• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เทคนิคการวิ่ง

เทคนิคการวิ่ง ตอนที่ 14 (ต่อ)

ครั้งก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึง “เทคนิคการวิ่ง” ไว้ตามลำดับขั้นตอนต่างๆ คือ

ขั้นแรก ขั้นของการทำใจและเตรียมตัวก่อนการเริ่มวิ่ง

ขั้นที่สอง ขั้นของการยืดเส้นยืดสาย

ขั้นที่สาม ขั้นของการเริ่มต้นวิ่ง

ขั้นที่สี่ ท่านคือนักวิ่งสมบูรณ์แบบ

และครั้งที่แล้วถึงขั้นที่ห้า ควรสวมใส่เสื้อผ้าอย่างไรในการวิ่ง ซึ่งได้แยกย่อยออกเป็น 1. เสื้อ 2. กางเกง 3. ชุดชั้นใน 4. ถุงเท้า 5. รองเท้า และได้เขียนถึงว่ารองเท้าวิ่งควรมีคุณสมบัติอย่างไร

1. บริเวณส่วนบนของหุ้มส้นจะต้องสูงขึ้นและมีแผ่นนุ่มรองเท้ารองรับบริเวณที่ตรงกับเอ็นร้อยหวาย เพื่อป้องกันมิให้อักเสบ

2. ด้านข้างของบริเวณหุ้มส้นทั้งสองด้านจะต้องแข็งพอที่จะป้องกันการบิดหมุนของส้นเท้าทำให้บริเวณส้นเกิดความมั่นคงขึ้น

3. ด้านหน้าของรองเท้าตรงบริเวณตรงกับนิ้วหัวแม่เท้า จะต้องนูนสูงขึ้น (อย่างน้อย 1 นิ้วครึ่ง) เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วและเล็บหัวแม่เท้าถูกกดเบียด ซึ่งจะนำไปสู่การมีเลือดออกใต้เล็บได้

4. ลิ้นรองเท้าต้องบุให้นุ่มและปิดส่วนบนฝ่าเท้าได้หมด เพื่อป้องกันเอ็นของกล้ามเนื้อกระดูกนิ้วเท้าถูกเสียดสี และระคายเคืองจรชนเกิดอักเสบได้

5. เชือกผูกรองเท้าไม่ควรยาวจนเกินไป

6. บริเวณส้นรองเท้าจะต้องฝานเป็นรูปมน เพื่อให้ส้นเท้าสัมผัสพื้นได้มั่นคงขึ้น

7. ที่พื้นรองเท้าบริเวณส้นจะต้องมีลิ่มที่นุ่มพอสมควร เสริมให้ ส้นเท้าสูงขึ้นนิดหน่อย เพื่อที่จะช่วยซึมซับแรงขณะส้นกระแทกเป็นการแบ่งเบาภาระกล้ามเนื้อต้นขาและเอ็นร้อยหวาย

8. แกนยาวของรองเท้าต้องเป็นเส้นตรง

9. พื้นรองเท้าบริเวณกึ่งกลางจะต้องหักงอ เพื่อความคล่องตัวเวลาส้นเท้ายกจากพื้น และปลายเท้างอเพื่อตะกุยนั้น สปริงตัวเคลื่อนไปข้างหน้า

10. พื้นรองเท้าครึ่งหลังต้องแข็งพอ เพื่อช่วยรองรับอุ้งเท้าได้

11. พื้นรองเท้าจะต้องมีลายดอกเพื่อไม่ให้ลื่นและช่วยกลืนแรงสะเทือน

12. พื้นภายในรองเท้าตรงกับบริเวณอุ้งเท้าต้องเสริมให้นูนสูงขึ้น ทางด้านครึ่งใน ให้เข้ารูปกับอุ้งเท้า เพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บบริเวณส้นเท้า และการอักเสบของพังผิชืดยืด กระดูกฝ่าเท้า จะเห็นได้ว่าทุกส่วนของรองเท้าวิ่งนี้ จะต้องปกป้องเท้าให้ปลอดภัย เพราะหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่สมดุล จะก่อให้เกิดผลเสียแก่เท้าได้ ซึ่งอาจเป็นผลเสียระยะยาวที่มีต่อโครงสร้างของกระดูก

หลายท่านอาจจะสงสัยว่ารองเท้าจากต่างประเทศจะออกแบบให้ได้เหมาะสมกับเท้าของคนไทยหรือไม่ เพราะลักษณะเท้าของคนไทยนั้นจะแบนและกว้างกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนที่สามารถปรับให้พอเหมาะกับเท้าของแต่ละคนได้ นั่นคือ การผูกเชือกรองเท้า ซึ่งสามารถผูกได้หลายแบบ และแต่ละแบบนั้นจะมีผลกับเท้าต่างกัน

 

แบบที่ 1

ร้อยเชือกเฉพาะรูนอก ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีเท้าแคบ จะดึงให้รองเท้ากระชับขึ้น

แบบที่ 2

ร้อยเชื่อเฉพาะรูใน เหมาะสำหรับผู้ที่มีเท้ากว้าง

แบบที่ 3

ร้อยเชือกทุกรู สำหรับนักวิ่งที่มีเท้าขนาดกลาง

แบบที่ 4

เพื่อให้หลังเท้าแน่นขึ้น ให้ร้อยเชือกขึ้นที่ ค. และร้อยลงที่ ก. ทั้ง 2 ด้าน โดยเว้น ข. ไว้ แล้วมัดและถ้าต้องการให้รองเท้ากระชับแน่นมากขึ้น ก็ให้สอดเชือกไขว้กันแล้วจึงมัด

ระบบผูกเชือกข้างต้นนี้คง จะสามารถช่วยแก้ปัญหาระหว่างเท้ากับรองเท้าได้ และทางที่ดี ถ้าท่านเลือกร้อยแบบไหน ก็ควรจะทำให้ถูกต้องครบเซต เช่น ร้อยรูนอกก็รูนอกหมด ไม่ใช่สลับนอกบ้างในบ้าง เพราะจะทำเกิดการดึงรั้งกันขึ้น และจะทำให้ท่านเจ็บเท้า

อ่านมาจนถึงตอนนี้ คิดว่าคงจะพอให้ความกระจ่างกับท่านได้บ้างแล้ว ในการที่จะเป็นแนวทางให้ท่านเลือกซื้อรองเท้าวิ่งได้ดี และเมื่อท่านตัดสินใจเลือกซื้อรองเท้าที่เหมาะสมกับความต้องการแล้ว การรู้จักดูแลรักษาทำความสะอาดให้รองเท้าอยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ควรจะนำรองเท้าวิ่งไปใช้เล่นกีฬาอย่างอื่นเพราะอาจทำให้รองเท้าสึกหรอผิดธรรมดาไปจาการสึกหรอที่เกิดจากการวิ่ง และอาจมีส่วนทำให้เจ็บเท้าได้

ข้อมูลสื่อ

73-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 73
พฤษภาคม 2528
รศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม