• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อเคลื่อน

ข้อเคลื่อน

คนที่ใส่รองเท้าส้นสูง ถ้าเดินไม่ระวังหรือเดินไม่เป็น ข้อจะพลิกง่ายๆ เมื่อข้อพลิก พอลุกขึ้นมาก็เดินไม่ไหวเพราปวดข้อ ต่อมาจะมีอาการบวม มากน้อยสุดแต่การบาดเจ็บและการอักเสบเนื่องจากการบาดเจ็บ

เมื่อข้อพลิก เอ็นหุ้มข้อ ซึ่งทพหน้าที่ยึดข้อไม่ให้หลุดออกจากกันจะขาด (ดูรูปที่ 1) ถ้าพลิกไม่มาก อาจขาดเล็กน้อย มีเลือดออกมาบ้าง เรียกว่า “ข้อแพลง” ถ้าพักการใช้ข้อนั้นเสียสัก 2-3 วัน ก็จะทุเลาลงมาก อาจใช้น้ำอุ่นประคบ อาจใช้ผ้ายืดพันหรือน้ำมันนวดทาก็ได้ อาจทำให้หายเร็วขึ้น ไม่ควรนวด เพราะการนวดไม่ได้ทำให้อวัยวะบริเวณนั้นได้พัก อาการบวมจะไม่ยุบหายไปเร็ว ถ้านวดไม่ถูกอาจทำให้มีอาการมากขึ้นและหายช้าลง

ถ้าพลิกมาก เอ็นจะขาดมาด มักขาดตามขวางเป็นทางยาว เมื่อเอ็นขาด การยึดเหนี่ยวระหว่างข้อก็น้อยลง ทำให้ข้อเคลื่อนออกจากกัน อาจเคลื่อนออกไปเพียงเล็กน้อย (ดูรูปที่ 3) และจะกลับเข้ามาเอง แต่เนื่องจากเอ็นฉีกขาดมาก จึงควรต้องตรึงให้อยู่กับที่นานสักหน่อย เช่น 2-3 สัปดาห์ สุดแต่กรณี

อาการปวดบวม จะมีมากกว่าอย่างแรก การปฐมพยาบาล อาจทำไปพร้อมๆ กับการรักษาได้เลย เช่น การปิดด้วยผ้าปลาสเตอร์ หลายๆ ชั้น ใช้ผ้าปลาสเตอร์ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร ปิดให้ซ้อนและทับกัน (ดังรูปที่ 4) ผู้ป่วยยังเดินได้ แต่เวลาเดิน มีการเคลื่อนไหวน้อยมาก ทั้งนี้เพื่อให้ชิดได้พักเอ็นที่ขาดจะติดกันเอง ถ้าขาดมาก อาจมีแผลเป็นที่เอ็น เป็นจุดอ่อนซึ่งเมื่อข้อพลิกอีก จะฉีกขาดได้ง่ายกว่าเก่า

ในระหว่างนี้อาจยังมีอาการเจ็บปวดอยู่ ทั้งเวลาเดินและเวลาอยู่กับที่ ควรยกส่วนที่เป็นให้สูงเวลานอน เพื่อกันการบวม ถ้าบวมแล้วจะได้ยุบลงเร็ว อาจกินยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน 2 เม็ด (ในผู้ใหญ่) หรือ พาราเซตามอล 2 เม็ดก็ได้ อาจกินได้ทุก 4 ชั่วโมง ถ้าจำเป็น ตามปกติจะปวดอยู่สองวัน แล้วอาการจะทุเลาไปเอง โดยไม่ต้องกินยาแก้ปวดอีก

ถ้าพ้น 2 สัปดาห์ไปแล้ว ยังมีอาการเจ็บปวดอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาเดินควรจะไปให้แพทย์ตรวจ เพราะอาจมีกระดูกหักร่วมอยู่ด้วย การรักษาเพียงขั้นนี้ จะไม่ทำให้หายดีได้

บางกรณี เมื่อข้อพลิก ถูกดึงรั้งออกจากกัน หรือกระแทกในทิศทางเฉียง (ดูรูปที่ 5) เอ็นหุ้มข้ออาจขาดมาก ทำให้ข้อหลุดออกจากกัน และไม่เข้าที่เดิม กรณีเช่นนี้ไม่ควรจะพยายามดึงข้อให้เข้าที่เดิม นอกจากเคยทำ และรู้วิธีทำมาแล้ว เพราะอาจเข้ามได้ เพิ่มความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานขึ้นไปอีก หรืออาจทำให้เอ็นหุ้มข้อฉีกขาดมากขึ้น อันเป็นเหตุให้เกิดความพิการอย่างถาวร ควรจะตรึงข้อให้อยู่กับที่ โดยวิธีหนึ่งวิธีใด ที่เห็นว่าสะดวก ง่ายและเหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ แล้วนำผู้ป่วยส่งให้แพทย์

 

 

ข้อมูลสื่อ

12-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 12
เมษายน 2523
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์