• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัคซีนกับภูมิคุ้มกันโรค

วัคซีนคือสิ่งที่แพทย์ให้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง โดยวิธีฉีดหรือให้กิน วัคซีนจะเข้าสู่ร่างกายแล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อวัณโรคในธรรมชาติ มีผลให้ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคและป่วย

สำหรับวัคซีนมีความจำเป็นจะต้องฉีดให้เด็กให้ครบถ้วน มีอะไรบ้าง ขอแบ่ง "ความจำเป็น" ออกเป็น 2 มุมมอง (Viewpoint)

ผู้ปกครองหรือเด็ก
มุมมองของผู้ปกครองหรือเด็กนั้น โรคที่มีวัคซีนป้องกันได้ทุกชนิดที่ผลิตมาขาย มีประสิทธิภาพในการป้องกัน หรือลดความเสี่ยงต่อการป่วยและมีฤทธิ์ข้างเคียง หรือผลเสี่ยงน้อย

ถ้าไม่คำนึงถึงราคาวัคซีนที่ต้องซื้อ วัคซีนทุกชนิดมีความจำเป็นทั้งสิ้น แต่เมื่อต้องซื้อ ผู้ปกครองจะต้องตัดสินใจเองว่าจำเป็นต้องลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคด้วยราคาเท่านี้หรือไม่

ข้อมูลที่จะให้ผู้ปกครอง ควรจะต้องใกล้เคียงความจริง และให้ข้อมูลทั้งหมด ไม่ใช่ให้บางส่วน
ยกตัวอย่าง ความเสี่ยงของโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมค็อกคัสหรือไอพีดี (Invasive Pneumococal Disease - IPD) แพทย์หรือบริษัทยาบอกว่าเสี่ยง แต่ไม่บอกตัวเลข หรือบอกว่าป้องกันได้ แต่ไม่รู้ตัวเลขว่าได้เท่าใด หรือการบอกราคาเพียง 1 เข็ม ทั้งๆที่ต้องฉีดเป็นชุด 4 เข็ม ต่อเนื่องตามกำหนดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเต็มที่

เนื่องจากระบบรายงานและการเก็บข้อมูลของประเทศไทย ไม่สมบูรณ์ที่จะให้ตัวเลขต่างๆ ของความเสี่ยงในคนไทย (เช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดไอพีดี) เมื่อต้องอ้างอิงของสหรัฐอเมริกา เช่น อัตราเสี่ยง 80 ต่อ 1 แสนประชากรที่ไม่ฉีดวัคซีนลดเหลือ 20 ต่อ 1 แสน ประชากรที่ฉีดวัคซีน

ลดไป 4 เท่า คือ 80 ÷ 20 ลดไป 60 ต่อ 1 แสนประชากร แต่ของคนไทยแม้ไม่มีตัวเลขชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญคาดคะเนว่าอัตราเสี่ยงน่าจะประมาณ 10 ต่อ 1 แสนประชากรที่ไม่ฉีดวัคซีน และถ้าฉีดวัคซีนลดได้ 4 เท่าก็จะเหลือ 2.5 ต่อ 1 แสน ประชากรที่ฉีดวัคซีน ลดไป 7.5 ต่อ 1 แสนประชากร

ผู้ปกครองที่มีฐานะก็จะจัดวัคซีนไอพีดีว่า "จำเป็น"Ž
ผู้ปกครองที่ไม่มีฐานะก็จะจัดวัคซีนไอพีดีว่า "ไม่จำเป็น"Ž

นอกจากตัวเลขที่ชัดเจน องค์ประกอบอื่นๆ แม้ไม่เป็นตัวเลขแต่ก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ เช่น การเคยมีประสบการณ์ของโรค (ลูกคนก่อนหรือญาติเป็นคนพิการ หรือเสียชีวิต ก็จะว่า "จำเป็น")
แพทย์ที่ทำงานโรคติดเชื้อ เห็นผู้ป่วยหลายรายก็อาจให้ข้อมูลลำเอียง หรือตัดสินใจแทนว่า "จำเป็น"Ž

การบอกผู้ปกครองตัดสินใจเองว่า "จำเป็น" จะปลอดภัยสำหรับแพทย์มากกว่า เพราะถ้าตัดสินใจแทนว่า "ไม่จำเป็น" ต่อมาเด็กป่วย ผู้ปกครองก็ทำใจไม่ได้ว่าทำไมแพทย์บอกไม่จำเป็น ย่อมตำหนิหรือกล่าวโทษแพทย์

วัคซีนที่ผู้ปกครองต้องซื้อ
มีวัคซีนหลายชนิดที่ผู้ปกครองจะต้องจ่ายเงินซื้อเอง ได้แก่
1. วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบ (หรือบางครั้งรวมเข็มกับวัคซีน ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก เพื่อฉีดเข็มเดียว) ต้องฉีดเป็นชุด 2-3 ครั้ง แล้วแต่ผลิตภัณฑ์ ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน
2. วัคซีนป้องกันตับอักเสบเอ ฉีด 2 ครั้งที่อายุ 1 ขวบขึ้นไป และที่ 6-12 เดือนหลังเข็มแรก
3. วัคซีนป้องกันสุกใส ฉีด 2 ครั้งที่อายุ 1 ปีขึ้นไป และที่ 4-8 สัปดาห์ไปแล้วหลังเข็มแรก
4. วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ฉีดมากกว่า 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าต้องการป้องกันได้เร็วแค่ไหน หรือพิสูจน์ได้หรือไม่รู้ว่าสุนัขที่กัดนั้นมีเชื้อพิษสุนัขบ้า
5. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 ครั้ง ทุกปี แต่เด็กอายุ 6 เดือนถึง 9 ขวบฉีดชุดแรก ครึ่งหนึ่งของขนาดปกติต่อครั้ง จำนวน 2 ครั้งห่างกัน 4 สัปดาห์
6. วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมค็อกคัส 23 ชนิดฉีด จำนวน 2 ครั้ง คือเมื่ออายุมากกว่า 2 ขวบ และอายุ 5 ขวบ
7. วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมค็อกคัส 7 (แบบคอนจูเกต) ชนิดฉีด จำนวน 3-4 ครั้ง ที่อายุ 2, 4, 6 และ 12-15 เดือน
8. วัคซีนป้องกันเชื้อท้องร่วงโรต้า หยอดกิน 2-3 ครั้ง แล้วแต่ผลิตภัณฑ์ ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน
9. วัคซีนป้องกันเชื้อหูดก่อมะเร็งปากมดลูก (เอชพีวี) ฉีด 3 เข็ม เมื่ออายุ 11 ขวบไปแล้วชุดแรก ชุดที่ 2 อีก 2 เดือน และชุดที่ 3 อีก 6 เดือน

วัคซีนเสริมที่ผู้ปกครองจะต้องจ่ายเงินซื้อเอง
   
      อายุ                                                       ชนิดของวัคซีนเสริม (ผู้ปกครองต้องซื้อ)

    2 เดือน                                           - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์-โปลิโอชนิดฉีด # 1
                                                           - ฮิบ # 1
                                                           - โรต้าหยอด # 1
                                                           - ไอพีดี # 1(ไม่สามารถรวมกับวัคซีนอื่นได้)
    4 เดือน                                           - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์-โปลิโอชนิดฉีด # 2
                                                           - ฮิบ # 2
                                                           - โรต้าหยอด # 2
                                                           - ไอพีดี # 2(ไม่สามารถรวมกับวัคซีนอื่นได้)
    6 เดือน                                           - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์-โปลิโอชนิดฉีด # 3
                                                           - ฮิบ # 3 (เฉพาะวัคซีนชนิด PRP-T)
                                                           - ไอพีดี # 3 (ไม่สามารถรวมกับวัคซีนอื่นได้)
                                                           - ไข้หวัดใหญ่ (2 เข็ม ห่างกัน 1-2 เดือน)
    12-18 เดือน                                   - ไข้สมองอักเสบเจอี # 1 และ # 2 (วัคซีนเชื้อเป็น: ห่างกัน 3 
                                                              เดือนถึง 1 ปี)
                                                            - ไอพีดี # 4 (ไม่สามารถรวมกับวัคซีนอื่นได้)
                                                            - อีสุกอีใส # 1
                                                            - ตับอักเสบเอ # 1 และ # 2 (ห่างกัน 6-12 เดือน)
    18 เดือน                                          - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ # 4
    2 ขวบถึง 2 ขวบครึ่ง                        - ไม่ต้องฉีดไข้สมองอักเสบเจอี # 3 หากใช้วัคซีนชนิดเชื้อเป็น
                                                             - หากยังไม่ฉีดอีสุกอีใสหรือตับอักเสบเอให้ฉีดได้เลย
    4-6 ขวบ                                           - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์สูตรเด็ก # 5
                                                             - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์สูตรผู้ใหญ่ # 5
                                                             - อีสุกอีใส # 2
    ดญ. 11-12 ปี                                   - ไวรัสฮิวแมนแพพิลโลมา ( เอชพีวี ) # 1 # 2 และ # 3
    ทุก 10 ขวบ                                      - กระตุ้นคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์สูตรผู้ใหญ่

สังคมหรือรัฐ

มุมมองของสังคมหรือรัฐ (Social or Governmental viewpoint) พบว่ารัฐจะคำนวณความคุ้มค่าในการให้วัคซีนฟรีกับทุกคน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วย เปรียบเทียบกับการรักษาคนที่ป่วยแล้วให้หาย

ยกตัวอย่างโรคไอพีดีที่สหรัฐอเมริกา ให้วัคซีน 1 แสนคน สามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้ 60 คน และค่าวัคซีน 1 แสนคน ถูกกว่าค่ารักษาคนที่ป่วย 60 คน
 
ค่าวัคซีน 1 แสนคนของประเทศไทย แพงกว่าค่ารักษาคนที่ป่วย 7.5 คน แม้ดูเผินๆ ค่าวัคซีนหรือค่าการรักษาดูเหมือนผู้ป่วยต้องออกเอง แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ละเอียดในค่าใช้จ่าย เป็นการบริหารจัดการค่าเสียเงินตราไปให้ต่างประเทศ ทางรัฐก็ต้องออกเงินสมทบด้วย

ผลพลอยได้จากการนี้รัฐออกเงินค่าวัคซีนหรือให้ฉีดฟรี ก็เพื่อต้องการให้ครอบคลุมคนมากที่สุด จะเกิดผู้ป่วยน้อยที่สุด และมักจะเป็นการควบคุมแหล่งแพร่เชื้อไปด้วย (ผู้ที่ป่วยจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ) ผู้ที่รับวัคซีนก็ลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นของแถม

โรคที่มี "ความจำเป็น" ของรัฐ

สำหรับโรคที่มีความจำเป็นและรัฐเข้ามาดูแลนั้น
1. วัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) ฉีด 1 ครั้ง ตอนแรกเกิด
2. วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี ฉีด 3 ครั้ง ตอนแรกเกิด 2 และ 6 เดือน
3. วัคซีนป้องกัน ไอกรน-คอตับ-บาดทะยัก ฉีด 5 ครั้ง ตอน 2, 4, 6, 18 เดือน และ 4-6 ขวบ
4. วัคซีนป้องกันโปลิโอ หยอดกิน 5 ครั้ง ตอน 2, 4, 6, 18 เดือน และ 4-6 ขวบ
5. วัคซีนป้องกัน หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ฉีด 2 ครั้ง ตอนอายุ 9 เดือน และ 6 บวบ
6. วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ ญี่ปุ่น ฉีด 3 ครั้ง ตอนอายุ 12, 13 และ 25 เดือน

การฉีดวัคซีนฟรีโดยกระทรวงสาธารณสุข มีข้อดีหลายอย่าง เช่น เด็กปลอดภัยจากโรคต่างๆ สามารถควบคุมและป้องกันโรคได้ แหล่งแพร่โรคลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น

วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขฉีดให้ฟรีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค

      อายุ                                           ชนิดของวัคซีน (แนะนำโดยกระทรวงสาธารณสุข รัฐให้ฟรี)
    แรกเกิด                                      - วัณโรค บีซีจี และ ตับอักเสบบี # 1
    1-2 เดือน                                   - ตับอักเสบบี # 2
    2 เดือน                                       - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดปกติ # 1
                                                       - หยอดโปลิโอ # 1
                                                       - ตับอักเสบบี # 2 (หากไม่ได้ฉีดที่ 1 เดือน ให้ใช้ทางเลือกวัคซีน
                                                         แบบตอน 6 เดือน)
    4 เดือน                                       - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดปกติ # 2
                                                       - หยอดโปลิโอ # 2
    6 เดือน                                       - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดปกติ # 3
                                                       - หยอดโปลิโอ # 3
                                                       - ตับอักเสบบี # 3
    9-12 เดือน                                 - หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม # 1
    12-18 เดือน                               - ไข้สมองอักเสบเจอี #1 และ # 2 (วัคซีนเชื้อตาย: ห่างกัน 1-4 
                                                          สัปดาห์ )
    18 เดือน                                     - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดปกติ # 4
                                                       - หยอดโปลิโอ # 4
    2 ปี- 2 ปีครึ่ง                               - ไข้สมองอักเสบเจอี # 3
    4-6 ปี                                          - คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดปกติ # 5
                                                        - หยอดโปลิโอ # 5
                                                        - หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม # 2
    ทุก 10 ปี                                     - กระตุ้นคอตีบ-บาดทะยัก สูตรของผู้ใหญ่ (ไม่ต้องมีวัคซีนไอกรน
                                                          ผสม)
 

ข้อมูลสื่อ

353-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
เรื่องน่ารู้
รศ.นพ.นิรันดร์ วรรณประภา