• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แมลงกินได้ อร่อย มีคุณค่า แต่...

แมลงกินได้มีอะไรบ้าง หาได้จากไหน ในฤดูกาลใด
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้รวบรวมรายชื่อแมลงที่กินได้ในประเทศไทยว่ามีตั้งแต่ 44 ชนิด ถึง 196 ชนิด แต่ที่พบบ่อยๆ ในตลาดปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 20-25 ชนิด 

                          

ถ้าจะพิจารณาแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลง พบว่าแมลงที่นำมากินสามารถหาได้จากแหล่งสำคัญๆ ดังนี้
ในดิน แมลงที่หาเก็บได้จากดิน ได้แก่ จิ้งหรีดบ้าน จิ้งหรีดนา จิโปม (จิ้งหรีดหางสั้น) แมงกระชอน แมงมัน แมงกินูน กุดจี่ ฯลฯ
ต้นไม้-พุ่มไม้ เป็นแหล่งที่อยู่ของมดแดงและไข่มดแดง ตั๊กแตนปาทังก้า ตั๊กแตนอีโม่ ด้วงปีกแข็ง (เช่น กว่าง) จั๊กจั่น หนอนไม้ไผ่ รังผึ้งและรังต่อ

แมลงบางชนิดสามารถหาเก็บได้จากบึงน้ำ ทุ่งนา ได้แก่ แมงดานา แมงตับเต่า แมงเหนี่ยง ตัวอ่อนแมลงปอ ฯลฯ

มีแมลงบางชนิดได้จากการเพาะเลี้ยงได้แก่ หนอนไหม และผึ้ง ปัจจุบันมีการทำฟาร์มจิ้งหรีดไข่ (หรือจิ้งหรีดขาว) อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) และภาคเหนือ
ปริมาณแมลงที่ได้จากการล่า หาเก็บจากแหล่งธรรมชาติมักจะเป็นไปตามฤดูกาล แต่ช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม จะเป็นช่วงที่นักล่า หาเก็บสามารถรวบรวมแมลงได้หลากหลายชนิด เช่น มดแดง (ไข่มดแดง) จิ้งหรีด แมงกินูน แมงดานา ฯลฯ แต่เมื่อมองภาพรวมในรอบปีแล้วคนไทยจะมีอาหารแมลงชนิดต่างๆ หมุนเวียนให้กินตลอดปี ส่วนหนึ่งได้จากการเพาะเลี้ยง ซึ่งนับวันจะมีเกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงแมลงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

วิธีปรุงอาหารแมลง

ในอดีต คนไทยภาคอีสานและภาคเหนือเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมการกินแมลงมาก่อน วิธีการปรุงไม่ได้แตกต่างจากอาหารพื้นบ้านรายการอื่นๆ แต่อย่างใด

วิธีปรุงอาหารแมลงได้แก่ ยำ (เช่น ไข่มดแดง) ห่อหมก อู๋ (วิธีการปรุงอาหารชนิดหนึ่งของภาคอีสานที่ปรุงด้วยเครื่องแกง มีน้ำขลุกขลิก ซึ่งอาจปรุงด้วยลูกอ๊อดหรือปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น) น้ำพริก (แจ่วหรือป่น) นึ่ง ลวก แกง (เช่น แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง หรือใส่แมงกินูน ฯลฯ) ปิ้ง-ย่าง (เช่น จั๊กจั่น แมงดานา) และคั่ว (เช่น แมงกินูน)

ปัจจุบัน ตำรับอาหารแมลงสนองตอบคนในเขตเมืองมากขึ้น วิธีปรุงนอกจากมีรูปแบบพื้นบ้านแล้ว อาจจะมีวิธีปรุงในรูป ผัด ทอด (เช่น ไข่เจียวใส่ไข่มดแดง ไข่เจียวใส่ตัวอ่อนแมลงปอ) ชุบแป้งทอด ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะสามารถหากินอาหารแมลงที่ปรุงตามตำรับสากล เช่น เบอร์เกอร์ แซนด์วิช และพิซซ่าที่ใช้หนอนไม้ไผ่ หรือหนอนไหม อาหารเหล่านี้จะพบเห็นในย่านที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ภัตตาคาร แถบตลาด อตก. ถนนข้าวสาร พัฒน์พงษ์ สวนลุมไนท์บาร์ซ่า ภัตตาคารในจังหวัดท่องเที่ยวทางภาคเหนือและอีสาน


ใครบ้างที่กินอาหารแมลง
ที่ผ่านมาอาหารแมลงเป็นอาหารของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ในชนบท (Yhoung-aree, และคณะ พ.ศ.2540) แต่ปัจจุบันพบเห็นตำรับอาหารแมลงทั้งที่ปรุงแบบพื้นบ้าน (เช่น น้ำพริก แกง ฯลฯ) ปรุงแบบอาหารในเขตเมือง (ผัด ทอด ชุปแป้งทอด) และแบบตะวันตก (เบอร์เกอร์ แซนด์วิช พิซซ่า) สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดแนวความคิดได้ว่าปัจจุบันอาหารแมลงเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง
ปี พ.ศ.2548 ผู้เขียนและกัณวีร์ วิวัฒน์พานิช ร่วมกันสำรวจ พบว่าผู้ที่กินอาหารแมลงสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้

กลุ่มที่ 1
คนไทยในภาคเหนือและภาคอีสาน ทั้งที่อาศัยอยู่พื้นราบ ชาวเขา หรือย้ายถิ่นไปอยู่ที่จังหวัดอื่นๆ

กลุ่มที่ 2
คนไทยที่ย้ายถิ่นออกจากภาคเหนือและ ภาคอีสานแล้วไปสร้างครอบครัวในจังหวัดอื่นๆ คู่สมรส ที่มีพื้นเพเดิมมาจากจังหวัดที่ไม่เคยกินอาหารแมลงมาก่อน เมื่อได้ลิ้มรสอาหารแมลงแล้วมักจะยอมรับในรสชาติ แล้วหันมายอมรับอาหารแมลงได้ในที่สุด

กลุ่มที่ 3
คนไทยที่มีพื้นเพเดิมมาจากท้องถิ่นที่ไม่เคยกินอาหารแมลงมาก่อน แต่ได้พบเห็นอาหารแมลงที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปจนชินตา บางคนที่มีนิสัยชอบทดลอง แม้ว่ารูปลักษณ์ของแมลงจะไม่น่าดูนัก แต่เมื่อได้ทดลองชิมก็มักจะติดใจรสชาติ แล้วก็เกิดการยอมรับอาหารแมลงในที่สุด

กลุ่มที่ 4
นักท่องเที่ยวต่างชาติ ปกติคนกลุ่มนี้มักจะนิยมอาหารไทยอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ยากที่จะติดใจในรสชาติอาหารแมลง บางรายมีความคุ้นเคยกับอาหารแมลงมาก่อนอยู่แล้ว ในบรรยากาศของการท่องเที่ยว แมลงทอดจะไปได้ดีกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรายที่ยังนิยมเบอร์เกอร์หรือแซนด์วิชหนอนไม้ไผ่ และพิซซ่าหนอนไหม ก็เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้พวกเขาคลายจาก "อาการคิดถึงบ้าน" ได้

แมลงกินได้มีจำหน่ายที่ไหนบ้าง
การที่อาหารแมลงเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั้งในเขตเมืองและชนบท ธุรกิจด้านอาหารแมลงจึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ
จากการติดตามเส้นทางการค้าของแมลงกินได้ พบว่า ปัจจุบันการเก็บหาแมลงในพื้นที่เกษตรกรรมที่เคยเป็นพื้นที่ระบาดของแมลงกินได้มีน้อยลง เพราะเกษตรกรกำจัดปัญหาโดยการจับกินเป็นอาหารแล้วยังนำไปจำหน่ายในตลาดอีกด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าแมลงกินได้ที่มีในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำเข้าแมลงจากประเทศเพื่อนบ้าน เส้นทางที่สำคัญที่เป็นจุดนำเข้าแมลงคือตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จากนั้น แมลงดิบจะนำเข้าไปจำหน่ายที่ตลาดของเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ (ตลาดคลองเตย ตลาดเทเวศร์) ขอนแก่น พิษณุโลก ฯลฯ ต่อไป
นอกจากนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ปัจจุบันการทำฟาร์มแมลงกินได้เริ่มได้รับความสนใจ มีการส่งเสริม ทดลองเลี้ยงเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของครอบครัวในพื้นที่ทางภาคอีสานและภาคเหนือ บางฟาร์มเริ่มมีลูกค้าประจำมารับซื้อแมลงที่ยังมีชีวิต เพื่อนำไปปรุงจำหน่ายในตลาดต่อไป

ปกติแล้วสามารถหาซื้ออาหารแมลงที่ปรุงแล้ว (แมลงทอด แมลงชุบแป้งทอด แมลงนึ่ง ฯลฯ) ได้จากพ่อค้า-แม่ค้ารถเข็นตามริมทางเดิน ตลาดอาหาร ตลาดนัด ตลาดนัดหน้าโรงงาน ร้านอาหาร ภัตตาคารและศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป

บริเวณชุมชนแออัด (เช่น คลองเตย) ซึ่งมักจะมีชาวอีสานเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พ่อค้าจะหาบสาแหรกอาหารแมลงเดินจำหน่ายในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่พ่อค้าลักษณะเช่นนี้จะจำหน่ายเฉพาะแมลงที่เป็นที่นิยม เช่น จิ้งหรีดทอด ตั๊กแตนทอด แมงกระชอนทอด ฯลฯ

คุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้
สถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่งให้ความสนใจเกี่ยวกับคุณค่าอาหารแมลง เพราะเป็นอาหารของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงได้และน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะทุโภชนาการของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยอีกด้วย

ผลการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการพบว่าจุดเด่น ของอาหารแมลงอยู่ที่ปริมาณสารอาหารกลุ่มพลังงาน โปรตีน และไขมัน สำหรับเกลือแร่ที่มีอยู่จำนวนมากได้แก่ธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ส่วนวิตามินที่พบในแมลงได้แก่วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก (สถาบันวิจัยโภชนาการ พ.ศ.2548)

สารอาหารพลังงาน

กลุ่มหนอนไหม หนอนไม้ไผ่ ตัวอ่อนของผึ้ง ตัวต่อและไข่มดแดง จะมีสารพลังงานค่อนข้างสูง กล่าวคือ ปริมาณดิบ 100 กรัมให้พลังงานประมาณ 140-230 กิโลแคลอรี

สำหรับแมลงที่มีเปลือก เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตนปาทังก้า แมงตับเต่า ถ้าเด็ดปีกเลือกเอาเฉพาะส่วนที่กินได้ และสภาพแมลงดิบปริมาณ 100 กรัม มีความจุของสารอาหารพลังงานประมาณ 90-150 กิโลแคลอรี (นันทยา จงใจเทศและคณะ พ.ศ.2549) และถ้าผ่านการลวกให้สุก สารอาหารพลังงานอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่ไม่มากนัก

การนำแมลงไปทอด สารพลังงานเพิ่ม 3-4 เท่า เช่น หนอนไม้ไผ่ดิบ 100 กรัมให้พลังงานประมาณ 230 กิโลแคลอรี เมื่อนำไปทอด หนอนไม้ไผ่ทอด 100 กรัมจะให้พลังงาน 644 กิโลแคลอรี สำหรับจิ้งหรีดดิบ (ชำแหละแล้ว) จำนวน 100 กรัมให้พลังงาน 133กิโลแคลอรี แต่เมื่อนำไปทอด ปริมาณที่ทอดแล้ว 100 กรัมจะให้พลังงาน 465 กิโลแคลอรี (สถาบันวิจัยโภชนาการ พ.ศ.2548) ดังนั้น ถ้ากินในรูปของการชุบแป้งทอด ก็จะทำให้ได้พลังงานมากกว่านี้

โปรตีน
การวิเคราะห์ตัวอย่างแมลงกินได้ของนักวิชาการจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ทราบว่าแมลงเป็นแหล่งโปรตีนเนื้อสัตว์ที่ดีอีกแหล่งหนึ่ง

แมลงดิบ 100 กรัม จะให้โปรตีนประมาณ 9-65 กรัม ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณโปรตีนที่ได้จากไข่ไก่ ๑ ฟอง หรือหมูบด-เนื้อไก่ 100 กรัม (โปรตีนในไข่ไก่ 1 ฟอง = 13 กรัม; ในหมูบด 100 กรัม = 18 กรัม; ในเนื้อไก่ 100 กรัม = 28 กรัม)

หนอนไม้ไผ่มีโปรตีนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับจิ้งหรีด แมงกระชอนและกินูน (โปรตีนในหนอนไม้ไผ่ = 9 กรัม; จิ้งหรีด = 17 กรัม; แมงกระชอน = 15 กรัม และกินูน = 13 กรัม)

กลุ่มแมลงกินได้นี้ ตั๊กแตนปาทังก้าและแมงมันเป็นแมลงที่มีปริมาณโปรตีนมากกว่าชนิดอื่นๆ คือ โปรตีนจากปาทังก้า 100 กรัม = 27 กรัมและแมงมันมีโปรตีนประมาณ 65 กรัม วิธีการปรุงไม่ว่าลวกหรือทอดอาจจะมีผลต่อปริมาณโปรตีนบ้าง แต่ไม่มากนัก

นอกจากปริมาณโปรตีนแล้ว ความสำคัญทางโภชนาการจะพิจารณาคุณภาพของโปรตีนควบคู่ไปด้วย คุณภาพของโปรตีนบ่งชี้ได้จากคะแนนของกรดอะมิโน ค่าดังกล่าวหมายถึงสัดส่วนปริมาณกรดอะมิโนแต่ละชนิดที่มีในอาหารแมลงเมื่อเทียบกับปริมาณที่ร่างกายควรจะได้รับ

กรณีเช่นนี้ พบว่าหนอนไหมมีโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด รองลงมาคือหนอนไม้ไผ่ จิ้งหรีด ตัวต่อและปาทังก้า สำหรับโปรตีนในแมงกินูนเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ (นันทยา จงใจเทศและคณะ พ.ศ.2549)

ไขมัน

ระดับไขมันในอาหารแมลงจะสอดคล้องกับปริมาณ พลังงานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แมลงที่มีไขมันสูงได้แก่หนอนไม้ไผ่ คือน้ำหนักดิบ 100 กรัมมีไขมันประมาณ 20 กรัม ที่เหลือมีไขมันอยู่ประมาณ 4-12 กรัม (ได้แก่ ปาทังก้า จิ้งหรีด หนอนไหม และตัวต่อ)

"การทอด" เป็นวิธีปรุงที่มีผลต่อการเพิ่มไขมันในอาหารแมลง
โดยทั่วไป แมลงดิบ 100 กรัมจะดูดซับเอาไขมันจากการทอดประมาณ 13-17 กรัม (อรพินท์ บรรจงและคณะ พ.ศ.2545) แต่ประเภทหนอนไม้ไผ่หรือหนอนไหมอาจจะดูดซับน้ำมันได้มากกว่านี้ กล่าวคือ หนอนไม้ไผ่ดิบซึ่งมีไขมันประมาณ 20 กรัม เมื่อนำมาทอดพบว่าในหนอนไม้ไผ่ทอด 100 กรัมจะมีไขมันอยู่ประมาณ 55 กรัม

ประเภทของไขมันในอาหารแมลง โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลและกรดไขมันจะช่วยบ่งชี้คุณภาพของไขมันในอาหารแมลง การวิเคราะห์ของนันทยา จงใจเทศ และคณะ พ.ศ.2549 พบว่าจิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีคอเลสเตอรอลสูง (105 มิลลิกรัม ต่อแมลง 100 กรัม) ตามด้วย ปาทังก้า (66 มิลลิกรัม) แมงกินูน (56 มิลลิกรัม) และ หนอนไม้ไผ่ (34 มิลลิกรัม)

สำหรับกรดไขมัน ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันไม่อิ่มตัว และกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวก็ยังประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดียว (monounsaturated fatty acid) และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acid)

ตามหลักการทางโภชนาการนั้น ร่างกายควรได้รับกรดไขมันทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ (กรดไขมันอิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งหลายตำแหน่ง) คิดเป็นสัดส่วน 1 : 1 : 1 จากตัวอย่างอาหารแมลงชุดดังกล่าวนี้ พบว่าจิ้งหรีด จิโปม ปาทังก้าและกินูนเป็นแมลงที่มีสัดส่วนของกรดไขมันเป็นไปตามที่แนะนำข้างต้นนี้

สารไคติน
ไคตินเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างร่างกายของสัตว์ประเภทกุ้ง ปูและแมลง สารไคตินจากเปลือกแมลง มีประโยชน์ต่อผู้ที่ชื่นชอบอาหารแมลง กล่าวคือเมื่อไคตินลงสู่ลำไส้ ไคตินจะถูกย่อยด้วยเอนไซม์ไคตินเนส ส่วนหนึ่งได้ผลเป็นสารไคโทซาน

จากนั้นทั้งไคตินและไคโทซานสามารถจับตัวกับไขมัน ส่งผลต่อการลดลงของระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ (Majeti & Kumar, 2000)

นอกจากนี้ ไคตินและไคโทซานยังช่วยต่อต้านการติดเชื้อจากยีสต์ในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย (Koide, 1998)

ข้อควรระวังจากการกินแมลงมีอะไรบ้าง
ถ้าหากเมินรูปลักษณ์ของแมลงแล้วหันมาทดลองชิมแมลงทอด เชื่อแน่ว่านักชิมหลายคนจะต้องติดใจรสชาติและเนื้อสัมผัสของแมลงทอด จนอาจจะหันมายอมรับอาหารแมลงอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้
ส่วนที่ทำให้แมลงทอดมีกลิ่นหอมและรสชาติอร่อยมาจากส่วนของไขมันที่มีในตัวแมลงและส่วนที่เป็นเปลือกที่เรียกว่า สารไคติน

เมื่อไคตินถูกความร้อน อาจจะโดยการเผา ปิ้ง ย่างหรือทอด จะทำให้แมลงมีเนื้อสัมผัสกรอบ มีกลิ่นหอม ชวนให้การขบเคี้ยวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คำแล้วคำเล่า ตัวแล้วตัวเล่า จนนักชิมอาจจะลืมปริมาณที่ตนกินเข้าไป ดังนั้น การกินอาหารแมลงมีข้อควรระวังดังนี้

ปริมาณที่กิน
การกินแมลงเป็นของว่าง ของขบเคี้ยว หรือกินเป็นกับแกล้มในวงนักดื่ม โดยเฉพาะแมลงทอด อาจจะสร้างความเพลิดเพลินแก่นักกิน จนส่งผลทำให้ร่างกายได้สารอาหารพลังงาน ไขมันและคอเลสเตอรอลเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ และเกิดเป็นภาวะอ้วนติดตามมาได้

นอกจากนี้ การกินแมลงในปริมาณมากและบดเคี้ยวไม่ละเอียด จะทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณโคนลิ้นเนื่องจากสารไคตินจากเปลือกแมลงอีกด้วย

พ่อค้าบางรายทำการทอดแมลงในน้ำมันที่ใช้ซ้ำๆ กัน น้ำมันที่ผ่านการใช้มาแล้วหลายๆ ครั้งจะเป็นอันตรายต่อร่างกายเพราะมีสารก่อมะเร็งปะปนอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ผู้ซื้ออาจจะตรวจสอบหรือสังเกตได้ยาก จึงควรหลีกเลี่ยงการกินแมลงปริมาณมากๆ กรณีที่ติดใจรสชาติจริง อาจจะต้องปรุงเองในครอบครัวเพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็งดังกล่าว

แม้ว่าสารไคตินจากเปลือกแมลงมีประโยชน์ต่อร่างกายกรณีช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดแล้ว ตรงกันข้ามไคตินและไคโทซานอาจจะก่อให้เกิดผลลบต่อร่างกายได้ เพราะกระบวนการจับตัวของไขมัน ไคโทซานจะสร้างสารที่มีลักษณะเป็นวุ้น ซึ่งวุ้นดังกล่าวจะไปรบกวนการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน (โดยเฉพาะวิตามินเอ ดี และอี) และเกลือแร่ ซึ่งในระยะยาวจะก่อให้เกิดความพร่องของการดูดซึมแคลเซียมได้ และถ้ามีความพร่องของการดูดซึมวิตามินดีควบคู่อยู่ด้วย ก็จะส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกเป็นลำดับ กรณีเช่นนี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งถ้าเกิดขึ้นกับสตรีที่ตั้งครรภ์ (Majeti & Kumar, 2000)

นอกจากนี้ การกินแมลงอาจจะมีอันตรายจากการปนเปื้อนสารพิษฆ่าแมลงหรือสารเคมีที่เกษตรกรใช้ในการกำจัดศัตรูพืชนั้น โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้คงมีไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะอาหารแมลงเป็นสินค้าที่ทำรายได้ดี พ่อค้าที่รับซื้อแมลงสดจะพิจารณาเลือกซื้อแมลงที่ยังมีชีวิตหรือสด เพื่อลดการสูญเสียจากการเน่าเสียของแมลงที่ตายระหว่างการขนส่งเข้าสู่ตลาดในเมืองใหญ่ พ่อค้าบางรายถึงกับทำการทอดแมลง ณ จุดรับซื้อทันที เพื่อลดการสูญเสียดังกล่าวหลังจากรับซื้อไว้แล้ว

รู้จักกินพอดีชีวีเป็นสุข
การกินอาหารมักจะให้ผลต่อสุขภาพ 2 ด้านเสมอ
ด้านบวกซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพ จะต้องรู้จักเลือกกินให้พอดีทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่ถ้าการกินไม่สมดุลก็จะนำไปสู่ภาวะทุโภชนาการได้

อาหารแมลงก็เช่นเดียวกัน เพราะแมลงเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการโดยเฉพาะในด้านสารพลังงาน โปรตีน ไขมันและแร่ธาตุ คุณค่าเหล่านี้น่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เพราะมีกำลังซื้ออาหารจำกัด

ปรากฏว่าราคาอาหารแมลงที่จำหน่ายในท้องตลาดก็ยังมีราคาแพงเมื่อเทียบกับอาหารโปรตีนของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยชนิดอื่นๆ (เช่น ไข่) แต่ถ้าหากกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยจะผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายอาหารแมลงก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการได้ เพราะการค้าขายแมลงอาจจะทำรายได้สุทธิได้วันละประมาณ 900-1,200 บาทสำหรับการขายแมลงทอดประมาณ 5-6 ชนิด

เอกสารอ้างอิง

1. นันทยา จงใจเทศ และ คณะ 'คุณภาพโปรตีนและไขมันในแมลงที่กินได้' กองโภชนาการ.
2. URL: http://nutrition.anamai.moph.go.th/temp/main/view.php?group=3&id=120 20 พฤศจิกายน 2549.
3. สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 'Food Composition Database ND.3 for INMUCAL Program' สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 2548.
4. อรพินท์ บรรจง ธรา วิริยะพานิชและอุไรพร จิตต์แจ้ง 'คู่มือการประเมินปริมาณอาหาร' สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 2545
5. Koide, SS. Chitin-chitosan: properties, benefits and risks. Nutrition Research, 1998; 18 (6): 1091-1101.
6. Majeti NV and Kumar R. A review of chitin and chitosan applications. Reactive and Functional Polymers, 2000; 46: 1-27.
7. Yhoung-aree J, Puwastein P and Attig A. Edible Insect in Thailand: An Unconventional Protein Source? Ecology of Food and Nutrition, 36: 133-149, 1997.
8. Yhoung-aree J and Vivatpanich K. Edible Insects in Lao PDR, Myanmar, Thailand and Vietnam. In Paoletti MG (Ed). Ecological Implications of Minilivestock. Sciences Publishers, Inc., NH, UAS, 2005.

ข้อมูลสื่อ

353-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
ผศ.ดร.จินตนา หย่างอารี