเก็บต่างหากแยกจากยาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

 

ข้อมูลสื่อ

107-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์