• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่...ใช้ยาอย่างไร

คำถาม น้ำนมน้อย  ควรเลือกใช้ยาใด?
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าน้ำนมแม่เป็นอาหารที่สุดวิเศษของแม่ที่ตั้งใจแด่ลูกน้อย ด้วยความรักและความทะนุถนอม กลั่นจากดวงใจของความเป็นแม่เพื่อสร้างน้ำนมของมนุษย์เพื่อเลี้ยงดูมนุษย์ตัวน้อยๆ เป็นน้ำนมที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคร้าย แถมอุดมสมบูรณ์ด้วยสารอาหารนานาชนิดที่เพียบพร้อมสำหรับการเจริญเติบโตของมนุษย์ มีภูมิต้านทานโรคจากแม่ จึงมีผลให้เกิดสุขภาพที่ดีแก่ลูกน้อย ช่วยให้ลูกน้อยแข็งแรง และมีโอกาสติดเชื้อโรคต่ำกว่าการใช้นมผง และไม่มีการแพ้นมเหมือนการเลี้ยงลูกด้วยนมวัวอีกด้วย ทารกที่ดูดนมจากเต้านมของแม่นี้จะมีผลกระตุ้นพัฒนาการของฟันและขากรรไกรของเด็กที่ดีกว่าการดูดนมขวด

นอกจากน้ำนมแม่จะเป็นอาหารที่สุดวิเศษของลูกน้อยแล้ว ยังช่วยให้ประหยัด สะดวก และรวดเร็วทันใจ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะไม่จำเป็นต้องเสียเงินในการซื้อหามา ไม่ต้องเตรียมขวดนมหลายๆ ใบ หลายๆ ขนาด และไม่ต้องเสียเวลาเตรียมน้ำสำหรับการชงนม เมื่อใดที่ทารกต้องการหรือหิวนม แม่ก็สามารถตอบสนองด้วยการป้อนนมให้กับลูกได้ทันทีและเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยทุกเมื่อที่ลูกน้อยต้องการ

ภาวะน้ำนมน้อยหรือแห้ง
ปกติปริมาณน้ำนมของแม่ที่สร้างขึ้นจะเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยเสมอ ไม่ว่าคุณแม่คนนั้นจะมีขนาดของเต้านมใหญ่หรือเล็กเพียงใด หรือไม่ว่าลูกน้อยจะมีความต้องการมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม บางครั้งแม่บางคนอาจเกิดภาวะน้ำนมน้อยหรือน้ำนมแห้งได้ ซึ่งมีหลายสาเหตุ อาจเกิดจากการที่แม่เริ่มต้นให้นมลูกของตนเองหลังคลอดช้าเกินไป (เริ่มต้นให้นมลูกช้าเกินไป) หรือมีการทิ้งระยะห่างในการดูดนมนานเกินไป (น้อยกว่า 2 ครั้งต่อวัน) หรือหยุดให้นมลูกเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือมีการให้ลูกดูดนมแบบผิดวิธี (ลูกดูดนมได้ไม่มิดถึงลานนม) หรือการใช้นม ผสมร่วมหรือทดแทนการให้นมของแม่ เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าคุณแม่เครียด พักผ่อนน้อย พักผ่อนไม่พอ เบื่ออาหาร ก็เป็นสาเหตุเสริมที่ทำให้น้ำนมน้อยหรือแห้งลงได้

การเพิ่มปริมาณน้ำนม
การแก้ปัญหาเรื่องน้ำนมน้อยหรือน้ำนมแห้งนี้มีวิธีใหญ่ๆ 3 วิธีคือ
1. การดูแลปฏิบัติตนโดยไม่ใช้ยา
2. อาหารและสมุนไพร
3. ยาแผนปัจจุบัน

ในบรรดาวิธีทั้ง 3 นี้ วิธีที่ 1 คือการดูแลปฏิบัติตนเองโดยไม่ใช้ยา เป็นทางเลือกแรกที่ดีที่สุด ทั้งได้ผลดี มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ผลดี แต่บางรายอาจต้องพึ่งพาวิธีที่ 2 ด้วยอาหารและสมุนไพร หรือยาแผนโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทย มาใช้เป็นทางเลือกที่ 2 และวิธีที่ 3 ด้วยยาแผนปัจจุบันเป็นทางเลือกสุดท้าย

การเพิ่มปริมาณน้ำนมด้วยการดูแลปฏิบัติตนเอง (โดยไม่ใช้ยา)
ก่อนอื่นขอเล่าความจริงบางอย่างเกี่ยวกับการสร้างและการดูดน้ำนมแม่ว่า "ร่างกายของแม่จะสร้างน้ำนมขึ้นทันที เมื่อมีการดูดออกไป" หรืออาจกล่าวได้ว่า "ยิ่งดูด...ยิ่งสร้าง.." หมายความว่า ถ้ามีการดูดน้ำนมโดยลูกน้อยออกไปมากเท่าใด ร่างกายก็จะเร่งสร้างขึ้นมาทดแทนในปริมาณมากเท่านั้น และยิ่งไปกว่านั้น จะด้วยวิธีใดก็ตามที่มีการขับน้ำนมออกมาจากเต้านม เช่น ด้วยการดูดของลูกน้อย หรือการปั๊มนม เมื่อน้ำนมลดลง ร่างกายจะสร้างน้ำนมขึ้นมาทดแทนให้เต็มเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยในมื้อต่อไปทันที ("ยิ่งดูด…ยิ่งปั๊ม... ยิ่งสร้าง")

ดังนั้น ขั้นตอนง่ายๆ ของการเพิ่มน้ำนมด้วยตนเอง ก็เริ่มด้วยตัวคุณแม่ที่ต้องตั้งใจมุ่งมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเอง ซึ่งถือเสมือนเป็นอาหารที่วิเศษที่สุดของลูกน้อย และเชื่อมต่อสายใยด้วยความรัก ความผูกพัน และความอบอุ่นของแม่ที่มีต่อลูก

เมื่อคุณแม่เตรียมพร้อมด้วยความมุ่งมั่นแล้ว ก็ต่อ ด้วยการดูแลลูกน้อยให้เรียนรู้และคุ้นเคยกับการดูดนมจากเต้านมแม่ให้บ่อยขึ้นและนานขึ้น อย่างน้อยให้ได้ 8 ครั้งต่อวัน ในกรณีที่ต้องทำงานและห่างลูกจนลูกดูดนมไม่ได้ ก็อาจใช้วิธีการปั๊มน้ำนมช่วย ("ยิ่งดูด...ยิ่ง ปั๊ม...ยิ่งสร้าง") เพื่อเพิ่มจำนวนน้ำนมที่ถูกดูดหรือไหลออก และเพิ่มความถี่ของการขับน้ำนมออก ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สร้างน้ำนมอย่างอัตโนมัติทันที่ที่มีการขับน้ำนมออก

นอกจากนี้ การนวดประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นๆ 3-5 นาทีก่อนการให้นม กระตุ้นหัวนมและลานเต้านมเบาๆ นวดเต้านมก่อนและระหว่างการให้นม พร้อมทั้งจัดท่าทางในการให้นมอย่างถูกวิธี โดยให้ลูกดูดอมหัวนม ให้ลึกถึงลานนมของแม่

ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำนมผสม หรืออาหารเสริมอื่นๆ กับลูกน้อยในช่วง 6 เดือนแรก เพราะจะทำให้ลูกน้อยอิ่ม และกินนมแม่ได้น้อยลง

ส่วนของตัวแม่เองก็ควรได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนทั้งปริมาณและชนิดของอาหาร พักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำมาก ทำจิตใจให้สบาย ด้วยการฟังเพลง นึกถึงแต่สิ่งที่ดีๆ

กรณีที่น้ำนมน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก จำเป็นต้องให้น้ำนมผสมเสริม ห้ามให้ด้วยการดูดจากขวดนม อาจใช้วิธีการหยอดน้ำนมลงข้างๆ เต้านมให้ลูกดูด หยอดครั้งละน้อยๆ เมื่อน้ำนมสร้างได้มากขึ้น ก็ค่อยๆ ลดปริมาณนมผสมลงได้

การเพิ่มปริมาณน้ำนมด้วยอาหารและสมุนไพร
ถ้าในกรณีที่ต้องการตัวช่วยในการเพิ่มน้ำนมแม่ก็อาจจัดหาอาหารที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม เช่น หัวปลี ดอกแค ฟักทอง กะเพรา ขิง ขมิ้นชัน กุยช่าย มะละกอ พริกไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ดีนำมาปรุงอาหาร เช่น แกงเลียงหัวปลีฟักทอง แกงส้มดอกแค ผัดใบกะเพราหมู น้ำขิง ขิงผัดไก่ เป็นต้น บวกกับกินน้ำบ่อยๆ และร่วมกับการปฏิบัติตนเองในการเพิ่มน้ำนมก็จะช่วยให้เพิ่มน้ำนมได้ตามต้องการ มีประสิทธิภาพ ประหยัด และปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมียาแผนโบราณชื่อ ยาประสระน้ำนม ซึ่งมีจำหน่ายในรูปของซอง แม่หลายคนใช้แล้วได้ผลดี

ปัจจุบันยาประสระน้ำนมที่แพร่หลายและหาซื้อได้ง่าย คือยาประสระน้ำนม ตราพารา-แม่เลื่อน ซึ่งเป็นสูตรเก่าแก่มีการใช้กันมานมนานแล้ว ซองละประมาณ 12 บาท ให้ใช้ครั้งละ 5 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น โดยมีข้อแม้ว่า ไม่ควรดื่มน้ำเย็น (คงพอปฏิบัติตามได้นะครับ...เพื่อลูกน้อย) หลังใช้ยาแล้วประมาณ 2-3 วัน ก็จะเริ่มมีน้ำนมมากขึ้น

การเพิ่มปริมาณน้ำนมด้วยยาแผนปัจจุบัน
ทางเลือกสุดท้าย คือ การใช้ยาแผนปัจจุบัน ที่นิยมใช้กันอยู่และสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ ยาดอมเพอริโดน (domperidone)

ยาดอมเพอริโดนนี้ ทางการแพทย์จะใช้เพื่อเพิ่มแรงบีบตัวของระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ตามปกติ และใช้ในรายที่มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือรายที่มีอาการอาเจียน อย่างได้ผลดีอีกด้วย

นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังพบว่า ยาดอมเพอริโดนนี้มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำนมของคุณแม่ได้ดี โดยใช้ขนาดครั้งละ 2 เม็ด (ยาดอมเพอริโดนมีขนาดเม็ดละ 10 มิลลิกรัม) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน

หลังจากเริ่มใช้ยาแล้วประมาณ 3-5 วัน น้ำนมของแม่จะเริ่มมา หรือเริ่มมีน้ำนมมาก และปริมาณน้ำนมของแม่จะอยู่ในระดับปกติประมาณ 1 เดือนหลังจากเริ่มใช้ยา

มีรายงานการศึกษาติดตามการใช้ยานี้ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.2547-2548 พบว่า คุณแม่ที่ประสบปัญหาน้ำนมน้อยหรือแห้ง จำนวน 32 ราย เมื่อใช้ยานี้แล้วทำให้น้ำนมมากขึ้นได้ร้อยละ 50 หรือได้ผลดีประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ยาทั้งหมด และจะได้ผลดีมากกับคุณแม่ที่เพิ่งเกิดปัญหาน้ำนมน้อยหรือน้ำนมแห้ง มาได้ไม่นาน แต่ในทางตรงกันข้ามในรายที่มีปัญหาเรื่องนี้มานานแล้วจะไม่ค่อยได้ผลดีนัก

ยาดอมเพอริโดนปลอดภัย...จริงหรือ?
ด้านความปลอดภัย พบว่าการศึกษาครั้งนี้ได้ติด ตามรายงานอาการอันไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียง หรือผลเสียจากการใช้ยานี้ พบว่ามีคุณแม่เพียงรายเดียว จากผู้ใช้ยาทั้งหมด 32 ราย ที่มีอาการท้องเสียเพียงเล็กน้อย และสามารถใช้ยาต่อไปได้ โดยไม่ต้องหยุดยา

อย่างไรก็ตาม ที่ต่างประเทศก็มีรายงานว่า "ผู้ป่วยที่ได้รับยาดอมเพอริโดนชนิดฉีด เพื่อรักษาอาการอาเจียนในผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ" เมื่อค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีรายงานการเกิดผล เสียเฉพาะในรายที่ได้รับยาชนิดฉีดเท่านั้น แต่ไม่เคยมีรายงานผลเสียนี้ในผู้มี่ใช้ยากินชนิดเม็ดเลย

ทั้งนี้เพราะยาเม็ดดอมเพอริโดนจะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสโลหิตเพียงร้อยละ 13-17 เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าปริมาณยาดอมเพอริโดนที่ให้ด้วยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างมาก เพราะการให้ยาดอมเพอริโดนชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ จะมีปริมาณทั้งหมดหรือร้อยละ 100 เข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ได้จากการกินยาเม็ดถึงเกือบ 7 เท่า จึงสรุปได้ว่ารายงานการเต้นของหัวใจผิดปกติเกิดจากผู้ป่วยได้รับยาขนาดสูงจากการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ในขณะที่การใช้ยาเม็ดดอมเพอริโดนไม่เคยมีรายงานผลเสียดังกล่าวเลย เพราะมีปริมาณยาน้อยที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสโลหิตเมื่อเทียบกับการให้ยาทางหลอดเลือดดำ

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันคือ ยานี้ถูกหลั่งออกทางน้ำนมได้เพียงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของปริมาณยาที่อยู่ในกระแสเลือดของคุณแม่ ซึ่งยิ่งทำให้มีปริมาณยาในน้ำนมของแม่เจือจางน้อยมากกว่าในกระแสโลหิตมาก ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะดูดนมทั้งวัน ทั้งคืน ทุกวัน และในปริมาณมาก ก็ยังมีปริมาณยาเหลืออยู่ในน้ำนมไม่มากพอที่จะแสดงฤทธิ์หรือเกิดผลเสียต่อลูกน้อยได้

นอกจากนี้ในหลายประเทศ ก็ใช้ยานี้เพื่อเพิ่มน้ำนมให้กับแม่ที่ประสบปัญหาน้ำนมน้อย ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย เป็นต้น หรือแม้แต่ประชาชนชาวสหรัฐอเมริกาจำนวนมากก็ใช้ยานี้ โดยซื้อจากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพเรื่องนี้ของตนเอง ทั้งๆที่รัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติให้ยานี้มีจำหน่ายภายในประเทศ เพราะยังยึดรายงานผลข้างเคียงของยาชนิดฉีดที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจผิดปกติ

สรุปว่ายานี้เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ได้ผลดี ประหยัด และราคาไม่แพง แต่ก็ควรเลือกใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย ต่อจากการปฏิบัติดูแลตนเอง การใช้อาหารสมุนไพร และยาแผนโบราณ และถ้าจำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรระวังในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคการเต้นของหัวใจผิดปกติ

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ยาเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ใช้เพื่อรักษา บรรเทา และบำบัดโรคหรือความผิดปกติของร่างกาย มี "คุณอนันต์ โทษมหันต์" ควรใช้เมื่อจำเป็นตามหลัก "การใช้ยาพอเพียง" ไม่มากหรือน้อยเกินไป และใช้อย่างถูกต้อง เข้าใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัด และปลอดภัยในการใช้ยา

หากมีข้อสงสัย เรื่องยาและสุขภาพ ควรปรึกษากับแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขอื่นๆ ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

ข้อมูลสื่อ

355-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 355
พฤศจิกายน 2551
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด