• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รื้อตู้ยา

ยา ทุกชนิดมีกำหนดระยะเวลาของการใช้ หรือที่เรียกว่า “การหมดอายุ” ซึ่งผู้ผลิตจะต้องแจ้งให้ทราบไว้บนสลากที่ปิดขวดหรือกล่อง แต่บางครั้งเราซื้อยาที่แบ่งมาจากขวดจึงทำให้ไม่ทราบวันที่ยาหมดอายุ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ใช้ต้องพิจารณาเอาเอง

ยา
ที่ได้รับจากแพทย์สั่งเป็นครั้งคราว ควรกินให้หมดตามที่แพทย์สั่ง แต่ยาบางอย่างอาจซื้อไว้ใช้ในระยะยาว เช่น ยาแก้ปวด วิตามิน ยาแก้หวัด ยาธาตุ หรือแม้แต่ยาใส่แผล

เพราะฉะนั้นตู้ยาหรือสถานที่เก็บยาจึงควรได้รับ “การรื้อ” เพื่อตรวจดูว่ายาที่มีอยู่ควรจะหมดอายุหรือยัง และถ้ามีลักษณะตามข้อความข้างล่างนี้ ขอให้ทิ้งยานั้นๆไป เพราะการใช้ยาหมดอายุนอกจากรักษาโรคไม่หายแล้ว ยาชนิดนั้นๆยังอาจมีโทษร้ายแรงต่อร่างกายอีกด้วย

ลักษณะยาที่ไม่ควรใช้อีก มีดังนี้ คือ
1. เปลี่ยนสี
2. เม็ดยาแตก ร้าว หรือชื้น อาจมีเชื้อราปะปนอยู่
3. ขุ่น หรือตกตะกอนโดยที่ยานั้นเคยเป็นน้ำใสมาก่อน
4. สลากเลอะเลือน ไม่ทราบว่าเป็นยาแก้อะไร หรือมีวิธีการใช้อย่างไร เพราะอาจทำให้มีการใช้ยานั้นผิดได้
5. ยาปฏิชีวนะตามหลักแล้วแพทย์จะสั่งให้กินจนหมด ดังนั้นถ้าพบว่ามียาปฏิชีวนะเหลืออยู่จึงไม่ควรกินอีก เพราะยาอาจหมดอายุแล้ว และยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรักษาโรคได้ด้วย
6. ยาใส่แผลที่ระเหยได้ เช่น แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์เมอไทโอเลต ถ้าปิดขวดไม่สนิท หรือเก็บไว้ที่แดดส่องถึงยาจะเสื่อมฤทธิ์เร็วกว่าปกติ จึงควรต้องซื้อยาใหม่มาใช้

จะเห็นว่า การรื้อตู้ยาก็คือการจัดตู้ยาใหม่นั่นเอง

 

ข้อมูลสื่อ

108-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์