ชัก
อาการชักจากไข้สูง
เคยมีแพทย์อาวุโสผู้หนึ่งเล่า ให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อหลายสิบปีมาแล้วครั้งแต่ครั้งยังอยู่บางลำภู ลูกของตัวเองอายุสักขวบครึ่งเห็นจะได้ เป็นไข้และชักขึ้นมา อารามที่ตกใจมาก อุ้มลูกวิ่งออกมาจนถึงสี่แยก แล้วจึงนึกขึ้นได้ว่า จะวิ่งออกมาทำไมนี่ ขนาดเป็นหมอเองแท้ๆ เมื่อลูกมีอาการชักยังตกใจได้มากจนถึงขนาดนี้ ถ้าคนอย่างเราๆ ท่านๆ จะทำยังไง
เด็กเล็ก คือ อายุตั้งแต่ยังไม่ถึงขวบจนถึงสามขวบ เวลามีไข้สูงจะชักได้เสมอ เด็กที่เคยชักครั้งหนึ่งแล้วมักจะชักได้อีกเมื่อมีไข้สูง เวลาชักจะกระตุกที่แขนขา ปากและตาอาจกระตุกไปด้วย อาจมีอาการคล้ายตาเหลือก ท่าทางน่าตกใจ พ่อแม่ที่ไม่เคยรู้ และไม่เคยเห็นมาก่อน จึงตกใจมาก การเอาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลก็ดี มาคลีนิคหมอก็ดี บางทีไม่ช่วยอะไรมากนัก เพราะทางโรงพยาบาลหรือคลินิค ก็คงจะแนะนำอย่างเดียวกันคือ ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กๆ ชุบน้ำเย็นลูบตัว เพื่อให้ไข้ลด เมื่อไข้ลดแล้ว อาการชักจะหยุดไปเอง
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน “เด็กๆ..(ผู้ใหญ่อ่านดี)”เรื่องอาการชักในเด็ก)
ลมบ้าหมู
ผมยังจำได้เมื่อเล็กๆ เคยมีคนงานคนหนึ่งอยู่ใกล้บ้าน ชักล้มลงทั้งยืน และมีคนงานอีกหลายคน ล้วนแต่รูปร่างกำยำล่ำสันทั้งนั้น ช่วยกันจับช่วยกันยึด ขึ้นไปนั่งคร่อมก็มี เห็นคนที่ชักกัดฟัน หลับตา และน้ำลายฟูมปาก สักพักใหญ่ก็สงบ คนที่ชักก็หลับไป ชาวบ้านบอกว่า แกเป็นลมบ้าหมู นานๆ ก็ชักเสียทีหนึ่ง
ครับ-ลมบ้าหมูนี่ ถ้าไม่ใช่เกิดเป็นครั้งแรกในคนนั้นๆ ชาวบ้านมักบอกได้ คนไข้เองบางทีก็บอกได้ว่า ตัวเองเป็นลมชัก หรือลมบ้าหมู ใกล้จะชักมักมีอาการบอกให้ผู้ป่วยรู้ตัวล่วงหน้า เช่น ใจคอไม่สบาย ได้กลิ่นแปลกๆ หรือตาพร่าเป็นครั้งคราว ฯลฯ
เวลาชัก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว คือ หมอสติไปเลย มักกัดฟันและดิ้น คือ แขนและขางอเข้า เหยียดออกไม่ได้ ไม่ใช่สั่นแบบกระตุก บางครั้งอาจมีน้ำลายฟูมปาก ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระโดนไม่รู้สึกตัว หลังจากชักอยู่สักพักหนึ่ง ซึ่งอาจนานประมาณ 3-10 นาที ผู้ป่วยจะหยุดเอง และอาจหลับไปสักพักหนึ่ง เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ไม่ได้ป่วยไข้อะไร ถ้าหากว่าขณะชักไม่กัดลิ้นตัวเอง แขนขาไปกระแทกถูกของมีคม ฯลฯ
ถ้ารู้ตัวว่าเป็นลมบ้าหมูก็ง่าย คือ เราไม่ตกใจ เพราะรู้ว่าชักสักประเดี๋ยวก็หายไปเอง ข้อควรระวัง คือ ขณะชัก คนไข้อาจกัดลิ้นตนเองได้ ดังนั้น ถ้ามีไม้ เช่น ไม้บรรทัด เอาผ้าพันเสียก่อน จะเป็นผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าสะอาดอะไรก็ได้ แล้วใส่ไว้ตรงกราม (ดูรูป) เพื่อให้ผู้ป่วยกัดลิ้นตนเองเวลาชัก ถ้าผู้ป่วยหุบปากและกัดฟันแน่นอยู่ ไม่ควรงัดให้อ้าปาก เพื่อใส่ไม้ดังกล่าว เพราะการงัดปาก เคยปรากฏว่าทำให้ฟันหักได้โดยไม่จำเป็น
ผู้ป่วยที่ชักอยู่ในที่สูง ควรระวังไม่ให้ตกไปชั้นล่าง ควรลากหรือหามผู้ป่วยออกจากสถานที่ที่ใกล้น้ำ เช่น ริมสระ) ใกล้ไฟ (เช่น กองไฟ) เพราะอาจตกน้ำตาย หรือดิ้นเข้าไปในกองไฟ ทำให้ไหม้ไฟได้
ไม่ควรยึดหรือขึ้นคร่อม ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ข่ม” หรือ “ห่ม” ในคนที่สามารถฉีดยาได้ อาจฉีดไดอสซีแพม 5 มิลลิกรัม ในเด็ก 12-15 ปี และ 10 มิลลิกรัม ในคนอายุ 15 ปีขึ้นไป (ความจริงการใช้อายุเป็นเกณฑ์จัดขนาดยา ไม่ถูกต้องนัก ควรให้ตามขนาดของน้ำหนักตัว แต่ตามชาวบ้านทั่วๆ ไป การวัดหรือคะเนน้ำหนักยากกว่าการบอกจากอายุ) ควรฉีดช้าๆ เข้าหลอดเลือด แต่ถ้าทำไม่ได้หรือทำได้ยาก ฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ โดยมากถ้าฉีดเข้าหลอดเลือด ผู้ป่วยจะหยุดชักทันที อาจลุกขึ้นมาพูดคุยกับเราได้ เหมือนคนปกติธรรมดาเลย ฉีดเข้ากล้าม อาจกินเวลาเล็กน้อย
ผู้ที่รู้ตัวว่าเป็นลมบ้าหมู ควรมารักการตรวจรักษา เพราะลมบ้าหมูบางชนิดมีสาเหตุ ถ้าแพทย์สามารถหาสาเหตุและกำจัดเสียได้ ก็จะหายขาด ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุก็มียากินป้องกันไม่ให้ชักได้
อย่างไรก็ตาม คนที่รู้ว่าตัวเป็นลมบ้าหมู ไม่ควรอาชีพที่ต้องขึ้นที่สูง เช่น ขึ้นมะพร้าวทำน้ำตาล พายเรือขายของ หรือทำงานอยู่หน้าเตาไฟตลอดเวลา และเมื่อรู้ตัวจะชักแน่ ควรบอกให้คนใกล้เคียงรู้ จะได้ช่วยไม่ให้มีอันตราย
บาดทะยัก
บาดทะยัก เป็นการชักอีกแบบหนึ่ง เป็นการกระตุกเกร็งแข็ง มากกว่าการชัก แขนอาจงอ แต่เขาจะเหยียดและหลังแอ่นแข็ง ขณะชักผู้ป่วยรู้ตัว หน้าตาบูดเบี้ยว แสดงความเจ็บป่วย ตัวร้อนและเหงื่อออกมาก
เริ่มเป็นใหม่ๆ คนเป็นบาดทะลักไม่ชัก ตามลักษณะดังกล่าว มักเริ่มด้วยอาการอ้าปากไม่ค่อยขึ้น คอแข็ง เหลียวหน้าเหลียวหลังลำบาก หลังแข็ง ก้มไม่ค่อยลง ท่าทางอาการเดินอาจเก้งก้าง เด็กบางคนบอกแต่ว่ากินข้าวไม่ถนัด เนื่องจากอ้าปากไม่ค่อยขึ้น
เมื่อมีอาการดังกล่าว ต้องรีบพามาโรงพยาบาล เพราะถ้ารอช้า จะเป็นมาก การรักษาให้หายทำได้ยาก
การปฐมพยาบาล ประกอบด้วย การขจัดสิ่งรบกวนทุกชนิด เป็นต้นว่า เสียงดัง แสงสว่างมาก และการถูกต้องเนื้อตัวแรงๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ชักบ่อย ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจเพราะชัก หรือหมดแรงเพราะชัก การนำส่งโรงพยาบาล ควรทำด้วยวิธีที่นิ่มนวล ถ้าหนทางจากบ้านมาโรงพยาบาลไกล การให้ยานอนหลับประเภทฟีโนบาร์บิทอล (ขนาด 60 มิลลิกรัม) จะช่วยลดการชักขณะเดินทางไปได้บ้าง การเดินทางควรระวังผู้ป่วยหายใจโล่งอยู่เสมอ
ชักจากยา
สตริคนิน ที่เทศบาลมีไว้สำหรับกำจัดสุนัข ถ้ากินเข้าไปด้วยความเผลอเรอหรือจงใจก็ตาม จะทำให้ชักได้ เช่นเดียวกับบาดทะยัก การชักก็คล้ายคลึงกัน ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ถ้ารู้ตัวล่วงหน้าว่ากินสตริคนินเข้าไป ควรจะทำการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ใน การรักษาขั้นต้น ตอนอุบัติเหตุในเด็ก เรื่องการกินยาผิด ในฉบับที่ 9 ถ้ามีอาการชักแล้ว ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้ชักมากขึ้น ควรรีบพามาโรงพยาบาล โดยวิธีเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในเรื่องบาดทะยัก
- อ่าน 3,794 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้