• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้เซลล์ตัวอ่อนในครรภ์รักษาโรค

การใช้เซลล์ตัวอ่อนในครรภ์รักษาโรค

 

 

หลายประเทศหันมาใช้เทคนิคใหม่ในวงการแพทย์ โดยใช้เนื้อเยื่อหรือเซลล์ตัวอ่อนในครรภ์ซึ่งแท้งโดยธรรมชาติมารักษาโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสันในหนู

**********************************************************************************************

จากโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่เชอร์โนบิย์ล นพ.โรเบิร์ต เกล แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UCLA) และผู้ร่วมงานอีก 3 คน ได้บินไปยังสหภาพโซเวียต เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นเหยื่อกัมมันตภาพรังสีอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าแพทย์ชาวรัสเซีย และเกลได้พยายามใช้เทคนิคใหม่ทดลองกับผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีขั้นร้ายแรง นั่นคือ “การศัลยกรรมโดยใช้เซลล์ของตัวอ่อนในครรภ์” ต่างหาก ในการนี้เป็นไปเพื่อเพาะสร้างเนื้อเยื่อที่จะทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขึ้นมาใหม่ โดยการที่แพทย์ปลูกถ่ายเซลล์ตับจากตัวอ่อนในครรภ์ที่แท้งออกมาเมื่ออายุ 1 เดือน เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยแต่ความพยายามเหล่านั้นล้มเหลว ผู้ป่วยทั้ง 6 คน เสียชีวิตหมด อย่างไรก็ตาม เกลใช้เทคนิคที่นับวันจะแพร่หลายมากขึ้นในวงการแพทย์ทั่วโลก ในประเทศจีน แพทย์ใช้เซลล์ของตัวอ่อนในการรักษาโรคเบาหวาน

ในสวีเดน นักวิจัยได้ทดลองใช้เซลล์สมองของตัวอ่อนในครรภ์ปลูกถ่ายเพื่อรักษาโรคพาร์กินสันในหนู
ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่ง การทดลองใช้เซลล์ของตัวอ่อนทดลองกับสัตว์ได้แสดงให้เห็นแนวโน้มว่าน่าจะช่วยรักษาโรคอันเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบต่างๆในคน เช่น โรคเลือดจำพวกธาลัสซีเมีย อัมพาต อันเนื่องมาจากไขสันหลังถูกทำลายประสาท ศัลยแพทย์ บาร์ช กรีน แห่งมหาวิทยาลัยไมอามี กล่าวว่า “วิทยาการสาขานี้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก”

ทำไมเราจึงปลูกถ่ายเซลล์ของตัวอ่อนเข้าไปในผู้ใหญ่?

ทั้งนี้เนื่องจากเซลล์ของตัวอ่อนในครรภ์ยังไม่มีคุณสมบัติทางอิมมูนวิทยา ในระหว่างช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนยังไม่สร้างแอนติเจนหรือโปรตีนชนิดที่จะทำให้ร่างกายของผู้รับรู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและต่อต้าน ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของเซลล์ตัวอ่อนก็คือ ไม่ก่อให้เกิดโรคที่เกิดจากการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อปลูกถ่ายด้วยเนื้อเยื่อของผู้ใหญ่ นอกจากนั้นเซลล์ประสาทของตัวอ่อนยังสามารถเจริญต่อไปได้ จึงมีศักยภาพที่จะซ่อมแซมสมองหรือไขสันหลังส่วนที่ถูกทำลายได้ น.พ.บาร์ชกล่าวว่า จากคุณสมบัติเหล่านี้เองจึงคาดหวังว่าเซลล์ของตัวอ่อนจะสามารถทำหน้าที่เชื่อมเนื้อเยื่อที่เป็นโรคหรือได้รับบาดแผลเข้าด้วยกันได้
ประโยชน์ที่ได้รับจากการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากตัวอ่อนในปัจจุบันได้แก่ การรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งมีชาวอเมริกันป่วยด้วยโรคนี้กันนับล้านคน ทั้งนี้เนื่องจากการถูกทำลายของไอส์เลต เซลล์ซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อน เมื่อปราศจากอินซูลินร่างกายก็ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ แม้ว่าจะระวังรักษาด้วยการฉีดอินซูลินและอาหารก็ตาม แต่ทว่าเบาหวานชนิดนี้จะนำไปสู่อาการตาบอด ไตล้มเหลวและอัมพาตได้

ในอดีตความพยายามปลูกถ่ายไอส์เลต หรือเซลล์ของตัวอ่อนประสบความล้มเหลว เพราะว่าอยู่ในระยะที่เซลล์เหล่านั้นมีคุณสมบัติเป็นแอนติเจนแล้วจึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางอิมมูนขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากหากเซลล์มีคุณสมบัติเช่นแอนติเจนแล้วยากที่จะกำจัดออกไป นักอิมมูนวิทยาชาวออสเตรเลีย เควิน ลาฟเฟอรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเบาหวานในเด็กในเดนเวอร์ (Barbara Davis Center for Childhood Diabetes) ค้นพบเมื่อปี 2523 ว่าการเพาะเลี้ยงไอส์เลต เซลล์ ในบรรยากาศที่มีออกซิเจนพอเพียง 2 สัปดาห์สามารถกำจัดแอนติเจนได้ ซึ่งจะช่วยให้นำเซลล์ไปทำการปลูกถ่ายได้อย่างปลอดภัย

ศัลยแพทย์แห่งโรงพยาบาลประชาชนเซี่ยงไฮ้ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยไอส์เลต เซลล์ของตัวอ่อนในครรภ์ตั้งแต่ปี 2525 จากผู้ป่วย 39 คนที่อยู่ในการควบคุมดูแลนานกว่า 2 ปี พบว่า 3 รายไม่ต้องให้อินซูลินอีกต่อไป ที่เหลืออีก 36 ราย สามารถลดจำนวนอินซูลินลงได้ตั้งแต่ 30% เกือบ 100% และในผู้ป่วยเหล่านี้บางรายอาการทางไต และตากลับดีขึ้น ส่วนผลการรักษาในสหรัฐอเมริกายังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เพราะมีเพียง 3 ราย จาก 17 รายที่ทำการรักษาโดยเพื่อนร่วมงานของน.พ.ลาฟเฟอรี ที่สามารถการพึ่งพาอินซูลินลงได้ไม่เกิน 30% เท่านั้น น.พ.สปีส์ ผู้ทำการรักษาอธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากไม่ทราบว่าเมื่อไรที่เนื้อเยื่อของตัวอ่อนจะเจริญเต็มที่ หรือมิฉะนั้นก็ยังไม่ทราบว่าต้องให้เซลล์เข้าไปจำนวนเท่าไรจึงจะเหมาะสม

นักวิจัยชาวสวีเดน แห่งสถาบันคาโรลินสกา และมหาวิทยาลัยลุนด์ ตั้งความหวังไว้ว่า จะปลูกถ่ายเซลล์สมองของตัวอ่อนไปยังสมองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้ น.พ.อังเดร จอร์คลุนด์ กล่าวว่า “เซลล์ตัวอ่อนอายุ 8-12 สัปดาห์ ซึ่งกำลังพัฒนา และยังสามารถจะโน้มนำให้ทำหน้าที่รักษาโรคนี้ได้” ในกรณีนี้หน้าที่ของเซลล์ตัวอ่อนจะทำหน้าที่สร้างโดพามีนซึ่งมีไม่เพียงพอในผู้ป่วยพาร์กินสัน น.พ.จอร์คลุนด์ ทำนายว่าการทดลองในคนจะเริ่มขึ้นภายในสองปีนี้
นพ.ไมเคิล แฮร์ริสัน ศัลยแพทย์เด็กแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เชื่อว่าเนื้อเยื่อของตัวอ่อนอาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาโรคเลือดกรรมพันธุ์ เช่น ธาลัสซีเมีย ด้วยเหตุผลที่ว่าเนื้อเยื่อของตัวอ่อนประกอบด้วยเซลล์ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายและกลายเป็นไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด น.พ.แฮร์ริสันเคยทดลองใช้เนื้อเยื่อนี้ในการเปลี่ยนหมู่เลือดของตัวอ่อนในครรภ์ของแกะได้ และคงจะนำมาทดลองในคนต่อไปเพราะเขากลัวว่า ผลการทดลองสมบูรณ์อย่างน่าพึงพอใจ

ที่กล่าวมาแล้วนั้น ล้วนเป็นความพยายามในวงการแพทย์ที่จะใช้เนื้อเยื่อของตัวอ่อนที่แท้งโดยธรรมชาติ หากแต่แพทย์เองก็กล่าวเตือนการทดลองนี้ว่า การแท้งเองโดยธรรมชาตินั้นทำให้ตัวอ่อนมีความบกพร่องทางพันธุกรรมซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อนั้นใช้ในการทดลองไม่ได้ผลได้ ก็เป็นที่น่าเกรงกลัวว่าหากวิทยาการด้านนี้ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงแล้วจะทำให้วงการแพทย์ต้องการเนื้อเยื่อของตัวอ่อนในครรภ์มากขึ้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้น หากเนื้อเยื่อตัวอ่อนที่แท้งโดยธรรมชาติไม่เพียงพอ? การทำแท้งโดยตั้งใจอาจจะเป็นประเด็นทางจริยธรรมการแพทย์ที่ต้องเป็นปัญหาสังคมติดตามมาก็ได้
นำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังก็เพื่อว่าจะได้ทราบสถานการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวรุดหน้าไปเรื่อยๆ หากแต่ผลประโยชน์ที่มวลมนุษยชาติได้รับจะคุ้มค่าหรือไม่ ก็ต้องช่วยกันวินิจฉัย

เรียบเรียงจาก “Help from the Unborn” จากไทม์ฉบับวันที่ 12 มกราคม 2530 หน้า36

 


 

ข้อมูลสื่อ

95-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 95
มีนาคม 2530
รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์