• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำชา กาฝากมะม่วง

น้ำชา กาฝากมะม่วง

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเขียนเรื่องกาฝากมะม่วง ว่าจะลดความดันเลือดได้หรือไม่นั้น ข้าพเจ้าใคร่ขอชี้แจง ท่านบรรณาธิการและท่านผู้อ่านก่อนว่า ข้าพเจ้ามิใช่หมอ แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์จากผู้เขียน ที่ได้ใช้กาฝากมะม่วงต้มดื่ม (จิบ) บทความนี้มีลักษณะเป็นบทสนทนา เมื่อท่านอ่านบทความนี้แล้วก็ขอให้วินิจฉัยเอาว่า “กาฝากมะม่วง” แก้โรคอะไรได้บ้าง

เมื่อต้นปีการศึกษา 2519 ผู้เขียนออกจากวัดเพื่อที่จะไปสอนธรรมศึกษาที่วัดแห่งหนึ่งในตัวเมือง ซึ่งผู้เขียนอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ครั้งเมื่อไปถึงที่ที่จะสอน ผู้เขียนก็ได้ไปหาเพื่อนผู้หนึ่งที่สนิทกันยังกุฏิอีกแห่ง เมื่อไปถึง เพื่อนก็ยกกาน้ำชาออกมาต้อนรับและรินให้ผู้เขียนดื่ม ผู้เขียนก็เอ่ยปากกับเพื่อนว่า

ผู้เขียน : ไม่ต้องหรอกครับ ผมไม่ดื่มน้ำชาหรอก

เพื่อน : ลองเถอะน่า ประเดี๋ยวจะติดใจ นี่ไม่ใช่น้ำชาหรอก

ผู้เขียน : อ้าว! ไม่ใช่น้ำชาหรือ สียังกับน้ำชา

เพื่อน : ลองกินเถอะ แล้วจะบอกว่ามันเป็นอะไร

เพื่อนคะยั้นคะยอจนผู้เขียนยกถ้วยน้ำชาขึ้นดื่ม แต่ยังไม่ทันที่ริมฝีปากจะสัมผัสน้ำสียังกับน้ำชานั้น กลิ่นที่แปลกไปจากน้ำชาก็เตะจมูกผู้เขียน พอดื่มเข้าไปรสแปลกๆ ที่สัมผัสกับปลายลิ้น ก็ทำให้ผู้เขียนแน่ใจในตอนนั้นว่า ไม่ใช่น้ำชาแน่ๆ จึงถามย้ำไปยังเพื่อนอีกครั้ง เพื่อนก็กล่าวพลางชี้ไปยังกระสอบป่านที่เต็มไปด้วยกิ่งไม้ ใกล้ๆ ก็มีใบกองอยู่

ผู้เขียนลงจากกุฏิและไปเปิดกระสอบและชูกิ่งไม้ให้เพื่อนพร้อมกับถามว่า “เขาเรียกว่าอะไร” แตเพื่อนก็โบกมือให้ผู้เขียนไปสอนหนังสือก่อน ระหว่างที่ทำการสอนอยู่ รู้สึกว่าคอไม่แห้งเหมือนที่เคยเป็น เสียงก็ไม่แหบ น้ำที่เด็กจัดมาให้ระหว่างการสอนจึงไมได้แตะเลย

ด้วยความอยากรู้ ผู้เขียนจึงรีบตรงไปยังกุฏิของเพื่อน ก็ถามไปอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันนั่งเพื่อนก็หัวเราะพลางกล่าวว่า “เขาเรียกกันว่า กาฝากมะม่วง”

“นี่แหละ...ยาขนานวิเศษ โยมคนหนึ่งแกบอกว่า กาฝากที่อยู่บนต้นมะม่วงจะเป็นมะม่วงอะไรก็ได้ ขอให้อยู่กับต้นมะม่วงก็แล้วกัน ให้เอามาทั้งหมด แต่อย่าเอาต้นมะม่วงมานะ เมื่อเอามาแล้วให้ตัดเป็นท่อนๆ ตากแดดให้แห้ง ถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็เอาไปคั่วให้เหลือง แล้วเอามาเก็บ ลืมไปอย่างนึง ใบไม่ต้องนำไปคั่ว เพียงตากแดดให้แห้งก็พอ ก็ไม่มีอะไรอีกแล้วก็เอามาต้มกินอย่างนี้แหละ”

เพื่อนอธิบายยืดยาว

ผู้เขียนก็อดถามขึ้นอีกไม่ได้ว่า

“ที่บอกว่าเป็นยาวิเศษน่ะ แก้โรคอะไรได้บ้าง ใส่กาไปแล้วต้องเสกอะไรบ้าง”

“โยมผู้เฒ่าบอกว่า แก้ปวดศีรษะ ประสาทมึนงง นอนไม่หลับ และแก้ความดันเลือดแล้วก็ไม่ต้องปลุกเสกสัพพาสีวิสะชาตีนัง หรือ สัทสัตวา พุทธรตนัง อะไรหรอก โธ่ ทำเป็นหมอยาต้มไปได้”

“ยังงั้นขอไปต้มทดลองหน่อยเถอะ”

หลังจากนั้น ผู้เขียนก็นำกาฝากมะม่วงนี้มาต้มดื่มทุกวัน และทุกครั้งที่มีแขกมาเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส หลายรายจะแสดงความแปลกใจ เหมือนเมื่อครั้งที่ผู้เขียนประสบ ทุกครั้งผู้เขียนจะกำชับว่า ถ้าหากพบที่ไหนก็ให้นำมาฝากด้วย ซึ่งแรกๆ ก็พอจะหาง่ายหน่อยแต่ทุกวันนี้หายากขึ้นทุกที

จากการสังเกตอาการของผู้เขียนเอง ก่อนหน้านั้น ผู้เขียนดูหนังสือนานๆ ไม่ได้ และรู้สึกว่าปวดศีรษะ พูดมากๆ ก็ปวดศีรษะ เส้นประสาทสองข้างกกหูเต้นแรง และปวดแปลบไปยังกลางกระหม่อม ความจำก็ไม่ใคร่ดี นอนไม่ค่อยหลับ เสียงแหบ แต่หลังจากที่ได้ดื่มน้ำต้มกาฝากมะม่วงแล้ว ผู้เขียนมีความรู้สึกว่าอาการบางอย่างหายไป เช่น ดูหนังสือนานๆ ก็ไม่ปวด เสียงก็ไม่แหบ คอไม่แห้งเหมือนเดิม หลับสบาย ความจำดีขึ้น ท้องก็ไม่ผูก เส้นประสาทที่เต้นสองข้างค่อนข้างแรงก็เบาลง

คณะผู้จัดทำนิตยสาร “หมอชาวบ้าน” และท่านผู้อ่าน เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว มีความเห็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน ผู้เขียนมิใช่หมอหรือผู้เชี่ยวชาญแขนงใด จึงไม่กล้าตัดสินใจแทนผู้อ่าน แต่เห็นว่าเกิดผลที่เห็นและรู้สึกด้วยตัวเองจึงได้เขียนมา เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียเงินทอง ในยามเศรษฐกิจที่ชักหน้าไม่ถึงหลังเช่นทุกวันนี้ ถ้าหากจะพูดถึงรสก็ไม่แพ้ชา กลิ่นหอมชวนดื่ม ผู้เขียนจึงขอชักชวนให้ผู้อ่านมาดื่ม กาฝากมะม่วงกันเถอะ

ข้อมูลสื่อ

12-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 12
เมษายน 2523