• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัญหากัมมันตภาพรังสีในนม

ปัญหากัมมันตภาพรังสีในนม

จากกรณีนมผงปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีนี้ “หมอชาวบ้าน” ได้เข้าพบเพื่อเรียนถามข้อเท็จจริงจากนายแพทย์ไพบูลย์ สงบวาจา อดีตผู้อำนวยการกองป้องกันอันตรายจากรังสี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไวรัส ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ดังนี้

ก่อนอื่นอยากเรียนให้ทราบว่าในชีวิตมนุษย์ประจำวันนี่เราได้รับรังสีตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งรังสีตามธรรมชาตินี้ปีหนึ่งเราจะได้รับอยู่แล้วแน่ๆทุกคน ตั้งแต่เริ่มเกิดมาจนถึงตาย จะได้รับปีละประมาณ 0.1-0.3 เร็มต่อปี (เร็ม คือ หน่วยวัดปริมาณรังสีที่ใช้ในเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสี) สมมติว่าคนอายุ 40 ปี ก็ได้รับรังสีแล้วประมาณ 4 เร็ม
โดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันอันตรายจากรังสี องค์การสหประชาชาติ กำหนดว่า ค่าสูงสุดที่มนุษย์จะได้รับจากรังสีต่างๆโดยที่ไม่เกิดอันตรายเลยนั้นคือ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสีนี่รับได้ไม่เกิน 5 เร็มต่อปี แต่คนธรรมดาหรือหญิงตั้งครรภ์และเด็กจะลดลง 10 เท่าก็คือ 0.5 เร็มต่อปี

เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เชอร์โนบิย์ล ในประเทศสหภาพโซเวียต ระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 ประเทศแรกที่สามารถตรวจจับฝุ่นกัมมันตภาพรังสีในชั้นบรรยากาศคือ สวีเดนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมีจำนวนสารกัมมันตภาพรังสีเกิดขึ้นมากเกินกว่า 100 ชนิด แต่ชนิดที่สำคัญมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของประชาชนและเราสามารถจะนำมาใช้เป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า คนทั่วไปได้รับกัมมันตภาพรังสีมากน้อยเพียงใด ชนิดของกัมมันตภาพรังสีที่ใช้เป็นเครื่องชี้วัดนี้มี 2 ชนิดคือ

ชนิดที่ 1
ได้แก่ ธาตุไอโอดีน 131 ซึ่งสลายตัวไปครึ่งหนึ่งในระยะเวลาประมาณ 8 วัน อวัยวะในร่างกายที่จะได้รับไอโอดีน 131 มากที่สุดคือต่อมไทรอยด์ซึ่งเชื่อมโยงกับฮอร์โมนต่างๆของสมองเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตด้านต่างๆ ของร่างกาย และความเฉลียวฉลาด ถ้าหากว่าต่อมนี้ไม่ทำงาน หรือทำงานผิดปกติ บุคคลคนนั้นจะเป็นบุคคลที่ขาดคุณภาพ การเจริญเติบโตจะไม่เต็มที่ อันนี้เป็นสารกัมมันตภาพรังสีที่มีอันตรายในระยะสั้น

ชนิดที่ 2
ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ ซีเซียม 137 ซึ่งบังเอิญในการระเบิดที่สหภาพโซเวียตมีออกมามาก ประเด็นที่น่าวิตกคือกว่าที่ซีเซียม 137จะสลายตัวไปครึ่งหนึ่ง ต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี และก็เป็นสารที่เมื่อเราบริโภคเข้าไปแล้วจะมีการสะสมอยู่ในร่างกาย ตำแหน่งที่สะสมอยู่ในร่างกายคือ เนื้อเยื่อ บางส่วนไปที่ตับ และบางส่วนไปที่ไขกระดูก ส่วนใหญ่ไปที่เนื้อเยื่อมาก แต่ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างมากว่าร่างกายของคนเราสามารถขับถ่ายสารนี้ได้ดี กล่าวคือ ในผู้ใหญ่จะถูกขับถ่ายออกไปครึ่งหนึ่งในช่วง 44 วัน ภาษาแพทย์เราเรียกว่า ไบโอโลจีกอล ฮาล์ฟไลฟ์ (Biological half life) แต่ถ้าอายุน้อยลง การขับถ่ายของสารซีเซียมจะยิ่งเร็วขึ้นนะครับ ในทารกในช่วงที่เด็กอายุไม่เกิน 5 เดือน การขับถ่ายสารนี้จะออกมาครึ่งหนึ่งในเวลาเพียง 19 วันเท่านั้น ซึ่งเร็วมาก ก็เป็นโชคดีที่อันตรายจากซีเซียมน้อยลง

หลังจากเกิดเหตุที่สหภาพโซเวียตนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เริ่มเฝ้าสังเกตและตรวจตราการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเป็นการทำวิจัยเบื้องต้นในขณะเดียวกัน เราได้เริ่มทำการตรวจวิเคราะห์อากาศ น้ำฝน แหล่งน้ำธรรมชาติ นม อาหาร ธัญพืชในประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เก็บตัวอย่างครั้งแรกประมาณ 33 อย่าง เราไม่พบการปนเปื้อนเลย เราได้ทำการตรวจเรื่อยๆ มาจนกระทั่งเดือนกันยายนพบว่า มีการปนเปื้อนรังสีในนมผง ซึ่งเป็นการนำเข้าจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และที่เราได้ตรวจพบครั้งล่าสุดประมาณปลายเดือนกันยายน ค่าสูงสุดที่เราได้รับคือ 66 เบ็กเคอเรลต่อนมผง 1 กิโลกรัม นั่นเป็นค่าสูงสุด

เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยว่า ประชาชนในประเทศเราไม่เคยได้รับรังสีปนเปื้อนมาก่อน เราคงจะต้องสร้างหลักเกณฑ์จำนวนการปนเปื้อนว่า จะมีจำนวนเท่าไรจึงจะมีความปลอดภัยสูงสุด เราถือว่าการปนเปื้อนอันนี้ไม่ควรจะมีเลยสำหรับประชาชนคนไทย กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ตั้งคณะกรรมการทางด้านวิชาการเพื่อจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานว่า เราควรจะยอมรับให้รังสีปรากฏในนมได้เท่าใดเป็นค่าที่เหมาะสม

การกำหนดค่ามาตรฐานของกัมมันตภาพรังสีในนม ผลิตภัณฑ์นม และอาหารอื่นๆ นั้นที่ต้องกำหนดค่ามาตรฐานให้ในนมสดไม่เกิน 7 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ในนมผงหรือผลิตภัณฑ์นมไม่เกิน 21 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม และในอาหารประเภทอื่นไม่เกิน 6 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม เพราะเป็นค่าปกติธรรมดาที่จะต้องมีอยู่ในนม ผลิตภัณฑ์นม และอาหารประเภทอื่นๆอยู่แล้ว เนื่องจากได้มีการตั้งโรงงานไฟฟ้าปรมาณูขึ้นมาในหลายประเทศ ทำให้พบสารกัมมันตรังสีที่เรียกว่า “ซีเซียม-137” อยู่ในชั้นบรรยากาศ ดังนั้นเมื่อนำนมสดจากพื้นที่ต่างๆในโลกมาตรวจ เราพบค่าซีเซียม-137 อยู่ระหว่าง 0.1-2.1 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัมในนมผง ซึ่งเป็นค่าปกติธรรมดา

อย่างไรก็ตามการกำหนดค่ามาตรฐานของกัมมันตภาพรังสี เราจะต้องใช้เครื่องวัดซึ่งอาจมีค่าเบี่ยงเบนจากเครื่องวัดได้ไม่มากหรือน้อยกว่า 5 เบ็กเคอเรล ดังนั้นค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในสภาพปกติจึงยืดหยุ่นได้เป็น 2 เบ็กเคอเรล บวก 5 เบ็กเคอเรลในนมสด ซึ่งค่ามาตรฐานจะออกมา 7 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็น 7 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ในนมสด และในความเป็นจริงแล้วนมสดที่เราดื่มอาจจะมีค่ากัมมันตภาพรังสีเพียง 0 เบ็กเคอเรล หรือ 1 เบ็กเคอเรล ไปจนถึง 7 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งถือว่าเป็นค่าปกติที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาในการบริโภค เว้นแต่ว่าหากมีเกิน 7 เบ็กเคอเรลต่อลิตรก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าเกินมาตรฐานที่กระทรวงฯกำหนด

กรณีนมผงหรือผลิตภัณฑ์นมก็เช่นกัน ซึ่งในกระบวนการผลิตจะใช้นมสด 8 ส่วน ในการผลิตนมผง 1 ส่วน ดังนั้นเท่ากับว่าค่ากัมมันตภาพรังสีในนมผงจะเท่ากับค่ากัมมันตภาพรังสีที่พบในนมสด 2 เบ็กเคอเรล คูณ 8 เท่ากับ 16 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม และเมื่อมีค่าเบี่ยงเบนได้ 5 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม ดังนั้นค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ในนมผงหรือผลิตภัณฑ์นมจึงเป็น 21 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งหมายความว่า เป็นค่าปกติที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาอันตรายเช่นกัน เว้นแต่หากมีเกิน 21 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัมก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเกินมาตรฐานที่กระทรวงฯกำหนด

สำหรับอาหารประเภทอื่นๆ พบไม่เกิน 1 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม เราก็กำหนดโดยใช้หลักการเดียวกัน ซึ่งกำหนดค่ามาตรฐานไว้ไม่เกิน 6 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม
ในเรื่องนี้จึงขอให้ประชาชนได้มีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าไม่ว่าจะเกิดปัญหาโรงไฟฟ้าระเบิดหรือไม่ เราก็ต้องกำหนดค่ามาตรฐานตามตัวเลขดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าค่าที่กำหนดไม่ได้มีอัตราเสี่ยงต่ออันตรายจากรังสี เพราะการจะกำหนดให้เป็น 0 ไม่ว่าประเทศใดก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ในเมื่อในโลกนี้ได้มีการตั้งโรงงานไฟฟ้าปรมาณูขึ้นมาแล้วหลายประเทศ

เมื่อเกณฑ์มาตรฐานนี้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามกฎหมายแล้ว นมผงที่มีรังสีเกิน 21 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม จำเป็นจะต้องถูกเก็บขึ้น ห้ามบริโภค ในที่นี้ประชาชนสงสัยว่าเนื่องจากมีอันตรายใช่หรือไม่ถึงได้เก็บ ไม่ใช่อันตราย การที่เก็บเนื่องจากผิดกฎหมาย และนมที่เกินมาตรฐาน 21 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัมนั้น ที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุขได้ลงมติให้นำออกนอกประเทศ ห้ามนำออกมาขาย ส่วนมากคนคิดว่าเก็บเพราะมีอันตรายผู้ที่บริโภคนมผงธรรมดาหรือนมผงดัดแปลงเลี้ยงทารกที่จำหน่ายก่อนกำหนดมาตรฐานจึงมั่นใจได้ว่าปลอดภัย

ค่ามาตรฐานการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในนมที่ต่างประเทศได้กำหนดไว้ คือ
กลุ่มอีอีซี (กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป) กำหนดไว้              370 เบ็กเคอเรล
อเมริกา ญี่ปุ่น กำหนดไว้                                                         370 เบ็กเคอเรล
มาเลเซีย กำหนดไว้                                                                 120 เบ็กเคอเรล
ฟิลิปปินส์ กำหนดไว้                                                                    22 เบ็กเคอเรล
สิงคโปร์ กำหนดไว้                                                                       5 เบ็กเคอเรล
ออสเตรเลีย กำหนดไว้                                                               100 เบ็กเคอเรล
ไทย กำหนดไว้                                                                            21 เบ็กเคอเรล
 

                                       ลำดับเหตุการณ์มหันตภัยนิวเคลียร์ในอดีต

2 ธันวาคม 2495 – ที่แม่น้ำชอล์กในแคนาดา เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ทำให้น้ำที่มีกัมมันตภาพรังสีปนอยู่หลายล้านแกลลอนรั่วไหลออกมาภายในเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ซึ่งเพิ่งเริ่มทดลอง ใช้เวลากำจัดนานถึง 6 เดือน

7-10 ตุลาคม 2500 – ที่วินด์สเกล ไพล์ เตาปฏิกรณ์สกัดยูเรเนียมทางเหนือของลิเวอร์พูลอังกฤษ สืบเนื่องจากอุบัติเหตุไฟไหม้ ทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการเปิดเผย ภายหลังรัฐบาลอ้างว่า มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 39 ราย เนื่องจากอุบัติเหตุครั้งนั้น

2500 – อุบัติเหตุนิวเคลียร์ในแถบเทือกเขาอูราล โซเวียต ซึ่งอาจจะเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตอาวุธ มีรายงานเปิดเผยออกมาภายนอกน้อยมาก แต่เชื่อกันว่า มีชาวบ้านที่อยู่ในรัศมีหลายร้อยตารางไมล์จำเป็นต้องอพยพ

23 พฤษภาคม 2501
– อุบัติเหตุครั้งที่สองที่แม่น้ำชอล์ก แคนาดา เกิดขึ้นเนื่องจากแท่งเชื้อเพลิงมีความร้อนสูงมากเกินไป ต้องใช้เวลากำจัดกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาเป็นเวลานานเช่นกัน

3 มกราคม 2504 – ถังพักไอน้ำเกิดระเบิดขึ้นในระหว่างดำเนินการทดลองเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทางทหารใกล้น้ำตกไอดาโฮ สหรัฐ มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 3 คน

5 ตุลาคม 2509 – ที่โรงงานเอนริโก เฟอร์มี ซึ่งเป็นโรงงานทดลองแยกปรมาณูใกล้เมืองดีทรอยต์ สหรัฐ การรั่วไหลสืบเนื่องจากบางส่วนของแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย ไม่มีผู้ใดบาดเจ็บ แต่กัมมันตภาพรังสีในโรงงานมีอยู่ระดับสูงจนต้องปิดโรงงานในปี 2515

21 มกราคม 2512 – ที่ลูเซนส์ วัด สวิตเซอร์แลนด์ เตาปฏิกรณ์ปรมาณูเกิดอุบัติเหตุรั่วไหลแต่ไม่มีรายงานว่าผู้บาดเจ็บกี่คน

7 ตุลาคม 2512 – ในแซง-ลอรองต์ ฝรั่งเศส เนื่องจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณูได้รับเชื้อเพลิงเกินขนาด ทำให้บางส่วนหลอมละลาย และมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาเพียงเล็กน้อย ไม่มีผู้บาดเจ็บ

19 พฤศจิกายน 2514 – น้ำปนกากกัมมันตภาพรังสีทะลักลงสู่แม่น้ำมิสซิสซิปปีกว่า 50,000 แกลลอน เพราะล้นท่วมสถานที่เก็บกากกัมมันตภาพรังสีของบริษัทนอร์ทเทิร์น สเตต พาวเวอร์ ในมอนติเซลโล รัฐมินนิโซตา สหรัฐ

2517 – ที่เชฟเชนโก โซเวียต เนื่องจากเตาปฏิกรณ์เกิดระเบิด ไม่มีรายละเอียดในเหตุการณ์ครั้งนี้

22 มีนาคม 2518 – คนงานใช้เทียนไขในการตรวจสอบรอยรั่วของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของบริษัทบราวน์ เฟอร์รี ในดีเคเตอร์ รัฐอัลบามา สหรัฐ ทำให้เกิดไฟไหม้เสียหายประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ และระบบน้ำเย็นอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย ไม่มีการบาดเจ็บหรือรังสีรั่วไหล

28 มีนาคม 2522 – ที่เกาะทรีไมล์ ในมิดเดิลทาวน์ รัฐเพนซิลวาเนีย เตาปฏิกรณ์ปรมาณูเกิดหลอมละลายบางส่วนปล่อยกัมมันตภาพรังสีขึ้นสู่บรรยากาศ ถือว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดของสหรัฐ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการกำจัดกัมมันตภาพรังสี

7 สิงหาคม 2522 – ที่เมืองเออร์วิน รัฐเทนเนสซี โรงงานผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เกิดอุบัติเหตุปล่อยสารยูเรเนียมแรงสูงออกมา ชาวบ้านกว่า 1,000 คน ได้รับกัมมันตภาพรังสีในระดับที่สูงกว่าปกติ

11 กุมภาพันธ์ 2524 – ที่เมืองเซกัวยาห์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐ น้ำกว่า 100,000 แกลลอน ที่ใช้ในระบบทำความเย็นใน เตาปฏิกรณ์ปรมาณูของโรงงานไฟฟ้าพลังปรมาณูซึ่งอยู่ในหุบเขาเทนนิสซี เกิดรั่วไหลออกมาสู่ตัวอาคารรอบนอก ทำให้คนงานอย่างน้อย 8 คน ได้รับสารกัมมันตรังสี

25 เมษายน 2524 – โรงงานนิวเคลียร์ทสึกะ ในญี่ปุ่น ดำเนินการซ่อมแซมทำให้คนงานจำนวนหนึ่งได้รับสารกัมมันตรังสี

25 มกราคม 2525 – ท่อรังสีในโรงงานกินนา ใกล้โรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ค สหรัฐ เกิดรั่วปล่อยไอน้ำกัมมันตภาพรังสีจำนวนหนึ่งขึ้นสู่บรรยากาศ

19 เมษายน 2526 – เกิดอุบัติเหตุครั้งที่ 2 ที่เซกัวยาห์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐ น้ำที่มีกัมมันตภาพรังสีเกิดพุ่งออกมาระหว่างการซ่อมบำรุง ไม่มีผู้บาดเจ็บ

23 กันยายน 2526 – ที่อาร์เจนตินา อุบัติเหตุเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน

9 มิถุนายน 2527 – โรงงานเดวิส – เบสเส ใกล้ท่าเรือโอ๊ก รัฐโอไฮโอ สหรัฐ ขาดน้ำในระบบทำความเย็นของเตาปฏิกรณ์จากความผิดพลาดของเครื่องจักรและคนงาน แต่ได้รับการแก้ไขเสียก่อนที่จะเกิดการหลอมละลายขึ้นเนื่องจากมีความร้อนเกินขนาด

6 มกราคม 2529 – ที่เมืองยอร์จ รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐ กระบอกสูบเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเกิดระเบิดในโรงงาน มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บกว่า 100 คน

26 เมษายน 2529 – เกิดอุบัติเหตุที่สถานีไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในเมืองเชอร์โนบิย์ล โซเวียต มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 31 คน
 

หมายเหตุ : ข้อมูลข้างต้นได้มาจากน.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ 1 พ.ย. 2529 และ THE NATION ฉบับวันที่ 2 พ.ย. 2529

 

ข้อมูลสื่อ

93-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 93
มกราคม 2530
รายงานพิเศษ