• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ค้นหาโรคหัวใจ

ค้นหาโรคหัวใจ

ในภาคแรกเราได้พูดถึงลักษณะทั่วไปของโรคหัวใจ ว่าเกิดขึ้นกับคนจำพวกไหน หรือกลุ่มไหนมีความมาอย่างไร และใครบ้างมีโอกาสจะถูกแจคพอทตายจากโรคหัวใจขณะออกกำลังกาย ตลอดจนการวิ่งมีผลดีอย่างไรต่อหัวใจ ทั้งในแง่ป้องกันและรักษา มาถึงตอนนี้ เราจะมาดูกันว่า อาการของของโรคหัวใจเป็นอย่างไรโดยละเอียด และเราจะรู้ (หรือไม่รู้) ได้ไหมว่า เรามีโรคหัวใจอยู่

สัญญาณเตือนอันตราย

ก่อนที่เราจะพูดกันถึงเรื่องอาการ ควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า อันตรายของคนที่ (ดูว่า) ร่างกายแข็งแรง แต่ปุบปับมีอันเป็นไปจากโรคหัวใจ ไม่ใช่ว่าจะอะไรมากมาย แต่ว่าเวลาเป็นขึ้นมาที ก็มักเป็นข่าว โดยเฉพาะเวลาถ้าเป็นกับคนหลังๆ อย่างที่เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีเศรษฐีวัยกลางคน อดีตรัฐมนตรีชื่อดังของไทยคนหนึ่ง ไปพักผ่อนที่บ้านชายทะเล ตอนเย็นยังเล่นเทนนิส เป็นปกติ กลางคืนกลับนอนหลับไม่ตื่น สันนิษฐานว่าตายจากโรคหัวใจอย่างปัจจุบันทันด่วน

เมืองไทยเรายังไม่มีสถิติคนตายประเภทนี้เป็นที่แน่นอน แต่ในสหรัฐอเมริกา ประมาณว่าเกิดกับชายวัย 45-54 ปี ในอัตราหนึ่งต่อพันคนต่อปี เมื่อพิจารณากลุ่มนักวิ่ง สถิตินิ้ลดมาเหลือไม่ถึงครึ่งคนต่อพันต่อปี แม้อัตราการไปไม่กลับจะดูน้อยนิดอย่างไร ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของนักการสาธารณสุขบางคน ซึ่งมองว่าอัตรานี้อาจลดต่ำลงไปได้อีกโดยการป้องกัน

บันไดขั้นต้นของการป้องกัน ซึ่งมีความสำคัญมาก คือ การสอนให้นักวิ่งรู้จักอาการขั้นต้นของโรคหัวใจ อันได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก อาการนี้อาจแปรเปลี่ยนได้ตั้งแต่แน่น รู้สึกมีอะไรมากดทับ จนถึงเจ็บปวดร้าว จุดที่พบบ่อยคือ ใต้กระดูกหน้าอก ไล่จนถึงบริเวณลำคอ บางครั้งอาจเจ็บไปทางกระดูกสะบักข้างหลัง หรือร้าวไปจนถึงแขน

โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นทันทีที่ได้หยุดพัก อาการอาจเป็นมากขึ้นเมื่อนอนลง และดีขึ้นเมื่อลุกนั่ง บางครั้งบางคราวผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจในวะหว่างวิ่ง อาจวิ่งต่อไปได้โดยอาการลดลง หรือหายไป หรืออาการปวดเกิดเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการวิ่ง เช่น 3-6 นาทีแรก แล้วดีขึ้นในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมีอาการเตือนแบบอื่นๆ ได้ แต่เป็นอาการชนิดไม่ได้เกิดจำเพาะเจาะจงแต่โรคหัวใจ กล่าวคือ อาจพบได้จากสาเหตุอื่นๆ อย่างไรก็ดี อาการที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจช่วยในการตัดสินใจว่าควรพบหมอเพื่อตรวจเช็คให้แน่นอนต่อไป อย่างเช่น รู้สึกอ่อนเปลี้ย เพลียแรงอย่างผิดปกติ ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำน่าจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ถ้าหากกลับจากที่ทำงานด้วยความรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร เอาแต่นอนกับนอน โดยไม่มีสาเหตุมาอธิบายได้เพราะเหตุไร ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าเผลอๆ อาจเกิดจากโรคหัวใจ

ในคนที่ชอบบันทึก หรือจับชีพจรตัวเอง ชีพจรขณะตื่นนอนใหม่ๆ ซึ่งปกติถือเป็นตัววัดที่ดีสำหรับอาการโอเวอร์เทรน (คือ อาการที่เกิดจากการออกกำลังกายมากเกินไป) ก็อาจเป็นเครื่องบอกว่ามีภาวะความตึงเครียดสะสมมากเกินไปแล้วนะ ระวังว่าทั้งระบบพังครืนลงมา (ในกรณีที่ชีพจรตอนตื่นนอนสูงกว่าปกติ)

นายแพทย์ปีเตอร์ นิกชัน แพทย์โรคหัวใจโรงพยาบาลชาริงก์ ครอสส์ ในกรุงลอนดอน แนะนำว่าในกรณีที่มีภาวะตึงเครียดมากไปนี้ให้แก้ไขโดย

หนึ่ง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

สอง ลดสิ่งกระตุ้น เช่น เหล้า, บุหรี่, กาแฟ

สาม หายใจช้าๆ ลึก และยาว เป็นการช่วยผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

สี่ พักเงียบๆ อาจนั่งสมาธิไปด้วยก็ได้ ไม่ว่ากัน

ห้า มองตนเองในแง่ดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเอง

การทดลองทางการแพทย์

เราก็ได้เรียนรู้สัญญาณเตือนธรรมชาติ ที่มีติดตั้งอยู่ในตัวทุกผู้คนแล้ว การแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าหนักหนาล่ะ สามารถช่วยบอกอะไรได้บ้าง ในแง่ของโรคหัวใจ

ดังที่พูดไว้ในภาคแรก เราคงเห็นแล้วว่าโอกาสจะตายจากโรคหัวใจในขณะวิ่ง เป็นไปเมื่อโรคหัวใจนั้นเป็นค่อนข้างจะมาก บังเอิญที่ว่าการแพทย์ปัจจุบันสามารถบอกได้โดยวิธีค่อนข้างง่ายในกรณีที่โรคหัวใจเป็นค่อนข้างมากหรือมีอาการโรคหัวใจ

วิธีที่ว่าง่ายนี้ ที่จริงก็ไม่ง่ายนักในเมืองไทยเรา เพราะยังหาทำไม่ได้ทั่วไป นั่นคือ วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะออกกำลังกาย ที่เรียกว่า สเตรสอีเคจี (หรือสเตรส เทสต์), เออร์โกอีเคจีหรือ เอกเซอร์ไซส์ อีเคจี แต่ในกรณีที่โรคหัวใจเป็นมากนี้ร่างกายเราก็มักบอกได้อยู่แล้ว โดยอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เอกเซอร์ไซค์ อีเคจี เลยไม่สู้มีประโยชน์เท่าที่ควร

ในกรณีที่โรคหัวใจเป็นไม่มาก ชนิดว่ายังไม่มีอาการ การตรวจด้วยเอกเซอร์ไซส์ อีเคจี ไม่ได้ผลแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามี “ผลบวกลวง” หรือ “ผลลบลวง” อยู่ไม่น้อย กล่าวคือ ในรายที่มีการตีบตันของหลอดเลือดแล้ว ผลการทำสเตรสอีเคจี อาจให้ผลลบได้ (เรียกว่ามี “ผลลบลวง”) ตรงกันข้าม ในคนที่หัวใจเป็นปกติดีทุกอย่าง ผลการตรวจด้วยเอกเซอร์ไซส์ อีเคจี อาจออกมาเป็นบวก (กรณีเช่นนี้เรียกว่า “ผลบวกลวง”)

วิธีที่แน่นอนขณะนี้มีอยู่วิธีเดียวคือ ฉีดสีเข้าเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ แล้วถ่ายเอกซเรย์

อย่างไรก็ดี เนื่องจากวิธีหลังนี้ยุ่งยาก ราคาแพง และอัตราเสี่ยงสูงกว่าวิธีแรก จึงสงวนไว้ใช้ในรายมีข้อบ่งชี้ ด้วยเหตุนี้ เอกเซอร์ไซส์ อีเคจี จึงยังมีที่ใช้อยู่ ที่แนะนำให้ทำกันคือ ในคนที่อายุเกิน 40 ปี ซึ่งไม่มีอาการอะไรแต่มีปัจจัยเสี่ยง (ดูเรื่องปัจจัยเสี่ยงในภาคแรก) 2 อย่าง หรือมากกว่า ในรายเช่นนี้ การตรวจจะให้ผลถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ (มีผลบวกลวง) หรือ (ผลลบลวงน้อยลงไป)

ตัวอย่างของปัจจัยเสี่ยง เช่น ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ตัวเองมีไขมันในเลือดสูง เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น ผู้ที่มีปัญหาเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกาย

ถึงมีโรคหัวใจก็ยังออกกำลังกายได้

หมอนอร์จ ชีแฮน และแพทย์ โรคหัวใจอื่นๆ แนะนำให้คนไข้โรคหัวใจได้ออกกำลังกาย

การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดิน หรือวิ่ง, ถีบจักรยาน ว่ายนํ้า ฯลฯ ในคนไข้โรคหัวใจไม่ใช่สิ่งอันตราย ถ้าทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและให้ร่างกายเป็นผู้ชี้นำ

ถูกต้องครับ ให้ร่างกายเป็นผู้ชี้นำ ไม่ใช่หมอ หรือการทดสอบทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ใดๆ หมอจอร์จ ชีแฮน เคยถูกคนไข้โรคหัวใจคนหนึ่งถามซํ้าแล้วซํ้าเล่า ว่าเขาจะทำอย่างนั้น อย่างงี้ได้หรือไม่ ในที่สุดหมอชีแฮนบอกว่า “คุณอยู่กับหัวใจ และร่างกายของคุณมา 60 ปี แล้ว คุณยังไม่รู้อีกว่ามันทำอะไรได้บ้าง ถามร่างกายคุณเอง ไม่ใช่ถามหมอ”

นี่ก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคุณอำนาจ ตั้งเสงี่ยมวิสัย ประธานชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพอุบลฯ ผู้ซึ่งเมื่อ 6-7 ปีก่อนเป็นโรคหัวใจ “อยู่ๆ ก็มีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมา” คุณอำนาจบอก “พอผมไปให้แพทย์ตรวจ เขาก็บอกว่าคุณเป็นโรคหัวใจ ต้องอยู่ห้อง ไอ.ซี.ยู.” หลังออกจากโรงพยาบาลได้ไม่นานคุณอำนาจซึ่งไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ก็เริ่มเดินตามคำแนะนำของเพื่อนที่เป็นนักมวย จากเดินก็กลายเป็นวิ่ง จนบัดนี้ คุณอำนาจสามารถวิ่งได้ ครั้งละ 1-2 กิโลเมตร และได้ก่อตั้งชมรมวิ่งขึ้นมา

คุณอำนาจบอกว่า “ก่อนจะวิ่ง ผมไม่เคยทราบเรื่องของอาจารย์อุดมศิลป์ หรืออ่านการวิ่งกับโรคหัวใจที่ไหนมาก่อนเลย อาศัยความรู้สึกตัวเองเป็นเกณฑ์ เหนื่อยก็พอ”

ช่างเผอิญพ้องกับความเห็นของหมอจอร์จ ชีแฮน ถ้าหากว่าวิ่งโดยเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นเกณฑ์ ใช้ความเจ็บปวดเป็นเครื่องกำหนดขอบเขตวิ่งโดยยังรู้สึกสบายๆ สามารถพูดจากับคนที่ร่วมวิ่งได้ คนไข้โรคหัวใจแม้ว่าจะเป็นมากก็ไม่มีอันตราย หากกออกกำลังกายตามที่ว่านี้

นายแพทย์เทอเรนท์ คาวานาก์ แห่งเมืองโทรอนโต มีคนไข้โรคหัวใจในความดูแลของเขา วิ่งอยู่หลายพันคน บางคนได้เข้าร่วมวิ่งมาราธอนด้วยซํ้าไป วิธีการฝึกที่สำคัญของหมอคาวานา ก็คือ พยายามเน้นแก่คนไข้ว่า ให้ร่างกายเป็นผู้ชี้นำ ไม่ใช่วิ่งตามที่ใจคิดอยาก

ถ้าหากเราไม่ฟังสิ่งที่ร่างกายพยายามบอกเรา นั่นแหละจึงจะเกิดอันตราย เมื่อใดที่เราลงแส้แก่ร่างกายจนมากเกินไป มันก็จะร้องบอกว่า ไม่ไหวแล้วนะ ตรงนี้แหละครับ ถ้าเราฝืนไม่ฟังมัน จะเกิดเรื่อง

“มนุษย์เราสร้างมา เพื่อการเคลื่อนไหว” พลาโต

โดยสรุป โรคหัวใจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอะไร สำหรับนักวิ่ง ถึงแม้นักวิ่งทุกคนจะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้ แต่โอกาสที่ว่าก็น้อยมาก และมักเลือกเกิดในคนบางกลุ่ม การเป็นนักวิ่ง ทำให้เป็นโรคหัวใจน้อยลงไป นอกจากนี้ในคนที่เป็น เมื่อเป็นมากถึงขีดหนึ่ง ก็จะมีอาการบอกให้รู้ ไม่ใช่ว่าอยู่จะปุบปับลาโลกไปเลย

สำหรับคนทั่วไป โอกาสจะตายจากโรคหัวใจในขณะวิ่งมีน้อยมาก เทียบได้กับโอกาสตายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ด้วยอัตราเสี่ยงที่น้อยเช่น “การตายขณะวิ่ง” จึงไม่ใช่ข้ออ้าง จะไม่ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยขึ้น สิ่งที่เราควรเรียนรู้คือ วิธีการออกกำลังกายอย่างปลอดภัยต่างหาก

และความปลอดภัยของการออกกำลังอยู่ที่การเชื่อฟังร่างกาย ไม่ใช่ที่สเตรส เทสต์ หรือปริมาณไขมันในเลือด ไม่ใช่ที่ยา หรือการผ่าตัด นักกีฬาที่ไม่เคยมีอาการอันใดมาก่อน หากเกิดอาการเตือนของโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรับคำแนะนำ และรักษา

เพียงเท่านี้ เชื่อว่าเราจะสามารถลดการตายอันไม่จำเป็นลงได้อีกมาก

ข้อมูลสื่อ

73-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 73
พฤษภาคม 2528
วิ่งกับหัวใจ
นพ.กฤษฎา บานชื่น