• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุนัขกัด

สุนัขกัด


บ้านเราเป็นเมืองพุทธ จึงปรากฏว่าทุกวันนี้มีสุนัขแล้วแมวทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของเป็นส่วนมาก และยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ทราบว่า แมวก็เป็นโรค “พิษสุนัขบ้า”

โรคพิษสุนัขบ้า เรือเรียกง่ายๆว่า โรคหมาบ้านั้น ความจริงแล้วยังมีสัตว์ที่เป็นโรคเดียวกันได้อีก คือ กระรอก กระแต และค้างคาว สำหรับกระรอกและกระแตมีผู้นิยมเลี้ยงกันมากขึ้น เนื่องจากมีความน่ารัก เลี้ยงง่าย แต่สัตว์ดังกล่าวทั้งหมด ไม่ว่าสุนัข แมว กระรอก กระแต ค้างคาว ถ้าได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดพิษบ้าแล้ว พิษบ้านี้จะติดอยู่กับน้ำลายของมัน เมื่อสัตว์เหล่านี้กัดหรือข่วน ทำให้คนมีบาดแผลและสัมผัสน้ำลายสัตว์ จะได้รับเชื้อจากน้ำลาย คนก็จะมีพิษบ้าไปด้วย

จากสถิติคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า (แมวบ้า กระรอกบ้า กระแตบ้า ฯลฯ)
ปรากฏว่ายังไม่มีใครรอดชีวิต!

อย่างไรก็ตาม “เราสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้” ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์ดังกล่าวทุก 12 เดือน และระมัดระวังอย่าให้สัตว์กัดหรือข่วน ถึงแม้ว่ามันจะได้รับการฉีดยาป้องกันแล้วก็ตาม

แต่ถ้าสัตว์เหล่านี้กัดหรือข่วน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ของตนเองที่รู้ประวัติหรือเป็นสัตว์จรจัดให้ปฏิบัติดังนี้
1. รีบล้างแผลเพื่อเอาน้ำลายสัตว์ออกโดยเร็ว ด้วยน้ำสะอาดและฟอกด้วยสบู่หลายๆครั้ง ล้างให้สะอาด (อย่าใช้ผงซักฟอกเพราะทำให้แผลระคายเคืองมาก)

2. ทาแผลด้วยน้ำยาทิงเจอร์ หรือเมลไทโอเลทบางๆ (ถ้าเทราดจะทำให้ผิวหนังไหม้)

3. ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ถ้ายังไม่เคยฉีดยาครบ 3 เข็ม หรือเคยฉีดครบ 3 เข็มมาเกิน 10 ปีแล้ว)

4. สังเกตอาการสัตว์ที่กัด ถ้าตายภายใน 10 วัน ให้ตัดศีรษะสัตว์แช่น้ำแข็งนำส่งสถานบริการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า แล้วรีบไปพาแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านั้น ต้องฉีดให้ “ครบชุด” ตามคำแนะนำของแพทย์ จึงจะสามารถป้องกันได้และถ้าไม่ต้องการเสี่ยงหรือเสียสุขภาพจิต จงช่วยกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดย
(1) กำจัดสุนัข แมว กระรอก กระแต ที่สงสัยว่าบ้าหรือถูกสัตว์ที่บ้าแล้วกัด
(2) ฉีดวัคซีนป้องกันให้สัตว์เลี้ยงทุกตัว ทุก 6 เดือน
(3) ไม่ควรเล่นหรือคลุกคลีกับสัตว์ โดยเฉพาะเด็ก
(4) ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามสุนัขจรจัด
 

 สถานที่บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (ตรวจสุนัขบ้า)

(1) สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กทม.
(2) กรมปศุสัตว์ ถนนพญาไท กทม.
(3) สถาบันวิจัยไวรัส กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยศเส กทม.
(4) โรงพยาบาลศิริราช กทม.
(5) คณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่
(6) คณะแพทยศาสตร์ขอนแก่น ขอนแก่น
(7) สถานชันสูตรโรคสัตว์ภาคใต้ ทุ่งสง นครศรีธรรมราช
(8) สถานชันสูตรโรคสัตว์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระ ขอนแก่น
(9) สถานชันสูตรโรคสัตว์ภาคเหนือ ห้างฉัตร ลำปาง
(10) ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 9 สงขลา
(11) ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 3 นครราชสีมา
(12) ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 6 พิษณุโลก
(13) โรงพยาบาลชลบุรี ชลบุรี
(14) โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี
(15) หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต 5 ลำปาง
(16) หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต 6 นครสวรรค์
(17) หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต 7 สุราษฎร์ธานี
(18) หน่วยชันสูตรสาธารณสุขเขต 1 สระบุรี

 

 

ข้อมูลสื่อ

90-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 90
ตุลาคม 2529
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์