หลายทศวรรษที่ผ่านมามีหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์มากมาย เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่เพียงเป็นการให้อาหารเพื่อให้ลูกอิ่มและสามารถเจริญเติบโตขึ้นได้เท่านั้น แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังเป็นการส่งเสริมกระบวนการพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. นมแม่มีการเปลี่ยนแปลงสารอาหารตลอดเวลาตามอายุลูก
หลังคลอดระดับฮอร์โมนในแม่จะเปลี่ยนแปลงและร่างกายจะสร้างน้ำนมขึ้น นมที่สร้างช่วงแรกจะเป็นน้ำนมเหลือง (Colostrums) และจะค่อยเปลี่ยนเป็นน้ำนมขาวในที่สุด
สารอาหารสำคัญที่มีอยู่ในนมแม่ ได้แก่ ไขมัน (ไขมันจำเป็น เช่น ไลโนเลอิกและไลโนเลนิก) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการสร้างสารไปห่อหุ้มเส้นใยประสาทในสมองเด็ก ทำให้การส่งกระแสประสาทในสมองเด็กทำได้ดีและรวดเร็วขึ้น มีพัฒนาการในการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบๆ ตัว
อิมมูโนโกลบูลินในนมแม่จะช่วยลดโอกาสการเป็นภูมิแพ้ในเด็ก รวมทั้งจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและไม่สบายของเด็ก
2. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำให้เด็กมีความอ่อนโยน
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเพิ่มสัญชาตญาณความเป็นแม่ เนื่องจากขณะที่ลูกดูดนมจากอกแม่จะทำให้ระดับฮอร์โมน ออกซีโทซิน (Oxytocin) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยให้แม่มีจิตใจอ่อนโยน ซึ่งเด็กจะรู้สึกได้ถึงความอ่อนโยน อันจะส่งผลให้เด็กมีอารมณ์ดี
3. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการปูพื้นฐานสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ และตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม
ขณะที่ลูกดูดนมแม่ประสาทสัมผัสทุกส่วนของเด็กจะถูกกระตุ้นให้เกิดการทำงาน ทั้งการมองเห็น โดยการสบตากับแม่ขณะดูดนม การรับกลิ่น เนื่องจากการอยู่ใกล้ชิดกับแม่ขณะดูดนมจะทำให้ลูกได้รับกลิ่นกายของแม่ไปด้วย และการฝึกประสาทหูเนื่องจากลูกจะได้ยินเสียงแม่ที่พูดคุยกับตนเอง
ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกอย่างก็คือลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านมของแม่ด้วย อีกทั้งเป็นการช่วยเศรษฐกิจของชาติ เนื่องจากนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ช่วยทำให้ร่างกายของเด็กแข็งแรง พ่อแม่และประเทศก็ไม่ต้องไปเปลืองเงินกับค่ารักษาพยาบาลลูกที่ป่วย
ถึงแม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีประโยชน์เพียงใด แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องปริมาณและคุณภาพของน้ำนม แต่โดยทั่วไปแล้วปริมาณน้ำนมแม่มีปริมาณพอเพียงกับความต้องการของลูกอยู่แล้ว
คุณภาพน้ำนมแม่นั้นจะขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการของแม่ กรณีที่แม่พบว่าปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอนั้นควรจะมีการทบทวนประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ยาหรือวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำนม ได้แก่
1. เทคนิคการดูดนมของลูก
เทคนิคที่ดีก็คือให้ลูกดูดเร็ว (ให้ลูกดูดทันทีในห้องคลอด) ดูดบ่อย (ให้ลูกดูดทุก 2-3 ชั่วโมง) ดูดถูกวิธี (ให้ปากลูกงับให้ถึงลานนมสังเกตได้จากคางลูกจะแนบหน้าอกแม่ ดั้งจมูกชิดหรือเกือบชิดหน้าอกแม่)
2. ภาวะจิตใจของแม่
ภาวะความเครียดของแม่มีผลไปยับยั้งการกระตุ้น "ไฮโพทาลามัส" ซึ่งเป็นเหตุให้มีการหลั่งน้ำนมลดลง ดังนั้นความพร้อมและความเข้าใจถึงประโยชน์ของนมแม่ ตลอดจนการสนับสนุนของบุคคลรอบข้าง จะทำให้แม่มีกำลังใจต่อการให้นมลูก
3. ภาวะโภชนาการของแม่ระหว่างตั้งครรภ์และให้นมลูก
ระหว่างที่ตั้งครรภ์แม่จำเป็นต้องได้รับอาหารเพียงพอสำหรับตนเองและเด็กในครรภ์ ตลอดจนสะสมไว้สำหรับสร้างน้ำนมหลังคลอด จะเห็นได้ว่าก่อนคลอดแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 12 กิโลกรัม น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นประมาณ 4กิโลกรัมจะเป็นน้ำหนักของเด็ก รกและน้ำคร่ำ และอีก 4-6 กิโลกรัมจะสำรองไว้สำหรับการสร้างน้ำนม 400 กิโลแคลอรีต่อวันเป็นเวลา 4 เดือน
ระหว่างตั้งครรภ์และให้นมลูกแม่มีภาวะโภชนาการที่ไม่ดีก็อาจมีผลต่อปริมาณน้ำนมได้ นอกจากการรับรู้ด้วยความรู้สึกของแม่ว่าปริมาณน้ำนมของแม่พอเพียงต่อความต้องการของลูกหรือไม่แล้ว ข้อบ่งชี้ที่แสดงว่านมแม่มีความพอเพียง ได้แก่
1. ลูกดูดนมแม่ทุกครั้งตามต้องการ แต่ละมื้อไม่ควรห่างกันเกิน 3 ชั่วโมง (ระยะ 3 เดือนแรกเกิด)
2. ลูกดูดเกลี้ยงเต้าทีละข้าง คือเมื่อจับเต้านมแม่ดูจะรู้สึกว่านุ่มลง
3. ปัสสาวะใสสีเหลืองอ่อนมากกว่า 6-8 ครั้ง/วัน กรณีได้นมแม่อย่างเดียว
4. อุจจาระนุ่มสีเหลืองทอง 3-5 ครั้ง/วัน หรือ 10 กว่าครั้ง/วัน (ระยะ 2-3 สัปดาห์แรกเกิด)
5. น้ำหนักขึ้น 150-200 กรัม/สัปดาห์ หรือ 500 กรัม - 1 กิโลกรัม/เดือน (ระยะ 6 เดือนแรกเกิด)
6. เมื่ออายุเกิน 1 สัปดาห์ น้ำหนักตัวของเจ้าตัวน้อยจะเพิ่มวันละ 25-30 กรัม หรือ 2-1 ขีดต่อสัปดาห์
สภาวะโภชนาการที่มีผลต่อการสร้างน้ำนม
การผลิตน้ำนมแม่นั้นใช้หลักการเดียวกับอุปสงค์อุปทาน
อุปสงค์เกิดขึ้นจากความสามารถแต่ละครั้งที่ลูกดูดนมจากเต้าได้หมด ซึ่งหากน้ำนมที่ผลิตในแต่ละครั้งหมดจากเต้าก็จะทำให้เกิดอุปทานหรือการผลิตน้ำนมขึ้นมาใหม่
ส่วนสาเหตุของการผลิตน้ำนมได้น้อยส่วนใหญ่ก็เกิดจากการที่ลูกไม่สามารถทำให้นมที่ผลิตออกมาแต่ละครั้งหมดไปได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากท่าดูดนมที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งการให้นมลูกตามตารางเวลาที่วางไว้ แทนที่จะให้เมื่อลูกต้องการ เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ที่จะทำให้นมไม่เพียงพอได้
ส่วนปัญหาที่พบไม่บ่อยก็เช่น ขนาดของปากลูกกับหัวนมแม่ การที่ลูกมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อก็ทำให้ไม่อยากดื่มนมไปด้วย การที่แม่มีอาการเจ็บจากการที่ให้ลูกดูดนมก็อาจทำให้แม่หลีกเลี่ยงที่จะให้นมลูก ภาวะความไม่สมดุลของฮอร์โมนในมารดา เป็นต้น ถ้าเกิดอาการนมคัด หัวนมแข็ง ก็ต้องบีบให้น้ำนมไหลออกบ้างก่อนให้ลูกดูด ไม่เช่นนั้นลูกดูดไม่ออก พาลจะไม่ยอมดูดนมแม่ในครั้งต่อๆ ไป
แม่ที่ให้นมลูกผลิตน้ำนมประมาณวันละ 23-27 ออนซ์ต่อวัน นมแม่จะมีแคลเซียมและสารอาหารอื่นๆ ที่ลูกต้องการจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แม่ได้รับพลังงานเพิ่มอีก 500 กิโลแคลอรีต่อวัน แม่ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำวันละ 1-2 ลิตร และการดื่มนมก็จะช่วยได้มาก เพราะนมมีส่วนประกอบของน้ำและสารอาหารที่ดูดซึมได้ง่าย ทั้งนี้ควรดื่มนมให้ได้วันละ 3 แก้ว
ถ้าไม่สามารถกินได้ตามจำนวนก็ให้ดื่มวันละ 1 แก้ว แล้วเพิ่มอาหารดังนี้ 2 ชนิด หรือเพิ่มเป็น 1 เท่า ของ 1 ชนิด คือไข่ 1 ฟอง เนื้อปลา 2 ช้อนโต๊ะ เนื้อหมู 2 ช้อนโต๊ะ เนื้อวัว 2 ช้อนโต๊ะ เนื้อไก่ 2 ช้อนโต๊ะ ปลาทู 2 ช้อนโต๊ะ เต้าหู้อ่อนครึ่งหลอด และควรใช้วิธีทอดด้วยน้ำมันหรือปรุงกะทิ เพราะไขมันมีส่วนช่วยในการเพิ่มปริมาณน้ำนม
สำหรับผลไม้ เช่น กล้วยหอมครึ่งผล กล้วยน้ำว้า 1 ผล องุ่น 12 ผล ส้มผลใหญ่ 1 ผล สับปะรดขนาดคำ 10 ชิ้น มะละกอขนาดคำ 10 ชิ้น ลำไย 6-8 ผล ซึ่งจะต้องกิน 3 ชนิด ชนิดละ 3 เท่า
นอกจากนั้นอาจเพิ่มการกินอาหารที่ช่วยเพิ่มน้ำนม เช่น แกงเลียง ผัดขิง น้ำขิง และอาหารที่มีหัวปลีเป็นส่วนประกอบ
จากผลการศึกษาพบว่า มีส่วนช่วยให้มารดามีน้ำนมมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการให้ลูกดูดนมแม่ร่วมด้วยจะช่วยได้เป็นอย่างดี
อีกประการหนึ่งการดื่มน้ำอุ่นก็เป็นสิ่งที่แม่ทุกคนควรทำ โดยเฉพาะช่วงต้นของการให้นมลูก เป็นการเรียกน้ำนมได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย
โภชนาการของแม่มีผลต่อองค์ประกอบของสารอาหารในนมแม่หรือไม่ จากการวิจัยพบว่าแร่ธาตุหลัก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม โซเดียม ในน้ำนมไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการกินอาหาร ของแม่ แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของภาวะโภชนาการของแม่อาจส่งผลต่อสารบางชนิด ได้แก่
1. ชนิดของไขมัน กล่าวคือหากแม่กินไขมันที่มีประโยชน์ เช่น ไขมันที่มีส่วนประกอบของไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หรือไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ (เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก) ก็จะทำให้นมแม่มีไขมันที่จำเป็นแก่การเติบโตของทารกตามไปด้วย
2. ธาตุซีลีเนียมและไอโอดีน การเพิ่มการกินซีลีเนียมและไอโอดีนของแม่จะทำให้มีปริมาณองค์ประกอบของแร่ธาตุทั้งสองชนิดในน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วย
3. วิตามินทุกชนิด ปริมาณวิตามินทุกชนิดในน้ำนมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการกินวิตามินและปริมาณวิตามินที่สะสมอยู่ในร่างกายของแม่
ข้อแนะนำสำหรับการกินอาหารเพื่อเพิ่มน้ำนม
1. กินอาหารให้เพียงพอ กินจนรู้สึกอิ่ม ความรู้สึกอิ่มจะมีผลไปเพิ่มการหลั่งฮอร์โทนออกซีโทซิน ซึ่งทำให้มีการหลั่งน้ำนมเพิ่มมากขึ้น
2. กินอาหารจำพวกธัญพืชให้ได้ประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณอาหารที่ได้รับต่อวัน ธัญพืชที่ควรกิน ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เพราะในอาหารจำพวกธัญพืชมีน้ำตาลที่ชื่อบีตา-กลูแคน ช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำนม
3. กินอาหารที่สร้างให้เกิดภาวะสมดุลร้อน-เย็น จากทฤษฎีการแพทย์ตะวันออกเชื่อว่าผู้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ๆ ร่างกายจะมีภาวะเย็น หรือหมายถึงการที่อวัยวะภายในยังทำงานได้ไม่เต็มที่นั้น การที่จะทำให้อวัยวะทำงานได้ดีขึ้นนั้นควรที่จะกินอาหารหรือสมุนไพรที่มีรสร้อน เพื่อไปเพิ่มการไหลเวียนของเลือด อันจะทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงการหลั่งของน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วย
แม่บางรายที่มีน้ำนมน้อย เมื่อเริ่มกินอาหารที่มีรสร้อน ก็จะทำให้น้ำนมเพิ่มขึ้น อาหารหรือสมุนไพร ที่มีรสร้อน เช่น ขิง แกงเลียง ส่วนผักที่มีลักษณะกรอบ แข็ง (ผักกาด กะหล่ำปลี บร็อกโคลี และแครอต เวลานำมาปรุงเป็นอาหารควรใส่สมุนไพรที่มีรสร้อนลงไปด้วย เพื่อให้ร่างกายของแม่ย่อยและดูดซึมอาหารได้มากขึ้น อีกทั้งสมุนไพรที่มีรสร้อนส่วนมากมักจะเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งมีผลทำให้มีการเพิ่มของปริมาณน้ำนมได้
4. กินอาหารที่มีไขมันจำเป็น (Essential fatty acids) เพิ่มขึ้น เพราะไขมันเป็นสารอาหารที่เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำนมแม่
ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนนิยมให้กินน้ำมันมะกอกเพื่อเพิ่มการหลั่งน้ำนม
ประเทศแถบแปซิฟิกนิยมให้กินน้ำมันมะพร้าวเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
อินเดียและจีนนิยมกินน้ำมันงาเพื่อเพิ่มการหลั่งน้ำนม
ส่วนที่สหรัฐอเมริกานิยมกินน้ำมันเมล็ดป่านและน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสเพื่อเพิ่มน้ำนมแม่
ไขมันชนิดจำเป็นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ โอเมก้า 6 (Omega-6) และโอเมก้า 3 (Omega-3) โดยสัดส่วนการกินไขมันทั้งสองชนิด ควรเป็นโอเมก้า 6 : โอเมก้า 3 เป็น 4 : 1 ซึ่งอาหารที่มีโอเมก้า 6 ปริมาณสูง เช่น นมสดชนิดไม่พร่องมันเนย ไข่ เนื้อสัตว์ น้ำมันงา น้ำมันดอกทานตะวัน ถั่ว และธัญพืช
อาหารที่มีโอเมก้า 3 ในปริมาณสูง เช่น ผักใบเขียว น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดป่าน น้ำมันตับปลา
ไข่เกษตรอินทรีย์และปลา อย่างไรก็ตาม การกินปลาควรจะต้องคำนึงถึงปริมาณสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ ที่อาจตกค้างอยู่ในปลา
5. ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป เช่น อาหารบรรจุเสร็จ ขนมอบ เบเกอรี่ เนื่องจากในอาหารเหล่านี้มีสัดส่วนของไขมันชนิดทรานส์ (Trans-fatty acid) ในปริมาณค่อนข้างสูง ไขมันชนิดนี้อาจมีผลทำให้เอนไซม์ ของร่างกายทำงานได้ลดลง รวมทั้งไปรบกวนการสร้างไขมันที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกด้วย
อาหารสมุนไพรบำรุงน้ำนม
ใบกะเพรา Ocimum sanctum L.
คุณค่า มีธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส เส้นใยอาหารสูง
สรรพคุณ ความร้อนจากใบกะเพราช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หวัด คลื่นไส้ อาเจียน ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น ยิ่งถ้าเด็กได้รับจากนมแม่ ก็จะช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อในเด็กด้วย ในอินโดนีเซียใช้ใบกะเพราปรุงอาหารกินเพื่อขับน้ำนมเช่นกัน
อาหารแนะนำ แกงเลียง (ใส่ใบกะเพรา) ผัดกะเพรา แกงป่าหรือผัดเผ็ดต่างๆ นอกจากได้สรรพคุณทางยาแล้ว ในใบกะเพรายังมีกลิ่นหอมช่วยดับกลิ่นและรสคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี
กุยช่าย Allium tuberosum Roxb.
คุณค่า แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก คาร์โบไฮเดรต บีตาแคโรทีน วิตามินซี
สรรพคุณ ช่วยขับน้ำนม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม
อาหารแนะนำ นำส่วนดอกมาผัดกับเนื้อสัตว์ หรือนำใบมากินสดแกล้มกับอาหารอื่นๆ แต่ที่นิยมคือ ใส่ผัดไทย
รสร้อนเพิ่มการไหลเวียน และช่วยย่อย
กานพลู Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & S.G.Harrison
คุณค่า น้ำมันที่อยู่ในดอกกานพลู มีส่วนประกอบสำคัญคือยูจีนอล (Eugenol )
สรรพคุณ ช่วยขับน้ำนม มีฤทธิ์ช่วยขับน้ำดีเพื่อนำไปย่อยอาหาร ลดอาการบีบตัวของลำไส้บรรเทาอาการแน่น จุกเสียด
อาหารแนะนำ นำดอกตูมแห้งมา 5-8 ดอก ชงในน้ำเดือด แล้วดื่มแต่น้ำ
ขิง Zingiber officinale Roscoe
คุณค่า มีโปรตีน ไขมัน แคลเซียม วิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง คาร์โบไฮเดรต
สรรพคุณ ขับลม แก้อาเจียน ช่วยย่อยไขมันได้ดี ลดการบีบตัวของลำไส้ บรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ขับเหงื่อ เพิ่มการไหลเวียนเลือด ทำให้น้ำนมไหลได้ดี ลดอาการอาเจียน และเชื่อว่าเมื่อคุณแม่กินเข้าไป สรรพคุณที่ดีของขิงจะผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก ทำให้ลูกไม่ปวดท้อง
อาหารแนะนำ ยำขิง ยำปลาทูใส่ขิง ไก่ผัดขิง มันหรือถั่วเขียวต้มน้ำขิง ไข่หวานน้ำขิงต้มอุ่นๆ โจ๊กใส่ขิง
ใบแมงลัก Ocimum pilosum Willd.
คุณค่า มีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี และวิตามินซีสูง
สรรพคุณ ใบแมงลักมีรสหอมร้อน ทำให้น้ำนมไหลได้ดี ขับลม ขับเหงื่อ
อาหารแนะนำ ใส่แกงเลียง กินสดแกล้มกับขนมจีน หรือใส่แกงป่าต่างๆ
พริกไทย Piper nigrum Linn.
คุณค่า มีน้ำมันหอมระเหย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต
สรรพคุณ มีรสร้อน ทำให้น้ำนมไหลได้ดี ขับลม ขับเหงื่อ
อาหารแนะนำ ใส่ในแกงเลียง
อาหารสมุนไพรบำรุงน้ำนมที่อุดมไปด้วยสารอาหาร
หัวปลี
คุณค่า อุดมไปด้วยแคลเซียม (มากกว่ากล้วยสุกถึง 4 เท่า) โปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินซี บีตาแคโรทีน
สรรพคุณ แก้โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้ บำรุงเลือด ตั้งแต่โบราณสอนกันต่อๆมาว่าผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ๆ ให้กินหัวปลีมากๆ จะได้มีน้ำนมให้เลี้ยงลูกนานๆ
อาหารแนะนำ แกงเลียงหัวปลี ยำหัวปลี ลวกจิ้มน้ำพริก (เวลาลวกให้ใส่เกลือและน้ำตาลลงในน้ำที่ต้มด้วย จะได้ลดความฝาด) ทอดมันหัวปลี หัวปลีชุบแป้งทอด
มะละกอ Carica papaya L.
คุณค่า มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง ฟอสฟอรัส วิตามินเอ บี ซี และมีเอนไซม์ที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย รวมถึงมีเส้นใยอาหารในปริมาณมาก
สรรพคุณ ช่วยขับน้ำนม บำรุงเลือด บำรุงกระดูก สายตา ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด
อาหารแนะนำ กินผลไม้สุกเป็นผลไม้ หรือถ้าแบบดิบ มักจะนำมาใส่แกงส้ม
ฟักทอง Cucurbita pepo L.
คุณค่า ฟักทองมีสารอาหารสำคัญเพื่อบำรุงร่างกายจำนวนมาก ทั้งวิตามินเอ บี ซี ฟอสฟอรัส บีตาแคโรทีน
สรรพคุณ ช่วยขับน้ำนม ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณสดใส และอาจจะช่วยให้หน้าท้องลายน้อยลง
อาหารแนะนำ ฟักทองผัดไข่ แกงเลียง ฟักทองนึ่ง แกงบวดฟักทอง ไข่เจียวฟักทอง
มะรุม Moringa Oleifera Lam.
คุณค่า ใบมะรุมมีวิตามินซีสูงกว่าส้ม 7 เท่า มีแคลเซียมสูงกว่านม 4 เท่า มีวิตามินเอสูงกว่าแครอต 4 เท่า มีโพแทสเซียมสูงกว่ากล้วย 3 เท่า มีโปรตีนสูงกว่านม 2 เท่า
สรรพคุณ มะรุมมีสารอาหารที่ดีมากสำหรับมารดา และทารก มะรุมถูกนำมาใช้รักษาโรคขาดสารอาหารในเด็กแรกเกิดถึง 10 ขวบ ในกรณีของเด็กแรกเกิดการให้มะรุมทำได้ดีที่สุดโดยผ่านทางน้ำนมมารดาที่กินใบมะรุมอย่างสม่ำเสมอ
สารอาหารสำคัญจะผ่านสู่ทารกได้โดยง่าย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มแคลเซียมเข้าไปเสริมกระดูกมารดาได้เป็นอย่างดี ใบและดอกของมะรุมมีสรรพคุณในการขับน้ำนม ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษายืนยันฤทธิ์ในการขับน้ำนมของมะรุมแล้ว
อาหารแนะนำ แกงส้มใบหรือดอกมะรุม
ตำลึง Coccinia indica Wight & Arn.
คุณค่า มีโปรตีน มีวิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินบีสาม วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก เส้นใยอาหารในปริมาณมาก
สรรพคุณ ช่วยบำรุงน้ำนม ทำให้น้ำนมมีมาก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก บำรุง สายตา บำรุงผม บำรุงประสาท
อาหารแนะนำ แกงเลียงตำลึง หรือแกงกะทิลูกตำลึง
เมล็ดขนุน Aryocarpus hetertophyllus Lamk.
คุณค่า มีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินบีหนึ่ง ฟอสฟอรัส เหล็ก
สรรพคุณ ช่วยบำรุงน้ำนม ทำให้น้ำนมมีมาก บำรุงประสาท
อาหารแนะนำ เอาเม็ดขนุนต้มกินเป็นขนมทุกวันกินจนอิ่มวันละ 1 ครั้งกิน 7-10 วัน
พุทรา Zizyphus mauritiana Lamk.
คุณค่า มีวิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง วิตามินบีสาม วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก เส้นใยอาหารในปริมาณมาก
สรรพคุณ ช่วยบำรุงน้ำนม บำรุงประสาทและสมอง
อาหารแนะนำ เอาลูกพุทราต้มให้เดือด 10 นาที แล้วเอาน้ำมาดื่มจะทำให้มีน้ำนมมาก
พืชผักผลไม้ ชนิดต่างๆ ที่กล่าว สังเกตให้ดีๆ จะเห็นว่า พืชผักที่คนโบราณบอกให้กินเพื่อเรียกน้ำนมนั้น ส่วนใหญ่มีฤทธิ์ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดี ช่วยขับลมในกระเพาะ ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารเป็นไปอย่างปกติ และเป็นสมุนไพรที่ประกอบไปด้วยไขมัน โปรตีน แร่ธาตุที่สำคัญอย่าง แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
นอกจากสมุนไพรที่เป็นอาหารดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิดที่ได้ถูกนำมาให้แม่กินหลังคลอดเพื่อบำรุงน้ำนม เช่น
กรดน้ำ Scoparia dulcis L.
คนไทยใหญ่นิยมใช้ต้นสด 1 กำมือ ต้มกินหลังคลอด เพื่อให้มารดาแข็งแรงและมีน้ำนมดี
มะขาม Tamarinus indica Linn.
คนไทยโบราณนิยมใช้กิ่งหรือต้นมะขามเป็นยาบำรุงน้ำนมและยาอาบหลังคลอด ในการใช้ใช้เป็นยาบำรุงน้ำนมนั้น จะใช้กิ่งหรือต้นมะขาม 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 4 แก้วต้มเดือดนาน 10-15 นาที กินวันละ 4-8 ครั้งๆ ละ 1-2 แก้ว หรือกินได้ทั้งวันต่างน้ำวันละ 6-8 แก้ว กินขณะอุ่นๆ มีรสหวานกินง่าย กินติดต่อกันนาน 1 เดือน และถ้าต้มอาบด้วยจะช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้น
เขยตายแม่ยายชักปรก Glycosmis cochinchinensi Pierre.
ใช้รากเขยตายต้มน้ำดื่มกินหลังคลอดจะทำให้มารดามีน้ำนมมาก
นมสาว นมนาง
Xantolis cambodiana (Pierre ex Dubarb) P. Royen
ตำรับยาสมุนไพรอีสาน นิยมใช้ต้นนมสาวในสตรีที่คลอดบุตรแล้ว ไม่สามารถให้นมบุตรได้เนื่องจากไม่มีน้ำนม ให้ตัดลำต้นหรือกิ่ง หรือราก แล้วผ่าเป็นชิ้นมาต้มให้กิน ทำให้เพิ่มการหลั่งน้ำนมและเพิ่มน้ำหนักต่อมน้ำนม กินไปสักระยะหนึ่ง จะสังเกตเห็นเต้านมที่โตขึ้นและมีน้ำนมผลิตออกมา
น้ำนมราชสีห์ Euphorbia hirta L.
เป็นสมุนไพรที่คนสมัยก่อนใช้ต้มน้ำให้ผู้หญิงที่มีน้ำนมน้อยกิน ทำให้มีน้ำนมมากขึ้น โดยใช้ต้นสด 30-60 กรัม (ต้นแห้ง 6-10 กรัม) ต้มกิน
ในการใช้สมุนไพรเพื่อบำรุงน้ำนมนั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้น้อยลงจากการที่ไม่มีการศึกษาวิจัย และผู้รู้เรื่องการใช้สมุนไพรก็มีน้อยลง สมุนไพรก็หายากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสมุนไพรเหล่านั้นยังมีคุณค่าที่จะให้ผู้คนในสังคมรับรู้เพื่อทำการศึกษาวิจัยต่อไป
ตัวอย่างตำรับอาหารบำรุงน้ำนม
ยำหัวปลีกุ้งสด
เครื่องปรุง
1. หัวปลีหั่นหยาบ 1 หัว (ไม่เอาไส้ใน)
2. หอมแดงซอย 6 หัว
3. กุ้งแห้งป่นหยาบๆ 2 ช้อนโต๊ะ
4. กุ้งสดลวก 10 ตัว
5. ถั่วปั่นหยาบๆ 2 ช้อนโต๊ะ
6. น้ำพริกเผา 2 ช้อนโต๊ะ
7. น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
8. น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
9. น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
10. นมสดพร่องมันเนย 4 ช้อนโต๊ะ
11. หอมเจียว 1 ช้อนโต๊ะ
12. พริกขี้หนูแห้งทอด
วิธีทำ
ผสมน้ำตาลทราย น้ำพริกเผา น้ำปลา น้ำมะนาว นมสด ให้เข้ากันแล้วใส่กุ้งแห้งป่น กุ้งสด ถั่วป่น คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วใส่หัวปลีหั่นหยาบ หอมแดงซอย คลุกเบาๆให้เข้ากัน ตักใส่จานแล้วโรยหน้าด้วยหอมเจียว พริกขี้หนูแห้งทอด
แกงเลียงผักรวม
เครื่องปรุง
1. หอมแดง 8 หัว
2. กะปิ 1 ช้อนชา
3. พริกไทยเม็ดป่น 2 ช้อนชา
4. ปลาทูย่างแกะเอาแต่เนื้อ 3 ตัว
5. กระชายสด 200 กรัม
6. ใบแมงลัก 1 ถ้วย
7. หัวปลีหั่นหยาบ 1 หัว
8. บวบเหลี่ยม
9. เห็ดฟาง
10. ตำลึง
11. ปวยเล้ง
12. ผักโขม
13. น้ำซุป
14. เกลือ
15. ซอสปรุงรส
16. นมสดพร่องมันเนย 1 กล่อง
วิธีทำ
โขลกหอมแดง กะปิ พริกไทยป่น กระชายสด เนื้อปลาแกะเข้าด้วยกัน จากนั้นนำน้ำซุปใส่หม้อต้มให้เดือด แล้วใส่เครื่องที่โขลกไว้ แล้วใส่หัวปลีหั่นหยาบ จึงใส่ผักต่างๆที่เหลือ ปรุงรสด้วย เกลือ ซอสปรุงรส (หัวปลีควรใส่ขณะน้ำเดือดจัด เพราะจะทำให้หัวปลีไม่ดำ)
ผัดขิงปลา
เครื่องปรุง
1. เนื้อปลาหั่นชิ้นเล็ก 1 ถ้วย
2. ขิงอ่อนซอย 2 ถ้วย
3. เห็ดหอมหั่นบางๆ 2 ช้อนโต๊ะ
4. ต้นหอมหั่นท่อน
5. น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
6. เต้าเจี้ยว 1 ช้อนโต๊ะ
7. กระเทียมสับหยาบๆ 1 ช้อนโต๊ะ
8. ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
9. น้ำมันมะกอก 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
ตั้งกระทะใส่น้ำมัน พอร้อนใส่กระเทียมเจียว พอเหลืองใส่ขิงลงผัดให้หอมพร้อมเห็ดหอม พอหอมดีแล้ว ใส่เนื้อปลาลงผัดพอสุก ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยว ซอสปรุงรส น้ำตาลทราย เติมรสตามชอบ ใส่ต้นหอมผัดพอสุก
- อ่าน 282,800 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้