ที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึงเทคนิคโยคะต่างๆ ที่ช่วยนำมาซึ่งการทำงานอย่างสมดุลระหว่างกาย - ใจ ซึ่งเทคนิคทั้งหลายนั้น ก็เพื่อนำเรามาสู่แก่นกลาง อันได้แก่ ฌาน นี่เอง
ทั้งที่ฌานคือตัวหลัก แต่เราไม่พูดถึงฌานตั้งแต่ต้นเพราะกาย-ใจของเรายังไม่พร้อมนั่นเอง ยังตกอยู่ในอำนาจของความไม่สมดุล (ทางกาย) ของความซัดส่าย (ทางใจ) อย่างรุนแรง ต่อเมื่อกายและใจนิ่งลง สงบลงบ้างแล้วเท่านั้น เราจึงเริ่มฝึกฌาน
ฌานคือกระบวนการสำคัญของโยคะ ที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางอารมณ์ นำมาซึ่งองค์รวมแห่งบุคลิกภาพอย่างแท้จริง การฝึกฌานต้องฝึกในสภาวะที่ผ่อนคลายจึงจะได้ผลตามที่ระบุไว้ ขั้นตอนแรกของการฝึกฌานคือ จดจ่ออยู่กับภาพที่เราคุ้นเคย
น่าแปลกใจที่ ดร.ไทรแกนท์ เบอร์โรว มูลนิธิไลฟ์วินน์ เวสท์พอร์ท คอนเนกทิคัต ซึ่งได้ศึกษาเรื่องการเบี่ยงเบนของพฤติกรรม ได้ข้อสรุปเดียวกันกับการฝึกฌานของโยคะ ทั้งๆ ที่ ดร.เบอร์โรวไม่รู้อะไรเกี่ยวกับฌานเลย ดังนั้น เราน่าจะมาพิจารณากระบวนการและการค้นพบของ ดร.เบอร์โรว ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใจผลที่ได้จากการฝึกฌานมากขึ้น
ดร.เบอร์โรวเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของฟรอยด์ และจุง เป็นผู้ชำนาญเรื่องจิตรุ่นแรก ที่นำแนวคิดเรื่อง จิตวิเคราะห์เข้าไปในอเมริกา ต่อมาเขาได้ตระหนักว่า เบื้องหลังพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์นั้น ไม่ได้ขึ้นกับปัจเจกบุคคลคนนี้ คนไหนๆ แต่อยู่ในเผ่าพันธุ์ของมนุษย์
ดังนั้น การสืบสวนหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ต้องศึกษาที่เผ่าพันธุ์มนุษย์เลยทีเดียว เมื่อมาถึงจุดนี้ ดร.เบอร์โรวและทีมงานจึงทำการวิเคราะห์รูปแบบของสรีรวิทยาของความเครียด ทำให้ศึกษาลึกลงไปที่โครงสร้างของโรคประสาท หรือความขัดแย้งของมนุษย์
ดร.เบอร์โรวและคู่วิจัย แคลแรนซ์ ชีลด์ได้นำเสนอสมมุติฐานไว้เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมาว่า บรรทัดฐานของความถูก ผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนแตกต่างกัน ทำให้มนุษย์แต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบของพฤติกรรมมนุษย์ในทางชีวภาพ แต่ความผิดปกตินั้น มีมาตั้งแต่กระบวนการวิวัฒนาการทางยีนเผ่าพันธุ์แล้ว พวกเขารู้สึกว่าปฏิกิริยาที่เบี่ยงเบน ที่ไม่ปกติสามารถสืบต้นตอไปได้ตามสายวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนคนหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน พฤติกรรมของมนุษย์ทุกวันนี้ ถูกกีดขวางและหน่วงเหนี่ยวโดยการใช้เหตุผลในทางที่ผิดจนเป็นนิสัย อารมณ์ และแรงจูงใจเป็นเพียงผลที่ปรากฏออกมาในรูปของสำนึกที่มีเบื้องหลังอยู่ที่จิตใต้สำนึกที่ฝังมาตั้งแต่วัยเด็ก
พฤติกรรมของมนุษย์เช่นนี้มีมาตั้งแต่เริ่มมีเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้ว ความขัดแย้งภายในอันเป็นสากลของมนุษย์ระหว่าง "ฉัน" กับ "คุณ" สภาวะแห่งความเป็นสองนี้เป็นตัวสะท้อนพฤติกรรมทางสังคมที่มีควบคู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์มานานแสนนาน เป็นความจริงที่ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นยังไม่เจริญ ดร.เบอร์โรวเรียกสมมุติฐานของตนเองว่า เผ่าพันธุ์วิเคราะห์ หรือการประกอบขึ้นของเผ่าพันธุ์
ความแตกต่างหลักระหว่างจิตวิเคราะห์กับเผ่าพันธุ์วิเคราะห์อยู่ที่นักจิตวิเคราะห์จะปล่อยให้ผู้ป่วยแสดงความคิดโดยเสรี แสดงความคิดสดๆ ส่วนนักเผ่าพันธุ์วิเคราะห์จะให้ผู้ป่วยจดจ่ออยู่กับภาพที่เขาคุ้นเคย ในห้องปฏิบัติการของนักเผ่าพันธุ์วิเคราะห์ ที่มูลนิธิไลฟ์วินน์ สิ่งที่กำลังถูกศึกษาก็คือตัวนักวิจัยเอง
โดยมีการสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น รูปแบบการหายใจ คลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของตา ฯลฯ ดังนั้น กรณีของจิตวิเคราะห์ ผู้ป่วยจะได้รับอนุญาตให้แสดงออกต่อทุกๆ ความคิดที่ผุดขึ้นมา แต่ในกรณีของเผ่าพันธุ์วิเคราะห์ ผู้ป่วยจะพยายามตัดทุกๆ ความคิดที่ผุดขึ้นมา
คนที่กำลังทดลองจะคอยระลึกถึงแต่ตนเอง คือเฝ้าสังเกตจิตของตนเอง (ด้วยจิตของตนเอง) ซึ่งตรงกับประโยคที่ระบุในหฐโยคะประทีปิกะ บทที่ 4.51 "มนัส มนะ อโลคยา" โดยคอยขจัดภาพที่ตนคุ้นเคย ที่คอยผุดขึ้นมาตลอดเวลา กลับไปอยู่แต่กับตนเอง
โดยผู้ทดลองทำดังนี้ นั่งหลังตรง ด้วยความผ่อนคลาย หลับตา เพื่อประคองความแน่วแน่ในการรับรู้ความรู้สึกภายใน เพื่อรับรู้ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นที่ดวงตา ให้ผู้ทดลอง ลืมตา มองตรงไปข้างหน้า มองไปยังฉากดำเรียบๆ ที่ขึงไว้ด้านหน้า เพื่อให้ตาไม่เห็นภาพใดๆ ให้ตาผ่อนคลาย เพื่อจะได้รับรู้ปฏิกิริยาต่างๆที่เกิดขึ้นทางตาได้ชัดเจน ซึ่งในภาษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันเรียกว่า cerebro-ocular
ขณะที่เทคนิคมุทราของโยคะ เช่น อันมานี เคคารี และสัมภาวีมุทรา ก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายแบบเดียวกัน ด้วยการทำเช่นนี้ ดร.เบอร์โรวหวังว่าจะทำผู้ทดลองไปสู่สภาวะของการระลึกรู้ อยู่กับกระบวนการทางสรีรวิทยาที่เกิดขึ้น อันเป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นเฉพาะกับปัจเจกบุคคลแต่ละคน
หากปฏิบัติเช่นนี้ต่อเนื่องไปสักช่วงหนึ่ง ผู้ฝึกจะสามารถขจัดภาพที่คุ้นเคยออกไปได้เองโดยอัตโนมัติ
ดร.เบอร์โรวอธิบายว่า ความเจ็บปวดทางใจ ทางอารมณ์ ความผิดหวังต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับคุณ ก็จะสลายไปในทันที และหากยังคงปฏิบัติต่อไป ความรู้สึกตึงที่บริเวณดวงตา ตึงที่บริเวณภายในศีรษะก็จะคลายลง เกิดความสมดุลของระบบกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
ดังนั้น ดร.เบอร์โรวจึงแยกความตึงเครียดของระบบประสาทออกเป็น 2 ระดับ 1)ระดับผิวซึ่งเชื่อมโยงกับกลไกความเครียด และ 2) ระดับลึก เชื่อมโยงกับระบบร่างกายทั้งหมด
ระดับแรกนั้นเป็นสภาวะทางสังคม ส่วนระดับที่สองนั้นเป็นรากฐานและไม่มีเงื่อนไข ระดับแรกเรียกว่า ditention ระดับสองเรียกว่า contention ผู้ปฏิบัตินั้น มักจะหลุดลงไปอยู่ระดับแรกบ่อยๆ ไประลึกรู้กับภาพที่คุ้นเคยอยู่เรื่อย การจะมาที่ระดับสอง ผู้ฝึกต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด และหากฝึกต่อเนื่องซ้ำๆ เป็นเวลาพอสมควร อุปสรรคที่มาขวางกั้นก็จะทำลายลง
ระหว่างการทดลอง เมื่อผู้ฝึกผ่านจากระดับหนึ่งไปสู่ระดับสอง ระบบหายใจจะลดลงจาก 13.22 ครั้งต่อ นาที เหลือ 4.63 ครั้งต่อนาที ทั้งๆที่ผู้ฝึกไม่ได้ตั้งใจควบคุมแต่อย่างใด แต่เป็นไปเอง เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
สำหรับค่าเฉลี่ยปริมาตรอากาศ ในระดับแรกอยู่ที่ 6.95 ลิตรต่อนาที เมื่อเข้าถึงระดับสอง ปริมาตรอากาศลดลงเหลือเพียง 4.08 ลิตรเท่านั้น
แม้ว่าอัตราการหายใจ ปริมาตรลมหายใจในระดับแรกจะมากกว่าในระดับสอง แต่หากคำนวณ ลมหายใจ ที่เข้าปอดในแต่ละครั้งของการหายใจ contention จะมีลมหายใจเข้าไปในปิดต่อครั้งที่สูงกว่า (ditention 6.95 หารด้วย 13.22 = 0.526 ลิตร ส่วน contention นั้น 4.05 หารด้วย 4.63 = 0.875 ลิตร) ในเรื่องของจำนวนออกซิเจนที่ดูดซึมต่อนาที พบว่าเท่ากัน คืออยู่ที่ 0.22 ลิตร
สำหรับการเคลื่อนไหวของดวงตา ซึ่งวัดทั้งจากกล้องที่ถ่ายและการตรวจวัดทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าในระดับสอง cotention นั้น การเคลื่อนไหวของตาน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ในระดับสอง ระยะเวลาของคลื่นอัลฟ่าลดลง ช่วงกว้างของคลื่นอัลฟ่าก็ลดลง บ่งชี้ถึงการทำงานของสมองส่วน cortex ที่ลดลง
นอกจากการตรวจวัดค่าความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เป็นรูปธรรม ยังได้มีการศึกษาถึงประสบการณ์ตรงเฉพาะที่เกิดขึ้นกับผู้ฝึกด้วย ดร.เบอร์โรว ระบุว่า "ส่วนที่เป็นเรื่องของ ปัจเจก-ตัวฉัน ลดลง ทำให้การรับรู้ถึงความรู้สึกส่วนที่ไม่ใช่ปัจเจก-ตัวฉัน เพิ่มมากขึ้น ผู้ฝึกเริ่มรับรู้ภาวะเดิมแท้ ที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ซึ่งโดยปกติโดนกดข่มไว้ ความรู้สึกที่ปราศจากการปรุงแต่ง ผู้ฝึกรู้สึกได้ถึงอารมณ์ที่สอดประสาน กลมกลืนไปกับธรรมชาติ"
การฝึกโยคะก็ได้ผลเช่นเดียวกับการทดลองของดร.เบอร์โรวในกระบวนการที่จะพัฒนาบุคลิกภาพของความเป็นมนุษย์ เทคนิควิธีการของโยคีโบราณ ในอาสนะเพื่อสมาธิ ไม่ต่างไปจากของดร.เบอร์โรวเลย และผลที่ได้รับก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน พึงสังเกตว่า ในท่าอาสนะเพื่อสมาธิ มีการแนะนำให้ผู้ฝึกทำสัมภาวีมุทรา ซึ่งเป็นการผ่อนคลายดวงตา โดยมองออกไปให้ไกล แต่ยังอยู่ในระนาบที่ขนานไปกับพื้น
ปตัญชลีได้ระบุถึงผลที่ได้รับจากการฝึกอาสนะตรงกันกับของ ดร.เบอร์โรว กล่าวคือความรู้สึกถึงสภาวะ แห่งตัวฉัน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับตัวคุณหรือที่ปตัญชลีใช้คำว่า "ตวันตะ" นั้นหายไป (โยคะสูตร 2.48) ผู้ฝึกพบกับสภาวะเดิมแท้ สภาวะแห่งความเป็นหนึ่งเดียวอย่างต่อเนื่อง
เราได้นำงานของ ดร.เบอร์โรว นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่ทำการทดลองด้วยความเป็นกลางมาอธิบายโดยละเอียดเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลของฌานที่ได้จากการฝึกด้วยความผ่อนคลาย เพราะบ่อยครั้งที่มีการฝึกฌานด้วยความเคร่งเครียด ผลก็คือกลับเครียดมากขึ้นกว่าเดิม
การฝึกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจดจ่ออยู่กับสภาวะอนันต์ (อนันต์สัมมา ปฏิพยาม) การกำหนดลมหายใจ (ปราณะ ธารณะ) หากฝึกด้วยความเหมาะสม ล้วนนำไปสู่ฌานที่ผ่อนคลายทั้งสิ้น
ในห้องทดลองของสถาบันไกวัลยธรรมที่ประเทศอินเดีย เราพบว่าฌานช่วยให้ระบบหายใจทำงานน้อยลง กลไกการสันดาปลดลง เช่นเดียวกับของดร.เบอร์โรว แต่ขั้นตอนการฝึกฌานนั้น ลงลึกว่าระดับของ ดร.เบอร์โรว และการขจัดสภาวะแห่งความขัดแย้งระหว่างฉันกับคุณนั้นชัดเจนกว่าที่ ดร.เบอร์โรวอธิบายไว้ ไม่เพียงลดเวลาละความกว้างของคลื่นอัลฟ่า มันถึงกับทำให้คลื่นอัลฟ่าราบเรียบเลยทีเดียว
ผลอื่นๆ ที่พบได้แก่ มีการลองเอาเข็มจิ้มผิวหนังผู้เข้าฌาน ค่า EEG ที่แสดงสัญญาณประสาทก็ไม่ถูกรบกวนแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ใช่แค่วางเฉยทางร่างกายเท่านั้น แม้แต่ในระดับคลื่นสมองก็ไม่ถูกรบกวน เป็นการแสดงให้เห็นว่ากลไกกาย-จิตสัมพันธ์โดยรวมนั้นสงบลงอย่างแท้จริง อยู่ในสภาวะผ่อนคลายอย่างแท้จริง
คงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะสามารถฝึกฌานจนเข้าถึงสภาวะที่ปลอดจากการกระตุ้นเร้าทั้งจากภายนอกและภายในได้ แต่การฝึกฌานตามที่ได้อธิบายข้างต้นอย่างสม่ำเสมอสักระยะหนึ่ง ก็จะพบว่ามันมีประโยชน์มาก ในการเอาชนะความผิดปกติของจิตใจในชีวิตที่สับสนวุ่นวายนี้ หนังสือโยคะบำบัดนี้คงไม่อาจจะกล่าวอะไรมากไปกว่านี้
- อ่าน 4,817 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้