• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรไส้เดือน

สมุนไพรไส้เดือน

สิ่งจูงใจที่ทำให้ผู้เขียนเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้น ก็คือ ข่าวในหนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2522 ซึ่งพาดหัวข่าวว่า “มนุษย์ไส้เดือน พบที่เมืองนนท์กินวันละกระป๋องนม...” มีเนื้อข่าวพอสรุปได้ว่า มีมนุษย์ประหลาดจับไส้เดือนสดๆ กินเป็นอาหารโดยจะออกจับหากินทุกวัน วันละหนึ่งกระป๋องนม ถ้าหากวันไหนไม่ได้กินจะเกิดอารมณ์ หงุดหงิด คลุ้มคลั่ง บางขณะถึงกับชักตาตั้ง เมื่อถามประวัติก็ได้ความว่า เมื่อมนุษย์ประหลาดนี้อายุได้เพียง 8 เดือนมักจะเป็นลมบ้าหมู มีอาการชักกระตุก ขากรรไกรค้าง มารดาได้พยายามหายาต่างๆ มารักษา แต่ไม่เป็นผลจนกระทั่งได้ตำรายาจากเพื่อนบ้าน โดยการนำเอาไส้เดือนมาคั่ว แล้วใช้แข้งอีแร้ง (นกอีแร้ง) ทาฝนคลุกเคล้ากัน เสร็จแล้วเอาไปทาบริเวณหัวนม ให้เด็กประหลาดที่ค่อนข้างจะวิปริตผู้นั้นดูดกิน และโรคลมบ้าหมูค่อยทุเลาลงไป

ผู้เขียนไม่ใช่หมอ จึงไม่สามารถวิจารณ์ข่าวนี้ได้ว่า ในทางการแพทย์นั้น การกินไส้เดือนจะช่วยรักษาลมบ้าหมู และอาการชักกระตุกได้จริง แต่ในฐานะที่ผู้เขียนสนใจเรื่องของไส้เดือน1 และเรื่องขอสมุนไพร2 ซึ่งได้สอบถามผู้รู้และค้นคว้าเอกสารต่างๆ แล้วเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งอาจจะกระตุ้นให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยถึงประโยชน์ทางยาของสัตว์โลกที่ปิดทองหลังพระ ทำประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติสรรพสัตว์ พฤกษชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

ผู้เขียนต้องขอทำความเข้าใจ ณ ที่นี้ว่าเรื่องราวที่ผู้เขียนนำมาเรียบเรียงในที่นี้ ยังไม่ได้มีการยืนยันในทางการแพทย์สมัยใหม่ เป็นแต่เพียงการบอกเล่าต่อๆ กันมา หรือปรากฏในเอกสารแบบเดียวกับตำราแพทย์แผนโบราณของเราเท่านั้น ผู้เขียนจึงไม่ขอรับผิดชอบแต่อย่างใด หากท่านผู้อ่านท่านใด เกิดอยากทดลองใช้ไส้เดือนรักษาโรคขึ้นมาบ้าง แต่ทางที่ดีควรจะรอให้มีการพิสูจน์ฤทธิ์ของตัวยาในการรักษาโรคแต่ละโรคเสียก่อนและใคร่ขอเตือนท่านผู้อ่านทั้งหลายจงได้ใคร่ครวญด้วยเหตุผลเสียก่อนที่จะเชื่อข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือข่าวลือที่ชาวบ้านโจษจันถึงประสิทธิภาพในทางยาของสมุนไพรบางอย่าง เพราะบางครั้งและบ่อยครั้งก็เป็นเรื่องไร้สาระปราศจากการพิสูจน์อย่างถ่องแท้ถึงประสิทธิภาพของตัวยาในสมุนไพรดังกล่าว และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือชีวิตได้ ที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ ก็มิได้หมายความว่า ผู้เขียนต่อต้านการใช้สมุนไพรตรงกันข้าม ผู้เขียนสนับสนุนการใช้สมุนไพรมาตลอด แต่ขอให้ได้มีการพิสูจน์ทางหลักวิชาอย่างแน่นอนเสียก่อนเท่านั้น

มีหลักฐานปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า การใช้ไส้เดือนเป็นสมุนไพรนั้น ได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในปี พ.ศ. 1833(1)3 แต่ไม่มีรายละเอียดอะไรนัก

แพทย์แฟนโบราณทั้งในประเทศอินเดียและพม่า ได้ใช้ไส้เดือนรักษาโรคหลายชนิด ในประเทศพม่ามีการใช้ไส้เดือนรักษาโรคที่มีชื่อเป็นภาษาพม่าว่า “เยเซคุนเปียว” (ye se kun byo) ซึ่งมีอาการที่น่าจะเป็นโรคหนองไหล (pyorrhea) วิธีบำบัด ทำโดยนำไส้เดือนไปอบในหม้อดินที่ปิดฝาสนิท จนกระทั่งแห้งเป็นเถ้า นำเถ้าเหล่านี้ไปใช้เป็นยาสีฟัน หรือผสมกับเมล็ดมะขาม และหมากลงที่คั่วแล้ว เพื่อให้มีรสชาติดีขึ้น แล้วนำไปกิน (2)3

สำหรับโรคอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “เมนมา มีฟวาโนยีคุนทเวขาน” (Mainma meephwanoyeekhun thwaykhan) นั้น ผู้หญิงที่เป็นโรคจะรู้สึกอ่อนเพลียหลังการออกลูกและไม่อาจให้นมลูกกินได้ การปรุงยาทำได้โดยนำไส้เดือนไปต้มในน้ำที่ใส่เกลือและหัวหอมจนสุก แล้วเทน้ำใสลงผสมในอาหารของผู้ป่วย แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีคำอธิบายประกอบการปรุงยานี้ว่า อย่าได้บอกผู้ป่วยเป็นอันขาดว่า ยานี้ปรุงมาจากอะไร (2)3 (ก็คงไม่อยากให้คนไข้ที่อ่อนเพลียอยู่แล้ว ต้องอ่อนเพลียหนักเข้าไปอีกเพราะอ้วกแตก !)

จากเอกสารที่ฝรั่งเขียนเล่าถึงอาหารพื้นเมืองในประเทศไทย ที่ได้จากแมลงและสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2475 ในประเทศอังกฤษ (3) มีข้อความที่ระบุว่า ในประเทศพม่าและลาวนั้น ได้มีการใช้ไส้เดือนรักษาโรคฝีดาษโดยการนำไส้เดือนไปแช่น้ำแล้วให้คนป่วยอาบน้ำแช่น้ำนั้น จากนั้นก็นำไส้เดือนไปคั่ว ป่นจนเป็นผง ผสมกับน้ำมะพร้าวแล้วดื่ม ยาตำรับนี้ช่วยทำให้การออกฝีดาษเกิดเร็วขึ้นและลดอัตราการตายจากโรคลงเหลือเพียง 1 ใน 4

ในประเทศอิหร่าน เมืองเศรษฐีน้ำมัน ซึ่งกำลังวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ถึงกับยกย่องให้ไส้เดือนเป็นยอดสมุนไพรประเภทครอบจักรวาล เพราะรักษาโรคได้สารพัด เช่น นำไปอบแล้วกินกับขนมปัง เพื่อช่วยลดขนาดของนิ่วในถุงน้ำดี และช่วยขับก้อนนิ่วออก หรือไม่ก็ตากแห้งแล้ว กินเพื่อรักษาอาการ เหลืองซีดที่เกิดจากโรคดีซ่าน นอกจากนั้นยังอาจอบให้กลายเป็นเถ้า แล้วนำไปผสมกับน้ำมันกุหลาบใช้ทาหัวล้าน เพื่อให้ผมงอกดกดำอย่างเดิม (4)

ในทวีปอเมริกา ชาวอินเดียนแดงเผ่าชีโรกี้ แห่งย่านภูเขาเกร๊ตสโมกี้ ได้ใช้ไส้เดือนช่วยบ่งหนาม วิธีปฏิบัติ ทำได้โดยการสับไส้เดือนให้ละเอียดแบบหมูบะช่อ แล้วโปะลงบนอวัยวะที่ถูกหนามทิ่มแทงฝังอยู่ ในที่สุดหนามจะหลุดออกมาเอง (อย่างอัศจรรย์ยิ่ง !) (4) ส่วนชาวอินเดียนแดงเผ่านันติโค้ก แห่งรัฐเดลาแวร์ ก็ใช้ไส้เดือนเข้ายา ช่วยลดความปวดเมื่อยจากโรคไขข้ออักเสบ (4,5) วิธีปรุงยา ทำได้โดยการจับไส้เดือนใส่ขวด ปล่อยให้ตายแล้วนำมาโปะลงบนข้อที่ปวดเมื่อยโดยต้องทนกลิ่นเอาหน่อย แล้วจะหายปวดไปเอง (4)

สำหรับในเมืองไทยของเราเอง ได้มีการใช้ไส้เดือนเป็นสมุนไพรมาช้านาน จนถึงกับมีปรากฏในตำราแพทย์แผนโบราณหลายเล่ม เพื่อไม่ให้เปลืองหน้ากระดาษมากเกินไป ผู้เขียนขอลอกข้อความที่ปรากฏใน “ตำราเภสัชศาสตร์แผนโบราณ” ซึ่งจัดพิมพ์โดยโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ เมื่อปี 2507 ดังนี้

“รากดิน 4  รสเย็นคาว แก้ไขพิษไข้กาฬ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ระงับความร้อน แก้ปากเปื่อย แกฝีในลำคอ แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ปวดฝี และหัวลำมะลอก แก้โรคอันเกิดจากกระดูกแก้พิษฝีดาษ”

จะเห็นได้ว่า คนไทยก็ไม่น้อยหน้าคนอิหร่านเหมือนกัน และดูๆ แล้วเราอาจจะใช้ไส้เดือนรักษาได้มากโรคกว่าของอิหร่านเสียด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าพิสูจน์ได้ว่า กรณีของมนุษย์ประหลาดที่เมืองนนท์ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ด้วยแล้ว ก็น่าจะเติมในตำราได้อีกหลายโรค เช่น แก้อาการชักกระตุก ลมบ้าหมู อารมณ์หงุดหงิด คลุ้มคลั่ง ฯลฯ

ในสมัยปัจจุบัน ซึ่งวิทยาการสาขาต่างๆ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วนั้น มีนักชีวเคมีทำการค้นคว้าเกี่ยวกับไขมัน (lipid) ของไส้เดือนและได้ค้นพบกรดไขมันของไส้เดือนซึ่งใช้รักษาโรคได้หลายชนิด นักวิทยาศาสตร์ได้สกัดตัวยาช่วยขยายหลอดลมได้จากไส้เดือน (6) เรื่องนี้ทำให้เราได้ข้อคิดว่า มนุษย์สมัยโบราณ (ในที่นี้ก็คือ พวกอินเดียนแดง) นั้น ได้ค้นพบวิธีการักษาโรคโดยใช้สมุนไพรตามตำราแพทย์แผนโบราณมานมนานแล้ว แต่เพิ่งได้รับการยืนยันจากวงการแพทย์สมัยใหม่เมื่อไม่นานมานี้เอง อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า ตัวยาทั้งหลายที่คนโบราณค้นพบจะมีประสิทธิภาพใช้แก้โรคได้สารพัดโรคไปเสียทั้งหมด สิ่งที่เราน่าจะทำก็คือ หาทางพิสูจน์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่ถึงประสิทธิภาพในทางยาของสมุนไพรเหล่านี้ ซึ่งหากได้ผลจริงๆ และมีวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกลมดหมอในชนบท ที่จะได้รักษาเยียวยาโรคแบบที่บรรพบุรุษของเราเคยปฏิบัติมา หรือมิฉะนั้น ก็หาทางผลิตจำหน่ายเป็นการค้าในรูปของยาเม็ด ยาน้ำ ยาทา ฯลฯ ไปเลย

ก่อนจบเรื่องนี้ ก็ขอเน้นอีกครั้งว่า จงอย่าได้เชื่อถือเรื่องราวเกี่ยวกับสมุนไพรโดยปราศจากการพิสูจน์ที่เชื่อถือได้ ในกรณีของไส้เดือน ที่ผู้เชื่อถือได้ ในกรณีของไส้เดือน ที่ผู้เขียน นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไส้เดือนนั้นมีหลายสิบชนิด (เมืองไทยก็มีไม่น้อยกว่า 16 ชนิด) แต่ละชนิดรูปร่างก็คล้ายคลึงกัน จนชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่สามารถบอกความแตกต่างได้ แต่มันอาจมีตัวยาหรือสารต่างชนิดกันก็ได้ เพราะปรากฏอยู่เสมอๆ ที่พืชหรือสัตว์ประเภทเดียวกัน แต่ต่างชนิดกันมีตัวยาต่างกัน

เชิงอรรถ

1. ในฐานะที่เป็นสัตว์ ที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติที่สุด จากการช่วยกำจัดสิ่งโสโครก เศษไม้ใบหญ้า มูลสัตว์ ขยะ ตลอดจนช่วยบำรุงดิน ทำให้ดินร่วนซุยมีปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืช ตลอดจนเป็นอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าสำหรับสัตว์โลกอื่นๆ ผู้ที่สนใจกรุณามาอ่านเรื่องราวของไส้เดือนซึ่งผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นในเอกสารที่ปรากฏในบรรณานุกรมท้ายเรื่องนี้

2. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “น. พืชที่ใช้ทำเป็นเครื่องยา (ซึ่งหาได้ตามพื้นเมืองไม่ใช่เครื่องเทศ)” แต่ที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึง ตัวยาที่ได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ โดยมิได้นำมาผสม ปรุง หรือแปรสภาพแต่อย่างใด

3. ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึงเอกสารที่ผู้เขียนนำมาอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการมากกว่าผู้อ่านทั่วไป รายละเอียดของเอกสารเหล่านี้ ปรากฏอยู่ตอนท้ายของเรื่องนี้

4. หมายถึง ไส้เดือน (ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

เอกสารอ้างอิง

1. STEVESON, J. 1930, OliGochaeta. Oxford : Claredon Press, pp. 658-659.

2. GATES, G.E. 1926. The earthworms of Rangoon. J. Burma Res, Soc. 25 (3) : 196-221.

3. RRISTOWE, H.S. 1932. Insects and other invertebrates for human consumption in Siam. Trans. Entomol. Soc. (London) 80 : 387-404.

4. CARR, L.G.K. 1951. Interesting animal foods, medicines and omens of the eastern Indians, with Comparisons to ancient European practices. J. Wash. Acad. Sci. 41 (7); 229-235.

5. PRICE, S.F. 1901. Kentucky folklore. J. Am. Folklore 14 : 30-38.

6. REYNOLDS, J.W. and REYNOLDS, W.M. 1979. Earthworms in medicine Vermiculture J. 2 (1) : 6-7.

บรรณานุกรม

1. โฉมเฉลา, ณรงค์ 2521 ความวิเศษของไส้เดือน ว. วิทย. กษ. 11 : 275-288

2. โฉมเฉลา, ณรงค์ 2521 การกำจัดขยะโดยใช้ไส้เดือน ว.สสท 7(31) : 61-68

3. โฉมเฉลา, ณรงค์ 2522 ไส้เดือนกับการทำสวน วารสารของสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย ฉบับพิเศษประจำปี 2522 หน้า 69-71

4. โฉมเฉลา, ณรงค์ 2522 ไส้เดือนกับการเกษตร กสิกร 42 : (กำลังพิมพ์)

ข้อมูลสื่อ

11-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 11
มีนาคม 2523
ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา