• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรในครัว

สมุนไพรในครัว

 

ลองมองสำรวจไปรอบๆห้องครัวหน่อยเถอะครับ...

คุณผู้อ่านเห็นอะไรบ้าง

ห้องครัวในบ้านนั้น แท้จริงแล้วดูจะเป็นแหล่งสมุนไพรเราดีๆนี่เอง เพราะเครื่องปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็น พริก หอม กระเทียม น้ำปลา ข่า ขิง ตะไคร้ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณทางยาทั้งนั้น
มาดูกันสิครับ

 

กระชาย  มีรสเผ็ดร้อน ใช้แก้โรคในปาก ขับระดูขาว แก้ใจสั่นหวิว ส่วนหัวกระชายมีรสสุขุม แก้ปวดมวนในท้อง บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ และแก้ปัสสาวะพิการ สำหรับกระชายนี้เวลาปรุงอาหารสำหรับถวายพระ มักจะไม่ค่อยนิยมใส่ลงไป เพราะกระชายเป็นยาบำรุงความกำหนัด ทางแพทย์ไทยเรียกว่า “โสมไทย”


กะเพรา
ใช้ปรุงเป็นอาหารและนำมาทำเป็นสมุนไพรได้เช่นกัน มีสรรพคุณแก้ปวดท้อง ท้องขึ้น แก้ลมตานซาง ขับผายลม ทำให้เรอ แก้จุกเสียดในท้อง สำหรับเด็กอ่อน ใช้ใบกะเพราสดสัก 3-4 ใบ ผสมเกลือเล็กน้อย ตำให้แหลก คั้นน้ำนำมาผสมน้ำสุกหรือน้ำผึ้งให้เด็กอ่อนกิน เป็นยาถ่ายขี้เทายังช่วยขับผายลมได้เป็นอย่างดีและช่วยแก้อาการท้องอืดได้ เวลาปวดท้องถ้าหายาอย่างอื่นไม่ได้ จะใช้ใบกะเพราสดกินแทนแก้ปวดท้อง


ข่า ใช้หัวข่าปรุงเป็นเครื่องแกง หรือใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ต่างๆ ข่าอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารและใช้เป็นยาแก้และขับลมในลำไส้ แก้ปวดมวนไซ้ท้องได้ดี ข่าอ่อนที่ใช้ปรุงอาหารประเภทไก่ต้มข่า หรือต้มข่าทะเล หอมและอร่อยมากทีเดียว


ขิง มีรสหวานเผ็ดร้อน นอกจากจะนำมาปรุงเป็นอาหารทำให้มีรสชาติน่ากินแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารประเภทปู หรือกุ้งอบวุ้นเส้นหม้อดิน หากนำขิงสักเล็กน้อยวางไว้ใต้วุ้นเส้นในหม้อดินแล้วนำแล้วนำไปอบก็จะช่วยให้มีกลิ่น รสดีขึ้นมาก เชิญลองดูได้
สรรพคุณทางยาคือ เจริญไฟธาตุ ถอนฤทธิ์ยาต่างๆ กระจายไข้และไข้หวัด ดอกขิงใช้แก้โรคดวงจิตขุ่นมัว ตาเปียก ตาแฉะ ต้นขับผายลม รากทำให้หลอดลำคอโปร่ง เจริญอาหาร นอกจากนี้ขิงยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะ แก้โรคปากเปื่อย คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ แก้เสมหะ ขับผายลม ทำให้ลำไส้มีกำลังย่อยอาหาร


ตะไคร้
ตะไคร้เป็นพืชที่เรารู้จักกันดีทีเดียว ใช้ปรุงเป็นอาหารกินกับข้าวก็ได้ ใช้เป็นกับแกล้มเหล้าโดยทำเป็นไก่สามอย่างก็เหมาะ ตะไคร้มีกลิ่นหอม รสปร่าใช้แก้คาว แก้เบื่ออาหาร แก้โรคทางปัสสาวะ บำรุงและเจริญไฟธาตุ แก้กระษัย ขับลมในลำไส้ เจริญอาหาร หรือจะนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ คั่วไฟให้เหลือง ชงกับน้ำร้อนดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ
นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาอายุวัฒนะได้อีกด้วย โดยนำเอาต้นตะไคร้ทั้งต้น ทั้งราก และใบ จำนวนต้นเท่าอายุ หั่นตากแดดให้แห้งบดเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดในพุทรา กินก่อนนอนทุกวัน อาจจะทำให้มีอายุยืนยาว


พริกไทย เมล็ดอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหาร นิยมแกงกับปลาไหล หรือผัดเผ็ดหมูป่า เมล็ดแก่มีสีดำ เรียกว่า พริกไทยดำ ถ้าหากนำมาแช่น้ำด่าง แล้วลอกเอาเปลือกออกเรียกว่า พริกไทยร่อน ใช้ปรุงอาหารทำให้อบอุ่นในท้อง ใบใช้แก้ลมจุกเสียด แน่น ปวดมวนในท้อง เมล็ดพริกไทยแก้ลมอัมพฤกษ์ และลมปัตคาด ลมที่ลั่นโครกครากในท้อง แก้เสมหะ บำรุงธาตุ ดอกพริกไทยแก้ตาแดง รากเถา แก้ท้องร่วง แก้เสมหะในทรวงอก ใช้ผสมอาหารบางอย่าง นิยมใช้กินในฤดูหนาว เป็นยาแก้ปวดเมื่อย แก้กระษัย แก้เหน็บชา


พริกป่า พริกป่าเป็นพริกที่เกิดตามป่ามีเม็ดโต กรอบ รสไม่ค่อยเผ็ดนัก รากพริกป่ามีรสเย็น ใช้ดับพิษไข้ แก้ร้อนใน แก้ลมกองละเอียด


พริกหอม ทางเหนือใช้ปรุงอาหารประเภทลาบและผสมเครื่องแกง ทำให้หอมเหมือนเครื่องเทศ เมล็ดเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้หาวเรอ ขับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเดินสะดวก


มะกรูด ใช้ปรุงเป็นอาหาร ดับพิษคาว น้ำมะกรูดใช้สระผมขจัดรังแค รากใช้กระทุ้งพิษ แก้พิษฝีภายใน ถอนพิษผิดสำแดง แก้ลมจุกเสียด น้ำที่ได้จากลูกมะกรูดนำมาใช้ถูฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน ลูกมะกรูดสดนำมาดองกับยาสมุนไพร ใช้เป็นยาฟอก ล้างระดูโลหิต บำรุงโลหิตระดู ผิวมะกรูดทำเป็นยาขับลมขับลมในลำไส้ ขับระดู


มะนาว มีรสเปรี้ยวจัด ใช้ปรุงอาหารให้สุกได้ โดยไม่ต้องใช้ไฟ เช่น พวกยำต่างๆ ใบกัดฟอกโลหิตระดู เมล็ดมะนาวมีรสขม นำมาคั่วให้เหลืองเป็นยาขับเสมหะแก้โรคซางของเด็ก รากใช้ถอนพิษไข้กลับหรือไข้ซ้ำ หรือใช้ฝนกับสุรา ทาฝีแก้ปวดฝี


หอมแดง ใช้ในการแกงหรืออาหารจำพวกยำแล้วยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรได้คือ หัวใช้ผสมกับหัวเปาะหอม ว่านน้ำ ดินประสิว ใช้สุมหัวเด็กเล็กแก้หวัดคัดจมูก หายใจไม่สะดวก ขับลมในลำไส้ หรือหัวหอมอย่างเดียวใช้ดับพิษแมลงกัดต่อย


เปราะหอม ดอกแก้เด็กนอนสะดุ้ง ผวา ใบแก้กลากเกลื้อน หัวแก้เลือดเก่าของสตรีให้ตก แก้ลมพิษ ผื่นคัน แก้บาดแผล


ผักชี เมล็ดใช้ปรุงเครื่องแกงจำพวกเครื่องเทศ มีรสฝาด ขมหวาน แก้ไขอันเกิดแต่ทรวง บำรุงธาตุ แก้สะอึก แก้กระหายน้ำ แก้อาเจียน ต้นใบราก ใช้กระทุ้งพิษไข้อีสุกอีใส


น้ำตาล ในสมัยโบราณ เราจะใช้น้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปีบ ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้ทำมาจากพืชหลายชนิดด้วยกัน น้ำตาลจาก ได้จากต้นจาก มีรสหวานเอียน เป็นยาสลายริดสีดวงทวาร น้ำตาลสดได้จากตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าวได้จากต้นมะพร้าว น้ำตาลทั้ง 2 ชนิดมีรสหวานหอม ปรุงเป็นยาบำรุงกำลังทำให้ชุ่มชื่นใจ


                                                                                                                             (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

93-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 93
มกราคม 2530
หมอไท