• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชีวิตเป็นสุข หลังวัย 60

ต้นฉบับนี้เขียนขึ้นในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นเดือนแห่งการเกษียณอายุ

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้รับเชิญจากสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ไปบรรยายเรื่อง "ชีวิตเป็นสุขหลังวัย 60" ให้แก่บรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกษียณอายุฟัง

ผมได้ให้แนวทางปฏิบัติ 8 ประการเพื่อชีวิตเป็นสุข ดังนี้

1. หมั่นดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยหลัก 4 อ. โดยยึดคำขวัญว่า
- อ.อาหาร : กินน้อยตายยาก กินมากตายง่าย
- อ.ออกกำลังกาย : ขี้เกียจอายุสั้น ขยันอายุยืน
- อ.อารมณ์ : อารมณ์ดีอยู่ยาว อารมณ์เน่าอยู่สั้น
- อ.อันตราย
(สิ่งที่เป็นพิษให้โทษต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ อบายมุข อุบัติเหตุ สารพิษ มลพิษ) : เสพพิษชีวิตหด งดพิษชีวิตยืด

ทั้งนี้มีหลักปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม คือ
กินเนื้อน้อย            กินผักมาก
กินเค็มน้อย            กินเปรี้ยวมาก
กินน้ำตาลน้อย       กินผลไม้มาก
นั่งรถน้อย              เดินมาก
เอาน้อย                 ให้มาก (จิตอาสา)
กังวลน้อย              นอน (พักผ่อน) มาก
โกรธน้อย               ยิ้มมาก

2. หมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นระยะ
เพื่อค้นหาปัจจัย เสี่ยงต่อสุขภาพและโรคภัยเงียบ (silent killers) ซึ่งเป็นโรคที่แฝงอยู่ในร่างกายโดยไม่ปรากฏอาการ เช่น เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งระยะแรก เป็นต้น

เมื่อพบว่ามีโรคประจำตัว ก็ต้องดูแลรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมโรค ป้องกันโรคแทรกซ้อน และอายุยืน

พึงหลีกเลี่ยงการใช้ยา และวิธีรักษาอย่างผิดๆ เช่น การกินยาชุด ยาลูกกลอนที่มีสารสตีรอยด์อันตราย การบำบัดที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าได้ผลจริง ซึ่งบางครั้งทำให้สิ้นเปลืองหรือกลับมีพิษภัย
เมื่อป่วยด้วยโรคร้าย (เช่น มะเร็ง อัมพาต) พึงทำใจยอมรับและอยู่กับมันอย่างมีความสุข พลิกความคิดเป็น "เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส"Ž

3. รู้จักวางแผนการเงิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ และมีคุณธรรม)

4. อย่าเกษียณจากชีวิตและงาน พึงทำในสิ่งที่ชอบ (ฉันทะ) เช่นงานอดิเรกต่างๆ งานจิตอาสา (บำเพ็ญ ประโยชน์ต่อผู้อื่น) ออกสมาคมกับผู้คน เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม/ชมรม/สมาคม/มูลนิธิ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฝึกสมอง (ถ้าไม่ฝึก สมองจะฝ่อ) สร้างคุณค่าและความภูมิใจให้ตนเอง
พึงยึดมั่นในการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต

5. ให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น รวมทั้งลดช่องว่างกับคนรุ่นหลัง โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนต่างๆ ฝึกฟังอย่างลึก (deep listening) เพื่อเข้าใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างหลากหลายและการเปลี่ยนแปลง

ทำหน้าที่ "แจกของ-ส่องตะเกียง" ให้แง่คิดแนว ทางการปฏิบัติแก่ผู้อื่น

6. อย่ายึดมั่นถือมั่น/ยึดติดในอัตตา (self-centered) ทั้งในเรื่องความรู้-ประสบการณ์แห่งตน ความคิด-ค่านิยม-วิธีปฏิบัติแห่งตน รวมทั้งผลประโยชน์แห่งตน

7. หมั่นเจริญทางปัญญา ให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสรรพสิ่งตามที่เป็นธรรมชาติที่เชื่อมโยงอิงอาศัยกัน (อิทัปปัจจยตา) และมีความเป็น ไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

8. หมั่นเจริญสติ ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันและโดยการตามรู้ลมหายใจ การเคลื่อนไหวร่างกาย (นั่ง นอน ยืน เดิน) การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ (เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน กินข้าว อาบน้ำ) การเล่นกีฬา ออกกำลังกาย รวมทั้งฝึกตามดูรู้ทันความรู้สึก และความคิดของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้หยุดหรือควบคุมอารมณ์และความคิดที่ก่อทุกข์ให้ตนเองได้

พึงเจริญมรณานุสติอยู่เนืองๆ เพื่อ "ยิ้มรับ" ความตาย และใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและมีคุณค่า
ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากให้หมั่นขอพร 5 ประการเพื่อสุขภาพและอายุยืน ดังนี้

"ฉันขอให้ตัวเอง           มีอายุยืนยาว
ฉันขอให้ตัวเอง             มีสุขภาพแข็งแรง
ฉันขอให้ตัวเอง             มีความคล่องแคล่ว
ฉันขอให้ตัวเอง             มีปัญญาสมบูรณ์
ฉันขอให้ตัวเอง             มีจิตตื่น-รู้-เบิกบาน"

 

ข้อมูลสื่อ

355-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 355
ธันวาคม 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ