• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สัมภาษณ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า

สัมภาษณ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า : ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเสริฐ ทองเจริญ

หัวหน้าสาขาวิชาไวรัส ภาควิชาจุลชีววิทยา

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมอชาวบ้าน : ปีหนึ่งๆ ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคพิษสุนัขบ้าจำนวนเท่าไร

น.พ. ประเสริฐ : เท่าที่ได้รับรายงาน ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าประมาณปีละ 200 – 300 คน ส่วนที่ไม่ได้รับรายงานนั้นยังคงมีอีกเป็นจำนวนไม่น้อย หรือพูดง่ายๆ โดยเฉลี่ยว่า ทุกวันเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ จะมีรายงานว่ามีผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำตายประมาณ 1 คน ตัวเลขนี้จะเรียกว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าสูงที่สุดก็แทบจะว่าได้ จะขอยกสถิติมาให้ดูสัก 10 ปีดังนี้คือ :

  • พ.ศ. 2511-321 คน, พ.ศ. 2512-311 คน
  • พ.ศ. 2513-278 คน, พ.ศ. 2514-298 คน
  • พ.ศ. 2515-276 คน, พ.ศ. 2516-282 คน
  • พ.ศ. 2517-277 คน, พ.ศ. 2518-231 คน
  • พ.ศ. 2519-189 คน, พ.ศ. 2520-229 คน
  • ในปี พ.ศ. 2521 และ 2522 ก็สูงกว่า 200 คน

ดังนั้น เรียกได้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าในบ้านเรานี้ชุกชุมมาก ทีนี้ลองดูกันซิว่า จังหวัดในภาคใดมีผู้ป่วยมากที่สุด ผมได้เคยรวบรวมตัวเลขรายงานดู ปรากฏดังนี้ครับ

ภาคกลาง พ.ศ. 2520 ปีเดียว 150 ราย จากทั้งหมดทั่วประเทศ 229 ราย ถ้าคิดในช่วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515-2520 จะมีผู้ป่วยในภาคกลางทั้งสิ้น 844 ราย จากจำนวนทั่วประเทศในช่วงเวลาเดียวกันนั้น 1,716 ราย หรือพูดง่ายๆ ว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในภาคกลาง โดยกรุงเทพฯ และนนทบุรีเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ ประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า จังหวัดที่มีโรคชุกชุมรองลงไป ได้แก่ ชลบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี นครปฐม จันทบุรี

ภาคที่มีผู้ป่วยจำนวนถัดไป ก็คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วยโรคกลัวน้ำในประเทศไทย จะอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี คือ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงไป ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์

ภาคที่อยู่อันดับที่ 3 คือ ภาคเหนือ ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคกลัวน้ำจะอยู่ทางภาคเหนือ จังหวัดที่นำ ได้แก่ พิจิตร และนครสวรรค์ ถัดไป ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก เป็นที่น่าสังเกตว่า จังหวัดเชียงราย ในบางปีไม่มีรายงานผู้ป่วยเลย ส่วนผู้ป่วยที่เหลือประมาณร้อยละ 5-6 ของผู้ป่วยทั้งหมด อยู่ในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีผู้ป่วยอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และชุมพร จังหวัดทางใต้ส่วนใหญ่เป็นไทยมุสลิม จึงไม่ใคร่จะมีรายงาน คงจะเป็นเพราะเลี้ยงสุนัขกันน้อย

ถ้าเอาจำนวนผู้ป่วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515-2520 มารวมกันแล้ว ลองมาจัดอันดับดู เราจะพอจัด 10 อันดับแรก ได้ดังนี้ครับ

1. นนทบุรี 200 ราย

2. กรุงเทพฯ 83 ราย

3. ขอนแก่น 67 ราย

4. ราชบุรี 63 ราย

5. พิษณุโลก 57 ราย

6. นครสวรรค์ 55 ราย

7. สุพรรณบุรี 53 ราย

นครราชสีมา 53 ราย

8. ชลบุรี 51 ราย

9. อุดรธานี 50 ราย

พิจิตร 50 ราย

10. ลพบุรี 47 ราย

รวม 6 ปี 829 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 1,716 ราย หรือคิดง่ายๆ ก็ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ใน 12 จังหวัดนี้แหละครับ

หลายคนจะสงสัยว่า จังหวัดนนทบุรีทำไมได้ที่หนึ่ง

ขออธิบายอย่างนี้ครับว่า โรงพยาบาลบำราศนราดูร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อที่รับรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี ดังนั้นเมื่อมีคนตายที่โรงพยาบาล รายงานก็จะออกมาทางจังหวัดนนทบุรี (จากมรณบัตร) อันที่จริงแล้วส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ป่วยจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ทำให้เรามองเห็นทางแก้ปัญหาแล้วว่า ถ้าเราได้มุ่งความสนใจไปยัง 12 จังหวัดนี้ให้มาก รณรงค์กวาดล้างโรคกันอย่างจริงจัง เราจะได้ผลงานดีเด่นคือ ลดอัตราการตายของผู้ป่วยจากโรคกลัวน้ำลงไปได้ทันตาถึงร้อยละ 50 ทีเดียว รายงานผู้ป่วย แต่ละปีทั่วประเทศก็จะลดลงเหลือประมาณ 100-150 รายต่อปี

หมอชาวบ้าน : พอจะกะประมาณได้หรือไม่ว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะโรคนี้ โดยไม่ได้มารับการตรวจรักษาปีละประมาณเท่าไร ?

นพ. ประเสริฐ : โดยทั่วๆ ไปประเทศที่มีโรคชุมอย่างประเทศไทยเรานี้ ประกอบด้วยระบบรายงานโรค รายงานผู้ป่วย-ตายยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ การวินิจฉัยโรคและการชันสูตรยังไม่ดีพอ ตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าน่าจะมากกว่านี้ประมาณอีก 1 เท่าตัวในทุกๆ ปี ดังนั้นปีหนึ่งๆ จะมีผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจริงๆ ประมาณ 400-600 ราย

หมอชาวบ้าน : ผู้ที่เป็นแล้วเสียชีวิตทั้งหมดใช่ไหม

นพ. ประเสริฐ : ตามปกติผู้ที่เป็นแล้วเราถือกันว่าไม่มีใครรอดชีวิต เท่าที่ทราบเชื่อกันว่า มีผู้รอดชีวิตจริงๆ ในโลกเรานี้ประมาณ 3-4 ราย รายแรกอยู่ที่อเมริกาใต้, 2 รายอยู่ในสหรัฐอเมริกา และอีก 1 รายอยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม รายที่รอดตายเหล่านี้ มักจะเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน และยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนมีความเห็นขัดแย้งในข้อที่ว่า บางรายที่รอดเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจริงหรือ อันนี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในแง่ของการวินิจฉัยโรคที่ระบุ เอาง่ายๆ ว่าเท่าที่ผ่านมาเราถือว่าตายทุกรายก็แล้วกัน ใครรู้ตัวว่าเป็นก็รีบจองวัดได้เลยครับ

หมอชาวบ้าน : ที่ลือกันว่า การรักษาโรคด้วยวิธีโน้นวิธีนี้ รวมทั้งเวทมนตร์คาถารักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ จะเชื่อถือได้เพียงไร

นพ. ประเสริฐ : ถ้าเราลองมาใช้วิจารณญานกันดู มองลึกลงไปในแก่นของโรคที่เกิดขึ้น โรคพิษสุนัขบ้านี้ เกิดจากเชื้อไวรัสบุกรุกเข้าไปทำลายเซลล์ประสาทในสมอง เซลล์ประสาทถูกทำลายแตกเป็นเสี่ยงๆ เป็นผุยผงไปแทบทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีวิธีถอนเอาเชื้อออกจากเซลล์ เซลล์ก็ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก แม้แต่รายที่รอดตายในสหรัฐรายสุดท้าย ก็เพียงแต่นอนหายใจระรายอยู่เท่านั้น ยกแขนขาได้บ้าง ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ถ่ายเลอะเทอะ ช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากเซลล์ประสาทที่สำคัญๆ ถูกทำลายแตกสลายไปหมดแล้ว

ดังนั้น แม้ว่าจะมีเวทมนตร์คาถา ยาผีบอก ยาผีหลอก คนทรงต้ม คนทรงตุ๋นอะไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าจะรักษาผู้ป่วยได้ แต่เท่าที่มีข่าวลือว่าอย่างนั้น ผู้ป่วยคงจะไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคอื่นที่รักษาก็หาย แต่ญาติพี่น้องก็ดี หมอก็ดี คนรักษาก็ดี นึกเอาว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า

คนไข้รายหนึ่งในสหรัฐ กับอีกรายหนึ่งในประเทศไทย ที่ว่ารอดตาย ทั้งๆ ที่ได้มีการศึกษาอาศัยผลชันสูตรทางวิทยาศาสตร์ไปยืนยัน คนที่ไม่เชื่อก็ยังมี สำหรับรายที่เล่ามานั้น ก็เป็นแต่เพียงคำเล่าลือที่หาหลักฐานอะไรยืนยันไม่ได้ชัดเจน พวกเราจะหลงเชื่อเอากันง่ายๆ กระนั้นหรือ สรุปแล้วผมไม่เชื่อว่า โรคนี้จะรักษาให้หายได้โดยทางเวทมนตร์คาถา หรือผีเจ้าเข้าทรง รวมทั้งยาสมุนไพร ผมก็ยังไม่เชื่อครับ

หมอชาวบ้าน : ประมาณร้อยละเท่าไรของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด จะเกิดโรคพิษสุนัขบ้าขึ้น

นพ. ประเสริฐ : การที่ถูกสุนัขบ้ากัดและเป็นโรคพิษสุนัขบ้านั้น ขอให้เรามาทำความเข้าใจกันเสียก่อนดังนี้ครับ

สุนัขที่เป็นบ้าจะมีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลายในระยะต่างๆ ของโรค หรือในแต่ละวันนั้น จะมีปริมาณของเชื้ออยู่ในน้ำลายมากน้อยแตกต่างกัน ยิ่งสุนัขใกล้ตายจะยิ่งมีเชื้อมาก ถ้าเริ่มเป็นใหม่ๆ เชื้อจะมีน้อย เมื่อเชื้อเข้าไปที่แผลหรือเข้าไปที่ผิวหนัง หรือเข้าตามเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ เชื้อจะเข้าไปในร่างกายของเราก็กำจัดได้ ถ้าเข้าไปมากเชื้อจะไปแบ่งตัว เพิ่มจำนวนในตัวเราอย่างรวดเร็ว แล้วเดินทางทวนวิถีประสาทไปสู่สมอง ซึ่งทำให้คนเป็นโรค

ถ้าเชื้อเข้าไปน้อย อาจไม่เป็นโรค ถ้าเชื้อเข้าไปมาก แต่รักษาแผลได้ถูกต้องเชื้อ คือ ใช้น้ำสบู่ล้างหลายๆ ครั้ง ใช้ยาทาแผลถูกต้องเชื้อก็เหลือน้อย จึงอาจไม่เป็นโรคก็ได้

ถ้าถูกกัดตั้งแต่ตอนที่สุนัขเริ่มเป็นโรค เชื้อที่ได้รับอาจจะน้อย ไม่ได้ถูกกัดเพียงแต่ถูกน้ำลาย ก่อนสุนัขจะตายแล้วไม่ได้ทำความสะอาดมือไม้ให้ดี ก็อาจได้รับเชื้อเข้าไปมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราของการเป็นโรคภายหลังถูกสุนัขบ้ากัด แตกต่างกันออกไป โดยทั่วๆ ไปเราถือกันว่า ประมาณร้อยละ 60-80 ของคนที่ถูกกัดแล้วไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า

หมอชาวบ้าน : นอกจากสุนัขแล้วมีสัตว์อะไรอีกบ้างที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

นพ. ประเสริฐ : สัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้วเป็นโรคได้ สำหรับสัตว์ที่มีความสำคัญที่นำโรคมาสู่คนนั้น สุนัขเป็นตัวการอันดับหนึ่งของบ้านเรา ถัดไป ได้แก่ แมว กระรอก กระแต ลิง หนู สัตว์อื่นๆ ที่เคยตรวจพบว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าในบ้านเราก็ ได้แก่ ค้างคาว ทั้งค้างคาวกินผลไม้ และกินแมลง วัว หมู ม้า ชะนี ความ เหล่านี้ เป็นต้น

สำหรับในประเทศอื่น สถานการณ์ก็แตกต่างไปจากบ้านเราส อาทิเช่น

  • ในสหรัฐอเมริกา ตัวแรคคูน สกั้งค์ และค้างคาว จะเป็นตัวการที่สำคัญที่สุด
  • ในเม็กซิโก สุนัข และค้างคาว
  • ในอินเดีย สุนัขและสุนัขป่า พังพอน
  • ในยุโรป สุนัขจิ้งจอก
  • ในตะวันออกกลาง สุนัขป่า
  • ในทวีปอเมริกาใต้ สุนัขและค้างคาวดูดเลือดเหล่านี้เป็นต้น
  • ในบ้านเรา ปัญหาที่เกี่ยวกับสัตว์นำโรคที่กำลังหนักอกมากที่สุดก็คือ สุนัข ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ

หมอชาวบ้าน : ถ้าถูกแมวหรือหนูกัด แล้วมันวิ่งหนีไป ไม่ทราบว่ามันเป็นบ้าหรือไม่ ต้องฉีดวัคซีนกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่

นพ. ประเสริฐ : ในดินแดนแผ่นดินทอง ที่มีโรคชุกชุมอย่างบ้านเรานี้ ถ้าถูกสัตว์กัดโดยไม่มีเหตุผลแล้วมันหนีไป ไม่ว่าจะเป็นแมว หนู ลิง กระรอก กระแต จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกราย ไม่จำเป็นที่จะต้องทราบละครับว่าสัตว์ที่มันกัดเรามันบ้าหรือไม่บ้า

หมอชาวบ้าน : เมื่อเร็วๆ นี้ รองผู้ว่า กทม. ฝ่ายอนามัยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าสุนัขดีๆ (ไม่บ้า) ก็อาจจะมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ อย่างนี้มิหมายความว่าทุกคนที่ถูกสุนัขกัดไม่ว่าจะบ้าหรือดี ต้องฉีดวัคซีนกันหมดหรือ ?

นพ. ประเสริฐ : สุนัขธรรมดานั้นเมื่อได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขก็จะเป็นโรคกลัวน้ำ ยกเว้นสุนัขบางตัวซึ่งคงมีจำนวนน้อยมาก อาจเป็นหนึ่งในล้านหรือหนึ่งในหลายๆ ล้านก็พอจะเป็นได้ จะไม่เป็นโรค แต่จะอมโรคไว้ มีเชื้ออยู่ในน้ำลาย สุนัขตัวนั้นจะแลดูปกติ แต่ถ้าไปกัดคนอาจจะทำให้คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ สถิติสำหรับสุนัขประเภทอมโรค แต่แลดูปกติดีนี้ จะมีมากน้อยเท่าใดในเมืองไทยเรานั้น ยังไม่มีใครทราบ ขณะนี้คณะของเราก็กำลังพยายามทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่คิดว่าคงจะมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น ต่อปัญหาที่ว่า จะต้องฉีดวัคซีนทุกรายหรือไม่ ไม่ว่าสุนัขบ้าหรือดีนั้น คงจะตอบได้ว่าไม่ต้องฉีด แต่ควรจะสังเกตดูสุนัข ถ้าแม้นว่าสุนัขนั้นปกติดี ภายหลังที่ถูกกัดไปแล้วประมาณ 10 วัน เราก็ถือว่าน่าจะปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ถ้าข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่เราทำอยู่ในขณะนี้ชี้บ่งไปทางอื่น เราอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง วิธีปฏิบัติต่อไปก็ได้ เช่น อาจจะต้องกักสุนัขตัวนั้นไว้แล้วดูดเอาน้ำลายสุนัขไปตรวจดูว่ามีหรือไม่ ถ้าไม่มีจึงจะถือว่าปลอดภัยเหล่านี้เป็นต้น แต่เรื่องนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่นำมายกตัวอย่างเท่านั้นนะครับ ยังไม่ใช้วิธีที่จะถือปฏิบัติ

หมอชาวบ้าน : การที่จะพิสูจน์ว่าสุนัขหรือสัตว์อื่นตัวใดตัวหนึ่งเป็นโรคกลัวน้ำ จะส่งตรวจได้ที่ใดบ้างทั้งในกรุงและในต่างจังหวัด

นพ. ประเสริฐ : การที่จะพิสูจน์ว่าสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ หรือแม้แต่คนว่าเป็นบ้าหรือไม่นั้น จะต้องตรวจดูที่สมอง (และต่อมน้ำลาย) ของสัตว์เพื่อที่จะดูว่ามีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า อยู่ในสมองหรือต่อมน้ำลายหรือไม่ การตรวจบางครั้งก็ตรวจดูแต่เพียงลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเซลล์สมอง ซึ่งอาจผิดพลาดได้ การตรวจที่แน่นอนยืนยันได้นี้ ที่นิยมกันมีอยู่ 2-3 วิธี ซึ่งก็สามารถตรวจได้ในบ้านเมืองเราเหมือนกันแต่ที่ตรวจยังจำกัดอยู่ ที่ๆ จะส่งไปตรวจได้นั้น ในกรุงเทพมหานคร คือที่

สถานเสาวภา ถนนพระราม 4 หรือที่สวนงู นั่นแหละครับ

กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท ใกล้ๆ กับทางรถไฟ สายมักกะสันตัดผ่าน ใกล้โรงภาพยนตร์เอเธนส์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (หรือหอปฏิบัติการวิจัยของสปอ. เดิม) อยู่ที่ถนนโยธี ตรงกันข้ามกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลหรือถนนที่อยู่ข้างๆ องค์การเภสัชกรรม และมาทะลุที่ถนนพญาไท

สถาบันไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถ้านั่งรถจากสะพานอรุณอัมรินทร์ จะเห็นตึก 6 ชั้น ตึกที่มีปล่องลิฟสีกรมท่าเข้มแลเห็นเด่นแต่ไกล ขึ้นไปที่ชั้นหกนะครับ

ส่วนที่ต่างจังหวัดเท่าที่ทราบในขณะนี้ มีภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลาที่หาดใหญ่, ศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ภาคใต้ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำลังยกระดับเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ก็จะมีห้องชันสูตรบริการในเร็วๆ นี้

หมอชาวบ้าน : เอามาทั้งตัวหรือเอาแต่หัว

นพ. ประเสริฐ : การนำเอาสัตว์ไปตรวจนั้น ควรตัดหัวใส่ถุงพลาสติก ใส่กระป๋องไปตรวจ ถ้าเดินทางไกลควรแช่น้ำแข็ง เพื่อป้องกันหัวหมาเน่า การเอาสุนัขไปทั้งตัว จะทำให้ทุลักทุเลทั้งที่รับตรวจและผู้ที่นำไป

หมอชาวบ้าน : ผู้ที่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า เช่น แพทย์ พยาบาล ที่รักษาหรือญาติ จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่

นพ. ประเสริฐ : ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยนั้น เราจัดไว้เป็นประเภทของผู้เสี่ยงภัย ควรฉีดป้องกันโรคไว้ล่วงหน้า (มีวิธีการฉีดแบบป้องกันล่วงหน้า) แต่ถ้าไม่ได้ฉีดไว้ก่อนแล้วไปสัมผัสโรคใกล้ชิดมากมาย แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานการติดต่อโรคจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งก็ตาม ควรต้องฉีดแบบรักษาโรค (เราจะยอมเอาตัวของเราที่สัมผัสโรคมากมายใกล้ชิดนั้น เป็นตัวอย่างรายงานที่ตายจากการสัมผัสโรคจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งกระนั้นหรือ) แพทย์หลายคนยังไม่ยอมฉีดให้กับผู้ที่ไปปรึกษา แต่พอโดนเข้ากับตัวเองบ้างกลับตาลีตาเหลือกไปฉีด ผมขอบอกว่า “จงทำกับผู้อื่นเหมือนกับที่ทำกับตัวเราเอง” เถอะครับ

หมอชาวบ้าน : คนที่ถูกหมาบ้ากัดแต่ไม่เข้า ต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ ?

นพ. ประเสริฐ : จากรายงานที่รวบรวมได้ แม้แต่การที่ถูกสัตว์เป็นบ้าเลีย ก็เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ (ถ้าเลียที่เป็นแผล) ดังนั้นการที่ถูกกัดแต่ไม่เข้าก็อาจเป็นโรคได้ ตามความเห็นโดยทั่วๆ ไปตลอดจนข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก แนะนำให้ฉีดวัคซีนครับ

หมอชาวบ้าน : เด็กที่เล่นกับลูกหมา ซึ่งถูกสุนัขบ้ากัด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ ?

นพ. ประเสริฐ : ถ้าเล่นกับลูกหมาที่เพิ่งถูกกัดไปวันสองวันคงไม่ต้องฉีด เพราะขณะนั้นลูกหมายังไม่มีเชื้อออกทางน้ำลาย แต่ถ้า 2-3 สัปดาห์ผ่านไปลูกหมานั้นอาจเป็นบ้า ถ้าเล่นระยะนั้นก็คงจะต้องฉีด แต่ทั้งนี้ต้องมีข้อแม้ว่า ลูกหมาตัวนั้นต้องเป็นบ้าตามไปด้วยนะครับ ถ้าลูกหมายังเป็นปกติก็ไม่ต้องฉีด ทางปฏิบัติที่ถูกต้องจริงๆ ถ้าลูกหมาตัวนั้นถูกหมาบ้ากัดควรทำลายเสีย

คนไทยเราทำไม่ได้ ก็มีทางเลี่ยงโดยขังสุนัขไว้ โดยฉีดวัคซีนให้ลูกหมาก่อน กักไว้ 3 เดือนถ้าไม่มีอะไรก็ปล่อยได้ ถ้าลูกหมาฉีดวัคซีนอายุยังไม่ถึง 6 เดือน เมื่อครบ 6 เดือนให้ฉีดวัคซีนซ้ำอีก 1 ครั้งจึงจะคุ้มกันโรคได้

หมอชาวบ้าน : ทั่วประเทศไทยมีสุนัชประมาณกี่ตัว ?

นพ. ประเสริฐ : คงจะกะประมาณไม่ถูกครับ

ในกรุงเทพมหานคร เคยส่งแบบสอบถามไปถามดูตามบ้านหลายปีมาแล้ว กะประมาณในปัจจุบันนี้ ทั้งสุนัขมีเจ้าของและไม่มีเจ้าของคงจะไม่ต่ำกว่า 4 แสนตัว ทั่วประเทศไทยก็คงหลายล้านตัวครับ

หมอชาวบ้าน : ท่านมีอะไรจะฝากให้ประชาชนบ้าง

นพ. ประเสริฐ : สิ่งที่ผมประสงค์จะฝากมาถึงประชาชนก็คือ สุนัขเป็นสัตว์ที่เรารักใคร่ เอ็นดู เป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับเรา แต่ก็เป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่เรา มากกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็คือ ป้องกันมิให้โรคมาใกล้ตัว นั่นคือ โปรดนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคเสีย ที่คลินิกสัตวแพทย์ใกล้บ้านท่านก็ฉีดได้ ที่กรมปศุสัตว์ ที่ศูนย์กักกันสุนัขที่ดินแดงเป็นต้น ฉีดเพียงปีละครั้ง เสียเงิน ประมาณ 30 บาท ก็จะป้องกันโรคได้ และอีกประมากหนึ่งก็คือ ขอได้ช่วยป่าวร้องให้ทางราชการได้รีบดำเนินการออกไปหาประชาชน ไปฉีดวัคซีนให้เป็นจุดๆ เพราะการที่จะเอาสุนัขขั้นรถไปนั้น ทำได้ยาก ยิ่งคนที่ไม่มีรถส่วนตัวแล้วยิ่งยาก ถ้าพวกเราช่วยกันบ่นพึมพัม ป่าวร้องทางราชการก็คงจะสนองตอบกระมังครับ และประการสุดท้าย ถ้าท่านถูกสุนัขกัด ควรจะปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ถ้าท่านปรึกษาใครไม่ได้ หรือปรึกษาแล้วไม่ได้รับการร่วมมือที่ดี จะเขียนจดหมายมาปรึกษา ผมก็ยนดีตอบข้อข้องใจ หรือจะโทรศัพท์มาที่ทำงานของผม 411-3111 และ 411-2258 ในเวลาราชการ ผมก็ยินดีที่จะทำให้ท่านหายข้องใจได้ ถ้าผมไม่อยู่ก็ขอพูดกับนายแพทย์ผู้ช่วยอื่นๆ ก็ได้ แล้วท่านจะได้รับความสบายใจ

ข้อมูลสื่อ

11-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 11
มีนาคม 2523
อื่น ๆ
ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ