• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใช้ยาเกินพอเพียง อาจเสี่ยงถึงชีวิต

การใช้ยาพอเพียง หมายถึงการใช้ยาที่เหมาะสมหรือพอเหมาะ สมเหตุสมผล ตามความจำเป็นไม่มากไป ไม่น้อยไป

ในบ้านเรามีการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมอยู่ 2 ลักษณะ
ลักษณะหนึ่งคือ ใช้น้อยไป เช่น ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ (ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ยาแก้อักเสบ) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ให้ครบขนาดและระยะเวลากำหนดสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ วัณโรค ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น) ก็มักจะพบว่าเมื่อกินได้เพียงไม่กี่วัน อาการทุเลา ผู้ป่วยก็จะหยุดกิน ทำให้ได้ยาไม่ครบ เกิดปัญหาโรคกำเริบซ้ำ หรือการดื้อยาตามมาได้

ยาเบาหวานและยาลดความดัน ซึ่งเป็นยาที่ใช้ควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ป้องกันภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้มีชีวิตยืนยาว ผู้ป่วยก็มักจะกินยาเหล่านี้ไม่ต่อเนื่อง เพราะมักเข้าใจผิดว่าโรคทุเลาแล้ว ซึ่งเกิดจากการสังเกตเองว่ารู้สึกสุขสบายดี โดยหารู้ไม่ว่าแม้ไม่มีอาการ โรคเหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังที่เรียกว่า "ภัยเงียบ" (หรือ silent killer)

อีกลักษณะหนึ่งคือ ใช้มากไป เกินจำเป็น หรือเกินพอเพียง
ในบ้านเรามีพฤติกรรมการใช้ยาเกินพอเพียงที่นิยมปฏิบัติกัน เช่น

- การใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น

สำหรับไข้หวัดและท้องเดิน ซึ่งเป็นโรคที่ไม่จำเป็น ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพียงแต่ให้ยาบรรเทา เช่น แก้ปวด ลดไข้ แก้ไอ สำหรับไข้หวัด หรือให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทดแทนสำหรับท้องเดิน ก็หายได้เป็นส่วนใหญ่ ก็มักจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น นอกจากจะไม่มีประโยชน์ (ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย) และสิ้นเปลืองแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อการแพ้ยา การทำให้เชื้อโรคดื้อยา และผลข้างเคียงจากยาได้

- การใช้ยาสตีรอยด์พร่ำเพรื่อ

ยาสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน เดกซาเมทาโซน) ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบ แก้แพ้ สำหรับการรักษาโรคที่มีความรุนแรง จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ โดยมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จริงๆ เท่านั้น แต่ก็มีการใช้ยานี้อย่างแพร่หลายเกินจำเป็น ในรูปของยาชุดและยาลูกกลอน (ซึ่งแอบใส่ยานี้ผสมอยู่) ที่นิยมใช้กันมากก็คือ การรักษาโรคปวดข้อ ปวดเอว ปวดหลัง เมื่อกินแล้วรู้สึกแก้ปวดได้ชะงัด ก็จะกินอย่างต่อเนื่องเป็นแรมเดือนแรมปี ไม่อาจหยุดยา เพราะหยุดยาแล้วอาการกำเริบอีก ในที่สุดก็จะได้รับพิษภัยจากยาสตีรอยด์ที่ทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ ติดเชื้อรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ หรืออาจทำให้กดต่อมหมวกไต (ซึ่งปกติทำหน้าที่ผลิตสารสตีรอยด์ที่พอเพียงสำหรับการทำงานของร่างกาย) จนเกิดภาวะขาดสารสตีรอยด์ หากหยุดกินยาสตีรอยด์ทันทีก็อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก เสียชีวิตได้เช่นกัน

มักจะสังเกตได้ไม่ยากว่า ใครที่กินยาชุดหรือยาลูกกลอนเป็นประจำ แล้วรูปร่างอ้วนฉุ หน้าอูม แขนขาลีบ ก็พึงสงสัยว่าได้รับยาสตีรอยด์เข้าไปแล้ว ถ้าสงสัยก็ห้ามบอกให้ผู้ป่วยหยุดกินยา อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดสตีรอยด์ ช็อกตายได้ ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยาที่เหมาะสมต่อไป

- การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์

ยากลุ่มนี้มีอยู่หลายชนิด นิยมใช้รักษาอาการปวด ข้อ ข้ออักเสบ แต่ก็มีการนำมาใช้แก้ไข้ แก้ปวดสารพัด จัดว่าเป็นยาที่มีการใช้กันบ่อยมากกลุ่มหนึ่งไม่น้อยกว่าพาราเซตามอล

ที่นิยมใช้กันมากก็คือ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อม ซึ่งพบบ่อยในคนวัยกลางคนและสูงอายุ มักจะได้ยากลุ่มนี้ เพื่อบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบของข้อ เนื่องจากโรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยจึงมักจะกินยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นแรมปี ทำให้เกิดผลข้างเคียง ที่สำคัญคือโรคแผลกระเพาะอาหาร ไตวาย และการแพ้ยา

ที่น่ากลัวก็คือ การใช้ยากลุ่มนี้ในรูปของยาฉีด โดยที่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยร้องขอให้แพทย์ฉีดให้เพียงเพื่อบรรเทาอาการปวด เคล็ดขัดยอก ซึ่งปกติใช้ยากิน หรือการนวดประคบก็ทุเลาได้ แต่ด้วยความเชื่อฝังใจว่ายาฉีดดีกว่ายากิน ก็มักจะขอให้แพทย์ฉีดยาให้ จึงมีการฉีดยานี้กันอย่างพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น อันตรายที่พบก็คือผู้ป่วยบางคนเกิดการแพ้ยา เป็นลมช็อกหลังฉีดยาทันที หากช่วยไม่ทันก็เสียชีวิตอย่างน่าเสียดาย

ก็ขอเตือนว่า อย่าฉีดยาโดยไม่จำเป็น

 

ข้อมูลสื่อ

351-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 351
กรกฎาคม 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ