• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การสูบบุหรี่กับโรคถุงลมในปอดพอง

การสูบบุหรี่กับโรคถุงลมในปอดพอง

ปอดของผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะมีสีดำเนื่องจากเขม่าเข้าไปจับ เป็นที่ทราบกันดีว่าคนที่สูบบุหรี่จะเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนที่ไม่สูบมากมายหลายเท่า คนไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ห้องเดียวกับผู้สูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนอื่นๆโดยเฉลี่ย เพราะหายใจเอาควันพิษเข้าไป ลูกของผู้ที่สูบบุหรี่จะเป็นโรคทางเดินหายใจอักเสบมากกว่าเด็กอื่นๆ หญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ก็มีอันตรายต่อลูกในครรภ์ ฯลฯ

ที่ยังไม่ค่อยทราบกันดีและร้ายแรงกว่าโรคมะเร็งของปอด ก็คือโรคถุงลมในปอดพอง ในปอดมีถุงลมเล็กๆมากมาย ซึ่งตามปกติจะยืดหดได้เพื่อรับออกซิเจนเข้าและถ่ายอากาศเสียออก เมื่อเขม่าจากบุหรี่เข้าไปจับมากเข้าๆ ผนังของถุงลมก็เสียสภาพ หดไม่ได้อย่างปกติ พองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ถ่ายเทอากาศไม่ได้ดี จะทำให้ขาดออกซิเจนและอากาศเสียคั่ง มีอาการเหนื่อย ทำอะไรไม่ค่อยได้ เดินก้าวสองก้าวก็เหนื่อย ทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง บางทีมีอาการเขียวเพราะขาดออกซิเจนมาก ถ้าไปโรงพยาบาลเขาเอาเครื่องช่วยหายใจที่ใส่ออกซิเจน แพทย์พยาบาลต้องคอยจัดออกซิเจนให้เหมาะ เครื่องมือนี้ราคาประมาณ 300,000 บาท ถ้าคิดค่าออกซิเจน ค่ายา ค่าบุคลากรต่างๆอีก ก็เป็นการรักษาที่แพงมาก และก็ไม่หาย

การสูบบุหรี่จึงทำให้เกิดอันตรายต่อทั้งตนเอง ต่อผู้อื่น และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม นับเป็นปัญหาทางจริยธรรมด้วย การกระทำอะไรที่มีผลเสียต่อผู้อื่นและสังคม บุคคลผู้เจริญพึงงดเว้น สิ่งที่รัฐ ห้างร้าน บริษัท องค์กร โรงเรียน พระ และบุคคลพึงกระทำคือ

1. ออกกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ และจำกัดการสูบในที่ที่มีบุคคลอื่นอยู่

2. ขึ้นภาษีบุหรี่ให้มากที่สุด โดยมุ่งที่จะลดจำนวนผู้สูบลง

3. ส่งเสริมอาชีพทดแทนแก่ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับบุหรี่ ไม่ควรมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าคน

4. มีการประชาสัมพันธ์ถึงโทษของบุหรี่ทางสื่อมวลชนเป็นประจำ เช่นเดียวกับการโฆษณา พระเมื่อให้ศีลควรเพิ่มเติมการเว้นจากการสูบบุหรี่ข้อต่อจากข้อสุราเมรยะก็ได้ โรงเรียนทุกโรงเรียนควรจะรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ เช่นเดียวกับในกองทัพ

5. อุดหนุนส่งเสริมให้มีองค์กรที่ทำการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
 

ข้อมูลสื่อ

91-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 91
พฤศจิกายน 2529
ศ.นพ.ประเวศ วะสี