• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แอสไพริน – แก้โรคหัวใจ

น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยาแอสไพรินสามารถช่วยสำหรับโรคหัวใจชนิดเดียวเท่านั้นคือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ไม่สามารถป้องกันภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจอื่นๆได้

แต่ข่าวที่ออกมาทางสื่อมวลชนทั่วไปหรือการโฆษณาของบริษัทยา มักจะใช้คำว่า “หัวใจวาย” อันที่จริงหัวใจวายเกิดจากโรคหัวใจได้หลาย การที่เสนอข่าวว่า “หัวใจวาย” คือโรคหัวใจ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นโรคหัวใจชนิดเดียวที่มีอยู่

น.พ.สันต์กล่าวว่า คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการที่จะเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบมาก เช่น ผู้สูงอายุ(ชายอายุมากกว่า 35 ปี หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน) เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือมีไขมันในเลือดสูง อาจจะเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสูง สามารถจะใช้ยาแอสไพรินได้
แต่หัวใจวายชนิดอื่น เช่น จากโรคหัวใจรูมาติก จากโรคความดันเลือดสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และจากโรคหัวใจที่ไม่ใช่หลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การใช้ยาแอสไพรินจะไม่ได้ผล

คนไทยต่างกับคนฝรั่งในหลายกรณี โดยเฉพาะเรื่องการแข็งตัวของเลือด คนไทยเลือดจะแข็งตัวยากกว่าของฝรั่ง

ปัจจุบันคนไทยมีการดำรงชีวิตแบบฝรั่งเพิ่มขึ้น ขาดการออกกำลังกาย และรับเอาวัฒนธรรมการสูบบุหรี่จัดเข้ามา ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น และการแข่งขันการมุ่งไปในทางวัตถุมาก ก่อให้เกิดความเครียดสูงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยมีอัตราเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น

การใช้ยาแอสไพรินในคนไทยต้องระมัดระวัง เพราะคนไทยเลือดไม่ค่อยแข็งตัวง่าย อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกที่จะเป็นอันตรายมากๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ตกเลือดในกระเพาะหรือมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ และที่พบบ่อยในคนไทยที่ใช้แอสไพรินคือ มีอาการปวดท้อง มีพรายย้ำหรือจ้ำเลือดตามผิวหนัง ถ้าพบลักษณะนี้ต้องหยุดยาทันที

ประชาชนที่มีอัตราเสี่ยงต่อโรคลมปัจจุบัน คือ เส้นเลือดในสมองแตก และกินยาแอสไพรินอยู่ ก็จะทำให้เลือดออกในสมองมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต หรือพิการอย่างถาวรได้ น.พ.สันต์ กล่าวในที่สุด
 

ข้อมูลสื่อ

108-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
ข่าว