• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิ่ง...กับปัญหาผิวหนัง

ปัจจุบันคนไทยออกกำลังกายด้วยการวิ่งกันมากขึ้น จึงขอเล่าเรื่องปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยในนักวิ่ง ซึ่งได้แก่ เล็บห้อเลือด ตุ่มน้ำใสพองที่ผิวหนัง ตาปลา ภาวะเท้าดำ ผิวแตกลาย ผิวหนังติดเชื้อโรค ผิวแพ้สัมผัส เช่นเดียวกับที่พบในนักกีฬาอีกหลายชนิดดังที่กล่าวไปแล้วในฉบับเดือนสิงหาคม นอกจากนี้นักวิ่งยังพบปัญหาผิวหนังอย่างอื่นอีก ได้แก่

หัวนมอักเสบ
เกิดจากการที่วิ่งไปแล้วหัวนมเสียดสีกับเสื้อ พบภาวะนี้ในนักวิ่งที่เข้าแข่งขันวิ่งมาราธอนร้อยละ 2 ถึง 16.3 นอกจากนั้นก็ยังพบในนักวิ่งทั่วไปที่ไม่ใช่นักกีฬาโดยเฉพาะในหญิงที่วิ่งโดยไม่ใส่ยกทรง และในชายที่อ้วนหรือใส่เสื้อเนื้อหยาบ ภาวะนี้พบได้บ่อยขึ้นในฤดูหนาวเพราะอากาศหนาวทำให้หัวนมตั้งชันเสียดสีกับเสื้อที่เปียกชื้นมากขึ้น ลักษณะหัวนมอักเสบในนักวิ่งจะพบรอยถลอก มีสะเก็ดแดง เจ็บที่หัวนมและรอบหัวนม อาจมีเลือดซึม การรักษาโดยทำความสะอาดบริเวณที่เป็น ซับให้ผิวแห้ง และอาจทาครีมสเตียรอยด์ หรืออาจทาด้วยขี้ผึ้ง petroleum jelly หรือขี้ผึ้งปฏิชีวนะ

การป้องกันภาวะหัวนมอักเสบก็คือควรสวมเสื้อใยสังเคราะห์ที่แห้งสนิทและเนื้อผ้าซับเหงื่อให้ผิวแห้งง่าย อาจทาขี้ผึ้งที่หัวนมหรือใช้ปลาสเตอร์ปิดหัวนมก่อนวิ่ง ผู้หญิงต้องสวมยกทรง ในผู้ชายอาจถอดเสื้อวิ่งแต่ต้องไม่ลืมทายากันแดด

มะเร็งผิวหนัง

มีการศึกษาภายในประเทศออสเตรียเปรียบเทียบระหว่างนักวิ่งมาราธอนและคนทั่วไปกลุ่มละ 210 คน พบว่านักวิ่งมาราธอนมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง ทั้งชนิดมะเร็งไฝดำและมะเร็งผิวหนังชนิดอื่นสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ ทั้งนี้จากการถูกแดดจัดเป็นเวลานานและการออกกำลังกายที่เหนื่อยเกินไปจะลดภูมิต้านทานของร่างกายลงด้วย

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือนักวิ่งมาราธอนเพียงร้อยละ 56 ที่ใช้ยากันแดดอย่างสม่ำเสมอ
องค์การอนามัยโลกประมาณว่าแต่ละปีทั่วโลกมีคนเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งไฝดำถึง 2-3 ล้านคน และเป็นมะเร็งไฝดำ (ซึ่งมีอัตราตายสูงมาก) ถึงปีละ 132,000 คน และมีคนตายจากทั่วโลกด้วยโรคมะเร็งไฝดำปีละ 48,000 คน และตายจากมะเร็งผิวหนังอื่นๆ ปีละ 12,000 คน

โรคเท้าเหม็น
พบโรคเท้าเหม็น (pitted keratolysis) บ่อยในนักกีฬา ที่มีเท้าอบชื้นอยู่เสมอ เช่นนักวิ่ง และผู้ที่ชอบเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำหน้าฝนเช่นนี้ เมื่อผิวหนังชั้นขี้ไคลของฝ่าเท้าเปียกชื้นจากเหงื่อ หรือน้ำที่เจิ่งนอง ทำให้ผิวหนังยุ่ยและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Micrococcus sedentarius พบได้บ่อย กว่าในผู้ชาย เพราะมีเหงื่อออกที่ฝ่าเท้ามากกว่า และผู้ชายมักสวมถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา

อาการสำคัญของโรคนี้ที่พบบ่อยสุดถึงร้อยละ 90 คือ เท้ามีกลิ่นเหม็นมาก นับเป็นการทำลายบุคลิกภาพ

อาการรองลงมาที่พบร้อยละ 70 คือเวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า ส่วนอาการคันนั้นพบได้น้อยคือ เพียงร้อยละ 8

ลักษณะของโรคเท้าเหม็น เห็นเป็นหลุมเล็กๆ ที่นิ้วเท้า ฝ่าเท้า บางครั้งหลุมอาจรวมตัวกันเป็นแอ่งเว้าตื้นๆ ดูคล้ายแผนที่ ถ้าขูดผิวหนังและย้อมเชื้อจะพบเชื้อแบคทีเรียติดสีน้ำเงิน

สำหรับการป้องกันโรคนี้คือ ต้องระวังให้เท้าแห้งอยู่เสมอ อาจใช้แป้งฝุ่นฆ่าเชื้อโรยบ้าง ส่วนการรักษานั้น ยารักษาโรคสิวที่ใช้กันบ่อยคือ เบนซอยล์เพอร์ออกไซด์ ก็นำมาใช้รักษาโรคเท้าเหม็นได้ผลดี นอกจากนั้นยาปฏิชีวนะและยาทาฆ่าเชื้อราก็รักษาโรคเท้าเหม็นได้

การดูแลสุขภาพเท้า
ขอฝากเรื่องการดูแลสุขภาพเท้าของนักกีฬาและคนทั่วไปดังนี้
เลือกสวมรองเท้าที่มีขนาดพอเหมาะ มีงานวิจัยชี้ว่าเด็กจำนวนมากสวมรองเท้าที่เล็กเกินไป พบว่าราวครึ่งหนึ่งของเด็กหญิงวัยเรียนเกิดปัญหาเกี่ยวกับเท้าเมื่ออายุได้เพียง 10 ขวบ พบความผิดปกติของเท้าหลายต่อหลายอย่าง เช่น เล็บขบ เล็บผิดรูปร่าง ตาปลา หรือกระดูกคด ล้วนเกิดจากการใส่รองเท้าที่มีขนาดไม่เหมาะสม

ล้างเท้าทุกวัน
ยกเว้นกรณีที่ผิวหนังเท้าแห้งและแตกอยู่แล้ว หลังจากล้างเท้าไม่ควรสวมรองเท้าถุงเท้าทันที ควรรอให้เท้าแห้งสนิทก่อนจึงค่อยสวมรองเท้า อาจใช้ผ้าขนหนูซับเท้าหรือใช้พัดลมเป่าเพื่อให้เท้าแห้งเร็วขึ้น

ระวังส้นเท้าแตก

อาจต้องดูแลเท้าเป็นพิเศษระหว่างการอาบน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อผิวหนังนุ่มตัวจากการสัมผัสน้ำ แล้วให้ใช้หินขัดขี้ไคลค่อยๆ ถูเท้าที่มีหนังหนาตัวขึ้นกว่าปกติ หลังจากนั้นให้ทาครีมให้ความชุ่มชื้น นวดบริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้า วิธีนี้ช่วยป้องกันปัญหาส้นเท้าแตกได้

ใช้แป้งฝุ่นโรย

หากเหงื่อออกที่เท้ามาก ใช้แป้งฝุ่นโรยก็ช่วยได้ เลือกใช้แป้งทั่วไป หรือแป้งเฉพาะสำหรับเท้าที่เรียกว่า foot powder แป้งชนิดนี้มีลักษณะคล้ายแป้งฝุ่นทาตัว เพียงแต่เนื้อแป้งอาจหนากว่า และดูดซึมน้ำได้ดีกว่า การโรยแป้ง ทำให้ผิวที่เท้าแห้ง ไม่เฉอะแฉะ จึงลดอาการระคายเคืองและช่วยให้เกิดความรู้สึกเย็นสบาย ควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน และควรใส่รองเท้าสลับวันเว้นวัน คู่ใดไม่ได้ใส่ก็ผึ่งเสียให้แห้ง

ป้องกันเล็บขบ

เล็บขบพบได้บ่อยในคนที่สวมรองเท้าคับเกินไป และตัดเล็บผิดวิธี เล็บมือนั้นให้ตัดเป็นรูปโค้งมนตามนิ้วมือได้ แต่ถ้าตัดเล็บเท้าโค้งมนตามนิ้วจัดเป็นการตัดเล็บที่ผิดวิธี เพราะเมื่อเล็บงอกขึ้นมาใหม่ เล็บอาจงอกแทงผิวหนังข้างๆเล็บ ทำให้เกิดการอักเสบบวมแดง การตัดเล็บเท้าที่ถูกต้อง คือ ตัดเป็นเส้นตรง

ข้อมูลสื่อ

353-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร