• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

‘การเล่นดนตรีกับ...โรคหืด’

‘การเล่นดนตรีกับ...โรคหืด’

“การเลือกชนิดของเครื่องเล่นดนตรี วิธีการของการเล่นมีความสำคัญและจำเป็นในคนที่มีอาการมากๆ”

เสียงดนตรีเปรียบได้เสมือนเสียงสวรรค์ ทำให้ผู้ฟัง ผู้เล่น เกิดความสุข สดชื่น จิตใจผ่องใส คลายกังวล เกิดอารมณ์คล้อยตาม จินตนาการที่เกิดจากเสียงดนตรี ทำให้สมองจิตใจได้พักผ่อน ทำให้เกิดพลังในการต่อสู้ การทำงาน การดำเนินชีวิต

คนเป็นหืด มักมีจิตใจเป็นกังวลในโรคและอาการหืดของตนเองอยู่เสมอ จะทำอะไรก็ต้องระแวง คอยระมัดระวัง เกรงว่าจะทำให้เกิดเป็นหืด บางคนมีความกังวลมากๆ เลย เป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดเป็นหืดขึ้นได้บ่อยๆ

ดนตรีมีอันตรายต่อคนที่เป็นหืดจริงหรือ

เสียงดนตรีเป็นของดีมีคุณประโยชน์ ทั้งในคนปกติและคนเจ็บป่วย แต่การเล่นดนตรีโดยคนที่เป็นหืดโดยเฉพาะที่ต้องใช้แรงเป่านั้น บางคนอาจเคยได้ทราบหรือถูกห้ามปรามว่าคนเป็นหืด อย่าได้เล่นดนตรีชนิดที่ต้องใช้แรงเป่าเชียว เพราะจะทำให้เกิดเป็นหืด หรือโรคหืดที่ตนเป็นอยู่นั้นจะเป็นมากขึ้น บางคนอาจถือเป็นสิ่งต้องห้ามไป แต่ในบางครั้งเราก็พบว่า คนเป็นหืดมีอาชีพเป็นนักดนตรีชนิดต้องใช้ลมเป่า นอกจากจะเป่าได้เป็นอย่างดีเหมือนคนปกติธรรมดาแล้ว ยังพบว่าหอบหืดที่ตนเป็นอยู่นั้น กลับทุเลาเบาบางลงเสียด้วย

การเล่นดนตรีโดยการใช้ลมเป่าต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณปาก ลิ้น คอ หน้าอก หน้าท้อง กะบังลม ไปบังคับให้ลมที่ออกมาสู่เครื่องดนตรีนั้นแรง ค่อยๆ ยาว สั้น และกระแทกกระทั้น อ้อยอิ่ง ไปตามทำนองของดนตรี กล้ามเนื้อเหล่านี้จะต้องทำงานมากกว่าปกติธรรมดา และเมื่อทำเป็นประจำบ่อยๆ ความสมบูรณ์แข็งแรง ประสิทธิภาพในการทำงานของกล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะตามมาเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ในการทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเวลามีหืด ก็จะทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้อาการหอบที่ควรจะเป็นมากกลับน้อยลงหรือเบาลง

‘คนที่เป็นหืดมีอาชีพนักดนตรี ชนิดต้องใช้ลมเป่า นอกจากจะเป่าได้เป็นอย่างดีเหมือนคนปกติธรรมดาแล้ว ยังพบว่าหอบหืดที่ตนเองเป็นอยู่นั้นกลับทุเลาเบาบางลงเสียด้วย’

คนที่เป็นหืดมากๆ หรืออย่างรุนแรงนั้น การออกกำลังกาย ทำงานเพียงเล็กน้อย พูดดังๆ หัวเราะดังๆ ในบางครั้ง จะทำให้เกิดหืดขึ้นมาทันที เช่นเดียวกันในการเล่นดนตรีที่ใช้ลมเป่า แม้เพียงเล็กน้อยในคนเหล่านี้ โดยเฉพาะในระยะแรกเริ่มการฝึกหัดเล่นก็จะทำให้เป็นหืดได้เช่นกัน จึงดูเสมือนว่าการเล่นดนตรีนั้นให้โทษ แต่ถ้าการเริ่มเล่นนั้น เล่นด้วยความระมัดระวัง เล่นให้เป็น เล่นอย่างมีหลัก โดยเริ่มแรกเล่นเป่าเบาๆ ใช้เวลาสั้นๆ แล้วค่อยๆ เป่าให้แรงขึ้น ยางขึ้น ในครั้งต่อๆไป หรือจะรู้สึกอึดอัดแน่นในอก ก็หยุดพักจนสบายแล้วเริ่มเล่นต่อไป ทำไปเรื่อยๆ จนสามารถเล่นได้เหมือนหรือเท่ากับคนปกติก็จะมีผลดีตามมา หรือในกรณีที่เป็นมากๆ เล่นด้วยความระมัดระวังอย่างดีแล้วก็ยังมีอาการทุกครั้งที่เริ่มเล่นหรือฝึกหัด ก็อาจต้องใช้ยาขยายหลอดลมช่วย ให้กิน1/2-1 ชั่วโมง ก่อนการเริ่มเล่น หรือกำลังเล่นอยู่เกิดมีอาการก็อาจใช้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่นเข้าทางปากสูดเข้าไปช่วย ก็จะระงับหอบหืดได้ทันที และทำให้การเล่นดนตรีนั้นเป็นไปด้วยดี

ได้เคยมีผู้ศึกษาและสังเกตพบว่า ในกลุ่มของนักดนตรีวงใหญ่ๆ ในต่างประเทศที่เป็นหืด เล่นดนตรีต่างชนิดกัน โดยเฉพาะชนิดที่ต้องใช้ลมเป่ากับไม่ต้องใช้ลมเป่า เช่น ปี่ ทรัมเป็ท แดริเนท ฯลฯ กับพวกไวโอลิน กลอง เปียโน ฯลฯ พบว่า นักดนตรีที่เล่นดนตรี ชนิดต้องใช้ลมเป่า เมื่อมีหืดเกิดขึ้นและมากพอจนต้องหยุดพักการเล่นดนตรีนั้น จะกลับมาร่วมเล่นในดนตรีเร็วกว่านักดนตรีชนิดไม่ต้องใช้ลมเป่าเสมอ และในกลุ่มของเครื่องดนตรีชนิดเป่าด้วยกันก็มีข้อแตกต่างกันที่ว่า ชนิดที่ทำด้วยไม้จะเหมาะสมและเป็นผลดีกว่าชนิดที่ทำจากโลหะ

ในเด็กที่เป็นหืดอย่างรุนแรงและเป็นมานานๆ จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างลักษณะของหน้าอกจากที่ดูแบนๆ หรือแคบจากหน้าไปหลัง เมื่อเทียบกับด้านข้างขวากับซ้าย ในเด็กปกติกลับไปมีลักษณะกลมคล้ายถัง หรือแบบอกไก่ซึ่งเป็นผลจากโรคหืด ซึ่งในขณะหอบจะมีการคั่งของลมในถุงลมในปอดก็ดันเอาทรวงอกให้กางออกทางด้านหน้าและหลัง แต่ถ้าเด็กที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของทรวงอกเหล่านี้เล่นดนตรีชนิดใช้ลมเป่าจากปาก จากปอดนานพอ คือ ประมาณ 2-3 ปี ก็จะทำให้ลักษณะของหน้าอกกลับเป็นเหมือนเด็กปกติรุ่นราวคราวเดียวกันได้ นอกจากนี้ได้มีผู้ทำการทดลองการทำงานของปอดโดยใช้เครื่องวัดการทำงานของระบบทางเดินหายใจพบว่า มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ในคนปกติเวลาหายใจเข้าออกใช้ปริมาตรของปอดประมาณ 10% เท่านั้น และจะเพิ่มเป็นถึง 50% ในขณะออกกำลังกาย ทำงานหนักๆ จะเห็นว่าการทำงานของปอดในเวลาหายใจปกติธรรมดานั้น ต้องใช้พลังงานและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจน้อยมาก ดังนั้นเมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้ได้รับการฝึกในขณะเล่นดนตรี ก็ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้ทำงานได้อย่างเต็มที่ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ เช่น ในขณะที่มีอาการจับหืด

เลือกเล่นดนตรี เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

การเล่นดนตรีชนิดใช้ลมเป่าจากปากหรือจากปอดในคนที่เป็นโรคหืดนั้น จะมีผลดีต่อคนไข้เองมากกว่าผลเสีย และไม่ควรถือว่าเป็นสิ่ง “ต้องห้าม” เพราะการเล่นดนตรีนอกจากจะมีผลดีในด้านอารมณ์ จิตใจ แล้วยังช่วยทำให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจ และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่หืดทำให้อาการที่น่าจะเป็นมากกลับน้อยลง การเลือกชนิดของเครื่องดนตรี วิธีการของการเล่น มีความสำคัญและจำเป็นในคนที่มีอาการมากๆ หรือบางครั้งต้องใช้ยาขยายหลอดลมช่วยก่อนทำการฝึกหัดหรือเล่น

ข้อมูลสื่อ

8-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 8
ธันวาคม 2522
อื่น ๆ
นพ.ไพบูลย์ พาณิชยการ