• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิบัตรยา – แฮตช์ บิลล์ จากสหรัฐ ถึง วิกฤตการณ์ยาเมืองไทย

สิทธิบัตรยา – แฮตช์ บิลล์ จากสหรัฐ ถึง วิกฤตการณ์ยาเมืองไทย


ในช่วงปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจโลกได้ทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างสูง ทุกประเทศต่างพยายามดิ้นรนเพื่อแก้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศทุกรูปแบบ เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการทำสงครามการค้าอย่างแท้จริง นโยบายการค้าเสรีกำลังเป็นเพียงทฤษฎีที่ใช้สำหรับอ้างถึงให้สวยหรูเท่านั้น

แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่อาจเลี่ยงพ้นมรสุมเศรษฐกิจ ธุรกิจใหญ่ๆในประเทศต้องประสบปัญหาปิดกิจการไปก็มาก และอีกมากก็อยู่ในภาวะที่พยายามดิ้นรนเฮือกสุดท้ายในด้านการค้าระหว่างประเทศ ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐก็ขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาล จากปลายเหตุอันนี้ ทำให้สหรัฐหาทางออกด้วยการหันมาหยิบยกกฎหมายทางการค้าขึ้นมาเป็นอาวุธต่อสู้ นับตั้งแต่การออกกฎหมายจำกัดการนำเข้าสิ่งทอ (เจนกินส์ บิลล์) ฟาร์มแอกต์ สิทธิบัตรยา และกฎหมายส่งออกยาโดยไม่ผ่านการรับรอง ที่รู้จักกันในชื่อ “แฮตช์ บิลล์”

มาตรการทางการค้าของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเจนกินส์ บิลล์ ฟาร์มแอกต์ ล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่อง สิทธิบัตรยาและแฮตช์ บิลล์ ซึ่งกระเทือนถึงชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ผู้บริโภคยาโดยตรง ทำให้บรรดาสถาบัน และองค์การต่างๆ ออกมาคัดค้านกันตลอดมาอย่างเป็นรูปขบวนรายงานนี้จึงได้พยายามลำดับการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในปัญหาสิทธิบัตรยาและแฮตช์ บิลล์ ให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจอย่างกระจ่าง เพราะเป็นเรื่องกระทบถึงประชาชนทุกคน


ปัญหาสิทธิบัตรยา
เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคม 2528 แซม กิบบอนด์ วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตและคณะได้เดินทางมาประเทศไทย โดยมุ่งหมายในการเจรจาเกี่ยวกับกฎหมายจำกัดการนำเข้าสิ่งทอ และมีการพูดถึงการคุ้มครองลิขสิทธิ์ขึ้นมาด้วย ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2528 สมาคมผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมและสภาหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยได้จัดทำสมุดปกขาวเรื่อง “การคุ้มครองสิทธิบัตรของอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย” และนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย มีประเด็นร้องเรียนดังนี้คือ
1. ประเทศไทยไม่ได้ให้ความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรแก่ผลิตภัณฑ์ยา

2. มีข้อแตกต่างเกี่ยวกับระเบียบการขออนุมัติขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่สำหรับบริษัทต่างประเทศและบริษัทของไทย

3. ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อยาและนโยบายการผลิตยาของรัฐบาล ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดยา

นอกจากนี้ได้กล่าวอ้างว่า ปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรของไทย เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผลิตภัณฑ์ยาของสหรัฐอเมริกา เพราะปัจจุบันให้ความคุ้มครองเฉพาะแค่กรรมวิธีการผลิตเท่านั้น

ก่อนอื่นจะต้องมาทำความเข้าใจกับความหมายของ “สิทธิบัตรอุตสาหกรรมยา” เสียก่อน
สิทธิบัตรของอุตสาหกรรมยาในระดับกว้างนั้นหมายถึง การคุ้มครองบริษัทยาต่างชาติ ที่ผลิตยาแล้วส่งมาขายในประเทศไทย ไม่ให้บริษัทอื่นทำยาแบบเดียวกันขึ้นมาแข่งขัน ในช่วงเวลาที่ระบุไว้ตั้งแต่วันที่จดทะเบียน ซึ่งอาจจะเป็น 10 ปี หรือ 15 ปี ก็ได้แล้วแต่ข้อตกลง
หากประเทศไทยให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตามข้อเรียกร้องของสมาคมผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมและสภาหอการค้าอเมริกันแล้ว ผลที่เกิดตามมาก็คือ จะทำให้ประชาชนในประเทศประสบปัญหาการซื้อยาราคาแพงยิ่งขึ้น และเกิดภาวะขาดแคลนยาขึ้นมาทันที เพราะระบบสิทธิบัตรก่อให้เกิดการผูกขาดการผลิตยาของบรรษัทยาข้ามชาติ

สภาพความเป็นจริงในตลาดยาของเมืองไทยนั้น ไม่อาจให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นตามนัยยะอย่างที่ผู้เรียกร้องต้องการได้ ทุกวันนี้ตลาดยาในประเทศไทยก็เป็นตลาดเสรีอย่างมากแล้ว บริษัทยาต่างชาติส่งยาเข้ามาขายกันมากมาย โดยไม่สามารถตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพียงพอ ยาบางชนิดที่หาซื้อไม่ได้ในประเทศผู้ผลิตเอง แต่กลับหาซื้อกันได้สะดวกภายในตลาดเมืองไทย และปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สภาพเศรษฐกิจของไทยไม่เหมาะสมในการรับรองสิทธิบัตรยาเลย ไทยต้องพบภาวะขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลมาตลอด และคนไทยกว่า 80% ของประเทศก็จัดอยู่ในประเภทยากจน ต้องดิ้นรนหาเงินมาซื้อยารักษาโรคอย่างที่ได้เห็นมาช้านาน หากไปให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาของต่างชาติจะยิ่งเพิ่มภาระให้กับประชาชนหนักยิ่งกว่าที่เป็นอยู่แล้ว

ต่อมาได้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านในเรื่องนี้จากประธานสมาคมผู้ผลิตยาไทย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ หน่วยศึกษาบรรษัทยาข้ามชาติ สถาบันเอเชีย จุฬาฯ และกลุ่มศึกษาปัญหายาได้จัดให้มีการประชุมเรื่องสิทธิบัตรยาขึ้น โดยมีนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมด้วย เช่น องค์การเภสัชกรรม เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ผลการประชุม ลงมติคัดค้านการให้สิทธิบัตรยา และได้ยื่นจดหมายประท้วงพร้อมด้วยรายงานการประชุมต่อรัฐบาลและเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2528 นายมารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในเวลานั้น ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิบัตรยาแก่บริษัทยาต่างชาติ เพราะทำให้ผู้ผลิตยาในประเทศเดือดร้อน ประชาชนต้องซื้อยาราคาแพง

จนบัดนี้ปัญหาการเรียกร้องให้ไทยยอมรับการออกสิทธิบัตรยาก็ยังไม่ยุติลง บรรษัทยาต่างชาติ และสภาหอการค้าอเมริกันได้พยายามดำเนินการมาตลอดเวลา โดยได้ดำเนินการผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของตน จนกระทั่งปัจจุบัน (กรกฎาคม 2529) ก็ยังคงมีการเจรจาปัญหาสิทธิบัตรยาอยู่อีกโดยไม่ลดละ และเชื่อว่าเมื่อได้รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว จะต้องมีการเสนอปัญหาการให้สิทธิบัตรยาเข้าสู่สภาอย่างแน่นอน

 

ปัญหาแฮตช์ บิลล์
สำหรับปัญหาแฮตช์ บิลล์นี้ได้เริ่มมาก่อนปัญหาด้านสิทธิบัตรแล้วประมาณเดือนมิถุนายน 2527 บริษัทยาต่างๆในสหรัฐได้เคลื่อนไหวให้รัฐสภาสหรัฐแก้ไขปัญหายา ด้วยการอนุญาตให้บริษัทเหล่านั้นสามารถผลิตและส่งออกยาซึ่งยังไม่ผ่านการรับรองให้ใช้ในสหรัฐ ไปขายยังต่างประเทศได้ โดยอ้างว่า ปัจจุบันยาเหล่านี้ก็มีการส่งไปขายยังประเทศต่างๆอยู่แล้ว ในลักษณะที่ทำการผลิตและส่งออกจากประเทศอื่นที่มีสาขาของบรรษัทยาตั้งอยู่ เป็นเหตุให้สหรัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจไปเป็นจำนวนมาก

ต่อมาวุฒิสมาชิกออร์ริน จี.แฮตช์ แห่งรัฐยูท่าห์ สังกัดพรรครีพับลิกันได้ร่างข้อเสนอนี้ขึ้นมาคือ “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการส่งออกผลิตภัณฑ์ยา พ.ศ.2528, S.2878” เสนอเข้าที่ประชุมเมื่อ 26 กรกฎาคม 2527 จึงได้เรียกร่างข้อเสนอนี้ว่า “แฮตช์ บิลล์”แต่ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวคัดค้านจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรด้านสาธารณสุข และองค์กรอื่นๆ จากทั่วทุกมุมโลก จึงทำให้เลื่อนการพิจารณาออกไป และก็ถูกยับยั้งไปในที่สุด

 

ข้อเสนอเจเนนเทค : รูปแบบใหม่ในการขอแก้กฎหมายยา
ประมาณเดือนสิงหาคม 2528 บรรษัทยาข้ามชาติได้พยายามเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยเสนอให้มีการขอแก้กฎหมายให้ส่งยาที่ยังไม่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ไปขายยังต่างประเทศได้ เรียกว่า “ข้อเสนอเจเนนเทค” (Genentech Proposal) เสนอโดยบริษัทเจเนนเทค ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ เสนอให้มีการส่งออกยาที่ยังไม่ผ่านการรับรองไปให้เฉพาะกลุ่มประเทศแถบยุโรปเท่านั้น

ข้อเสนอเจเนนเทคนี้ ดูผิวเผินก็เหมือนว่าจะดีกว่าร่างข้อเสนอเดิม โดยมองในประเด็นที่ว่าจะไม่มีการส่งออกมายังประเทศด้อยพัฒนาโดยตรง แต่ความจริงแล้ว เป็นแต่เพียงการปรับปรุงรูปแบบภายนอกเท่านั้น เพราะโอกาสที่บริษัทยาจะสามารถส่งออกยาจากประเทศยุโรปผ่านไปขายในประเทศโลกที่สามก็เกิดขึ้นไม่ยาก แค่นำยานั้นมาบรรจุหีบห่อและปิดฉลากใหม่ ก็สามารถส่งไปขายให้กับประเทศโลกที่สามได้ ในฐานะเป็นยาที่ได้ผ่านการรับรองแล้ว ซึ่งข้อเสนอเจเนนเทคนี้ก็มีการคัดค้านตลอดมาเช่นกัน

 

S. 1770 : ร่างข้อเสนอที่ตามมา
ในเดือนกันยายน 2528 วุฒิสมาชิกออร์ริน แฮตช์ ก็ได้มีการปรับร่างข้อเสนอใหม่อีกครั้งเรียกว่า S. 1770 โดยเสนอให้มีการแบ่งประเทศที่จะสามารถส่งยาที่ไม่ผ่านการรับรองไปขายได้เป็น 3 ระดับ คือ
1. ประเทศกลุ่มที่ 1 ซึ่งมีระบบควบคุมยาที่ดีพอ จะสามารถส่งยาที่ไม่ผ่านการรับรองไปขายได้โดยตรง

2. ประเทศกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีระบบควบคุมทางด้านยาไม่ดีเท่ากับประเทศกลุ่มที่ 1 จะส่งไปขายได้เฉพาะยาที่ประเทศกลุ่มที่ 1 ให้การรับรองแล้ว

3. ประเทศกลุ่มที่ 3 จะส่งออกเฉพาะยาที่ระบุว่าสำหรับ “โรคเขตร้อน” เท่านั้น
ร่างข้อเสนอใหม่นี้ก็ยังไม่มีหลักประกันที่ดีเพียงพอ จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของสหรัฐ อีกทั้งองค์กรต่างๆทั่วโลก และในที่สุดก็ทำให้ร่าง S. 1770ได้รับการยับยั้งไป


S. 1848 “แฮตช์ บิลล์” ความพยายามครั้งล่าสุด
แม้ร่างข้อเสนออื่นๆที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการพิจารณา แต่บรรษัทยาข้ามชาติเหล่านั้นก็หาได้สิ้นสุดความพยายามไม่ ถ้ายังคงมีความพยายามจะปรับร่างข้อเสนอให้มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปิดช่องจากการถูกคัดค้านในร่างฉบับเดิมอีก
ประมาณเดือนตุลาคม 2528 ร่างข้อเสนอใหม่ S. 1848 ได้รับการเสนอโดยวุฒิสมาชิกออร์ริน แฮตช์ และวุฒิสมาชิกเอ็ดเวิร์ด เคนเนดี้ ซึ่งเนื้อหาสาระก็ไม่ได้แตกต่างจากร่างข้อเสนอเดิมมากนัก เพียงแต่มีความซับซ้อนมากขึ้น คือ

1. กลุ่มประเทศที่ 1 ประกอบด้วยประเทศออสเตรีย ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ แคนาดา เดนมาร์ค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ซึ่ง Secretary of Health & Human Service พิจารณาแล้วว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการเข้มแข็งเพียงพอในการให้การรับรองยาที่ไม่ผ่านการรับรองจากสหรัฐได้

2. กลุ่มประเทศที่ 2 เป็นประเทศที่มีมาตรการในเรื่องการให้มีฉลากยาที่เหมาะสม และมีมาตรการที่ดีพอในการติดตาม ตรวจสอบในปัญหาความปลอดภัยของยา รวมทั้งมีอำนาจในการกำจัดยาที่ไม่ปลอดภัยเหล่านั้นออกไปจากตลาดยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยาที่จะสามารถส่งมายังกลุ่มประเทศที่ 2 ได้นี้ จะต้องได้รับการรับรองจากประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มที่ 1 แต่จะยกเว้นสำหรับยาที่ใบรับรองทางตลาดถูกปฏิเสธ หรือเป็นยาที่ได้รับการถอนออกจากตลาดของประเทศใดประเทศหนึ่งของประเทศกลุ่มที่ 1 แม้ว่ายานั้นจะยังอยู่ในตลาดของอีกประเทศหนึ่งกลุ่มที่ 1 ก็ตาม

3. กลุ่มประเทศที่ 3 คือประเทศอื่นๆที่นอกเหนือจากกลุ่มประเทศที่ 1 และกลุ่มประเทศที่ 2 ซึ่งการส่งยาที่ไม่ผ่านการรับรองใดๆจากสหรัฐฯไปยังประเทศกลุ่มนี้ ให้อยู่ในการพิจารณาของ Secretary of Health & Human Service ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน เช่น กรณียาที่ระบุสำหรับโรคเขตร้อนหรือโรคบางอย่างที่มีเฉพาะในประเทศนั้นๆ และไม่มีอยู่ในสหรัฐฯ
ร่างกฎหมาย S. 1848 หรือแฮตช์ บิลล์ ฉบับนี้ได้ผ่านการรับรองด้วยคะแนนเสียง 13:2 จากสภาแรงงาน (U.S.Senate Labor) และคณะกรรมการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Committee) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2528

ประมาณเดือนมกราคม 2529 ร่างกฎหมาย S. 1848 หรือแฮตช์ บิลล์ จึงได้รับการเสนอเข้าสู่วุฒิสภา (Full Senate) เพื่อพิจารณาลงมติ
ด้วยร่างกฎหมายแฮตช์ บิลล์ยังคงมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับประชาชนผู้บริโภคยาในประเทศอื่นๆ องค์กรทางด้านสาธารณสุขอื่นๆก็ได้พยายามคัดค้านอีกครั้ง คปอส.(คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน) ของไทย ได้ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีเรแกนเพื่อคัดค้านร่างข้อเสนอกฎหมายฉบับนี้ และขอร้องให้ใช้อำนาจยับยั้งเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม นอกจากนี้สมาชิกรัฐสภายุโรปจำนวน 52 คน ก็ได้ส่งจดหมายคัดค้านไปยังวุฒิสมาชิกเคนเนดี้เรียกร้องให้มีการพิจารณากฎหมายนี้อย่างรอบคอบอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดวุฒิสภาสหรัฐก็ได้ผ่านมติในการรับรองร่างกฎหมาย S. 1848 นี้ ด้วยคะแนนเสียง 91:7 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2529 เหลือเพียงการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ถ้าหากผ่านมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็จะมีผลบังคับใช้ต่อไป เว้นแต่ว่าประธานาธิบดีเรแกนจะใช้สิทธิในการยับยั้ง

 

วิกฤตการณ์ยาในเมืองไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สำลี ใจดีในฐานะที่ปรึกษากลุ่มศึกษาปัญหายาได้ให้ข้อมูลว่า สภาพการบริโภคยาในเมืองไทยมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ สภาพผู้บริโภคยาส่วนหนึ่งกินยามากเกินไป ในขณะที่คนส่วนหนึ่งมีความจำเป็นต้องกินยาแต่ไม่มีเงินซื้อ จากข้อมูลของเอสแคปสามารถแบ่งลักษณะการบริโภคยาในเมืองไทยเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆคือ
1. ผู้บริโภคยาจำนวน 1 ใน 3 ของไทยนั้น กินยาเพื่อรักษาโรค
2. ผู้บริโภคยาจำนวน 1 ใน 3 กินยาด้วยความฟุ่มเฟือย ใช้ยาโดยไม่จำเป็น
3. ผู้บริโภคยาจำนวน 1 ใน 3 กินยาแล้วเกิดโรค เป็นอันตราย กินเพื่อความหายนะโดยไม่รู้ตัว

จากการสำรวจปริมาณการบริโภคยาของไทยทั้งระบบในปี 2528 ปรากฏว่าคนไทยกินยาในมูลค่าถึง 2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการนำเข้ายาสำเร็จรูปจากต่างประเทศถึง 43% ในส่วนยาที่ผลิตเองในต่างประเทศนั้นมีปริมาณ 57% แต่การผลิตยาในประเทศก็ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศถึง 95% ยานั้นแม้จะเป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่ประชาชนผู้บริโภคก็ได้หามีอำนาจในการตัดสินใจที่จะใช้ยาได้เอง เพราะจะต้องผ่านการตัดสินจากหลายฝ่าย เช่น แพทย์ เภสัชกร และร้านขายยา บุคคลเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลในการใช้ยาของประชาชนผู้บริโภค ซึ่งในเวลานี้ด้านการควบคุมการบริโภคยาเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ และหละหลวมมาก มีการสั่งยาสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามากมาย และยาบางชนิดนั้นก็มิได้จำเป็นสำหรับประเทศไทย เป็นการสร้างลัทธิการใช้ยาโดยฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น

จากผลการศึกษาปรากฏว่าในเขตกรุงเทพฯและหัวเมือง ประชาชนใช้ยาเกินจำเป็น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ ส่วนในเขตชนบทประชาชนก็ใช้ยาเกินความจำเป็น ในขณะที่ยังมีสภาพการขาดแคลนยาที่จำเป็นและมีคุณภาพสำหรับการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วย
สภาพการบริโภคยาเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างมาก และเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องพยายามร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการใช้ยาที่เป็นอยู่ในประเทศ เพิ่มมาตรการการควบคุมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น


ยาสองมาตรฐาน
นอกจากเมืองไทยจะมีสภาพการบริโภคที่น่าเป็นห่วงแล้ว อันตรายจากการบริโภคยายังเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อบรรษัทยาข้ามชาติได้ใช้วิธีการผลิตยาสองมาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย ในตำรับยาเมืองไทยกว่า 22,000 ชนิด มียาสองมาตรฐานอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น

ไซโพรเฮปทาดีน (ชื่อการค้าว่าเพอริแอกติน) ข้อบ่งใช้ในสหรัฐระบุว่า ใช้เป็นยาแก้แพ้ แต่ในเมืองไทยระบุว่า เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหาร

ไดเฟนอกไซเลต ไฮโดรคลอไรด์ (ชื่อการค้า โลโมทิล) ในสหรัฐระบุว่า ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ในเมืองไทยแม้จะระบุว่า ใช้แก้ท้องเสียเช่นกัน แต่ข้อมูลและขนาดวิธีใช้กลับแตกต่างกันคือ ในสหรัฐระบุว่า สำหรับเด็กอายุ 2-12 ปี ให้ใช้ชนิดน้ำ ห้ามใช้ชนิดเม็ด หากในเมืองไทยกลับระบุว่าให้ใช้ชนิดเม็ดเพียงอย่างเดียว

ไดไพโรน (ชื่อการค้า คอนเมล บีเซอรอล) ในสหรัฐไม่มีใช้ โดยห้ามใช้ตั้งแต่ปี 2520 แต่ในประเทศไทยมีขาย ระบุเป็นยาแก้ไข้

สเตรปโตมัยซิน ผสมเพนิซิลลิน (ชื่อการค้า เพนสเตรป) ไม่มีใช้และไม่มีขายในสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2527 สำหรับในเมืองไทยใช้เป็นยาแก้อักเสบหรือติดเชื้อ

นอกจากตัวอย่างที่ยกมานี้ ยังมียาสองมาตรฐานอีกมากที่ใช้และมีจำหน่ายในเมืองไทย และประชาชนผู้บริโภคยาสามารถซื้อหามากินเองโดยปราศจากการแนะนำและควบคุมที่ดีพอ


สรุป
จากสภาพการณ์ที่เป็นอย่างนี้เราจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือป้องกันตนเอง และระมัดระวังในการบริโภคอย่างรอบคอบ ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหาเหล่านี้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามหามาตรการที่รัดกุม และมีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอเข้ามาจัดการคลี่คลายสภาพที่เป็นอยู่โดยเร่งด่วนที่สุด มิใช่จะยืนยันอยู่แต่เพียงว่า มาตรการของเรารัดกุมเพียงพอแล้วอย่างเป็นคัมภีร์

                                                                                                        (ติดตามความคืบหน้าในหน้าข่าว)


 

ข้อมูลสื่อ

88-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 88
สิงหาคม 2529
กองบรรณาธิการ