• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสเจอี ถึงจะร้ายแต่ก็ป้องกันได้

ทุกๆปีในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม มักจะมีโทรศัพท์ถามมาที่กองระบาดวิทยาว่าจะป้องกันลูกหลานไม่ให้เป็นไข้สมองอักเสบได้อย่างไร ส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนจากทางเหนือและทางอีสานที่ฝากญาติๆของตนโทรมาขอรายละเอียด เมื่อสอบถามดูจะได้ความว่ามีเด็กข้างบ้านหรือมีลูกของเพื่อนเป็น ตายไปแล้วบ้าง รายที่ไม่ตายก็กลายเป็นเด็กพิการอัมพาตช่วยตัวเองไม่ได้ เรียนหนังสือไม่ได้ ตอนที่ผมตอบเขาไปนั้นก็รู้สึกว่าเด็กเหล่านั้นไม่สมควรจะต้องป่วยและได้รับชะตากรรมเช่นนั้นเลย แต่ก็ไม่ได้ขวนขวายจะทำอะไรมาก

พอผมได้ลูกคนแรกยิ่งทำให้รู้ว่าพ่อแม่ทุกคนคงจะมีหัวอกอันเดียวกันที่จะรักและปกป้องลูกของตนเองอย่างดีที่สุด ถ้าป่วยและต้องมีสภาพการณ์เหมือนเช่นที่ว่า หัวใจของเราคงจะต้องแตกสลายแน่ ๆ ผมจึงอยากจะแบ่งปันความรู้ในการป้องกันโรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสเจอีผ่านทาง “หมอชาวบ้าน” เพื่อลูกๆของเราจะได้ปลอดภัยจากโรคนี้

เชื้อโรคที่เรียกว่าไวรัสเจอีนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะแพร่กระจายไปสู่สมองและจะทำลายเนื้อสมองตั้งแต่เล็กน้อยไปจนกระทั่งอย่างมากมายแตกต่างกันไปในแต่ละคนในรายที่เนื้อสมองยังเป็นปกติดีก็อาจจะมีไข้ ปวดหัว อาเจียน เป็นอยู่ 3-4 วันก็หาย

แต่ในรายที่เนื้อสมองถูกทำลายมากก็จะมีอาการซึม ชัก เกร็ง หมดสติ มาถึงขั้นนี้แล้วก็อาจจะตายใน 7-10 วัน รายที่ไม่ตายนั้นมักจะต้องนอนรักษาอยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนสิ้นเปลืองค่ารักษาอย่างมากมาย และมักจะมีความพิการทั้งทางสมองและร่างกายหลงเหลืออยู่ บางรายกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน ช่วยตัวเองไม่ได้ มีอัมพาตของแขนหรือขา ฯลฯ

ในแต่ละปีจะมีโรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสเจอี ประมาณ 1,000-1,500 ราย ในจำนวนนี้จะตายประมาณ 200 คน อีก 300 คน จะมีความพิการดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น

เชื้อไวรัสเจอีจะอาศัยอยู่ในลูกหมู (อาจพบในม้า นก วัว ควาย ฯลฯ ด้วย) และใช้เป็นแหล่งที่ขยายจำนวนของมัน ท่านคงสงสัยว่าคนไปติดเชื้อได้อย่างไร คำตอบ คือมียุงอยู่สามสี่ชนิดเป็นตัวที่เอาเชื้อไวรัสเจอีจากลูกหมูมาแพร่ให้คน

ยุงพาหะเชื้อนี้จะเพาะพันธุ์ในท้องทุ่งนาหรือตามแอ่งรอยเท้าวัว ควาย แต่ข้อสำคัญคือ จะต้องมีน้ำขัง ดังนั้นในฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลที่โรคนี้ระบาด โดยธรรมชาติยุงเหล่านี้จะเลือกดูดจากสัตว์ คือ หมู วัว ควาย นก ฯลฯ ในเวลากลางคืน แต่ในบางโอกาสที่บังอิญมีคนเข้าไปอยู่ใกล้มันก็จะมากัดคนด้วย (แตกต่างจากธรรมชาติของยุงลายซึ่งนำไข้เลือดออกที่เพาะพันธุ์ในภาชนะใส่น้ำภายในบริเวณบ้านและกัดเฉพาะคนในเวลากลางวัน)

ในชนบทเราจะพบเห็นทั่วไปว่าชาวบ้านมักจะมีการเลี้ยงหมูหรือวัวควายใต้ถุนบ้านหรือติดบ้าน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้มียุงชนิดนี้มากัดคนในบ้านได้ ไม่กัดเปล่ายังปล่อยเอาเชื้อไวรัสตัวร้ายเข้าไปในร่างกายอีกด้วย ทำให้เจ็บ ป่วย ตาย หรือพิการปีละหลายๆร้อยคน

ก่อนที่จะพูดถึงการป้องกัน อยากจะขอชี้ให้เห็นว่าผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยมากที่สุด ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่าสิบขวบที่อาศัยอยู่ในชนบทของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหตุผลก็คือ

ประการแรก เด็กอายุต่ำกว่าสิบขวบยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค หรือพูดง่ายๆคือยังไม่เคยผ่านการทำศึกกับเชื้อนี้มาก่อน จึงป่วยง่ายกว่าผู้ใหญ่และมักจะมีอาการรุนแรง

ประการที่สอง เด็กในหมู่บ้านมีโอกาสถูกยุงที่เป็นพาหะกัดได้มากกว่าในเมือง เพราะมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอยู่ในทุ่งนาและมีสัตว์เลี้ยงที่เป็นแหล่งขยายพันธุ์ของไวรัสอย่างดีอยู่ใกล้บ้าน

ประการที่สาม
ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเขตที่มีเชื้อไวรัสเจอีชุกชุม และอาจจะมีลักษณะทางธรรมชาติบางอย่างที่เอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนี้ เช่น ภูมิอากาศหรืออาจเป็นลักษณะการเลี้ยงหมูไว้ใต้ถุนบ้าน

การป้องกัน

อาจทำได้หลายทาง เช่น อย่าให้เด็กๆถูกยุงกัด ย้ายคอกหมูหรือคอกสัตว์ให้ห่างออกไปจากบ้าน หรือทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงตามทุ่งนา แต่ก็เหมือนพูดง่ายทำยาก
วิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้ ได้แก่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้แก่เด็กๆของเราก่อนที่จะติดเชื้อเองตามธรรมชาติ อาจฉีดได้ตั้งแต่อายุขวบปีแรกไปเลย จะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1-2 สัปดาห์

หลังฉีดเข็มที่สองประมาณหนึ่งเดือนภูมิคุ้มกันก็จะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ป้องกันโรคได้แน่นอนถึงร้อยละ 95 ในบางประเทศอาจจะแนะนำให้ฉีดกระตุ้นหลังจากนั้นอีกหนึ่งปี แต่ในประเทศไทยมีโรคนี้ชุกชุมการฉีดกระตุ้นจึงอาจจะไม่จำเป็น

ผลข้างเคียงของวัคซีนมีน้อย เช่น อาจมีไข้หรือมีปวดบริเวณฉีดบ้างในวันแรก เนื่องจากเราทราบแล้วว่าโรคจะระบาดในฤดูฝน ดังนั้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นทัน จึงควรวัคซีนให้แล้วเสร็จอย่างน้อยหนึ่งเดือนก่อนเริ่มฤดูฝน นั้นคือควรจะฉีดภายในเดือนเมษายนหรือไม่เกินพฤษภาคม เป็นต้น

วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบจากไวรัสเจอีมีมานานหลายสิบปีแล้ว มีการใช้อย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และจีน ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างมากในประเทศเหล่านั้น แต่สาเหตุที่ยังไม่มีการใช้ในเมืองไทยเป็นเพราะราคาค่อนข้างแพง ขณะนี้ราคาซื้อจากผู้ผลิตในญี่ปุ่นโดยราคาพิเศษไม่ต้องเสียภาษีประมาณเข็มละ 40 บาท คิดแล้วก็จะต้องใช้เงิน 80 บาทต่อเด็กหนึ่งคน เพราะต้องฉีด 2 เข็ม

แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขอยากบริการวัคซีนอันนี้ให้แก่เด็กกลุ่มที่เสี่ยง แต่ก็ติดขัดในเรื่องมีงบประมาณไม่เพียงพอ พ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากพาลูกหลานไปฉีดวัคซีนจึงค่อนข้างลำบาก เพราะต้องเสียเงินค่าฉีดที่รวมค่าบริการต่างๆแล้วก็ตกเข็มละ 80-100 บาท และยังไม่มีกระจายอย่างทั่วถึง จึงทำให้มีเด็กเพียงจำนวนน้อยที่มีโอกาส

ขณะนี้ทราบข่าวว่าวัคซีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมใกล้จะนำออกมาใช้ได้แล้ว ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงมาเหลือประมาณ 20 บาทต่อเข็ม

เมื่อปีที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ตั้งคำขวัญไว้ว่า “การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นสิทธิที่เด็กทุกคนจะต้องได้รับโดยเท่าเทียมกัน” ไข้สมองอักเสบจัดเป็นอีกโรคหนึ่งที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ท่านผู้อ่านและพ่อแม่ผู้ปกครองคงอยากหวังว่าในปีสองปีนี้เด็กๆของเราโดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคมากๆ จะได้รับบริการวัคซีนโดยกระทรวงสาธารณสุขเหมือนเช่นวัคซีนชนิดอื่นๆ

ถ้าเช่นนั้นทุกๆวงการคงจะต้องช่วยกัน เช่น ในส่วนของประชาชนช่วยกันเสนอความต้องการผ่านทางผู้แทนของท่าน สมาชิกสภาผู้แทนก็ช่วยกันออกเสียงจัดหางบประมาณมาให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม
และเมื่อมีวัคซีนบริการแล้วก็อย่านอนหลับทับสิทธิด้วยการไม่พาเด็กๆไปฉีดนะครับ

ข้อมูลสื่อ

108-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์