• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเก็บสมุนไพร

แพทย์ไทยเรานั้น ได้จัดแบ่งรสของตัวยาออกเป็น 9 รส คือ
1. รสฝาด
2. รสหวาน
3. รสเมาเบื่อ
4. รสขม
5. รสเผ็ดร้อน
6. รสมัน
7. รสหอมเย็น
8. รสเค็ม
9. รสเปรี้ยว

และเมื่อท่านจำแนกออกเป็นรสต่างๆ ดังกล่าว 9 รสแล้ว ก็ทำให้สามารถจะใช้สมุนไพรมาปรุงแต่งเป็นยาบำบัดโรคได้ ทำให้รู้ว่ารสยาใดควรจะใช้แก้ในโรคใด รสยาใดที่ทำให้ตัวยาขัดกัน ไม่สามารถจะนำมาปรุงเข้าด้วยกันได้

นอกจากนี้ ถ้าหากจะให้สมุนไพรที่ไปเก็บมาใช้ทำการปรุงเป็นยานั้น มีสรรพคุณดียิ่งขึ้นไปแล้ว แพทย์ไทยก็ยังจะต้องมีวิธีเก็บยาอีกด้วย (ในสมัยโบราณ แพทย์ไทยเราต้องเก็บยาเอง ไม่ใช่ไปซื้อเครื่องยาอย่างเช่นในสมัยนี้) ฉะนั้น การเก็บยาท่านจะต้อง

ก. เก็บตามฤดู ปีหนึ่งๆ ท่านแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
1. ฤดูร้อน ท่านเก็บที่รากไม้และแก่น เพราะฤดูร้อน สรรพคุณรวมอยู่ที่รากและแก่น
2. ฤดูฝน ท่านให้เก็บที่ใบ ลูก ผลและดอก เพราะฤดูฝนนี้ ใบ ดอก ลูก และผล ได้รับน้ำฝนมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ และสดชื่น สรรพคุณจึงอยู่ที่ใบ ดอก ลูก และผล
3. ฤดูหนาว ให้เก็บที่เปลือกต้น กระพี้ และเนื้อไม้ เพราะอากาศหนาว เนื้อไม้ แก่น กระพี้ เป็นที่ป้องกันความหนาวเย็น และรวมเอาสรรพคุณของยาเอาไว้ที่เนื้อไม้ แก่น และกระพี้

ข. เก็บยาตามยาม ท่านแบ่งออกเป็นเวลากลางคืนและกลางวัน กลางวันมี 4 ยาม กลางคืนมี 4 ยามดังนี้
กลางวัน ยามที่ 1 เวลา 06.00 น. ถึง 09.00น. ท่านให้เก็บใบ ดอก ลูก เพราะเวลาเช้า ใบ ดอก ลูก ได้รับน้ำค้าง มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ สรรพคุณจึงรวมอยู่ที่ใบ ดอก ลูก
ยามที่ 2 เวลา 09.00 น. ถึง 12.00 น. ท่านให้เก็บที่กิ่ง และก้านเพราะเป็นเวลาสาย ใบ ดอก ลูก ถูกแสงพระอาทิตย์ สรรพคุณจึงรวมอยู่ที่กิ่ง ก้าน ทำให้กิ่ง ก้าน มีสรรพคุณดีขึ้นกว่าส่วนอื่น
ยามที่ 3 เวลา 12.00 น. ถึง 15.00 น. เพราะเวลาบ่าย ความร้อนไปรวมอยู่ที่ต้น เปลือก แก่น จึงทำให้ต้น เปลือก และแก่นมีสรรพคุณดี จึงต้องเก็บต้น เปลือก และแก่น
ยามที่ 4 เวลา 15.00 น. ถึง 18.00 น. เพราะความร้อนไปอยู่ที่ลำต้นมาก สรรพคุณจึงลงไปรวมอยู่ที่ราก ทำให้รากมีสรรพคุณดี จึงต้องเก็บที่ราก

กลางคืน
เวลากลางคืนนี้ ท่านก็แบ่งออกเป็น 4 ยามเช่นเดียวกัน และในการเก็บยาก็มีเหตุผลเช่นเดียวกันกับเวลากลางวัน ต่างกันแต่เวลาเก็บย้ายไป และเวลากลางคืนก็ไม่นิยมเก็บกันนัก ซึ่งท่านได้แบ่งเก็บดังนี้
ยามที่ 1 เวลา 18.00 น. ถึง 21.00 น. ให้เก็บที่ราก
ยามที่ 2 เวลา 21.00 น. ถึง 24.00 น. ท่านให้เก็บที่ต้น เปลือก และแก่น
ยามที่ 3 เวลา 24.00 น. ถึง 03.00 น. ท่านให้เก็บที่กิ่ง ก้าน
ยามที่ 4 เวลา 03.00 น. ถึง 06.00 น. ท่านให้เก็บที่ใบ ดอก ลูกและผล

เปรียบเทียบรสของยาจีนและยาไทย
ก. ยาจีนแบ่งเป็น 5 รส คือ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม เผ็ด แต่ละรสแยกออกได้อีก 4 ลักษณะ ได้แก่ ร้อน สุขุม เย็น และเย็นจัด

รสยาจีน                                                  แนวทางออกฤทธิ์
เปรี้ยว                          ใช้ในทางสมาน การหดตัวและยับยั้ง ใช้ในโรคเหงื่อออกมาก สุขภาพอ่อนแอ 
                                    ท้องร่วง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
หวาน (ชุ่ม)                  ใช้บำรุงและผ่อนคลาย ในอาการอ่อนแอ เช่น ประสาทอ่อน เป็นต้น
เค็ม                              ใช้ละลายก้อน ระบายการอุดตัน ขับถ่าย ละลายนิ่ว
ขม                                ใช้แก้พิษและขับพิษ
เผ็ด (ฉุนซ่า)                 ใช้กระจายและระบาย
                                    (จีนจัดรสจืดเข้าไว้ในรสหวานใช้ในทางขับน้ำ)

ข. ยาไทยแบ่งออกเป็น 9 รส คือ เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม เผ็ดร้อน มัน เมาเบื่อ ฝาด หอมเย็น และรสแยกออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ ร้อน สุขุม และเย็น

รสยาไทย                                                แนวทางออกฤทธิ์

เปรี้ยว                                            ใช้กัดเสมหะ
หวาน                                             ซึมซาบไปตามเนื้อชุ่มชื้นเกิดกำลัง
เค็ม                                                ซึมซาบไปตามผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน
ขม                                                  ใช้แก้โลหิตสตรีและดี
เผ็ดร้อน                                          ใช้แก้ลมต่างๆ และบำรุงธาตุ
มัน                                                  ใช้แก้ทางเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ
เมาเบื่อ                                           ใช้แก้พิษเสมหะ และโลหิต
ฝาด                                                ใช้ในทางสมานแก้บิด ปิดธาตุ
หอมเย็น                                          ทำให้ชื่นใจ บำรุงหัวใจ
                                                       (ต่อมาเพิ่มอีก 1 รส แต่ไม่ระบุแนวทางในการออกฤทธิ์ให้
                                                        ชัดเจน) โครงการศึกษาแพทย์ตะวันออก


 

ข้อมูลสื่อ

107-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
อื่น ๆ
พ.ต.ต.ปราโมทย์ ศรีภิรมย์