บุหรี่ : ข้อเท็จจริงที่ทั้งคนสูบและไม่สูบควรทราบ
ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า... บุหรี่แต่ละมวน ทำให้ผู้สูบอายุสั้นลง 18 นาที!
การอยู่ในห้องที่มีคนสูบบุหรี่เพียง 1 ชั่วโมง ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่จะหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปในปอดเป็นปริมาณเท่ากับบุหรี่ 1 มวน! หญิงไม่สูบบุหรี่ที่แต่งงานกับชายสูบบุหรี่ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าหญิงไม่สูบบุหรี่ที่แต่งงานกับชายไม่สูบบุหรี่ และโดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตเร็วกว่าถึง 4 ปี
ทั้งๆที่เป็นเมืองพุทธ และศีลข้อที่ 5 สอนพุทธศาสนิกชนให้ว่างเว้นจากการเสพอบายมุข สุรายาเมา แต่กลับมีคนไทยติดบุหรี่ถึง 10 ล้านคน หรือคนไทยทุก 5 คนจะติดบุหรี่ 1 คน!
พ.ศ.2529 กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินงานทั้งหมดของกระทรวงเป็นเงินประมาณ 9,447 ล้านบาท แต่เฉพาะโรคหลอดลมอักเสบและโรคถุงลมในปอดพอง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันกับการสูบบุหรี่นั้น ต้องใช้เงินในการรักษาถึงปีละประมาณ 4,670 ล้านบาท (ยังไม่รวมถึงโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่)ทั่วโลกมีคนตายจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 10 ล้านคน มากกว่าจำนวนคนตายจากสงคราม อุบัติเหตุ และโรคอื่นๆทุกโรครวมกัน! จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศว่า
“การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของปัญหาสาธารณสุขโลกในปัจจุบัน”
ที่น่าเจ็บใจก็คือ เป็นสาเหตุเดียวที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้
แต่ก็มีคนจำนวนมากที่นอกจากจะไม่หลีก ไม่เลี่ยงแล้ว ยังใช้เงินทองไปซื้อหามารีบสูบ เร่งอัดเอาควันเข้าปอด เพื่อให้เกิดโรค เกิดมะเร็ง เกิดความทุกขเวทนาแสนสาหัส ทุรนทุราย ตายก่อนวัยอันควร
ควันบุหรี่ หรือควันนรกนี้ นอกจากจะทำอันตรายต่อคนสูบเองแล้ว ยังไปรบกวนทำอันตรายต่อผู้ที่ไม่สูบอื่นๆรอบข้างอีกด้วยเพราะฉะนั้น การสูบบุหรี่จึงไม่ได้เป็นแค่ปัญหาสำคัญทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนอีกต่อไปแล้ว
ไม่ใช่ธุระส่วนตัวของใครคนเดียวแล้ว
ไม่ใช่เรื่องตัวใครตัวมันอีกต่อไปแล้ว
หากแต่ได้กลายเป็นปัญหาของสิ่งแวดล้อม ชุมชน ประเทศ และของโลก เพราะส่งผลกระทบกระเทือนถึง สุขภาพ...เศรษฐกิจ...สิทธิ...ตลอดจน...ความ “สุขกาย สบายใจ” ของ...ทั้งคนสูบบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่ทุกคน!
⇒ มนุษย์เริ่มสูบบุหรี่เป็นมาตั้งแต่เมื่อไร
ไม่มีใครทราบว่ามนุษย์เริ่มสูบบุหรี่เป็นมาตั้งแต่เมื่อไรแน่ แต่ในยุคที่ชาวยุโรปเริ่มเดินทางไปสำรวจทวีปอเมริกาเหนือ ก็พบว่าพวกชาวอินเดียนแดงนิยมสูบควันของใบยาสูบจากกล้อง พวกนักบุกเบิกยุคแรกนี้จึงนำใบยาสูบมาเผยแพร่ในยุโรป
ผู้ที่ปรากฏชื่อเสียงเกี่ยวข้องกับยาสูบคนแรกคือ จัง นิโคต์ (JEAN NICOT) ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำโปรตุเกส ในช่วง ค.ศ.1560 เป็นผู้เผยแพร่ถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ของใบยาสูบว่ามีคุณค่าทั้งทางการแพทย์และอื่นๆ จนกระทั่งชื่อของเขาได้รับเกียรติไปตั้งเป็นชื่อของต้นยาสูบ คือ NICOTIANA TABACUM และเป็นชื่อของสารเคมีสำคัญในใบยาสูบคือ นิโคติน (NICOTINE)
สมัยก่อนนั้นนิยมสูบใบยาสูบจากกล้องหรือทำเป็นมวนใหญ่แบบซิการ์ หรือเคี้ยวเส้นยาสูบ หรือบางทีก็ป่นเป็นผงแล้วสูดเข้าจมูกแบบยานัตถุ์
จนกระทั่งถึง ค.ศ.1910 จึงเริ่มมีโรงงานผลิตยาสูบเป็นมวนบุหรี่สำเร็จรูปขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมวนด้วยกระดาษทำให้ขนาดมวนบุหรี่เล็กกะทัดรัด สวยงาม น่าสูบสะดวกใช้มากขึ้น เป็นเหตุให้ผู้คนหันมานิยมเสพอบายมุขนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วิวัฒนาการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตบุหรี่ ด้วยการมวนด้วยกระดาษสีสันต่างๆสวยงาม ในสมัยก่อนการบรรจุในห่อหรือกล่องที่ออกแบบงดงามทันสมัย พกพาติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก การสามารถทำให้มีควันละเอียดขึ้น การคิดค้นก้นกรอง ตลอดจนนำเมนทอลมาผสม กอรปกับการนำกลอุบายการโฆษณาและการตลาดอันชาญฉลาดของบรรดาบริษัทยาสูบข้ามชาติที่ทุ่มโฆษณาล้างสมองคนทั้งโลกให้มีค่านิยมที่ผิดๆว่า การสูบบุหรี่เป็นสัญลักษณ์ของความโก้เก๋ ทันสมัย เป็นเครื่องหมายของลูกผู้ชาย ของผู้ประสบความสำเร็จ มีผลทำให้มีคนหลงผิดติดบุหรี่กันงอมแงมทั่วโลก
สมัยก่อนคนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงเริ่มหันมานิยมสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
⇒ ควันบุหรี่มีส่วนประกอบอะไรบ้าง
ควันสีเทาของบุหรี่นั้น ประกอบด้วยส่วนประกอบต่างๆ ถึงกว่า 3,000 ชนิด!
โดย 10% เป็นอณูเล็กๆของสารต่างๆที่สำคัญและเป็นอันตรายที่สุดคือ นิโคตินและทาร์ (TAR) ส่วนอีก 90% เป็นแก๊สชนิดต่างๆ ที่สำคัญและเป็นอันตรายคือ คาร์บอนมอนอกไซด์ (CARBON MONOXIDE) นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังประกอบด้วยสารพิษอื่นๆอีกมากมาย เช่น HYDROGEN CYANIDE, NITROGEN DIOXIDE, ALDEHYDES, AMMONIA, ARSENIC, METHANE, และตะกั่ว
⇒ นิโคตินคืออะไร มีผลต่อร่างกายเราอย่างไร
นิโคตินเป็นสารที่มีฤทธิ์แรงที่สุดในบรรดาสารทั้งหลายที่อยู่ในควันบุหรี่ เป็นสารอัลคาลอยด์ที่ไม่มีสีแต่มีพิษมาก ออกฤทธิ์ได้ทั้งเป็นตัวกระตุ้น กด และกล่อมประสาทกลางของสมองคนเรา เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนติดบุหรี่กันงอมแงม
นิโคตินนี้ที่แท้คือ ยาพิษที่มีฤทธิ์ฆ่ารุนแรงมาก เพียงนิโคตินเข้มข้น 2-3 หยดบนลิ้น ก็สามารถฆ่าคนๆนั้นได้ นิโคตินเพียงแค่ 30 มิลลิกรัมก็สามารถทำให้คนตายได้ ในขณะที่บุหรี่ธรรมดามวนหนึ่งจะมีนิโคตินอยู่ราว 15-20 มิลลิกรัม พูดง่ายๆก็คือจำนวนนิโคตินในบุหรี่ 2 มวน ก็พอจะทำให้คนตายได้ในทันที เพราะฉะนั้นจึงมีผู้นำนิโคตินไปทำเป็นยาฆ่าแมลงที่ได้ผลยิ่ง
แต่ที่คนสูบบุหรี่ติดต่อกันหลายมวนแล้วไม่ตาย ก็เพราะว่า ส่วนน้อยของนิโคตินในควันบุหรี่เมื่อสูบแล้วจะดูดซึมเข้าไปในร่างกาย ของผู้สูบ ฉะนั้นแม้ว่าบุหรี่ธรรมดาหนึ่งมวนจะมีปริมาณนิโคตินระหว่าง 15-20 มิลลิกรัมก็ตาม แต่จะให้นิโคตินออกมาในควันบุหรี่ประมาณ 0.6-2.6 มิลลิกรัมต่อมวน (ดูตาราง) บุหรี่ไทยมีปริมาณนิโคตินระหว่าง 0.1-1.6 มิลลิกรัมต่อมวนเท่านั้น
โปรดสังเกตว่า ก้นกรองนั้นไม่ได้ทำให้ปริมาณนิโคตินลดน้อยลงแต่อย่างไรเลย เพราะฉะนั้นมีก้นกรองหรือไม่มีก้นกรอง ได้รับพิษจากนิโคตินเท่าเทียมกันหมดถ้าใครยังสูบถี่ สูบแรง ดูดยาวและอัดลึก ก็จะได้ปริมาณนิโคตินเข้าปอดมาก ถ้าใครยิ่งสูบจนเหลือก้นบุหรี่สั้นเท่าไร ก็จะได้ปริมาณนิโคตินเข้าปอดมากเท่านั้น
นิโคตินจะไปออกฤทธิ์ทั้งที่สมองกลาง ระบบหัวใจและหลอดเลือด และที่ระบบการหายใจ เช่น จะไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานมากขึ้น เต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไปทำให้หลอดเลือดหดตัว อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด ความดันสูง เป็นต้น
นอกจากนี้นิโคตินยังไปทำให้เบื่ออาหาร ไม่รู้รสอาหาร ในขณะเดียวกันก็ไปกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะ เป็นต้นเหตุของโรคแผลในกระเพาะและทางเดินอาหาร
⇒ทาร์คืออะไร มีผลต่อร่างกายเราอย่างไร
ทาร์คือ น้ำมันที่เกิดจากการเผาไหม้ของใบยาสูบ กระดาษมวน และสิ่งแปลกปลอมอื่นๆในบุหรี่ ประกอบด้วยสารเคมีหลายร้อยชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารพวกไฮโดรคาร์บอน หรือน้ำมันซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดมะเร็งในคนและสัตว์
บุหรี่ต่างประเทศจะควบคุมปริมาณทาร์อยู่ในระหว่าง 1-18 มิลลิกรัมต่อมวน บุหรี่ไทยมีปริมาณทาร์ระหว่าง 24-33 มิลลิกรัม/มวน ซึ่งสูงกว่าบุหรี่นอกมาก (ดูตาราง)
ตารางปริมาณของนิโคตินและทาร์ในบุหรี่ไทยชนิดต่างๆ
ชื่อบุหรี่ | ประเภท | นิโคติน/มวน | ทาร์/มวน |
พระจันทร์ | ไม่มีก้นกรอง | 0.6 | 24 |
รวงทิพย์ | ไม่มีก้นกรอง | 0.8 | 24 |
เกล็ดทอง | ไม่มีก้นกรอง | 1.0 | 26 |
รอแยล สแตนดาร์ด 3 | ไม่มีก้นกรอง | 1.5 | 28 |
รอแยล สแตนดาร์ด 3 | ก้นกรอง | 1.6 | 28 |
สามิต 14 | ก้นกรอง | 1.5 | 29 |
สามิต | ไม่มีก้นกรอง | 1.6 | 31 |
กรองทิพย์ | ก้นกรอง | 1.6 | 28 |
กรุงทอง 85 | ก้นกรอง | 1.8 | 29 |
กรุงทอง | ไม่มีก้นกรอง | 1.8 | 30 |
สายฝน | ก้นกรองกับเมนทอล | 1.8 | 28 |
ทีทีเอ็ม | ก้นกรอง | 2.6 | 33 |
คนที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง ปอดจะได้รับน้ำมันทาร์เข้าไปราว 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 110 กรัมต่อปี
น้ำมันทาร์ที่เข้าไปอยู่เต็มทางเดินหายใจ หลอดลม และถุงลมในปอดเป็นต้นเหตุของเสมหะ การไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งของริมฝีปาก ลิ้น ช่องปาก กล่องเสียง หลอดลม และปอดในที่สุด
⇒ คาร์บอนมอนอกไซด์คืออะไร มีผลต่อร่างกายเราอย่างไร
คาร์บอนมอนอกไซด์เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ที่เรารู้จักกันดีคือ เป็นแก๊สพิษที่อยู่ในควันของท่อไอเสียรถยนต์ คนสูบบุหรี่ดูดเอาแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์จำนวนมากมายเข้าไปในปอดมากกว่าจำนวนของคาร์บอนมอนอกไซด์บนถนนที่รถติดจอแจมากมายไม่รู้กี่เท่า คาร์บอนมอนอกไซด์จะถูกดูดซึมที่ปอด เข้าไปในเม็ดเลือดแดงทางกระแสเลือด ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจะจับกับออกซิเจนได้ ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในร่างกายเรา เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆทั่วตัวจะขาดออกซิเจน เช่น เซลล์ที่สมอง ที่หัวใจ ทำให้ทำอัไรก็เหนื่อยง่าย และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ
(อ่านต่อฉบับหน้า)
- อ่าน 40,451 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้