• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตรวจภายใน / พีวี / พีอาร์

ตรวจภายใน / พีวี / พีอาร์



คนไข้รายนี้มีอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ สงสัยจะเป็นเนื้องอกที่มดลูก เดี๋ยวผมจะทำพีวี คุณช่วยเตรียมคนไข้ให้ด้วย” 
หมอสั่งพยาบาลช่วย หลังจากฟังคำบอกเล่าของคนไข้สาวที่ห้องตรวจนรีเวชกรรม

ส่วนที่ห้องตรวจศัลยกรรม แพทย์อาวุโสผู้เป็นอาจารย์ถามนักศึกษาแพทย์เพื่อสอบความรู้ของลูกศิษย์ว่า “วิธีตรวจมะเร็งทวารหนักที่ง่าย ปลอดภัยและราคาถูก คืออะไร?”

“เอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งแบเรียมครับ” นักศึกษาคนแรกตอบ ปฏิกิริยาจากอาจารย์คือ “ไม่ใช่”

“โดยการทำพีอาร์ครับ” นักศึกษาคนที่สองตอบ ซึ่งก็ได้รับรอยยิ้มอย่างพึงพอใจจากอาจารย์

ฉบับนี้เรามาคุยกันถึงคำว่า “พีวี” และ “พีอาร์” กันดีไหมครับ
พีวี (PV)
ย่อมาจาก Per Vagina Examination แปลว่า “การตรวจทางช่องคลอด” เป็นการตรวจหาสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง ได้แก่ ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และรังไข่
คนไข้ที่เป็นโรคทางสตรี (สูติ-นรีเวชกรรม) จึงได้รับการตรวจพีวีเป็นพื้นทุกราย

พีอาร์ (PR) ย่อมาจาก Per Rectum Examination แปลว่า “การตรวจทางทวารหนัก” เป็นการตรวจหาสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับทวารหนักและอวัยวะโดยรอบ (เช่น ต่อมลูกหมาก ปากมดลูก) เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ ริดสีดวงทวาร มะเร็งทวารหนัก ฝี คัณฑสูตร ต่อมลูกหมากโต หญิงขณะคลอดบุตร (ตรวจดูการเปิดของปากมดลูก) เป็นต้น

ส่วนคำว่า “ตรวจภายใน” เป็นภาษาหมอที่ใช้แทนคำว่า “พีวี” โดยเฉพาะ เข้าใจว่าคงเป็นคำที่เรียกย่อๆมาจาก คำว่า “การตรวจภายในช่องคลอด” (เหตุไฉนจึงไม่ใช้แทนความหมายของการตรวจภายในทวารหนักก็ไม่อาจทราบได้)
ดังนั้นถ้าคุณไปหาหมอ แล้วหมอบอกว่า “ขอตรวจภายในหน่อยนะ” ก็โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า หมอเขาจะตรวจปอด หัวใจ หรือตับไตไส้พุงของคุณ หากหมายถึงว่าคุณจะต้องขึ้นนอนบน “เตียงพีวี"
(เตียงที่ทำเป็นพิเศษสำหรับการตรวจแบบนี้) ให้หมอเขาพีวี

และคุณผู้ชายที่ต้องการให้หมอตรวจเช็กร่างกาย (เช่น ตรวจหัวใจ หรือกระเพาะ ลำไส้) ก็อย่าหลงไปบอกหมอว่า “ขอตรวจภายในหน่อยเถอะ” (ด้วยความเข้าใจผิดถึงความหมายของคำๆนี้) เข้าให้ล่ะ

 

ข้อมูลสื่อ

89-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช