• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หมอนนั้นสำคัญไฉน

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อมนุษย์รู้สึกง่วงนอน ก็เอนตัวลงบนพื้นดินและนอนหลับไป ต่อมามนุษย์รู้สึกว่าถ้าเอาแขนวางใต้ศีรษะในท่านอนตะแคง โดยเฉพาะนอนตะแคงขวา การนอนหลับจะง่ายและสนิทยิ่งขึ้น จึงหาขอนไม้มาวางใต้ศีรษะ ต่อมาพัฒนาขอนไม้มาเป็นเครื่องเคลือบดินเผา ดังเช่นหมอนสี่เหลี่ยมที่คนสมัยก่อนชอบนอนหนุนกัน

แต่เมื่อวัฒนธรรมทางยุโรปแผ่เข้ามาในภูมิภาคแถบนี้ การนอนโดยใช้หมอนที่ยัดนุ่นย่อมสบายกว่าหมอนแข็งและนอนหลับฝันดีกว่า ต่อมามีการใช้ฟองน้ำแทนที่นุ่นมากขึ้น และในปัจจุบันยังมีการออกแบบหมอนชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันอาการตกหมอน หรือช่วยในภาวะปวดคอกระดูกคอเบี้ยวไม่เป็นส่วนโค้งตามธรรมชาติ เป็นต้น

ราคาหมอนมีหลายระดับจากใบละไม่กี่สิบบาทจนเป็นหลายร้อยบาท และอาจเป็นหลายพันบาท สำหรับหมอนที่มีขนใต้ท้องห่านหรือนกบรรจุอยู่ ซึ่งร้อนเกินไปสำหรับประเทศที่มีอากาศร้อนอย่างบ้านเรา

เราจำเป็นต้องนอนหนุนหมอนหรือไม่
นี่เป็นคำถามที่โต้เถียงกันพอสมควรในวงการแพทย์
ฝ่ายหนึ่งบอกว่าความจริงถ้านอนหลับโดยไม่ใช้หมอน จะไม่เกิดปัญหาปวดคอ
อีกฝ่ายหนึ่งว่าการใช้หมอนที่ถูกสุขลักษณะจะช่วยให้ส่วนโค้งของคอปกติ ไม่ผิดรูปไป

ถ้าพิจารณาดูแล้ว อาจจะถูกทั้งสองฝ่าย ขึ้นอยู่กับท่าการนอน ปัญหาของคอ อายุและเพศของผู้นอน
เมื่อไรที่เด็กๆนอนหลับ หมอนมักจะตกหล่นหลุดจากศีรษะไปหมด เพราะเด็กมักนอนดิ้น และไม่เคยนอนอยู่ในท่าไหนนานๆ ส่วนผู้ใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เริ่มเข้านอนในท่าไหน มักพบว่าตื่นขึ้นมายังอยู่ในท่านั้นไม่เปลี่ยนแปลง ผลที่ตามมาคือปวดเมื่อยแขนขาข้างที่ถูกทับอยู่เป็นเวลานาน ในกรณีนี้หมอนที่นิ่มและรองรับน้ำหนักของศีรษะได้น่าจะดีสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้หญิงมักถูกสอนไม่ให้นอนหงาย จึงนิยมนอนตะแคง ส่วนผู้ชายนอนหงายหรือนอนตะแคงก็ได้ การแนะนำให้ใช้หรือไม่ใช้หมอนจึงขึ้นอยู่กับเพศของผู้นอนในกรณีนี้ เวลานอนหงายอาจไม่ต้องใช้หมอนก็ได้ แต่การนอนตะแคงถ้าไม่ใช้หมอนเสียเลยศีรษะคงอยู่ในท่าเบี้ยว ทำให้ปวดคอได้ง่าย

ท่านอนนั้นสำคัญมากทีเดียว ทุกท่านย่อมมีประสบการณ์ว่า ถ้านอนตะแคงมีหมอนนุ่มๆหนุนที่ศีรษะ มีหมอนข้างไว้กอดคงจะมีความสุขไม่น้อย และนอนหลับได้นานถ้าอากาศไม่ร้อนอบอ้าวเกินไป หมอนที่หนุนควรจะมีขนาดเท่าความสูงของบ่า คือพอดีสอดอยู่ระหว่างศีรษะและหัวไหล่ การใช้หมอนข้างทำให้แขนขาอีกข้างหนึ่งไม่ตกลงมามีที่วางพักพิงได้

ท่านอนตะแคงขวาอาจดีกว่าท่านอนตะแคงซ้าย ทั้งนี้เนื่องจากหัวใจอยู่ข้างซ้ายของช่วงอก ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ออกจากหัวใจสะดวกขึ้น แต่อาจไม่สบายปอดข้างขวาซึ่งถูกนอนทับอยู่ อย่างไรก็ตาม การนอนตะแคงขวาสลับกับการนอนตะแคงซ้าย ย่อมดีกว่านอนในท่าหนึ่งท่าใดนานจนเกินไป เพราะการนอนในท่าหนึ่งท่าใดนานเกินไป จะทำให้การไหลเวียนของเลือดหยุดนิ่ง เกิดอาการชาที่แขนขาส่วนที่ถูกทับได้

ถ้าเรานอนหงายได้ การใช้หมอนอาจไม่จำเป็นนัก ลองนึกดูซิว่า ถ้าหมอนสูงเกินไป คอเราต้องก้มมาข้างหน้าตลอดคืน ย่อมทำให้เจ็บปวดคอได้ง่าย และเสี่ยงต่ออาการตกจากหมอนสูง ทำให้คอเคล็ดได้ การเลือกหมอนที่เหมาะสมมีความสำคัญมากต่อผู้ที่มีปัญหาของคอ

ในกรณีที่มีอาการปวดคอ เช่น กล้ามเนื้อคอเกร็งแข็งหรือส่วนโค้งของกระดูกคอเสียไป การนอนหงายโดยมีหมอนต่ำๆหรือไม่ใช้หมอนเลย แต่มีม้วนผ้าวางอยู่ใต้คอ (ไม่ใช่หนุนที่ท้ายทอย) จะช่วยให้อาการเจ็บปวดนั้นค่อยทุเลาลง

มีการประดิษฐ์หมอนที่มีส่วนนูนพอดีกับส่วนโค้งของคอออกขายในลักษณะหมอนกระบอกทรงกลมหรือหมอนสองระดับ ระดับสูงกลมหนุนอยู่ใต้คอ ระดับแบบราบอยู่ที่ท้ายทอย แต่ราคาค่อนข้างแพง และส่วนใหญ่เป็นการจำลองแบบมาจากส่วนโค้งของกระดูกคอฝรั่ง ซึ่งอาจยาวกว่าคอคนไทย การใช้ผ้าขนหนูม้วนเป็นทรงกลมจึงอาจจะเหมาะสมกว่าและย่อมประหยัดกว่า

เมื่อมีปัญหาปวดคอแต่ยังต้องการนอนตะแคง การเลือกหมอนที่มีความพอดีกับบ่าดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นนี้อาจช่วยได้บ้างแต่คงไม่ดีนัก

ปัจจุบัน ได้มีการออกแบบหมอนเพื่อให้ใช้ได้ทั้งนอนหงายและนอนตะแคง หมอนที่มีรูปร่างทรงกระบอกที่ดีมีเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ที่สามารถตบให้เส้นใยอยู่ปลายทั้งสองข้างของหมอนและตรงกลางมีเส้นใยน้อยลง

ดังนั้นเมื่อนอนหงายนอนที่กึ่งกลางหมอน ถ้านอนตะแคงนอนที่ปลายข้างใดข้างหนึ่งของหมอน มีหมอนที่ทำจากฟองน้ำสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีส่วนบุ๋มของหมอนซึ่งอยู่ตอนกึ่งกลางของหมอนซึ่งมีระดับต่ำ สำหรับเวลานอนหงาย และส่วนบุ๋มที่สองข้างซึ่งสูงกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการกดทับของใบหู เมื่อต้องการนอนตะแคง แต่มีราคาแพงเพราะต้องสั่งจากต่างประเทศ

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องหลับในท่านอน การหนุนหมอนคงเป็นสิ่งจำเป็นในท่านอนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน กินเวลาถึงเศษหนึ่งส่วนสามของอายุขัยของเรา ถ้าเรานอนวันละ 8 ชั่วโมง เราคงต้องหนุนหมอนเดือนละ 240 ชั่วโมง ปีละ 2,920 ชั่วโมง
แล้วใครเล่าที่บอกว่าหมอนนั้นไม่สำคัญ?
 

ข้อมูลสื่อ

107-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 107
มีนาคม 2531
บุคลิกภาพ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข