• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เส้นประสาทไขสันหลัง

เส้นประสาทไขสันหลัง

 

 



เส้นประสาทไขสันหลังคือ เส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลัง โดยการรวมกันของรากเส้นประสาทด้านหลัง (dorsal root) กับรากเส้นประสาทด้านหน้า (ventral root)

รากเส้นประสาทด้านหลัง (dorsal root) ประกอบด้วยเซลล์ประสาทรับความรู้สึก ทำหน้าที่นำความรู้สึกจากส่วนต่างๆของร่างกายเข้ามายังไขสันหลัง

รากเส้นประสาทด้านหน้า (ventral root) ประกอบด้วยเซลล์ประสาทนำคำสั่ง (motor nerves) ทำหน้าที่นำกระแสประสาทหรือคำสั่งจากไขสันหลังออกไปยังกล้ามเนื้อหรือต่อมต่างๆภายในร่างกาย

เส้นประสาทไขสันหลังในคนมีทั้งหมด 31 คู่ ประกอบด้วย
เส้นประสาทไขสันหลังบริเวณคอ (cervical nerves) 8 คู่
บริเวณอก (thoracic nerves) 12 คู่
บริเวณเอว (lumbar nerves) 5 คู่
บริเวณกระเบนเหน็บ (sacral nerves) 5 คู่ และ
บริเวณกระดูกก้นกบ (coccygeal nerves) อีก 1 คู่

เส้นประสาทไขสันหลังมีใยประสาทที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน 4 ชนิด คือ
- ใยประสาทนำความรู้สึกที่ผิวหนัง ผนังลำตัว ข้อต่อ และเส้นเอ็น ทำให้เรารู้สึกร้อน เย็น สัมผัสลูบไล้ เจ็บปวด รู้สึกว่าขณะหนึ่งๆกำลังเดิน ยืน วิ่ง หรือทรงตัวเช่นไร ตัวอย่างเช่น ขณะยืน ความรู้สึกที่ข้อกระดูกสันหลัง ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งรับน้ำหนักของร่างกาย ทำให้เรารู้ว่าเรากำลังยืนอยู่ เป็นต้น

- ใยประสาทที่นำคำสั่งจากไขสันหลังไปยังกล้ามเนื้อลาย ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งแบบที่บังคับได้และแบบที่บังคับไม่ได้ ถ้าเซลล์ประสาทนี้ถูกทำลายไป จะเกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อตามอวัยวะต่างๆเช่น แขน ขา

- ใยประสาทชนิดนำกระแสประสาทจากหน่วยรับความรู้สึกของหลอดเลือดและอวัยวะต่างๆที่อยู่ในช่องท้องและช่องทรวงอก ใยประสาทนี้ถูกกระตุ้นเมื่ออวัยวะภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ลำไส้พองตัว หลอดเลือดหดตัว

- ใยประสาทเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติ ใยประสาทนี้ไปสิ้นสุดที่กล้ามเนื้อเรียบและต่อมต่างๆภายในร่างกาย เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การเคลื่อนไหวของลำไส้


การบาดเจ็บของไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลัง
ภยันตรายที่ทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อน และอาการบาดเจ็บที่เกิดกับไขสันหลังโดยตรง เป็นต้นว่า กระสุนปืนเจาะไขสันหลัง จะทำให้ไขสันหลังเกิดความเสียหาย ผลที่ตามมามีหลายอย่าง ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของบาดแผล ตลอดจนระดับไขสันหลังที่ได้รับความเสียหาย ถ้าไขสันหลังบริเวณคอได้รับความเสียหาย แขนและขาจะเป็นอัมพาต หายใจลำบาก หรือติดขัดทันทีที่เกิดเหตุ แขนและขาจะอ่อนปวกเปียก ความรู้สึกใต้ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บจะหมดไป นอกจากนี้ยังไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้ เพราะกระแสประสาทที่เชื่อมโยงสมองกับไขสันหลังส่วนที่ต่ำกว่าระดับคอจะขาดการติดต่อกัน

เมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นอาทิตย์หรือเดือน อาการอัมพาตที่แขนและขาจะค่อยๆเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากไขสันหลังส่วนที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ได้รับบาดเจ็บจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แขนและขาจะเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้บ้าง ในบางรายอาจโชคดีถึงขั้นที่ใช้ขาได้ แม้จะเดินกะเผลกก็ตาม


ถ้าหากส่วนที่บาดเจ็บใต้ระดับคอลงมาเช่นที่กลางหลัง อวัยวะที่ได้รับผลกระทบจะอยู่ที่ขา ความรู้สึกทางเพศหมดไป หมดสมรรถภาพทางเพศ เพราะเส้นประสาทนี้จะอยู่บริเวณตอนล่างของร่างกาย

ข้อมูลสื่อ

89-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 89
กันยายน 2529